การภาวนา
Jesus Christ Praying    พวกเราผู้ติดตามพระคริสต์ถูกเรียกมาสู่ความศักดิ์สิทธิ์  นั่นคือ การรวมกันกับพระเจ้าอย่างแท้จริงทั้งสติปัญญาและจิตใจ  การเติบโตขึ้นในความศักดิ์สิทธิ์เป็นของขวัญจากพระเจ้า พระจิตเจ้าไม่เคยบังคับเราให้ยอมรับความรักของพระเจ้า แต่ให้สิทธิการตอบรับอย่างอิสระในโอกาสต่างๆ ที่พระเจ้าประทานให้กับเรา  การภาวนาเป็นวิธีการที่จำเป็นสำหรับการเข้าใกล้ชิดกับพระเจ้ายิ่งขึ้น  ประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาของคาทอลิกเสนอวิธีการภาวนาแบบต่างๆมากมาย ซึ่งเป็นหนทางหลากหลายที่จะนำไปสู่องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา

การภาวนาคืออะไร?
(CCC 2558-2567; 2590)
    ตามความเชื่อและประเพณีของคาทอลิกได้ให้คำจำกัดความของการภาวนาคือ “การยกระดับสติปัญญาและจิตใจของบุคคลหนึ่งขึ้นหาพระเจ้า”  คำอธิบายอันเป็นที่นิยมได้บอกว่าการภาวนาคือ “การสนทนาด้วยความรักกับพระเจ้า” โทมัสเมอร์ตัน(Thomas Merton) นักเขียนเรื่องเกี่ยวกับจิตวิญญาณที่มีชื่อเสียงได้นิยามว่า การภาวนาคือ “การตระหนักรู้เกี่ยวกับการเป็นหนึ่งเดียวของบุคคลหนึ่งกับพระเจ้า ซึ่งเป็นการรับรู้อย่างหนึ่งเกี่ยวกับตัวตนภายในของบุคคลหนึ่งเอง”  อย่างไรก็ตามเราอธิบายได้แน่นอนว่าการภาวนาเริ่มต้นด้วยการหันเข้าหาพระเจ้าเสมอ และเปลี่ยนเป็นการรู้ถึงการประทับอยู่ของพระเจ้า  เมื่อเราภาวนาเราค้นหากิจการที่น่าพิศวงของพระเจ้าในชีวิตของเรา
    ในการภาวนาส่วนรวม(the public prayer)ของพระศาสนจักร คริสตชนคาทอลิกจะมาภาวนาด้วยกันประหนึ่งสมาชิกในครอบครัวของพระคริสตเจ้าที่มาสรรเสริญพระเจ้า, แสวงหาการให้อภัย, วอนขอความช่วยเหลือ, หรือแสดงการขอบพระคุณ  ในทางตรงข้ามการภาวนาส่วนตัวจะเป็นการสื่อสารกับพระเจ้าเป็นรายบุคคล  แต่ก็สามารถภาวนาเพื่อผู้อื่นได้  เราสามารถและควรภาวนาให้ครอบครัวของเรา, เพื่อนๆ, และสมาชิกของพระศาสนจักร, เพื่อผู้นำ, เพื่อผู้ที่ต้องการคำภาวนา, เพื่อศัตรูของเรา, โดยแท้จริงแล้วคือเพื่อทุกคน
    เมื่อเราท่องบทวันทามารีย์หรืออ่านบทสดุดีต่างๆ ด้วยเสียงอันดัง นั่นคือเรากำลังเข้าร่วมในการภาวนาด้วยวาจาที่เป็นการเปล่งเสียง  เรากำลังใช้บทภาวนาที่ถูกแต่งขึ้นเป็นรูปแบบที่แน่นอน  แต่เราก็ไม่ได้ถูกกำหนดให้กล่าวแต่บทภาวนาที่เป็นทางการ  คำภาวนาของเราอาจเป็นแบบธรรมชาติของเราเอง นั่นคือโดยใช้คำพูดของเราและไม่ตามรูปแบบใดๆ
จุดประสงค์ของการภาวนาคืออะไร?
