แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การเทศนา


ในช่วงเวลา 3 ปี ที่พระเยซูทรงเทศนาสั่งสอนไปทั่วปาเลสไตน์นั้น พระวรสารทั้งสี่ได้ถ่ายทอดคำสั่งสอนต่างๆ ที่สำคัญ   ส่วนใหญ่จะปะปนอยู่กับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จัดไว้เป็นระบบมากที่สุดคือคำเทศนาบนภูเขา (ดู มธ 5-7)  ซึ่งอาจแบ่งย่อยออกเป็น  7  เรื่องดังนี้

ก) “ผู้เป็นสุข” (The Beatitudes)
“ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา
ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน
ผู้มีใจอ่อนโยน ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก
ผู้หิวกระหายความยุติธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม
ผู้มีใจเมตตา ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา
ผู้มีใจบริสุทธิ์ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า
ผู้สร้างสันติ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อเป็นบุตรของพระเจ้า
ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา
‘ท่านทั้งหลายย่อมเป็นสุข เมื่อถูกเขาดูหมิ่น ข่มเหงและใส่ร้ายต่างๆ นานาเพราะเรา”
(มธ 5:3-11)

ข) “เกลือดองแผ่นดินและแสงสว่างของโลก”  เป็นคำสอนที่ไม่เพียงแต่สำหรับสาวกหรือศิษย์ทั้งหลายเท่านั้น  แต่รวมถึงผู้ฟังพระวาจาและเชื่อในพระองค์ทั้งหมด โดยพระองค์ทรงใช้สัญลักษณ์จากชีวิตประจำวันในสมัยนั้นเพื่อสอนว่า ผู้ฟังและปฏิบัติตามพระวาจาเป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่โลก และช่วยนำทางผู้อื่นไปสู่ความรอดด้วย

ค) กฎหมายสังคมใหม่  พระเยซูตรัสนำก่อนว่า พระองค์มิได้เสด็จมาเพื่อลบล้างกฎหมายเดิม  แต่เพื่อทำให้สมบูรณ์ กฎหมายเดิมหมายถึงกฎที่โมเสส และบรรพบุรุษได้ตราขึ้นและถือเป็นหลักปฏิบัติในสังคมอิสราเอลมาโดยตลอด
การฆ่าคน  “ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน ผู้ใดฆ่าคนจะต้องขึ้นศาล แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า ทุกคนที่โกรธเคืองพี่น้องจะต้องขึ้นศาล” (มธ 5:21-22)
การล่วงประเวณี  “ท่านได้ยินคำกล่าวที่ว่า “อย่าล่วงประเวณี” แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดมองหญิงด้วยความใคร่ ก็ได้ล่วงประเวณีกับนางในใจแล้ว”  (มธ 5:27-28)
การหย่า  “มีคำกล่าวว่า “ผู้ใดจะหย่ากับภรรยา ก็จงทำหนังสือหย่ามอบให้นาง” แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดที่หย่ากับภรรยาของตน ยกเว้นกรณีแต่งงานไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็เท่ากับว่าทำให้นางล่วงประเวณี และผู้ใดที่แต่งกับหญิงที่ได้หย่าร้าง ก็ล่วงประเวณีด้วย” (มธ 5:31-32)
การสาบาน  “ท่านยังได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า “อย่าผิดคำสาบาน แต่จงทำตามที่ได้สาบานไว้ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า” แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่าสาบานเลย อย่าอ้างถึงสวรรค์ เพราะเป็นที่ประทับของพระเจ้า” (มธ 5:33-34)
การโต้ตอบ  “ท่านเคยได้ยินเขากล่าวว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า อย่าโต้ตอบคนชั่ว ผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน จงหันแก้มซ้ายให้เขาด้วย” (มธ 5:38-39)
รักศัตรู  “ท่านทั้งหลายได้ยินคำกล่าวว่า “จงรักเพื่อนบ้าน จงเกลียดศัตรู” แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า จงรักศัตรู จงภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน เพื่อท่านจะได้เป็นบุตรของพระบิดาเจ้าสวรรค์ พระองค์โปรดให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นทั้งเหนือคนดีและคนชั่ว โปรดให้ฝนตกเหนือคนชอบ-ธรรมและคนอธรรม ถ้าท่านรักแต่คนที่รักท่าน ท่านจะได้บำเหน็จรางวัลอะไรเล่า  บรรดาคนเก็บภาษีมิได้ทำเช่นนี้ดอกหรือ?” (มธ 5:43-46)

