แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระศาสนจักรกับความยุติธรรมทางสังคม
Gods justiceประชากรของพระเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์ มีหน้าที่เป็นผู้เผยแผ่คำสอนของพระเจ้า ภาระหน้าที่ของเราประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ การเป็นผู้ประกาศ  การเป็นสัญลักษณ์ และการเป็นผู้รับใช้พระวรสาร  เราป่าวประกาศข่าวดีเมื่อเราประกาศเรื่องการคืนพระชนมชีพของพระคริสต์ เราเป็นสัญลักษณ์ของพระวรสารเมื่อเราดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์ตามที่พระเยซูเจ้าทรงสอน  เราเป็นผู้รับใช้พระวรสารเมื่อเราเป็นพยานยืนยันถึงข่าวสารเกี่ยวกับความรักของพระเจ้าที่ประสงค์ช่วยโลกให้รอดพ้น โดยการออกไปทำงานเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับประชากรทั้งมวล

ความยุติธรรมทางสังคมและความรักตามแบบพระวรสารเกี่ยวข้องกันอย่างไร?
(CCC1928-1933; 1943-1944)
    ความยุติธรรมทางสังคมเกี่ยวข้องกับการนำเอาพระวรสารไปใช้กับโครงสร้าง ระบบและขนบธรรมเนียมของสังคม ดังปรากฎในเอกสารชื่อ Justice in the World ซึ่งเป็นแถลงการณ์จากการประชุมสมัชชาพระสังฆราชในปีค.ศ. 1971 ว่า “ความรักบอกว่าต้องมีความยุติธรรมอย่างสมบูรณ์   โดยปกติหมายถึงการยอมรับศักดิ์ศรีและสิทธิอันชอบธรรมของเพื่อนมนุษย์”   เราไม่สามารถพูดได้เลยว่าเรามีความรัก ถ้าเรายังไม่ให้ความเคารพและไม่สนใจต่อสิทธิและความต้องการขั้นพื้นฐานของบรรดาเพื่อนมนุษย์ของเรา ความรักแท้จริงต่อพระเจ้าและความรักเพื่อนมนุษย์ จึงเป็นความจริงที่แยกจากกันไม่ได้
    อีกแง่หนึ่ง รักหมายถึงการที่ใครสักคนยอมมอบตัวเองให้กับผู้อื่น มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรักโดยไม่มีการแบ่งปันสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับให้กับเพื่อนของเรา  อย่างไรก็ตามความรักย่อมอยู่เหนือความยุติธรรม  ความยุติธรรมเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยมาก ที่บรรดาผู้คนและคริสตชนทั่วไปสามารถปฏิบัติต่อผู้อื่น ส่วนความรักเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่เหนือความยุติธรรม ถ้าเราจริงจังกับการเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์
พระศาสนจักรมีบทบาทอย่างไรในเรื่องความยุติธรรม?
(CCC 2419-2425)
    ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระศาสนจักรได้พยายามแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมต่อระหว่างพระวรสารกับสภาพการณ์อันเลวร้ายของคนยากไร้  บ่อยครั้งที่พระศาสนจักรคาทอลิกได้พยายามบุกเบิกทำสิ่งต่างๆ ในฐานะตัวแทนของคนยากไร้และคนด้อยโอกาส อาทิ การปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายทั้งในและต่างประเทศ, โรงพยาบาลและสถานพยาบาลหลายแห่ง, หน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย, สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า, บ้านฉุกเฉิน(สำหรับเด็กและแม่ที่ไม่มีสามีดูแล), การให้บริการผู้สูงอายุ, หน่วยงานสำหรับเยาวชน และงานบริการด้านการศึกษาขนาดใหญ่
    อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้วิพากย์วิจารณ์พระศาสนจักรว่าไม่มีความกระตือรือร้นในการส่งเสริมสันติภาพและความยุติธรรมมากขึ้นกว่าเดิม  ผู้นำพระศาสนจักรหลายท่านบางครั้งก็ละเลยคำสอนสังคมในพระวรสาร  ขณะที่ท่านเหล่านั้นกำลังเทศน์สอนผู้ยากไร้และถูกกดขี่ให้ยอมรับสภาพชีวิตของพวกเขาแบบเงียบๆ
    ปัจจุบันพระศาสนจักรรับบทบาทเป็นผู้นำการสนับสนุนส่งเสริมเรื่องความยุติธรรม ดังนี้
การดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมและการมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงโลก มีให้เราเห็นอย่างชัดเจน ในลักษณะที่เป็นส่วนหนึ่งของการเทศน์สอนพระวรสาร หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจของพระศาสนจักรด้านการไถ่กู้มนุษยชาติและการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากการถูกกดขี่ในทุกสภาพ
                                    - บทนำในเอกสารชื่อJustice in the World
    เอกสารสำคัญฉบับนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การทำงานเพื่อเสริมสร้างความยุติธรรมขึ้นในโลก  เป็นงานที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระศาสนจักรเช่นเดียวกับการเฉลิมฉลองศีลศักดิ์สิทธิ์และการประกาศพระวรสาร
อะไรคือพื้นฐานของคำสอนด้านสังคมของคาทอลิก?