(CCC 2623-2643)
    วิธีการหนึ่งที่ใช้จำแนกประเภทของการภาวนาแต่ละแบบ คือการอาศัยตัวย่อ ACTS  ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้เราจำจุดประสงค์ทั้ง 4 ประการของการภาวนาได้ นั่นคือ การนมัสการ(Adoration), การเป็นทุกข์ถึงบาป(Contrition), การขอบพระคุณ (Thanksgiving) และการวอนขอ(Supplication) เราภาวนาเพื่อนมัสการพระเจ้าในฐานะแหล่งที่มาของพระพรทั้งมวลและสรรเสริญพระเจ้าผู้ทรงสง่างาม, มีความรักและการช่วยเหลือ  เราแสดงความเศร้าเสียใจต่อพระเจ้าเมื่อเราภาวนาสำนึกผิดถึงบาปที่เราได้กระทำ  เราขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับสิ่งต่างๆ ที่พระองค์ประทานให้กับเรา  และสุดท้ายเราภาวนาเพื่อวิงวอนหรือเพื่ออ้อนวอน อันเป็นการวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า  รูปแบบพิเศษของการวิงวอนคือการภาวนาขอความเมตตา ร้องขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าแทนบุคคลอื่น ซึ่งเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งสำหรับการแสดงความรักและความเมตตา
สิ่งสำคัญสำหรับการภาวนาคืออะไร?
(CCC 2663-2698; 2720; 2757)
    การมีมิตรภาพกับพระเจ้ามากขึ้นต้องการเวลา และเป็นการดีที่จะจดจำคำแนะนำ ต่อไปนี้
•    หาสถานที่และเวลา  คุณสามารถภาวนาได้ทุกที่ แต่จะเป็นการดีถ้าจะหาสถานที่เหมาะสมสักแห่งสำหรับการทำตัวเองให้ช้าลง, ผ่อนคลายและคิดคำนึงถึงความตั้งใจของคุณ  คุณยังสามารถภาวนาได้ทุกเวลา  แต่จะเป็นความคิดที่ดีถ้าจะเลือกเอาเวลาใดเวลาหนึ่งในแต่ละวัน  การภาวนาเป็นกิจวัตรอย่างหนึ่ง  เราเรียนรู้ที่จะภาวนาโดยการภาวนา
•    ผ่อนคลาย  การภาวนาต้องการความตั้งใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวิตจิตแนะนำว่าควรจัดการร่างกายของเราให้อยู่ในลักษณะที่ทำให้เรามีความตื่นตัว แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยเราผ่อนคลายด้วย  เรายังควรใช้เวลาทำให้ร่างกายของเราสงบนิ่ง เพื่อให้สติปัญญาและจิตของเราเป็นอิสระสำหรับการสนทนากับพระเจ้าอย่างสนิทสนม
•    รักษาทัศนคติที่ดี  การภาวนาต้องการความตรงไปตรงมาและความศรัทธาต่อพระเจ้า  มันเป็นการดีที่จะเริ่มต้นการภาวนาด้วยการระลึกถึงการประทับอยู่และมิตรภาพของพระเจ้าพร้อมกับสิ่งต่างๆ ที่พระองค์ประทานแก่เรา
เราจะพัฒนาทัศนคติที่ดีต่อการภาวนาได้อย่างไร?
