แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ประชาคมกรีก
ประชาคมคริสต์แรกได้ก่อตั้งขึ้นที่กรุงเยรูซาเล็ม  ประกอบด้วยชาวยิวเป็นส่วนใหญ่แม้ชาวยิวที่กระจัดระจายอยู่ที่ต่างๆ ก็ถือว่าตนสังกัดประชาคมนี้ ต่อเมื่อปัญหาความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและความเชื่อสามารถทำความเข้าใจกันได้จึงมีการออกไปประกาศพระวรสารให้กับคนต่างชาติ ซึ่งเริ่มต้นอย่างจริงจังโดยมีเซนต์ปอลเป็นผู้นำ โดยมุ่งที่ชาวกรีกเป็นอันดับแรก
ประชาคมใหม่ที่กรีกมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอันติโอค  สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวกรีกและคนต่างชาติอื่นๆ  ที่ไม่ใช่ยิว  ที่นี่เองที่ผู้เชื่อในพระเยซูได้รับชื่อว่า “ชาวคริสต์”  เพราะชาวยิวไม่เคยเรียกพระเยซูว่าพระคริสต์  ซึ่งในภาษากรีกเรียกว่า  Christos มีความหมายเดียวกับคำว่า  Messiah   ซึ่งเป็นภาษาฮีบรูแปลว่า “ผู้ที่ได้รับการเจิมด้วยน้ำมัน”  หมายความว่าได้รับการเลือกสรรจากพระเจ้าให้ทำหน้าที่สำคัญ
นอกจากนี้ประชาคมที่เมืองอันติโอค  ยังมีกลุ่มชาวคริสต์อื่นๆ  ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป  จากบันทึกในหนังสือกิจการอัครสาวกและจากจดหมายที่เซนต์ปอลเขียนไว้แสดงว่ามีกลุ่มชาวคริสต์อื่นๆ อยู่ตามหัวเมืองและในแคว้นต่างๆ เช่น โครินธ์ เอเฟซัส ฟิลิปปี โคโลสี เธสะโลนิกา กาลาเทียและมาซิโดเนีย  เป็นต้น  ส่วนที่กรุงเอเธนส์ซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางอารยธรรมกรีกนั้นไม่ปรากฏว่ามีประชาคมคริสต์อยู่  แม้ว่าปอลจะเคยไปเทศนาที่นั่นและมีบางคนติดตามท่านไปก็ตาม ปอลได้กล่าวต่อบรรดานักปรัชญาและผู้ทรงภูมิปัญญาแห่งเอเธนส์  ซึ่งสนใจมาฟัง “ความคิดใหม่ๆ” ว่า
“ชาวเอเธนส์ทั้งหลาย! ข้าพเจ้าพบว่าท่านมีความเลื่อมใสในศาสนามากจริงๆ เมื่อข้าพเจ้าเดินชมเมืองสังเกตเห็นปูชนียวัตถุต่างๆ ของท่าน พบแท่นบูชาหนึ่งมีคำจารึกว่า “แด่พระเจ้าที่ไม่รู้จัก” ข้าพเจ้ามาประกาศให้ท่านรู้จักพระเจ้าที่ท่านเคารพทั้งๆ ที่ไม่รู้จักองค์นี้ พระองค์คือพระเจ้าผู้ทรงสร้างโลกและทรงสร้างทุกสิ่งที่อยู่ในโลก พระองค์ทรงเป็นเจ้านายของสวรรค์และแผ่นดิน พระองค์ไม่ทรงสถิตในวิหารที่มือมนุษย์สร้างขึ้น  พระองค์ไม่ทรงต้องการการปรนนิบัติจากมือมนุษย์  ประหนึ่งว่าพระองค์ทรงขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ประทานชีวิต ลมหายใจและทุกสิ่งให้แก่มนุษย์ทุกคน   พระองค์ทรงทำให้มนุษย์ทุกชาติสืบเชื้อสายมาจากมนุษย์คนเดียว และทรงทำให้เขาทั้งหลายอยู่ทั่วพื้นแผ่นดินโดยทรงกำหนดช่วงเวลาและขอบเขตให้เขาได้อยู่  พระเจ้าทรงกระทำดังนี้ เพื่อให้มนุษย์แสวงหาพระเจ้าแม้จะต้องคลำหา เขาก็ยังพบพระองค์ได้ เพราะพระองค์ทรงอยู่ไม่ห่างจากเราแต่ละคน  เรามีชีวิตเคลื่อนไหวและมีความเป็นอยู่ในพระองค์ ดังที่กวีบางคนของท่านกล่าวไว้ว่า “พวกเราเป็นบุตรของพระองค์” เมื่อเราเป็นบุตรของพระเจ้า เราจึงไม่ควรคิดว่า พระเจ้าทรงเป็นเหมือนรูปทองคำ เงินหรือหิน-ซึ่งแกะสลักอย่างมีศิลปะตามจินตนาการของมนุษย์” (กจ 17:22-29) 
ผู้ฟังส่วนใหญ่เดินหนีไป  ทั้งนี้เพราะสำหรับนักปรัชญากรีกและชาวกรีกและชาวกรุงเอเธนส์ ผู้รักในความรู้   ศาสนากับปรัชญาเป็นเรื่องที่แตกต่างกันและไม่นำมาปะปนกันจึงไม่อาจจะรับฟังความคิดของปอล  ซึ่งเชื่อมโยงความเชื่อในพระเจ้ากับแนวคิดที่ตนมี  ผู้ที่ยอมรับคำสอนของปอลและเป็นคริสต์จึงเป็น “ชาวบ้าน” ตามหัวเมือง ซึ่งยังมีโลกทัศน์ที่เป็นเอกภาพและมีความเรียบง่าย  ปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่ชาวกรีก แต่เป็นความขัดแย้งใหม่ที่เกิดขึ้นกับชาวยิวที่เป็นคริสต์
