แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

โมเสสผู้ไม่เต็มใจพบพระเจ้า
ข้าพเจ้าชื่นชอบชีวิตคนเลี้ยงแกะ ข้าพเจ้าชอบอยู่สงบเงียบนานๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝูงแกะของข้าพเจ้ามีความพอใจ แล้วชีวิตอันสงบราบรื่นนี้ก็ถึงเวลาที่ต้องยุติลงในวันที่ข้าพเจ้าพาฝูงแกะขึ้นไปบนภูเขาโฮเรบ ข้าพเจ้าตกใจที่เห็นพุ่มไม้มีไฟลุกโชน เปลวไฟขนาดใหญ่มากนี้ถ้ามีลมพัดผ่านย่อมก่อให้เกิดอันตรายได้ในทันทีแน่นอน แต่แทนที่ข้าพเจ้าจะได้เห็นพุ่มไม้ที่อยู่โดดเดี่ยวนั้นลุกเป็นไฟ กลับพบว่าทั้งใบและกิ่งทั้งหลายของมันยังคงเหมือนเดิม ความรู้สึกลี้ลับได้หุ้มห่อข้าพเจ้าไว้  ด้วยความตกตะลึง ข้าพเจ้าจึงเข้าไปใกล้สิ่งที่กำลังลุกเป็นไฟอยู่ ในขณะนั้นเองข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงจากกองไฟสั่งข้าพเจ้าว่า : “โมเสส !  ถอดรองเท้าของเจ้าออกเสียเพราะที่ตรงนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์” ด้วยความน่าเกรงขามและความกลัวที่กระทบจิตใจ ข้าพเจ้าจึงถอดรองเท้าออกและล้มลงกับพื้น หลับตา ไม่กล้าเงยหน้าขึ้นมา ข้าพเจ้าประหลาดใจว่าใครกำลังพูดกับข้าพเจ้า มันราวกับว่าข้าพเจ้ากำลังพบกับพระเจ้า

ในไม่ช้า ข้าพเจ้าได้ยินเสียงกล่าวว่า “เราเป็นพระเจ้าของบรรพบุรุษของท่าน เป็นพระเจ้าของอับราฮัม พระเจ้าของอิสอัคและพระเจ้าของยาโคบ เสียงร้องคร่ำครวญของทาสชาวอิสราเอลในอียิปต์ได้ขึ้นมาถึงสวรรค์ เราจึงรู้ถึงความเสียใจและได้ฟังความระทมทุกข์ของพวกเขา เราต้องการปลดปล่อยพวกเขา โมเสส,เราต้องการให้ท่านนำพวกเขาไปสู่อิสรภาพ”
ข้าพเจ้าค้านขึ้นว่า “ข้าพระองค์จะทำได้อย่างไร ข้าพระองค์เป็นเพียงคนเลี้ยงแกะ ไม่เคยผ่านการฝึกทางทหาร หรือไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการทูต แล้วจะทำเช่นนั้นได้หรือ?”
“เจ้าต้องเรียนรู้ว่าฤทธานุภาพศักดิ์สิทธิ์ของเราจะเกิดผลดีที่สุด
ในจิตใจที่อ่อนน้อม เรากระทำสิ่งต่างๆ ได้บรรลุเป้าหมายของเราในโลกนี้
ก็เพราะอาศัยบุคคลซึ่งพึ่งพาพละกำลังของเรามากกว่าใช้พละกำลังของตัวเขาเอง และฤทธานุภาพศักดิ์สิทธิ์ของเราจะสมบูรณ์ภายในความอ่อนแอของมนุษย์”
“เจ้าไม่ต้องกังวล ว่าเราจะทำเช่นนั้นไม่ได้?”
“เราจะอยู่กับเจ้า เราจะให้อำนาจและพลังความนึกคิดภายในตัวเจ้า เพื่อที่จะกระทำงานนี้ได้สำเร็จ”
ข้าพเจ้าโต้แย้งต่อไปว่า “พระองค์คือใคร? พระองค์ทรงพระนามว่าอะไร? ประชาชนคงต้องการรู้...ข้าพระองค์ก็ต้องการรู้”
“จงบอกพวกเขาว่า เราคือพระเจ้าองค์เดียวกันกับที่ได้เรียกอับราฮัมให้สร้างชาติใหม่ชาติหนึ่ง และประชากรในชาตินี้จะเป็นประชากรของเรา”
“แล้วพระองค์ทรงพระนามว่าอะไร?”