(CCC 2725-2731; 2734-2737; 2742-2745)
    จงระลึกว่าพระเจ้าคือ พ่อ(Abba)  พระเจ้าของเราเป็นบิดาผู้น่ารัก  เราต้องไม่กลัวที่จะเข้าไปใกล้ชิดพระองค์  พระเจ้าทรงทราบดีถึงสิ่งที่เราต้องการและทรงเกี่ยวข้องอย่างสำคัญมากกับชีวิตของเรา  เราสามารถวางใจพระบิดาของเราได้
•    เราต้องมั่นคง  พระเยซูเจ้าทรงสอนว่าเราควร “ภาวนาอย่างต่อเนื่องและไม่ท้อถอย”
•    เราต้องมั่นใจ  ความเชื่ออย่างล้ำลึกในพระเจ้าควรจะเคียงคู่ไปกับความมั่นคงในการภาวนา
•    เราต้องถ่อมตน  พระเยซูเจ้าทรงสอนบรรดาศิษย์ของพระองค์ให้ภาวนาแบบเรียบง่ายและถ่อมตน พระองค์ทรงสอนเราด้วยว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้คำพูดมากมาย เพราะพระบิดาในสวรรค์ของเราทรงทราบถึงความต้องการของเราแล้ว ความถ่อมตนเป็นสัญลักษณ์แท้จริงที่แสดงถึงความรักของเราที่มีต่อพระเจ้า
•    เราต้องให้อภัย  พระเจ้าแห่งการให้อภัยทรงประสงค์ให้เราเข้ามาหาพระองค์พร้อมกับหัวใจที่มีแต่การให้อภัย นี่คือเครื่องหมายที่แสดงความจริงใจและสันติสุข ซึ่งเป็นตัวช่วยให้การภาวนาของเราเกิดประโยชน์
การภาวนาด้วยวาจาเป็นอย่างไร?
(CCC 2700-2704)
    โดยปกติการภาวนาด้วยวาจาเป็นการพูดเสียงดังและเป็นการพูดพร้อมกับคนอื่น ตัวอย่างเช่น ในพิธีมิสซา การภาวนาด้วยวาจานี้อาจกล่าวตามบทสูตรที่ถูกกำหนดไว้หรือพูดแบบเป็นธรรมชาติของตัวเอง  อีกทั้งยังสามารถเป็นเพียงคำพูดสั้นๆ ตัวอย่างเช่น “ข้าแต่พระจิตเจ้า โปรดส่องสว่างแก่ข้าพเจ้า” หรือ “พระเยซูเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเหลือข้าพเจ้า”
    บทภาวนาบางบทเป็นที่คุ้นเคยสำหรับเราจึงทำให้เราลืมพิจารณาว่าเรากำลังพูดอะไร ดังนั้นเพื่อลดแนวโน้มที่เราจะทำเช่นนี้  เราต้องหยุดสักครู่ก่อนการภาวนา, ระลึกถึงการประทับอยู่ของพระเจ้าและเหตุผลว่าทำไมเราจึงกำลังภาวนาอยู่, หลังจากนั้นก็ไตร่ตรองถึงบทภาวนานั้น
สิ่งที่สำคัญเป็นพิเศษในบทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้าคืออะไร?
(CCC 2759-2865)
    พระเยซูเจ้าผู้เป็นนักภาวนาที่น่าเอาอย่างได้สอนบทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้กับเรา ซึ่งได้กลายเป็นแบบฉบับสำหรับบทภาวนาของคริสตชน แตร์ตูเลียนในฐานะปิตาจารย์ของพระศาสนจักรได้ให้ข้อสังเกตว่า บทข้าแต่พระบิดาเป็นบทภาวนาที่สรุปพระวรสารทั้งมวล
•    ในบทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า เรากล่าวกับพระเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นพ่อ(Abba) ผู้ทรงรับเราในฐานะบุตรบุญธรรมเข้าสู่ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ และเป็นผู้เปิดเผยว่าเรามีความสัมพันธ์กับมนุษย์ที่มิใช่คริสตชนทุกคน  พวกเราคือประชากรของพระเจ้า
