แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

    ในวันอาทิตย์ปัสกาปี ค.ศ. 1966 นิตยสารไทม์ตีพิมพ์หน้าปกเป็นพื้นสีดำ และมีตัวหนังสือสีแดงเด่นชัดเรียงต่อกันเป็นคำถามที่กระตุ้นความคิดว่า “พระเป็นเจ้าตายแล้วหรือ?”   กองบรรณาธิการจงใจเลือกวันฉลองพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ เป็นวันที่เขาจะนำคริสตชนที่มีความเชื่อมั่นทั้งหลายให้ใส่ใจกับคำถามอันมีพื้นฐานอยู่บนการถกเถียงที่ทันสมัยในปัจจุบันและเกี่ยวกับเทววิทยามูลฐานในประเด็นการสิ้นพระชนม์ของพระเป็นเจ้า

    นิตยสารไทม์ได้ยืมความคิดนี้มาจากนักปรัชญาที่นอกลู่นอกทางชาวเยอรมันคนหนึ่งในศตวรรษที่สิบเก้า ชื่อ ฟรีดรีช นีทซ์เฌอ(Friedrich Nietzsche) เพื่อนำให้บรรดาผู้มีความเชื่อเกิดความรู้สึกโกรธ และอาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดการโต้แย้งหาเหตุผลเกี่ยวกับการทำให้วัฒนธรรมและแม้กระทั่งศาสนาเป็นไปตามทางโลก   กระบวนการที่จะทำให้เกิดผลเช่นนั้นก็ยังมีเรื่องเล่าเบาสนองที่เกิดจากจินตนาการให้ได้ขบขันและขบคิดกัน
ลองนึกภาพการสนทนาระหว่างเทวดากาเบรียลกับพระเป็นเจ้าที่เกิดขึ้นในสวรรค์
กาเบรียล    :     พระองค์เคยได้ยินคนในโลกพูดอะไรเกี่ยวกับพระองค์บ้างไหม?
พระเป็นเจ้า    :    ไม่เคย…เขาพูดอะไรกันบ้างล่ะ?
กาเบรียล       :    พวกเขากำลังอ้างว่าพระองค์ตายไปแล้วและพระเยซูเป็นมนุษย์ที่ทำ ประโยชน์เพื่อผู้อื่น
พระเป็นเจ้า    :    ใครเริ่มพูดเรื่องนี้?
กาเบรียล    :    นีทซ์เฌอกับศิษย์หัวสมัยใหม่ของเขาบางคน
พระเป็นเจ้า    :    พวกเขาสอนเรื่องอะไรกันอีกล่ะ?
กาเบรียล       :    พวกเขาเสนอให้เปลี่ยนความคิดเรื่องการอยู่นอกเหนือทุกๆสิ่งตั้งแต่แรกเริ่มของพระองค์ไปเป็นการดำรงอยู่ภายในอย่างเป็นมูลฐาน
พระเป็นเจ้า    :    มันหมายความว่าอย่างไรล่ะ?
กาเบรียล    :    ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ข้าพเจ้าให้ออกัสตินศึกษาเรื่องนี้อยู่
พระเป็นเจ้า    :    แล้วนีทซ์เฌอกำลังทำอะไรอยู่ในเวลานี้?