“ชื่อของเราคือ เราเป็น ให้ประชากรของเจ้ารู้ว่า พระเจ้าของพวกเขานั้นมิใช่เพียงเทพเจ้าแห่งธรรมชาติ มิใช่เทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ของบาบิโลน มิใช่เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ของอียิปต์ มิใช่เทพเจ้าแห่งฝนและดินของชาวฟิลิสเตีย เราคือพระเจ้าแท้จริง,พระเจ้าพระบุคคล, บุคคลที่รู้จักเจ้าและรักเจ้าด้วยความรักที่ไม่สิ้นสุด”
“ภารกิจนี้ทำให้ข้าพระองค์หวาดกลัว ข้าพระองค์พูดไม่คล่อง ไม่มีวาทศิลป์ พวกเขาจะไม่เชื่อข้าพระองค์”
“เราจะให้ถ้อยคำที่เจ้าต้องใช้ และสอนเจ้าว่าต้องพูดอะไร”
“ข้าแต่พระเจ้า โปรดอภัยให้ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ไม่สามารถกระทำได้ ข้าพระองค์พูดตะกุกตะกัก โปรดทรงส่งผู้อื่นไปเถิด”
“โมเสส, เจ้ากำลังทดลองความอดทนของเรานะ เอาเถิด, เราจะให้มีคนช่วยเจ้า อาโรนพี่ชายของเจ้า เป็นคนที่พูดโน้มน้าวใจเก่ง เราจะให้ถ้อยคำที่เจ้าต้องพูดแก่เขา เขาจะช่วยพูดแทนเจ้า เราจะอยู่กับเจ้าและกับเขา เจ้าจะยอมรับการเรียกของเราไหม?”
“พระเจ้าข้า ข้าพระองค์เชื่อในพระองค์ ข้าพระองค์จะกระทำตามที่พระองค์ตรัส”
ข้าพเจ้ามิใช่คนเลี้ยงแกะธรรมดาที่ดูแลฝูงแกะเล็กๆ อีกต่อไปแล้ว พระเจ้าได้ทรงเปิดเผยพระองค์แก่ข้าพเจ้า และทรงเรียกข้าพเจ้าให้เป็นผู้เลี้ยงดูประชากรชาวอิสราเอลของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้เห็นภาพของพระเจ้าผู้ทรงชีวิตที่เป็นไฟลุกโชน และสิ่งที่มาพร้อมกับภาพนั้นคือความรับผิดชอบที่จะทำให้ข้าพเจ้าเร่าร้อนตลอดชีวิตที่เหลืออยู่

ศาสนาของเราเริ่มจากการเปิดเผย
เรื่องโมเสส (อพย 3-4) เป็นเรื่องหนึ่งในจำนวนหลายๆ เรื่องเล่าในพระคัมภีร์ที่เน้นถึงคำสอนสำคัญประการหนึ่งในหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกที่กล่าวว่าพระเจ้านั้นเอง เป็นผู้ทรงเปิดเผยให้เรารู้แผนการอันเปี่ยมด้วยความรักที่จะช่วยเราให้พ้นจากบาปของเรา
เราค้นหาพระเจ้า และสามารถรู้จักพระองค์ได้โดยอาศัยสิ่งสร้างที่มองเห็น แต่เรายังต้องการการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ เพื่อที่จะรู้จักชีวิตภายในของพระเจ้า และรู้ว่าพระองค์ทรงรักเราอย่างไม่สิ้นสุดได้อย่างไร มีความรู้ประเภทหนึ่งที่เกี่ยวกับพระเจ้าซึ่งเราไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยความสามารถของเราเอง มีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่สามารถสอนสิ่งนี้แก่เราในการเปิดเผย (ความจริง)