•    เรายอมรับความมีอำนาจสูงสุดของพระเจ้าและการประทับอยู่อย่างลึกลับในสวรรค์และในหัวใจของผู้ชอบธรรม
•    เราภาวนาว่าทุกคนจะยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า และมอบตัวเราเองเพื่อถวายเกียรติแด่พระนามของพระเจ้า โดยดำเนินชีวิตอยู่ในความรักของพระเจ้า
•    เราภาวนาเพื่อพระอาณาจักรของพระเจ้าที่กำลังมาถึง  ในการทำดังนี้เราได้ร่วมมือกับพระเยซูเจ้าในการทำงานของพระองค์ เพื่อทำให้สันติภาพและความยุติธรรมของพระเจ้า, ความจริงและการรับใช้กระจายไป โดยเฉพาะให้กับผู้ที่ต้องการ
•    เราวอนขอพระเจ้าให้ประทานอาหารประจำวันแก่เรา นั่นคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตฝ่ายกายได้แก่ อาหาร, ที่อยู่และเครื่องนุ่งห่ม  ชีวิตฝ่ายจิตใจได้แก่ มิตรภาพ, ความรักและความเป็นเพื่อน  รวมถึงชีวิตฝ่ายวิญญาณได้แก่ ศีลมหาสนิท
•    เราขอร้องด้วยความเคารพพระเจ้า ให้ทรงอภัยบาปของเรา และเราสัญญาว่าจะให้อภัยแก่ผู้อื่นเหมือนกับที่เราได้รับการอภัย
•    เราวอนขอพระเจ้าอย่าปล่อยให้เราเข้าไปในหนทางซึ่งนำไปสู่บาป  เราขอร้องพระองค์ให้ประทานกำลังแก่เรา เพื่อที่เราจะดำเนินชีวิตด้วยความมุ่งมั่นจนวาระสุดท้ายโดยการหลีกเลี่ยงการประจญของซาตานและบรรดาวัตถุนิยม, สิ่งล่อใจ, และสังคมที่รุนแรงซึ่งมองข้ามพระเจ้า และล่อลวงเราให้อยู่อย่างเชื่อใจตัวเองเท่านั้น
การภาวนากับพระคัมภีร์เป็นอย่างไร?
    คริสตชนตั้งแต่ศตวรรษแรกๆ ได้พบว่า การอ่านและการไตร่ตรองพระคัมภีร์ซึ่งเป็นพระวาจาอันทรงชีวิตของพระเจ้าเป็นวิธีที่ช่วยให้เกิดการเติบโตของวิญญาณ  สำหรับการอ่านพระคัมภีร์เพื่อภาวนาอย่างจริงจัง ให้คุณเลือกข้อความตอนหนึ่ง, หาสถานที่เงียบๆ, และระลึกถึงการประทับอยู่ของพระเจ้าภายในจิตใจของคุณและในพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์  จงขอให้พระเจ้าช่วยคุณได้เข้าใจว่าสิ่งที่คุณอ่านคือพระวาจาของพระองค์ที่มาจากพระประสงค์จะตรัสกับคุณโดยตรง
    เริ่มต้นอ่านอย่างช้าๆ และด้วยการไตร่ตรอง, หยุดช่วงๆ เพื่อจะได้ทำความเข้าใจว่าข้อความนั้นกำลังบอกอะไรและมีความหมายอะไรสำหรับชีวิตของคุณ  ในขณะที่อ่านให้นึกถึงพระเจ้าบ่อยๆ และคุยกับพระองค์เหมือนคุยกับเพื่อนคนหนึ่ง ขอให้พระองค์ทรงกระทำให้พระวาจาที่คุณอ่านมีผลในชีวิตของคุณ
    หลังจากชั่วโมงของการสวดภาวนา ให้คิดทบทวนถึงสิ่งที่คุณได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งสำหรับคุณ  ขอบคุณพระเจ้าสำหรับสิ่งที่พระองค์ทรงมอบให้คุณ  แล้วตลอดทั้งวันให้คุณกลับไปคิดถึงความเข้าใจที่คุณได้รับ เพราะมันเป็นวิธีที่ทำให้คุณจดจำของขวัญที่พระเจ้าทรงมอบให้คุณได้
การรำพึง (Meditation) คืออะไร?