กาเบรียล       :    เขากำลังเขียนคำว่า “ข้าพเจ้าผิดไปแล้ว” สามล้านครั้งบนกระดานดำแผ่นใหญ่
    สิบปีต่อมา นิตยสารไทม์ ก็ลงหัวข้อเรื่องหนึ่งในหน้าปกซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “กระบวนการของเยซู”(Jesus Movement) ที่ไม่ได้มีอะไรสำคัญมากนักคือ  เป็นเพียงการรื้อฟื้นศาสนาที่ประกาศคำสอนของพระเยซูและความเชื่อในพระเยซูคริสต์ว่าทรงเป็นพระเป็นเจ้า
    บรรดานักเทศน์และธรรมทูตมีความพยายามอย่างหนักอยู่เสมอที่จะใช้วิธีการสื่อสารต่างๆ  เพื่อบอกพระธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระเป็นเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระตรีเอกภาพ   นักบุญแพทริกบอกกับชาวไอริชว่า พระตรีเอกภาพก็เปรียบเสมือนต้นแชมรอคต้นหนึ่ง ใบ    3 ใบบนกิ่งเดียวกันของมันนั้น เปรียบได้กับองค์พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งสามในพระเป็นเจ้าพระองค์เดียว    บางคนใช้สีต่าง ๆ ในเปลวเทียนเพื่อสื่อถึงพระบุคคลทั้งสามในความเป็นหนึ่งเดียวของพระเป็นเจ้า คือเปลวเทียนสีแดง, ขาว,และน้ำเงิน ก็เป็นเปลวเทียนหนึ่งเดียว   บางคนก็นำเอาภาพต้นไม้ต้นหนึ่งมาใช้อธิบายโดยเปรียบส่วนประกอบของมันคือ ราก, ลำต้นและผลซึ่งเป็นส่วนที่ต่างกันแต่ก็เป็นของต้นไม้ต้นเดียว   ดังนั้นแม้พระบุคคลสามพระองค์จะมีความแตกต่างกัน  แต่ก็รวมเป็นหนึ่งในความเป็นพระเป็นเจ้าพระองค์เดียว “...เพราะเราเป็นพระเป็นเจ้าไม่ใช่มนุษย์  เราเป็นผู้บริสุทธิ์ท่ามกลางพวกเจ้า...” (ฮชย 11:9)
    หลังจากที่หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกได้ทำให้ลักษณะการเปิดเผยของพระเป็นเจ้าและการตอบรับความเชื่อของเราเป็นที่ยอมรับแล้ว  จึงนำเสนอคำสอนในเรื่องบทข้าพเจ้าเชื่อของอัครสาวก  จากนั้นก็กลับมาอธิบายถึงความหมายของถ้อยคำคือ “ข้าพเจ้าเชื่อในพระเป็นเจ้าหนึ่งเดียว” ที่ทำให้เราคิดถึงพระเป็นเจ้าในฐานะพระบิดาเป็นลำดับแรก แล้วจึงคิดถึงพระองค์ในฐานะพระตรีเอกภาพ
    พระเป็นเจ้าได้ทรงเปิดเผยพระองค์เองในฐานะพระเป็นเจ้าหนึ่งเดียว และเป็นพระเป็นเจ้าแต่ผู้เดียว  “...เพราะเราเป็นพระเป็นเจ้า และไม่มีอื่นใดอีก!” (อสย 45:22)   ในช่วงต้นของพระคัมภีร์นั้นเล่าเรื่องเทพเจ้ามากมายซึ่งเป็นที่เคารพของชนชาติต่างๆ  พระเป็นเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็นชัดว่า บรรดาเทพเจ้าที่ทำด้วยไม้และหิน รวมทั้งเทพเจ้าที่ถูกระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งสร้าง (ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, ดวงดาว, ต้นไม้, ภูเขา) ล้วนมิใช่พระเป็นเจ้า โดยการเปิดเผยผ่านทางโมเสสและประกาศกทั้งหลาย  มีพระเป็นเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น “ชาวอิสราแอลเอ๋ย จงฟังเถิด พระยาเวห์พระเป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ทรงเป็นพระเป็นเจ้าพระองค์เดียวของเรา พระยาห์มีเพียงพระองค์เดียว” (RSV ฉธบ 6:4)   เราจะกล่าวถึงพระเป็นเจ้าหนึ่งเดียวและเพียงพระองค์เดียวนี้ได้อย่างไรบ้าง?