ง) กฎแห่งอาณาจักรพระเจ้า  เป็นคำสอนแนวทางในการบำเพ็ญตนเพื่อจะได้ซื่อสัตย์มั่นคงและอยู่ในอาณาจักรของพระเจ้า  มีอยู่สามประการคือ ความรักต่อเพื่อนมนุษย์  (การให้ทาน)  ความศรัทธาต่อพระเจ้า (การภาวนา)  ความเสียสละ (การอดอาหาร)  ความจริงหลักสามประการนี้มีอยู่แล้วในกฎประเพณี แต่มีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง
“เมื่อท่านให้ทาน จงอย่าเป่าแตรข้างหน้าท่านเหมือนที่บรรดาคนหน้าซื่อใจคดมักทำในศาลา-ธรรมและตามถนนเพื่อจะได้รับคำสรรเสริญจากมนุษย์ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า เขาได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว ส่วนท่านเมื่อให้ทาน อย่าให้มือซ้ายของท่านรู้ว่ามือขวากำลังทำอะไร…”
(มธ  6:2-3)
“เมื่อท่านอธิษฐานภาวนา ก็อย่าเป็นเหมือนบรรดาคนหน้าซื่อใจคด เขาชอบยืนอธิษฐานภาวนาในศาลาธรรม และตามมุมลานเพื่อให้ใครๆ เห็น เราบอกความจริงแก่ท่านว่า เขาได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว ส่วนท่านเมื่ออธิษฐานภาวนา จงเข้าไปในห้องส่วนตัว…” (มธ 6:5-6)
“เมื่อท่านทั้งหลายจำศีลอดอาหาร อย่าทำหน้าเศร้าหมองเหมือนบรรดาคนหน้าซื่อใจคด เขาทำหน้าหมองคล้ำ เพื่อแสดงให้ผู้คนรู้ว่าเขากำลังจำศีลอดอาหาร เราบอกความจริงแก่ท่านว่า เขาได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว ส่วนท่านเมื่อจำศีลอดอาหาร จงล้างหน้า เอาน้ำมันหอมเจิมศีรษะ เพื่อไม่แสดงให้ผู้คนรู้ว่าท่านกำลังจำศีลอดอาหาร…” (มธ 6:16-18)
จะเห็นได้ว่าแนวทางปฏิบัติทั้งสามประการนี้แตกต่างจากในข้อ ค)  ซึ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางสังคมในประเด็นที่ว่า ทั้งสามข้อนี้เน้นความสัมพันธ์กับพระเจ้า  “ผู้ซึ่งสถิตในที่ลับและทรงเห็นการกระทำและจิตใจของมนุษย์” ซึ่งหมายความว่า คุณค่าของกิจการใดๆ จะต้องมีพื้นฐานที่ความสัมพันธ์กับพระเจ้า

จ) “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย”  ในการเทศนาบนภูเขา  พระเยซูทรงสอนให้ภาวนาด้วยเนื้อหาที่สมบูรณ์  จนสามารถวิเคราะห์หลักธรรมทางศาสนาคริสต์ทั้งหมดจากบทภาวนานี้ได้  ด้วยเหตุนี้ จึงมีการสวดภาวนาด้วยบทนี้มานับแต่ประชาคมคริสต์กลุ่มแรกจนถึงปัจจุบัน
     “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย  พระองค์สถิตในสวรรค์  พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ พระอาณาจักรจงมาถึง  พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์
    โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้  โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การผจญ แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ” (มธ 6:9-13)
บทภาวนานี้แบ่งได้เป็นสองส่วน  ส่วนแรกเป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้าโดยการประกาศความเชื่อศรัทธาและการยอมรับ ส่วนที่สองเป็นการวอนขอเพื่อตนเอง เพื่อความจำเป็นทางด้านร่าง-กายและจิตใจ  แต่ที่สำคัญที่สุดในบทนี้คือการเริ่มต้นเรียกพระเจ้าเป็น “บิดา” เป็น “บุคลาธิษฐาน”  ที่แสดงออกถึงความสัมพันธ์กับพระเจ้าจากความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ นับเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวถึงพระเจ้าอย่างชัดเจนในลักษณะนี้  และผู้ริเริ่มคือพระเยซูเอง
นอกจากนั้นยังเรียกพระเจ้าเป็นบิดา  “ของข้าพเจ้าทั้งหลาย”  ซึ่งให้ความหมายถึงการเป็นประชาคมของ “บุตรของพระเจ้า” แสดงมิติทางสังคมของบทภาวนานี้ว่าความสัมพันธ์กับพระเจ้าไม่ใช่ความสัมพันธ์  “ส่วนตัว”  จะสมบูรณ์ก็ด้วยความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วย