แม้ว่าจะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า การรับคนต่างชาติมาเป็นสมาชิกของประชาคมใหม่เป็นสิ่งที่ชอบธรรม แต่ชาวยิวก็ยังเห็นว่า เขาเหล่านั้นจำต้องปฏิบัติตามกฎหมายตามประเพณีของตน เช่น จะต้องเข้าพิธีสุหนัตและปฏิบัติตามกฎของโมเสส ด้วยเหตุนี้ปอลจึงจำต้องไปที่กรุงเยรูซาเล็มพร้อมกับเพื่อนร่วมงานอีกผู้หนึ่งชื่อบาร์นาบัส บรรดาสาวกได้ประชุมกันพิจารณาเรื่องนี้ การประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็น “สังคายนา” (Council) ครั้งแรก (กจ 15)  ซึ่งบรรดาสาวกลงความเห็นว่า  เป็นเรื่องชอบธรรมที่คนต่างชาติไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของชาวยิวแต่กระนั้นก็ขอเพียงแต่ “คืองดเว้นการกินเนื้อสัตว์ที่ถวายแก่รูปปฏิมาแล้ว งดเว้นการกินเลือดและเนื้อสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย และงดเว้นการแต่งงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย” (กจ 15:29)  การตัดสินความขัดแย้งเช่นนี้ถือเป็นความพยายามที่จะประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่าย  โดยยังขอร้องให้คนต่างชาติยอมในบางเรื่อง เช่นการรับประทานเลือดหรือเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าโดยการรัดคอ เพราะชาวยิวถือว่าเลือดเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิต  (ซึ่งประกอบด้วยเลือด – เนื้อ)  พระเจ้าประทานมา จึงมีกฎหมายห้ามนับแต่สมัยของโมเสสแล้ว
อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ  ชาวยิวก็ยังไม่อาจปรับตัวและยอมรับการตัดสินนี้ และยังคงกีดกันคนต่างชาติไม่ให้เข้าร่วมพิธีกรรม  กิจกรรมและการรับประทานอาหารกับพวกตน  แม้แต่ปิเตอร์เองก็ยังลังเล จนถูกปอลต่อว่า (ดู กท 2:11) ปอลได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
“เราเกิดมาเป็นชาวยิว ไม่ใช่เป็นคนบาปต่างศาสนา แต่เราทราบว่า มนุษย์มิได้เป็นผู้ชอบธรรมจากการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ แต่เป็นผู้ชอบธรรมจากความเชื่อในพระคริสตเยซูเท่านั้น เราเองมีความเชื่อในพระคริสตเยซูเพื่อจะได้เป็นผู้ชอบธรรมโดยอาศัยความเชื่อในพระคริสตเจ้า มิใช่จากการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ เพราะไม่มีมนุษย์คนใดเป็นผู้ชอบธรรมได้จากการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ” (กท 2:15-16)
จดหมายถึงกาลาเทียทั้งฉบับดูจะเป็นการชี้ให้เห็นความคิดของปอลในเรื่องนี้และประเด็น “กฎหมาย” และ “กฎบัญญัติ” จะได้รับการกล่าวถึงอีกมาก เป็นการชี้จุดยืนที่หนักแน่นของปอลว่า  ไม่มีอะไรสำคัญเท่าความเชื่อศรัทธาในพระเยซู สิ่งนี้เท่านั้นทำให้เราสามารถรอดได้ ปอลต้องการจะบอกว่า กฎหมายของพันธสัญญาเดิมนั้นทำให้  “ตาย”  หมายความว่าทำให้รู้ดีรู้ชั่วและทำให้เป็น  “คนดี” ได้ แต่กฎของพระเยซูคริสต์ทำให้  “มีชีวิต” หากใครเพียงแต่ปฏิบัติตามกฎหมายแบบประเพณีเท่านั้นก็จะ “ตาย”  คือทำความดีได้ แต่ไม่เพียงพอ จะต้องทำตามกฎแห่ง “ชีวิต” จึงจะได้ชื่อว่ามีเสรีภาพที่แท้จริง  เสรีภาพของการเป็นบุตรของพระเจ้า  นี่คือกฎของพระคริสต์ที่ปอลเห็นว่าต้องทดแทนกฎของโมเสส ท่านกล่าวว่า  “ธรรมบัญญัติทั้งหมดสรุปได้เป็นข้อเดียวว่า จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (กท 5:14)  กฎของพระคริสต์เป็นพระจิตของพระเจ้า (หรือพระวิญญาณ) “จงดำเนินตามพระจิตเจ้า และอย่าตอบสนองความปรารถนาตามธรรมชาติ เพราะธรรมชาติมนุษย์มีความปรารถนาตรงกันข้ามกับพระจิตเจ้า… ผู้ที่เป็นของพระคริสตเยซู ก็ตรึงธรรมชาติของตนพร้อมกับกิเลสตัณหาไว้กับไม้กางเขนแล้ว”  (กท  5:16-17,24)  ความพยายามของปอลได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ซึ่งนำไปสู่การยอมรับวัฒนธรรมของคนต่างชาติรวมทั้งประเพณีต่างๆ  ประยุกต์เข้าสู่ศาสนาคริสต์