  • พระเป็นเจ้าคือพระธรรมล้ำลึก ณ พุ่มไม้ที่ลุกเป็นไฟนั้น พระเป็นเจ้าทรงบอกพระนามของพระองค์แก่โมเสสว่า “เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น” พระนามอันลึกล้ำนี้เปิดเผยความจริงหลายประการเกี่ยวกับพระเป็นเจ้า (ก) พระเป็นเจ้าทรงมีชีวิตและความเป็นพระบุคคล  (ข) พระเป็นเจ้าทรงประทับอยู่ใกล้เรา แต่กระนั้นก็เป็นความยากสำหรับเราที่จะเข้าใจพระองค์  (ค) พระเป็นเจ้าทรงติดต่อกับเราผ่านประสบการณ์ของเราเกี่ยวกับสิ่งสร้าง, หรือบุคคลพิเศษ, หรือผ่านเหตุการณ์พิเศษ เช่น การพบกับพระเป็นเจ้าของโมเสส ณ พุ่มไม้ที่ลุกเป็นไฟ  (ง) พระเป็นเจ้าผู้ลี้ลับทรงทำความเป็นจริงที่มองเห็นได้ประการหนึ่งให้ชัดเจนยิ่งขึ้น   การเปิดเผยของพระเป็นเจ้านั้นมีลักษณะลึกลับ หรือเกี่ยวกับพิธีกรรมที่สำคัญในศาสนาคริสต์ ดังที่นักบุญออกัสตินได้เปรียบว่าเป็น “เครื่องหมายหนึ่งที่มองเห็นได้แห่งความเป็นจริงหนึ่งที่มองไม่เห็น”
  • พระเป็นเจ้าคือความจริง ข้อความนี้หมายความว่า พระเป็นเจ้าทรงบอกความจริงที่แท้จริงให้กับเรา และไม่ทรงเคยหลอกลวงเรา  ความจริงเช่นนั้นเป็นมากกว่าความคิดลอย ๆ   ความจริงของพระเป็นเจ้านั้นบอกเป็นนัยถึงการกระทำที่ยึดมั่นในข้อเท็จจริง และความซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่พระองค์ทรงสอน   พระเป็นเจ้าทรงเป็นผู้ที่เราเชื่อถือได้เสมอและไม่ทรงเปลี่ยนแปลง อาจกล่าวได้ว่าพระเป็นเจ้าทรงเที่ยงตรงที่สุด  พระองค์จะไม่ทรงทอดทิ้งเราหรือไม่ทรงผิดสัญญาของพระองค์
  • พระเป็นเจ้าคือความรัก  ตามเรื่องราวเกี่ยวกับการช่วยให้รอดพ้นที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์นั้น  ทำให้เราเข้าใจได้ชัดเจนว่าสิ่งที่เป็นเหตุจูงใจให้พระเป็นเจ้าทรงช่วยเรานั้น  ก็คือความรักของพระองค์ที่ทรงมีต่อเราและความกรุณาของพระองค์ต่อบาปของเรา  พระคัมภีร์เปรียบเทียบความรักของพระเป็นเจ้ากับความรักของบิดาที่มีต่อบุตรชายของตน, ความรักของมารดาที่มีต่อบุตรทุกคน, ความรักของเจ้าบ่าวที่มีต่อเจ้าสาว   ความรักของพระเป็นเจ้านั้นแข็งแกร่งกว่าความไม่เที่ยงตรงของเรา   นักบุญยอห์นความจริงในเรื่องนี้ด้วยคำกล่าวยกย่องที่จับใจว่า “…พระเป็นเจ้าทรงเป็นความรัก” (1 ยน 4:8) พระเป็นเจ้าทรงเป็นการแลกเปลี่ยนความรักตลอดนิรันดร ระหว่าง พระบิดา พระบุตร และพระจิต และทรงกำหนดล่วงหน้าให้เรามีส่วนในการแลกเปลี่ยนความรักนี้ด้วย


องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสนิทกับพระเป็นเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ
    เราทุกคนได้รับศีลล้างบาป “ในพระนามของพระบิดา, และพระบุตร, และพระจิต” ความเชื่อของคริสตชนทุกคนยึดเอาพระตรีเอกภาพเป็นหลัก นี่คือพระธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อที่เก่าแก่และลึกซึ้งที่สุดในบรรดาพระธรรมล้ำลึกทั้งหลาย
    พระธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระตรีเอกภาพถูกเปิดเผยอย่างไร?
