พระนางพรหมจารีย์มารีย์ (The Vrigin Mary)
รูปภาพที่บ่งบอกถึงความอ่อนโยนเยี่ยงแม่ พระมารดาของพระเจ้า
ทรงนำเราเข้าสู่หัวใจของความรักของพระเจ้า

    มารีย์-มาจากศัพท์ภาษาฮีบรู มีเรียม (myriam) แปลว่า “ผู้ที่พระเจ้าทรงรักโปรดปราน” อัครทูตสวรรค์คาเบรียลแจ้งให้พระนางพรหมจารีมารีย์ทราบว่าจะทรงตั้งครรภ์ มีบุตรเป็นชายซึ่งจะเป็นผู้สืบสกุลของกษัตริย์ดาวิด รัชสมัยของพระองค์จะไม่มีสิ้นสุด ก็เป็นการกำหนดให้ทรงเป็นพระผู้ไถ่ที่อิสราเอลกำลังรอคอย การรับสารมีความสำคัญมากในมรดกวัฒนธรรมของยุโรปและมีการวาดภาพไว้มากมาย เวลาที่พระแม่มารีย์ได้รับเชิญให้เป็นพระมารดาขององค์พระผู้ไถ่ และพระมารดาของเราด้วย ถือว่าเป็นรากฐานของศักดิ์ศรีของพระนาง