พระเจ้าทรงเปิดเผยสิ่งนี้ทีละน้อยด้วยกิจการ และวาจามานานหลายศตวรรษ ในการจัดตั้งประชาชนชาวอิสราเอลให้เป็นดั่งชุมชนหนึ่งที่มีความเชื่อ พระเจ้าทรงเพาะเลี้ยงความหวังแห่งการช่วยให้รอดพ้น รวมทั้งความหวังในพันธสัญญาใหม่และนิรันดรซึ่งควรได้รับการจารึกลงในจิตใจมนุษย์ในพวกเขา พระเจ้าได้ตรัสกับบรรดาอัยกาของชาวอิสราเอล แล้วก็บรรดาประกาศกและสุดท้ายตรัสทาง
พระบุตรของพระองค์คือ พระเยซูคริสตเจ้าพระบุตรของพระเจ้าที่ทรงรับสภาพมนุษย์ เป็นพระวจนะของพระบิดาที่ถูกเปิดเผยโดยสมบูรณ์ นักบุญยอห์นแห่งไม้กางเขน บรรยายถึงความจริงข้อนี้ด้วยข้อความที่ยอดเยี่ยมคือ “ในการประทานพระบุตรของพระองค์แก่เรา พระองค์ตรัสทุกสิ่งทุกอย่างกับเราในครั้งเดียวโดยอาศัยพระวจนะองค์เดียว และพระเจ้าก็ไม่ทรงมีถ้อยคำอื่นใดอีกเลยที่จะประทานแก่เรา เนื่องจากว่าสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสไว้เป็นตอนๆ แก่บรรดาประกาศกนั้นพระองค์ทรงนำมาตรัสอย่างครบถ้วนในเวลาเดียวกัน โดยทรงประทานพระวาจาทั้งหมด ซึ่งคือองค์พระบุตรให้แก่เรา” (Ascent of Mount Carmel 2,22)
ดังนั้นจึงไม่มีการเปิดเผยที่เป็นสาธารณะครั้งใหม่อีก ประวัติศาสตร์พระศาสนจักรคาทอลิกยังมีตัวอย่างของสิ่งที่เรียกว่า “การเปิดเผยส่วนตัว”
อยู่มากมาย ในการไตร่ตรองถึงเรื่องเหล่านี้เราควรจำไว้ว่า ไม่ว่าการเปิดเผยส่วนตัวทั้งหลายจะสอดคล้องกับการเปิดเผยที่เป็นสาธารณะในพระคัมภีร์และการตีความการเปิดเผยนั้นอย่างเป็นทางการโดยพระศาสนจักรหรือไม่ เราควรพิจารณาว่า การเปิดเผยนี้กำลังเสริมสร้างพระกายของพระคริสตเจ้าอย่างไร และบรรดาผู้ได้รับการเปิดเผยนั้นเป็นแบบอย่างความศักดิ์สิทธิ์ของคริสตชนหรือไม่

การเปิดเผย (ความจริง) ถูกถ่ายทอดมาถึงเราได้อย่างไร?
การเปิดเผย (ความจริง) (Revelation) ถูกถ่ายทอดมาถึงเราโดยอาศัยการสืบทอดคริสตธรรมของอัครสาวก (the Apostolic Tradition)นั่นเอง ข้อความนี้หมายความว่าอะไร? ความหมายที่แท้จริงก็คือพระคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงทำให้การเปิดเผย (ความจริง) ของพระเจ้าสำเร็จสมบูรณ์ด้วยพระวาจาและกิจการของพระองค์ที่ช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นจากบาปของตน แล้วพระองค์ก็ทรงมอบหน้าที่ให้บรรดาอัครสาวกไปประกาศข่าวดีเรื่องความรอดพ้น และพระอาณาจักรที่บรรดาประกาศกได้สัญญาไว้ และสำเร็จสมบูรณ์ในพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระองค์