    บ่อยครั้งที่พระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมเรียกพระเป็นเจ้าว่า “พระบิดา” สำนวนแห่งความเชื่อนี้กล่าวถึงพระเป็นเจ้าในฐานะเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งและอำนาจของพระเป็นเจ้า   แต่คำนี้ก็ยังแสดงนัยถึงความอ่อนโยนต่อบรรดาบุตรของพระองค์  ยิ่งกว่านั้น ความอ่อนโยนของพระเป็นเจ้าในฐานะผู้ให้กำเนิดนั้นยังเปรียบได้กับความเป็นมารดา(เทียบ อสย 66:13)  สิ่งนี้เน้นถึงความสนิทสนมระหว่างพระผู้สร้างกับสิ่งสร้าง   การใช้ภาพผู้ให้กำเนิดกับพระเป็นเจ้า เป็นประโยชน์ก็จริงแต่ก็มีข้อจำกัด เพราะบิดามารดาสามารถทรยศต่อบทบาทของพวกเขา  แต่พระเป็นเจ้าทรงอยู่เหนือความแตกต่างระหว่างเพศ พระเป็นเจ้าไม่ทรงเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง พระเป็นเจ้าทรงเป็นพระเป็นเจ้าเท่านั้น
    พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยด้วยความรู้สึกใหม่ว่าพระเป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาคือ ไม่ทรงเป็นเพียงพระผู้สร้างดังที่เคยเข้าใจกัน  พระเป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาในความเป็นญาติกันกับพระบุตรพระองค์เดียวของพระองค์  พระบุตรทรงเป็นพระบุตรเพียงองค์เดียวในความเป็นญาติกับพระบิดาของพระองค์   สภาสังคายนาสากลแห่งนิเช (325) ได้ประกาศว่า “พระบุตรทรงมีชีวิตร่วมกับพระบิดา” หมายความว่า พระบุตรทรงมีพระธรรมชาติพระเจ้าเช่นเดียวกับพระบิดา
    พระจิตทรงเปิดเผยพระบิดาและพระบุตร   ก่อนการรับทรมาน พระเยซูเจ้าได้ทรงประกาศถึงการส่งพระจิตลงมา พระจิตนี้เคยทรงทำงานในการเทศน์ของบรรดาประกาศก  บัดนี้พระจิตย่อมจะทรงสอน และทรงชักนำอัครสาวกและศิษย์ทั้งหลายให้ได้เข้าใจความจริงทั้งปวง  พระบิดาทรงส่งพระจิตลงมาในพระนามของพระบุตร และพระบุตรก็ทรงส่งพระจิตมาอีกครั้งหลังจากเสด็จกลับไปหาพระบิดาแล้ว   พระจิตทรงเป็นอีกพระบุคคลหนึ่ง ร่วมกับพระเยซูและพระบิดา  การปรากฏองค์ของพระจิตนั้นเปิดเผยความเป็นจริงและงานของพระบิดาและพระบุตร  “ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระจิตทรงเป็นพระเป็นเจ้าผู้บันดาลชีวิต” (บทข้าพเจ้าเชื่อแห่งนิเช)
    เรากล่าวถึงข้อคำสอนเรื่องพระตรีเอกภาพอย่างชัดเจนได้อย่างไร?
    ความเชื่อในศีลล้างบาปตั้งแต่ยุคสมัยอัครสาวกนั้น ดึงดูดความสนใจไปที่พระธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระตรีเอกภาพ   เมื่อเวลาผ่านไป พระศาสนจักรได้พยายามที่จะเข้าใจพระธรรมล้ำลึกให้มากขึ้น โดยเฉพาะในยามที่ต้องต่อสู้กับบรรดาผู้ปฏิเสธความจริง หรือผู้บิดเบือนความจริงเพื่อปกป้องความจริง   พระศาสนจักรได้ขอยืมคำศัพท์สามคำจากปรัชญาเพื่อมาช่วยอธิบายเรื่องพระตรีเอกภาพ  เราใช้คำว่า “พระสภาวะธรรมหรือพระธรรมชาติ” (substance or nature) เพื่อกล่าวถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระเป็นเจ้า  เราใช้คำว่า “พระบุคคล” (person or hypostasis) กับพระบิดา, พระบุตรและพระจิต เพื่อบอกความแตกต่างอย่างแท้จริงระหว่างกันและกัน  เราใช้คำว่า “ความสัมพันธ์” (relation) เพื่อสอนว่าความพิเศษของแต่ละพระบุคคลนั้น เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่แต่ละพระบุคคลมีต่อกัน
ข้อคำสอนเกี่ยวกับพระตรีเอกภาพนั้นยังรวมไปถึงความจริงแห่งความเชื่อสามประการคือ
(1)    พระตรีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว  เราไม่ได้กล่าวถึงพระเจ้าสามพระองค์ แต่ยืนยันถึงพระเป็นเจ้าพระองค์เดียว  แต่ละพระบุคคลเป็นพระเป็นเจ้าครบบริบูรณ์
(2)    พระบุคคลพระเป็นเจ้านั้นแตกต่างจากกันอย่างแท้จริง  พระบิดา, พระบุตรและพระจิต มิได้เป็นเพียงรูปแบบหรือการเป็นอยู่ของพระเป็นเจ้า 3 ลักษณะ   แต่เป็นสามพระบุคคลที่มีลักษณะเฉพาะตนแท้จริง  พระบิดาไม่ใช่พระบุตร  พระบุตรก็ไม่ใช่พระบิดา  พระจิตนั้นก็ไม่ใช่พระบิดาหรือพระบุตร
(3)    พระบุคคลพระเป็นเจ้านั้นมีความสัมพันธ์ต่อกัน  และเนื่องด้วยลักษณะที่พระบุคคลพระเป็นเจ้ามีความสัมพันธ์ต่อกันนั้นเอง  เราจึงสามารถระบุถึงแต่ละพระบุคคลได้ โดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างกันนี้
อะไรคือภาระหน้าที่ของพระบุคคลแห่งพระตรีเอกภาพ?