    เราได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าพระตรีเอกภาพทั้งครบประทับอยู่กับพระแม่มารีย์ในโอกาสของการแจ้งสารของอัครทูตสวรรค์คาเบรียล พระบิดาทรงส่งมาในฐานะผู้แจ้งสารการรับเอาสภาพมนุษย์ของพระบุตรซึ่งจะเกิดขึ้น ด้วยเดชะพระจิตเจ้า แผนการไถ่กู้ของพระเจ้านี้เป็นจริงอย่างเร้นลับจากการตอบรับของข้าทาสหญิงผู้ต่ำต้อยแห่งนาซาแร็ท พระนางทรงยินยอมด้วยคำว่า Fiat “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าขอให้เป็นไป (fiat) (ภาพภาษาละติน) กับข้าพเจ้าตามวาทะของท่านเถิด” (ลก.1:38)
    พระแม่มารีย์ทรงให้กำเนิดพระกุมารเยซูที่เมืองเบธเลเฮม     สี่สิบวันต่อมาแม่พระถวายพระองค์ในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม บรรดาโหราจารย์จากทิศตะวันออกมาถวายนมัสการแด่พระองค์ ความอิจฉาของกษัตริย์เฮโรดทำให้ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ต้องไปหลบซ่อนที่ประเทศอียิปต์ชั่วระยะหนึ่ง หลังจากกษัตริย์เฮโรดสิ้นพระชนม์แล้ว นักบุญโยเซฟ พระแม่มารีย์ และพระเยซู ได้กลับมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองนาซาเร็ธ ตลอดเวลายี่สิบปีที่ต่อมานั้นพระเยซูทรงเจริญวัยอย่างซ่อนเร้น
    พระแม่มารีย์ทรงมีบทบาทที่ค่อนข้างเจียมตัวในพันธสัญญาใหม่ นอกจากนักบุญมัทธิวและนักบุญลูกากล่าวถึงวัยเด็กของพระเยซูแล้ว ที่กล่าวถึงอย่างมาก ได้แก่ การแต่งงานที่เมืองคานา พระองค์ทรงเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่นเพราะคำแนะนำของพระมารดาของพระองค์ อัศจรรย์นี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นพระชนม์ชีพเปิดเผยของพระองค์ (๑) เราเห็นพระแม่มารีย์อีกครั้งขณะประทับยืนอยู่แทบเชิงกางเขน ก่อนที่พระเยซูสิ้นพระชนม์ทรงมอบนักบุญยอห์น “ศิษย์ที่ทรงรัก” แก่พระนางพลางตรัสว่า “คุณแม่ นี่คือลูกของท่าน” แล้วนั้น ทรงยืนยันเรื่องนี้อีกทีเมื่อตรัสกับศิษย์คนนั้นว่า “นี่คือแม่ของเจ้า” (๒)เหตุการณ์นี้ชี้ให้เราเห็นว่าในขณะที่พระเยซูกำลังจะสิ้นพระชนม์อยู่นั้น พระองค์ทรงมอบพระมารดาของพระองค์แก่เรา เจ็ดสัปดาห์ต่อมา ขณะที่กำลังรอคอยการเสด็จมาของพระจิต พระแม่มารีย์ทรงภาวนาอย่างเร่าร้อนพร้อมกับบรรดาอัครสาวกและทรงประทับท่ามกลางพวกเขาขณะที่พระจิตเสด็จลงมาในสัณฐานของลิ้นไฟ(๓)
    ดังนั้น พระแม่มารีย์ทรงอยู่ในเหตุการณ์ที่สำคัญๆของการบังเกิด การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูและในการสถาปนาพระศาสนจักรด้วย พระสังคายนาแรกๆของพระศาสนจักรที่ยังมิได้แตกแยกกันได้กล่าวถึงฐานะที่ถ่อมตัวแต่มีความสำคัญยิ่งของพระนางในแผนการของการไถ่บาป ทรงเป็นหัวใจของบท Credo บทประกาศความเชื่อ “พระองค์ทรงรับเอากายจากพระนางมารีย์ พรหมจารีด้วยพระอานุภาพของพระจิตมาบังเกิดเป็นมนุษย์” พระแม่มารีย์ไม่ได้เป็นพระหญิง เป็นข้าทาสผู้ต่ำต้อยของพระเจ้า แต่เป็นพระมารดาของพระองค์ตามธรรมชาติมนุษย์ พระแม่ประทานส่วนที่เป็นมนุษย์ให้แก่พระคริสต์ดังที่พระบิดาทรงประทานส่วนที่เป็นเทวภาพพระองค์ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นการง่ายที่จะเข้าใจถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของพระนางกับพระบิดาและพระบุตรพร้อมทั้งพระจิตผู้ทรงบันดาลให้พระนางทรงครรภ์ จึงกล่าวได้ว่าพระแม่มารีย์ทรงเป็นการเปิดเผยฐานะที่เป็นมนุษย์ถึงความอ่อนโยนเยี่ยงแม่ของพระเจ้า
    เป็นเวลาหลายศตวรรษที่ชาวคาทอลิกและชาวออร์ธอดอกซ์มีความศรัทธาต่อพระแม่มารีย์ ซึ่งนับวันจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ส่วนพวกปฏิรูปนั้นคิดว่าการที่มนุษย์เคารพพระนางพรหมจารีนั้น ซึ่งบางครั้งเลยเถิด จึงผิดต่อบทบาทของการเป็นคนกลางแต่ผู้เดียวของพระคริสต์ พระศาสนจักรคาทอลิกเชื่อว่าพระแม่มารีย์ทรงมีอิทธิพลของการเป็นคนกลางในฐานะเป็นมารดากับพระบุตรของพระนาง ธรรมประเพณีดั้งเดิมจึงถวายนามแด่พระนางว่า Omnipotentia supplex (ผู้วิงวอนที่สรรพานุภาพ) พระกฤษฎีกาว่าด้วย
    พระศาสนจักรของพระสังคายนาวาติกันที่ 2 สอนว่า “หน้าที่ของพระนางมารีย์ในฐานะที่เป็นพระมารดาของมนุษย์ไม่ได้ปิดบังหรือทำให้การเป็นคนกลางของพระคริสต์ลดลงแม้แต่น้อย แต่กลับแสดงพลังเสียอีก” (ข้อ 60) พระแม่มารีย์ทรงเป็นพระมารดาของพระเจ้าและพระมารดาของพระศาสนจักรแต่ก็ไม่ได้เหนือพระเจ้าหรือเหนือพระศาสนจักร “ทรงได้รับเกียรติให้เป็นสมาชิกที่โดดเด่นและพิเศษสุดของพระศาสนจักร” (ข้อ 53)ในภาพของพระกายทิพย์ของพระคริสต์นั้นพระนางมิได้ทรงเป็นศีรษะแต่ทรงเป็นคอ ซึ่งอิทธิพลของพระนางไหลผ่านทางนี้ พระศาสนจักรเจ้าสาวของพระเจ้าทรงเป็นทั้งพรหมจารีและมารดา
    ปฏิทินพิธีกรรมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระแม่มารีย์ในชีวิตคริสตชนตามลำดับของชีวิตของพระนาง วันฉลองพระนางเริ่มด้วยวันสมโภชการปฏิสนธินิรมล ในวันที่ 8 ธันวาคม ข้อความเชื่อนี้ได้รับการยืนยันโดยพระสันตะปาปาปีอุสที่ 9 ในปีค.ศ.1854 ประกาศว่าพระนางพรหมจารีได้รับการยกเว้นจากบาปกำเนิดอันเป็นชิมลางล่วงหน้าของการไถ่บาป
    อีกเก้าเดือน ต่อมาในวันที่ 8 กันยายน เป็นวันฉลองการบังเกิดของพระนาง และการถวายองค์ในพระวิหารก็ได้รับการระลึกถึงในวันที่ 21 พฤศจิกายน วันที่ 25 มีนาคม (เก้าเดือนก่อนวันพระคริสตสมภพ) เป็นวันแม่พระรับสาร วันที่ 31 พฤษภาคมฉลองแม่พระเสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบธผู้เป็นญาติของพระนาง
    วันที่ 1 มกราคมของทุกปีเป็นวันสมโภชการเป็นพระชนนีของพระเจ้า การถวายพระกุมารในพระวิหารหรือวันเสกเทียนคือวันที่ 2 กุมภาพันธ์ แม่พระมหาทุกข์ระลึกถึงในวันที่ 15 กันยายน และการสมโภชแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ในวันที่ 15 สิงหาคม (ข้อความเชื่อข้อนี้ได้รับการประกาศโดยพระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 ในปี 1950) วันที่ 7 ตุลาคมเป็นวันฉลองแม่พระสายประคำศักดิ์สิทธิ์ แทบจะไม่มีเดือนไหนเลยที่ไม่มีวันฉลองแม่พระ นี่ยังไม่พูดถึงการฉลองท้องถิ่นและการแสวงบุญที่นับไม่ถ้วนของพระนางพรหมจารีมารีย์
    สายประคำศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นการสวด “บทวันทามารีอา” ร้อยห้าสิบครั้งพร้อมทั้งรำพึงถึงธรรมล้ำลึกของภาคชื่นชมยินดีห้าสิบบท ภาคเศร้าโศกห้าสิบบทและภาคสิริมงคลห้าสิบบท เรียกกันว่าเป็น “เพลงสดุดีของคนจน” เราสวดกัน 150 บทอันเป็นจำนวนของบทเพลงสดุดี ด้วยการสวดซ้ำไปซ้ำมา เป็นบทภาวนาง่ายๆ ซึ่งมีกันในแทบทุกศาสนา (เช่น “บทสวดของพระเยซู” ของชาวออร์ธอดอกซ์) สายประคำทำให้เราสามารถเข้ามีส่วนร่วมกับพระแม่มารีย์ในธรรมล้ำลึกแห่งการไถ่กู้

                ***************************************
(๑)    ยน.2:1-12
(๒)    ยน.19:26-27   
(๓)    กจ.1:14;2:1-4