(CCC 2705-2708)
    พระศาสนจักรมีแนวทางการปฏิบัติที่มีคุณค่าสืบต่อกันมานาน นั่นคือการรำพึงและการเพ่งญาณ  การรำพึงคือการปรับตัวเองให้เข้าหาพระเจ้า, การคิดเกี่ยวกับพระเจ้า และการพยายามตระหนักถึงการประทับอยู่ของพระองค์ในชีวิตของเรา  โดยปกติจะเกี่ยวกับการใช้สติปัญญาและการสร้างมโนภาพอย่างมาก  มีวิธีการรำพึงอยู่หลายวิธี แต่ทุกวิธีก็แนะนำให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
1.    หาสถานที่ที่เงียบสงบสักแห่งซึ่งจะไม่มีใครรบกวน
2.    ทำตัวคุณให้เงียบ ผ่อนคลายร่างกายของคุณ แล้วจิตใจของคุณก็จะสามารถสงบอยู่กับการรำพึง
3.    ควบคุมความสนใจของคุณให้อยู่กับวัตถุบางอย่างที่เป็นสื่อสำหรับการรำพึง  คุณอาจจะทำสมาธิกับไม้กางเขนหรือระลึกว่าพระเจ้าทรงพบคุณผ่านทางคนอื่นได้อย่างไร  บางทีคุณอาจจะจดจ่ออย่างบริสุทธิ์ใจกับข้อความสั้นๆ จากพระคัมภีร์
4.    หยุดเป็นพักๆ เพื่อพูดคุยกับพระเจ้าอย่างใกล้ชิด
5.    เมื่อถึงเวลาหยุดการภาวนา  จงขอบคุณพระเป็นเจ้าสำหรับมิตรภาพของพระองค์ และสำหรับความเข้าใจบางอย่างเกี่ยวกับวิญญาณที่พระองค์อาจจะมอบให้คุณ  จงตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำบางสิ่งด้วยความเข้าใจอันลึกซึ้งของคุณ และกลับไปทบทวนความเข้าใจเหล่านั้นเป็นพักๆ ตลอดทั้งวัน
การเพ่งญาณ (Contemplation) คืออะไร?
(CCC 2709-2719)
    บางครั้งการเพ่งญาณก็เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “การภาวนาด้วยจิตใจ”(mental prayer) เป็นการให้ความสนใจกับการรับรู้ด้วยจิตใจมากกว่าการรำพึง  ผู้ที่จะเพ่งญาณไม่ต้องพยายามคิดถึงสิ่งใดเลย  ในทางตรงกันข้ามเขาเพียงแต่เอาตัวเขาเองหรือตัวเธอเองไว้กับการประทับอยู่ของพระเจ้าและเพลิดเพลินอยู่กับความรักของพระองค์  การเพ่งญาณเป็นการภาวนาแบบเงียบ  การเพ่งญาณคือวิธีการภาวนาโดยไม่ต้องใช้มโนภาพและคำพูดใดๆ เพื่อที่จะพบกับพระเจ้าผู้ทรงอยู่เหนือความสามารถที่จะเข้าใจและความรู้ของมนุษย์
บทภาวนาต่อพระเยซูเจ้าเป็นอย่างไร?
(CCC 2665-2669)
    บทภาวนาต่อพระเยซูเจ้าประกอบไปด้วยถ้อยคำว่า “พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า โปรดกรุณาเราคนบาปด้วยเทอญ” ยังมีรูปแบบอื่นให้เลือกอีกเช่น “พระเยซูเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าด้วย” หรือเพียงแค่  “พระเยซูเจ้าข้า” การหายใจเป็นจังหวะมักถูกนำมาใช้ในการภาวนานี้
การภาวนามีผลต่อเราอย่างไร?
(CCC 2738-2741)
    การภาวนาในเรื่องที่เป็นความจริงพื้นฐานอันมีกฎเกณฑ์ จะช่วยเราให้รักษาเป้าหมายแท้จริงในชีวิตของเราไว้เบื้องหน้าเรา  อีกทั้งเป็นตัวช่วยเราให้ตระหนักรู้ถึงการประทับอยู่ของพระเจ้าและเข้าใจความรักอย่างลึกซึ้งของพระองค์ที่มีต่อเราเป็นรายบุคคล  การตระหนักรู้นี้ช่วยทำให้เรารัก, อดทน และปรับตัวเข้ากับสิ่งที่มีความสำคัญจริงๆได้มากยิ่งขึ้น  การภาวนาช่วยสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งภายในเรา ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจเกี่ยวกับศีลธรรมเกิดผลโดยความรักและความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้าผู้ทรงสร้างและผูกพันมนุษยชาติทั้งหมดไว้ด้วยกัน