แผนการช่วยให้รอดพ้นของพระเป็นเจ้านั้นเป็นภาระหน้าที่ร่วมกันของทั้งสามพระบุคคลแห่งพระตรีเอกภาพ   อย่างไรก็ตาม แต่ละพระบุคคลผู้เป็นพระเป็นเจ้าก็ทรงปฏิบัติภาระหน้าที่ร่วมกันนี้ตามลักษณะเฉพาะของแต่ละพระองค์   นี้จึงเป็นเหตุให้เรากล่าวอย่างชัดเจนถึงพระบิดาในฐานะพระผู้สร้าง, พระบุตรในฐานะพระผู้ไถ่ และพระจิตในฐานะพระผู้บันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์  แม้ว่าแท้จริงแล้วทั้งสามพระบุคคลจะร่วมกันปฏิบัติภาระหน้าที่เหล่านี้  เมื่อเราถวายพระเกียรติและสรรเสริญพระบุคคลหนึ่ง จึงเท่ากับสรรเสริญทั้งสามพระบุคคลพร้อมกัน

การไตร่ตรองจากหนังสือคำสอน
1. ความเชื่อเรียกร้องอะไรจากเราในเรื่องพระเป็นเจ้าหนึ่งเดียว?
ความเชื่อของเราเป็นแบบเอกเทวนิยม “ ‘ชาวอิสราเอลเอ๋ย จงฟังเถิด องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเป็นเจ้าของเราทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว’ (ฉธบ 6:4; มก 12:29) …ความเชื่อในพระเป็นเจ้าชักนำเราให้กลับไปหาพระเป็นเจ้าพระองค์เดียว ในฐานะที่ทรงเป็นแหล่งกำเนิดแรกของเรา และจุดหมายปลายทางสุดท้ายของเรา, และทำให้เราไม่พึงพอใจสิ่งใดมากกว่าพระองค์ หรือไม่หาสิ่งใดมาแทนที่พระองค์...แม้เมื่อพระเป็นเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์เอง  พระองค์ก็ยังทรงเป็นพระธรรมล้ำลึกที่ไม่อาจหาคำพรรณนาได้สมบูรณ์...พระเป็นเจ้าแห่งความเชื่อของเราทรงเปิดเผยพระองค์เองในฐานะพระผู้ทรงเป็นอยู่...การเป็นอยู่อย่างแท้จริงของพระองค์ คือ ความจริงและความรัก” (CCC 228-231)
2. เราจะกล่าวถึงพระตรีเอกภาพผู้ศักดิ์สิทธิ์อย่างชัดเจนได้อย่างไร?
พระธรรมล้ำลึกแห่งพระตรีเอกภาพผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด คือ พระธรรมล้ำลึกที่เป็นศูนย์กลางแห่งความเชื่อของคริสตชน และชีวิตคริสตชน พระเป็นเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นทรงสามารถทำให้เรารู้พระธรรมล้ำลึกนั้น โดยการเปิดเผยพระองค์เองในฐานะพระบิดา, พระบุตรและพระจิต” (CCC 261)
3. อะไรคือความสัมพันธ์และภาระหน้าที่ของทั้งสามพระบุคคลผู้ทรงเป็นพระเป็นเจ้า?
พระบุคคลพระเป็นเจ้าทั้งสามนั้น ไม่สามารถแยกจากกันได้ในสิ่งที่ทุกพระองค์ทรงเป็นและในสิ่งที่ทุกพระองค์ทรงกระทำ  “แต่ในกิจการหนึ่งของพระเป็นเจ้า แต่ละพระบุคคลก็ทรงแสดงสิ่งที่เป็นหน้าที่ของพระองค์ภายในพระตรีเอกภาพออกมาให้เห็น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาระหน้าที่ทั้งหลายของพระเป็นเจ้าในส่วนของการบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระบุตร และในพระพรของพระจิตที่ทรงประทานแก่มนุษย์ผู้ซึ่งพระจิตทรงเห็นว่าเหมาะสม” (CCC 267)