(CCC 2419-2449)
    ในบทความที่เกี่ยวกับงานอภิบาลชื่อ หนึ่งศตวรรษแห่งคำสอนด้านสังคม: สิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา, ความท้าทายแบบต่อเนื่อง( A Century of Social Teaching: A Common Heritage, A Continuing Challenge) สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งสหรัฐอเมริกาได้สรุปประเด็นหลักที่เป็นพื้นฐานอันสนับสนุนคำสอนด้านสังคมคาทอลิกไว้ 6 ประการ ดังนี้
1. พระศาสนจักรส่งเสริมชีวิตและศักดิ์ศรีของบุคคล
    2. พระศาสนจักรยอมรับว่ามนุษย์มีสิทธิพื้นฐานบางอย่าง พร้อมกับหน้าที่รับผิดชอบซึ่งคล้ายกับสิทธิ์เหล่านั้นด้วย
3. พระศาสนจักรยอมรับว่า โดยธรรมชาตินั้น มนุษย์ต้องอยู่รวมกันเป็นสังคม และนั่นเป็นการเรียกของพระเจ้าให้เรามาอยู่รวมกันเป็นครอบครัว เป็นชุมชนและดูแลซึ่งกันและกัน
4. พระศาสนจักรยอมรับความจริงเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษย์  นั่นเป็นเพราะมนุษย์ทุกคนเป็นสมาชิกของครอบครัวหนึ่ง นั่นคือครอบครัวของพระเจ้า
5. พระศาสนจักรปกป้องศักดิ์ศรีของงานและสิทธิอันชอบธรรมของผู้ทำงาน
6. พระศาสนจักรสอนทางเลือกหนึ่งที่มีสิทธิพิเศษให้กับคนยากไร้และอ่อนแอ
 “ศักดิ์ศรีของบุคคล” เป็นคำที่มุ่งหวังสิ่งใดบ้าง?
(CCC 27, 1700-1703)
    คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรคาทอลิกเกิดขึ้นและได้รับแรงผลักดันจากความคิดเรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์  พวกเราแต่ละคนแสดงภาพลักษณ์ของพระเจ้าและสะท้อนให้เห็นพระเจ้า พระเยซูเจ้าทรงรักและไถ่บาปมวลมนุษยชาติ  ทุกคนมีศักดิ์ศรีพื้นฐานของการเป็นมนุษย์และ “มีสติปัญญาที่จะรู้จักและรักพระผู้สร้างของพวกเขา” ซึ่งก็คือผู้ที่สร้างเรา (จากธรรมนูญเรื่อง พระศาสนจักรในโลกสมัยใหม่, ข้อ 12) คุณค่าของเรามาจากการที่เราได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า ไม่ใช่มาจากสิ่งที่เรากระทำ  คุณค่าของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ, เพศ, อายุ, หรือสถานภาพทางการเงิน   คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรคาทอลิกต้องการให้พวกเราพิจารณาทุกนโยบาย ทุกกฎหมาย และทุกขนบประเพณี ว่าได้ช่วยให้ชีวิตและศักดิ์ศรีของมนุษย์ดีขึ้นอย่างไร
อะไรคือสิทธิและหน้าที่ของเรา?
(CCC 1913-1917; 2415-2418;2451-2452;2456-2457)
    ความยุติธรรมเรียกร้องให้มีการจัดระเบียบทางสังคมในลักษณะที่สามารถรับประกันได้ว่า ทุกคนที่อาศัยอยู่ในสังคมหนึ่งสามารถมีส่วนร่วมในชีวิตของสังคมนั้นได้ทั้งด้านการเมือง วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ  สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเป็นเรื่องที่ต้องทำให้สำเร็จก่อนจึงจะมีการดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีในชุมชน  ในบรรดาเอกสารทั้งหมดของพระศาสนจักรมีการอภิปรายและปกป้องสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
สิทธิด้านเศรษฐกิจ
•    สิทธิในการดำรงชีวิต : ต้องมีอาหาร มีที่พักอาศัย เครื่องนุ่งห่ม และ ยารักษาโรค 
•    สิทธิในการทำงาน
•    สิทธิที่จะได้รับค่าจ้างอย่างเหมาะสม
•    สิทธิในการครอบครอง
สิทธิด้านการเมืองและสังคม
•    สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง
•    สิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม
•    สิทธิในการชุมนุม
สิทธิด้านศาสนาและวัฒนธรรม
•    สิทธิในการนับถือศาสนา
•    สิทธิที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
•    สิทธิเสรีภาพในการพูด
สิทธิทุกข้อที่กล่าวมา มีหน้าที่ที่สอดคล้องกันสำหรับแต่ละคนซึ่งจะต้องเคารพ สนับสนุนและกระทำให้สำเร็จ ตัวอย่างเช่น สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง แบกรับหน้าที่ที่จะต้องไปลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง
มนุษย์มีชีวิตเกี่ยวข้องกับสังคมอย่างไร?