บรรดาอัครสาวกถ่ายทอดข่าวดีนี้ในสองวิธี คือ (1) การใช้วาจา (Orally) พวกเขาได้ประกาศสารแห่งการช่วยให้รอด โดยการเทศน์สอน การเป็นประจักษ์พยาน และสถาบันต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้น พวกเขาได้เทศน์สอนสิ่งที่พระเยซูเจ้าได้ทรงสอนพวกเขาไว้ และสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากการดลใจของพระจิตเจ้า (2) การเขียน (In Writing) สารแห่งการช่วยให้รอดเขียนขึ้นโดยบรรดาอัครสาวก และคนอื่นๆ ที่แวดล้อมอยู่รอบข้าง ภายใต้การดลใจของพระจิตเจ้า การสืบทอดคริสตธรรมของอัครสาวกนี้ต่อเนื่องมาในสิ่งที่เราเรียกว่า “การสืบทอดตำแหน่งของอัครสาวก” เพื่อให้มั่นใจว่าข่าวดีนี้จะถูกเก็บรักษาไว้ในพระศาสนจักร บรรดาอัครสาวกจึงแต่งตั้งพระสังฆราชทั้งหลายให้เป็นผู้สืบตำแหน่งต่อจากพวกเขา และมอบอำนาจการสั่งสอนของพวกท่านให้ด้วย การถ่ายทอดอย่างมีชีวิตชีวานี้ได้ชื่อว่า การสืบทอดคริสตธรรม ซึ่งแตกต่างออกไปจากพระคัมภีร์ แต่ก็เกี่ยวพันกับพระคัมภีร์อย่างใกล้ชิด
    การสืบทอดคริสตธรรมศักดิ์สิทธิ์และพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ถูกเกี่ยวโยงกันไว้อย่างเหนียวแน่น ทั้งสองมาจากบ่อเกิดของพระเจ้าเดียวกันคือการเปิดเผย (ความจริง)  พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เป็นพระวาจาของพระเจ้าที่ถูกบันทึกภายใต้การดลใจของพระจิตเจ้า การสืบทอดคริสตธรรมศักดิ์สิทธิ์นั้นก็ถ่ายทอดพระวาจาของพระเจ้าซึ่งบรรดา
อัครสาวกได้รับมอบจากพระเยซูเจ้าและพระจิตเจ้าต่อไป บรรดาคริสตชนรุ่นแรกยังมิได้มีพันธสัญญาใหม่ที่เป็นลายลักษณ์อักษร พันธสัญญาใหม่ในเวลานั้นเป็นพันธสัญญาใหม่ที่แสดงออกชัดแจ้งถึงแนวทางความเปลี่ยนการสืบทอดคริสตธรรมอันมีชีวิตชีวา
พระวาจาของพระเจ้าควรได้รับการอธิบายอย่างไร จะอาศัยรูปแบบข้อเขียนของพระวาจาหรืออาศัยการสืบทอดคริสตธรรมของพระศาสนจักร? ความรับผิดชอบในเรื่องนี้ถูกมอบหมายให้พระสังฆราชทั้งหลายในฐานะผู้สืบตำแหน่งจากบรรดาอัครสาวกร่วมกับพระสันตะปาปา ในฐานะผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร หัวหน้าของบรรดาอัครสาวก เราเรียกตำแหน่งการสอนนี้ว่า ผู้มีอำนาจสั่งสอน (ในพระศาสนจักร) (the Magisterium) ผู้มีอำนาจสั่งสอน (ในพระศาสนจักร) มิได้เหนือกว่าพระวาจาของพระเจ้า แต่เป็นผู้รับใช้พระวาจา
การตีความพระวาจานี้ได้รับการสนับสนุนโดยความสำนึกเหนือธรรมชาติอันเกิดจากความเชื่อที่ประชากรของพระเจ้ารับไว้ด้วยความยินดี ในความเชื่อและการภาวนา พวกเขาเข้าใจถึงพระพรที่ได้รับโดยอาศัยการเปิดเผย (ความจริง) จากพระเจ้าลึกซึ้งยิ่งขึ้น และดำเนินชีวิตในพระพรด้วยความกล้าหาญมากขึ้น ขณะที่ไม่มีการเปิดเผยใหม่
อีกเลย ก็ได้มีการทำความเข้าใจและความสำนึกรู้คุณค่าการเปิดเผยเพิ่มเติมเรื่อยไป เพราะความเชื่อ, คำพยาน, และการไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งมากมายอยู่ภายใต้การแนะนำของพระจิตเจ้า


ที่มา : หนังสือคำสอนครอบครัว บทที่ 2