เหตุใดพระเป็นเจ้าจึง “ทรงอวยพรวันสับบาโต และทรงทำให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์” (อพย 20:11) (2168-2172, 2189)
เพราะว่าวันสับบาโตเป็นวันระลึกถึงการพักผ่อนของพระเป็นเจ้า ในวันที่เจ็ดของการสร้างโลก      เช่นเดียวกับการปลดปล่อยชาวอิสราเอลให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสในประเทศอียิปต์ และพันธสัญญาที่พระเป็นเจ้าทรงกระทำกับประชากรของพระองค์

พระเยซูเจ้าทรงทำอย่างไรในวันสับบาโต (2173)
พระเยซูเจ้าทรงยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของวันสับบาโต และด้วยอำนาจของการเป็นพระเจ้าของพระองค์ ทรงตีความอย่างถูกต้องว่า “วันสับบาโตมีไว้เพื่อมนุษย์ มิใช่มนุษย์มีไว้เพื่อวันสับบาโต” (มก 2:27)

ทำไมคริสตชนจึงเปลี่ยนวันสับบาโตเป็นวันอาทิตย์ (2174-2176, 2190-2191)
เพราะวันอาทิตย์เป็นวันกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า เป็น “วันต้นของสัปดาห์” (มก 16:2) ระลึกถึงการสร้างครั้งแรกและ เป็น “วันที่แปด” ซึ่งต่อจากวันสับบาโต เป็นสัญลักษณ์ของการสร้างครั้งใหม่ที่นำมาซึ่งการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า ดังนั้นจึงกลายเป็นวันแรกของทุกวัน เป็นการฉลองแรกของการฉลองทั้งหลายสำหรับคริสตชน เป็นวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า  โดยที่พระเยซูเจ้าได้ทรงกระทำให้ความจริงฝ่ายจิตของวันสับบาโตแบบยิวสมบูรณ์ในปัสกาของพระองค์ และการประกาศการพักผ่อนถาวรของมนุษย์ในพระเป็นเจ้า

จะทำให้วันอาทิตย์ศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร (2177-2185, 2192-2193)
คริสตชนทำให้วันอาทิตย์และวันฉลองอื่นๆ ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยข้อบังคับให้ร่วมในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณขององค์พระผู้เป็นเจ้า ให้ละเว้นจากกิจกรรมต่างๆ ที่ขัดขวางการถวายคารวกิจที่ต้องกระทำต่อพระเป็นเจ้าและรบกวนความยินดีของตนต่อวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า หรือการพักผ่อนที่จำเป็นสำหรับจิตใจและร่างกาย ยกเว้นกิจกรรมที่จำเป็นภายในครอบครัว หรือการรับใช้ที่สำคัญทางสังคม แต่ต้องไม่สร้างนิสัยความเคยชินที่เป็นอคติต่อการทำให้วันอาทิตย์ศักดิ์สิทธิ์ ต่อชีวิตครอบครัวและต่อสุขภาพ

ทำไมจึงต้องให้ประชาชนทราบว่าวันอาทิตย์เป็นวันฉลองสำคัญ (2186-2188, 2194-2195)
เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ทุกคนมีเวลาพักผ่อนและมีเวลาว่างอย่างเพียงพอ เพื่อจะได้เอาใจใส่ต่อชีวิตทางศาสนา ทางครอบครัว ทางวัฒนธรรมและทางสังคม เป็นสิ่งสำคัญด้วยที่เปิดโอกาสให้มีเวลาเพื่อรำพึงภาวนาไตร่ตรอง รักษาความเงียบ ศึกษา และมีเวลาในการอุทิศตนกระทำความดี โดยเฉพาะสำหรับผู้เจ็บป่วยและผู้สูงอายุ