(CCC 1877-1882; 1890-1893)
    พระเจ้าทรงสร้างเราให้เป็นสมาชิกครอบครัวมนุษย์ เราก็เป็นโดยธรรมชาติสังคมที่เราอยู่   ตั้งแต่ปฐมกาล พระเจ้าทรงสร้างเรามาเพื่อความเป็นเพื่อน การพัฒนาของคนและความก้าวหน้าของสังคมต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เราเป็นส่วนหนึ่งของ 3 ชุมชน ที่มีลักษณะเหมือนวงกลมซึ่งมีจุดศูนย์กลางร่วมกันคือ บุคคลหนึ่งอาศัยอยู่ในวงกลมที่เรียกว่าครอบครัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงกลมที่ใหญ่กว่านั่นคือประเทศ อันเป็นส่วนหนึ่งของวงกลมที่ใหญ่ที่สุดคือโลก   ชุมชนเหล่านี้เป็นชุมชนที่ถูกอภิปรายถึงบ่อยที่สุดในคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร
อะไรเรียกร้องให้มนุษย์มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน?
(CCC 2437-2442)
    ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเราที่มีต่อกันและต่อสังคมโลกของเรา รวมเอาหลายเรื่องราวไว้ด้วยกันเช่น สันติภาพของโลก, การพัฒนาโลก, เรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ  การขัดแย้งอย่างรุนแรงและการปฏิเสธสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนไม่ว่าที่ใดก็ตาม ส่งผลกระทบและเป็นการดูหมิ่นพวกเราทุกคน  เราต้องสนใจฟังความต้องการของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสมาชิกที่อ่อนแอที่สุดในสังคมมนุษย์ พระเยซูเจ้าทรงรวมความรักพระเจ้าพระบิดาและความรักเพื่อนมนุษย์เข้าด้วยกัน และทรงอธิษฐานเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติ :“ข้าแต่พระบิดา ข้าพเจ้าอธิษฐานภาวนาเพื่อให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงอยู่ในข้าพเจ้า และข้าพเจ้าอยู่ในพระองค์” (ยน17:21)
ศักดิ์ศรีของงานและสิทธิของคนทำงานสัมพันธ์กันอย่างไร?
(CCC 2426-2436)
    การงานช่วยเราให้ดำรงชีพได้, แสดงศักดิ์ศรีความเป็นคนของเรา และช่วยให้เรามีส่วนในงานสร้างแบบไม่หยุดยั้งของพระเจ้า งานมีไว้เพื่อคน ไม่ใช่คนมีไว้เพื่องาน  เรามีสิทธิพื้นฐานในการประกอบอาชีพที่เหมาะสมและประสบผลสำเร็จมาก, ได้รับค่าจ้างอย่างยุติธรรม, มีทรัพย์สินส่วนตัวและมีการสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจ  พระศาสนจักรสนับสนุนสิทธิของผู้ใช้แรงงานอย่างสอดคล้องกับสิทธิพื้นฐานนี้  โดยให้จัดตั้งสหภาพแรงงานและสมาคมต่างๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถมีสิทธิและศักดิ์ศรี พร้อมกับมีความเชื่อที่ว่าเศรษฐกิจมีอยู่เพื่อช่วยมนุษย์  ไม่ใช่ทำลายมนุษย์  
อะไรคือสิทธิพิเศษสำหรับผู้ยากไร้?
(CCC 2443-2449; 2461-2463)
    คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรคาทอลิกถามสังคมดวยคำถามนี้คือ บรรดาผู้ที่อ่อนแอที่สุดที่อยู่ในชุมชนของพวกเขากินอยู่อย่างไร?  พระเยซูเจ้าทรงสอนว่า เราต้องจัดการกับความต้องการของผู้ยากไร้และอ่อนแอเป็นสิ่งแรก พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ทรงอธิบายความเกี่ยวโยงระหว่างความยุติธรรมกับความรักคนยากจนไว้อย่างดี ดังต่อไปนี้
ความยุติธรรมจะไม่มีทางเกิดผลอย่างเต็มที่  ถ้าคนเราไม่มองดูบุคคลผู้ยากจนซึ่งกำลังร้องขอความช่วยเหลือเพื่อความอยู่รอดของพวกเขาว่า เป็นโอกาสหนึ่งที่จะได้แสดงความเมตตาและโอกาสเพิ่มคุณค่าให้ชีวิตอย่างแท้จริง ไม่ใช่ผู้ที่น่ารำคาญหรือเป็นภาระอีกต่อไป  มันไม่พอที่จะเอาสิ่งของดีๆที่เป็นส่วนเกิน ซึ่งที่จริงโลกของเราได้สร้างไว้อย่างมากมายไปให้ผู้ที่ยากจน  แต่ความยุติธรรมเรียกร้องมากกว่านั้น คือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการดำเนินชีวิต, ของแบบอย่างการผลิตและการบริโภค และของโครงสร้างอำนาจที่ใช้ปกครองสังคมในปัจจุบันซึ่งถูกจัดตั้งขึ้น
                                            –The One Hundredth Year, ข้อ 58