ฉ) การไม่ยึดมั่นถือมั่นและความไว้ใจในพระเจ้า   คำสอนข้อนี้เน้นถึงการละความโลภในทรัพย์สินเงินทองและสมบัติในโลกนี้  และให้  “สั่งสมสมบัติในสวรรค์”  นอกนั้นพระองค์ยังทรงชี้ให้เห็นว่า  ความยึดมั่นในสิ่งของของโลกเป็นอุปสรรคสำคัญในความสัมพันธ์กับพระเจ้า  “ไม่มีใครเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายได้ เขาจะชังนายหนึ่งและจะรักอีกนายหนึ่ง เขาจะจงรักภักดีต่อนายหนึ่งและจะดูหมิ่นอีกนายหนึ่ง ท่านทั้งหลายจะปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้” (มธ 6:24)
การที่มนุษย์สั่งสมทรัพย์สินในโลกก็เพราะต้องการความมั่นคงในชีวิตจนกระทั่งกลายเป็นความผูกพัน  พระเยซูทรงสอนว่า
“อย่ากังวลถึงชีวิตของท่านว่าจะกินอะไร อย่ากังวลถึงร่างกายของท่านว่าจะนุ่งห่มอะไร ชีวิตย่อมสำคัญกว่าอาหาร และร่างกายสำคัญกว่าเครื่องนุ่งห่มมิใช่หรือ! จงดูนกในอากาศเถิด มันมิได้หว่าน  มิได้เก็บเกี่ยว มิได้สะสมไว้ในยุ้งฉาง แต่พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงเลี้ยงมัน ท่านทั้งหลายมิได้มีค่ามากกว่านกหรือ? ท่านใดที่กังวลแล้วสามารถต่อชีวิตของตนให้ยาวออกไปอีกสักหนึ่งวันได้?… จงพิจารณาดอกไม้ในทุ่งนาเถิด มันเจริญงอกงามขึ้นได้อย่างไร จงแสวงหาพระอาณา-จักรของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มทุกสิ่งเหล่านี้ให้”  (มธ 6:25-33)

ช) เรื่องอื่นๆ ในบทเทศนาบนภูเขา คือ  เรื่องการตัดสินผู้อื่น  ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เคร่งศาสนาแบบประเพณีมักจะกระทำ  พระเยซูทรงสอนว่าอย่าตัดสินผู้อื่น แล้วท่านจะไม่ถูกพระเจ้าตัดสินด้วย  ผู้มีหน้าที่ตัดสินคือพระเจ้าเท่านั้น คนเรามักเห็นความผิดของคนอื่นมากกว่าของตน  “ทำไมท่านจึงมองดูเศษฟางในดวงตาของพี่น้อง แต่ไม่สังเกตเห็นท่อนซุงในดวงตาของตนเองเลย?” (มธ 7:3)
อีกเรื่องหนึ่งคือการวิงวอนพระเจ้า ให้วอนขอแล้วพระเจ้าจะประทานดังที่บิดาย่อมให้ของที่ดีแก่บุตร  อย่างไรก็ดี  คงต้องทำความเข้าใจว่า สิ่งที่ดีนั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่เราขอก็ได้  ความจริง  การวอนขอก็คือการแสดงออกถึงความสัมพันธ์กับพระเจ้าอย่างหนึ่ง  ผลจึงเกิดขึ้นแล้วจากการขอนั้นเอง  สิ่งที่เราขอจึงเป็นสิ่งที่พระเจ้าจะทรงเพิ่มเติมให้เอง

เรื่องสุดท้ายที่สำคัญพระองค์ทรงสอนว่า “ท่านอยากให้เขากระทำกับท่านอย่างไร ก็จงกระทำกับเขาอย่างนั้นเถิด” (มธ 7:12)  คำสอนข้อนี้จะปรากฏอีกในหลายแห่งโดยเฉพาะในเรื่องบัญญัติแห่งความรัก “จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง”  หมายความว่า  โดยธรรมชาติมนุษย์ย่อมรักตนเอง  แต่ก็มีหน้าที่รักผู้อื่นด้วยเช่นกัน การคิดถึง “หัวอก”  ผู้อื่น  หรือ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”  จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ แม้ว่าจะเป็นเรื่อง “ธรรมดา” แต่เราก็มักจะไม่ปฏิบัติกัน
การเทศนาบนภูเขามีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เรื่องอาณาจักรพระเจ้าและเงื่อนไขของการเข้าสู่อาณาจักรพระเจ้านั้น ภาษาที่พระเยซูทรงใช้เป็นภาษา “ธรรมดา” ที่ “บรรยาย” ความ นอกจากนั้น พระเยซูยังได้ทรงเทศน์สอนเป็นนิทานเปรียบเทียบอีกมากมาย  ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องอาณาจักรพระเจ้าดังในบทที่  13  ของมัทธิว  เช่น  เรื่องการหว่านพืช  เรื่องข้าวละมาน  เรื่องเมล็ดพืช  เรื่องเชื้อขนมปัง  “พระเยซูเจ้าตรัสเรื่องทั้งหมดนี้แก่ประชาชนเป็นอุปมา พระองค์ไม่ตรัสสิ่งใดกับเขาโดยไม่ใช้อุปมา” (มธ 13:34)