จงบำรุงพระศาสนจักรตามความสามารถ


    บทบัญญัติประการนี้ สั่งให้บรรดาคริสตชนต้องมีหน้าที่บริจาคทรัพย์ เพื่อกิจกรรมต่างๆ ของพระศาสนจักรตามกำลังความสามารถของตน
  เกี่ยวกับบทบัญญัติประการนี้ มีที่มาตั้งแต่โบราณกาล จะเรียกว่ามีมาตั้งแต่พระธรรมเก่าเลยก็ว่าได้ เราคงทราบกันดีว่าประชากรของพระเป็นเจ้า (ชาวอิสราเอล) ได้แบ่งออกเป็น 12 ตระกูลหรือ 12 เผ่า    และมีตระกูลหนึ่ง คือ ตระกูลเลวี (Levi) ไม่ทราบว่าเป็นชื่อของกางเกงยีนส์ยี่ห้อหนึ่งหรือเปล่า? เพราะเขียนเหมือนกัน ผิดกันตรงคำอ่านเท่านั้นเอง        ตระกูลเลวีนี้เป็นตระกูลสงฆ์ (สมณะ) มีหน้าที่ดูแลพระวิหารและศาลาธรรม (ซีนาก๊อก) ของชาวยิว จึงไม่มีอาชีพอื่นๆ     ตระกูลอื่นๆ     อีก 11 ตระกูลจะต้องมีหน้าที่มอบหนึ่งในสิบของรายได้หรือผลผลิตให้ตระกูลเลวีในการดูแลพระวิหารและศาลาธรรม รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วย
    ดังนั้น พระวิหารและศาลาธรรม จึงเป็นของส่วนรวมที่ทุกตระกูลจะต้องเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดี ธรรมเนียมนี้จึงถูกปรับให้เข้ากับยุคสมัย จนถึงสมัยเราจะเห็นได้ว่าเรามีการ “ทำบุญ” เห็นได้ชัดเจนก็ในมิสซา    เราจะมีการ “ใส่เงินถุงทาน” สิ่งนี้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคน    มากบ้างน้อยบ้างตามกำลังความสามารถ มิได้เรียกร้องว่าต้องซักหนึ่งในสิบเหมือนสมัยก่อน
    นอกจากนี้ยังอาจมีการ “ทำบุญ” ในรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น อาจจะช่วยเหลือลงแรงในการบูรณะซ่อมแซมวัดวาอาราม หรือ บริจาคสิ่งของวัตถุ เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เป็นต้น
    การที่เราต้องบำรุงพระศาสนจักรนี้ เพราะเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักร     พระศาสนจักรเป็นของเราทุกคนนั่นเอง ทรัพย์สินเงินทองที่เราถวายให้กับทางวัด ก็จะถูกนำไปใช้จ่ายในกรณีจำเป็นต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการประกอบพิธีกรรม ต้องนำไปซื้ออุปกรณ์ศาสนภัณฑ์ต่างๆ หรือ ต้องใช้เป็นค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า บูรณะซ่อมแซมอาคารและรวมไปถึงช่วยเหลือผู้ขัดสนยากจนด้วย
    การ “ทำบุญ” ยังถือเป็นการแสดงความรักความเมตตาต่อผู้อื่น รู้จักแบ่งปันซึ่งกันและกัน เราต้องถือและเข้าใจว่า การทำบุญเป็นจิตตารมณ์ของความรักของการการปฏิบัติตนตามจิตตารมณ์ของพระศาสนจักรที่สำคัญอย่างหนึ่ง    ดังนั้น การทำบุญ จึงมิได้เน้นที่จำนวน แต่เน้นที่การมีส่วนร่วมตามกำลังความสามารถ
    นอกเหนือจากการบำรุงพระศาสนจักรแล้วเรายังมีหน้าที่ที่จะภาวนาวอนขอพระพรจากพระเป็นเจ้า เพื่อความเจริญก้าวหน้าของพระศาสนจักรเพื่อพระนามของพระเป็นเจ้าและข่าวดีแห่งความรอดจะได้เป็นที่รู้จักในโลกยิ่งทียิ่งมากขึ้น

ที่มา : หนังสือ หลักธรรมคำสอนคาทอลิก (คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม)