ความยุติธรรมทางสังคม :ในรูปการก่อตั้งมูลนิธิ
คำสอนที่เกี่ยวกับศีลธรรมของคาทอลิกให้ความสนใจกับความยุติธรรมทางสังคม เพราะความยุติธรรมทางสังคมนำเอาคำสั่งในพระวรสารที่ให้เคารพและรักผู้อื่นมาปฏิบัติให้เป็นความจริงของชีวิตอย่างชัดเจน  พระวรสารไม่ได้ถูกบันทึกไว้เป็นถ้อยแถลงแบบคลุมเครือ ซึ่งยึดถืออุดมคติโดยไม่มีความเชื่อมโยงกับรูปแบบการดำเนินชีวิตของคน   ในทางตรงกันข้ามพระวรสารเรียกร้องให้เกิดการนำเอาไปใช้อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางสังคมซึ่งเราเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริงและรู้ว่าตนเองต้องการทำสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นสังคมระดับครอบครัว ประเทศชาติ และสังคมโลก

พระศาสนจักรสอนเกี่ยวกับครอบครัวอย่างไร? (CCC 1655-1658; 1666)
    ส่วนที่เป็นพื้นฐานของสังคมใดๆก็คือครอบครัว คุณค่าพิเศษของครอบครัวปรากฏในรูปความสมัครใจที่จะยอมรับและรักซึ่งกันและกัน โดยไม่ได้มีสาเหตุจากการที่พวกเขาแต่ละคนประสบความสำเร็จหรือมีทรัพย์สมบัติครอบครอง แต่เพียงแค่พวกเขาเป็นตัวของเขาเอง  คู่สมรสที่แต่งงานแล้วเป็นตัวอย่างความรักของพระคริสตเจ้าที่มีต่อพระศาสนจักร  ความรักของพระองค์เป็นอมตะและเป็นการเสียสละตนเอง  การแต่งงานเป็นทั้งการรับผิดชอบความรักร่วมกันระหว่างสามีภรรยาและการให้ชีวิตแก่กัน  คุณค่าของชีวิตและคุณค่าของความรักที่เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดทำให้เกิดพื้นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับสังคมที่มีขนาดใหญ่กว่า

ความเชื่อใดที่ทำให้พระศาสนจักรต้องสอนเรื่องที่สำคัญกับประเทศ? (CCC 1905-1917; 1924-1927)
    ทุกประเทศจะต้องใส่ใจกับเรื่องราว, ปัญหาและสิทธิต่างๆที่เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันของประชาชน เพื่อจะได้ช่วยกันรักษาความดีส่วนรวม  หัวข้อที่จะอภิปรายกันถัดจากนี้คือ การให้ความสำคัญต่อชีวิตที่อยู่ในครรภ์มารดา, สตรีในสังคม, การให้ความเคารพต่อทุกเชื้อชาติและทุกกลุ่มชาติพันธุ์, การจ้างงานและความยากจน ได้รับการกล่าวถึงบ่อยๆ ทั้งในพระสมณสาส์นของพระสันตะปาปา และเอกสารของสภาพระสังฆราชหลายฉบับ

ทัศนคติของพระศาสนจักรต่อทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาเป็นอย่างไร? (CCC 2268-2283; 2322-2325)
    พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนเรื่องความจำเป็นที่ต้องดูแลผู้อ่อนแอและผู้ขาดที่พึ่งไว้อย่างชัดเจนที่สุดในข้อสัญญาของพระองค์  สิทธิพื้นฐานของการมีชีวิตโดยตัวของมันเองต้องได้รับการยอมรับเป็นสิ่งแรก ต่อจากนั้นต้องได้รับความคุ้มครองโดยกฎหมายเพื่อส่งเสริมความดีส่วนร่วม ตัวอย่างเช่น ความพยายามที่จะปรับปรุงคำตัดสินที่อนุญาตให้มีการทำแท้งได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นวิธีการหนึ่งที่จะแก้ไขการทำลายชีวิตมนุษย์
    สังคมยังจำเป็นต้องเสนอการสนับสนุนและช่วยเหลือบรรดาสตรีที่เชื่อว่า การทำแท้งเป็นทางเลือกเดียวเมื่อต้องเผชิญกับการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์  พระศาสนจักรควรเป็นพวกแรกที่เต็มใจเสนอความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่สตรีเหล่านั้นและบุตรของพวกเธอ ทั้งระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอด  พระศาสนจักรต้องจัดหาสิ่งที่เป็นพยานยืนยันถึงความเชื่อของพระศาสนจักรในเรื่องศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ โดยคอยดูแลความต้องการทางด้านกายภาพ, อารมณ์ และจิตวิญญาณของบรรดาครอบครัวเหล่านี้
    ศักดิ์ศรีพื้นฐานของมนุษย์เราที่ถูกสร้างมาให้เป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้าและมีความเหมือนพระองค์ เป็นเหตุให้เราเอาใจใส่และให้ความเคารพนับถือชีวิตมนุษย์   ชีวิตเป็นของขวัญจากพระเจ้าที่มีค่ามากที่สุด   การทำแท้งเป็นความผิดอย่างมหันต์ ซึ่งเหมือนกับการทำร้ายชีวิตมนุษย์โดยตรงด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การฆ่าทารก. การทำการุญฆาต และการทดลองทางวิทยาศาสตร์บางอย่างกับตัวอ่อนในครรภ์

พระศาสนจักรสอนเกี่ยวกับการแบ่งแยกอย่างไร? (CCC 1934-1938; 1945-1947)
    ด้วยเหตุว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์แต่ละคนขึ้นมาพร้อมกับธรรมชาติของมนุษย์ที่มีเกียรติขั้นพื้นฐานและชะตากรรมร่วมอย่างหนึ่ง  มนุษย์ทุกคนจึงเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง  การแบ่งแยกกันไม่ว่าด้วยเรื่องเพศ, เชื้อชาติ, สีผิว, ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม, ภาษา, ชาติกำเนิด, วิถีทางเพศ(sexual orientation) หรือการนับถือศาสนา ล้วนเป็นเรื่องผิดศีลธรรมและขัดแย้งกับความรักของพระเจ้าที่มีให้แต่ละคน
    แม้ว่ามนุษย์ทุกคนจะมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน  เราก็ยังคงมีพรสวรรค์และความสามารถแตกต่างกัน  ความแตกต่างเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนการของพระเจ้าซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่มีทางจะเข้าใจได้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เรามีความสามารถทำบางสิ่งได้อย่างดีเยี่ยม  หน้าที่ของเราคือการแบ่งปันพระพรของเรากับผู้อื่นด้วยใจเมตตาและพยายามหาทางที่ดีขึ้นสำหรับการต่อสู้กับความไม่เสมอภาคที่เกิดจากบาป

พระศาสนจักรมีท่าทีอย่างไรต่อการจ้างงาน? (CCC 2426-2436; 2458-2460)
    พระศาสนจักรได้กล่าวอย่างชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิของคนงาน :
ทุกคนมีสิทธิที่จะทำงาน, สิทธิที่จะได้โอกาสพัฒนาศักยภาพและบุคลิกภาพของเขาในการประกอบอาชีพ, สิทธิได้รับค่าตอบแทนที่เที่ยงธรรมซึ่งทำให้เขาและครอบครัว “สามารถสร้างชีวิตที่ควรได้รับการยกย่องทั้งด้านความเป็นอยู่, สังคม, วัฒนธรรมและจิตวิญญาณ” และสิทธิได้รับความช่วยเหลือในกรณีจำเป็นซึ่งเกิดจากการเจ็บป่วยหรือสูงอายุ
                               –A Call to Action, ข้อ 14
พระศาสนจักรสอนเกี่ยวกับความยากจนอย่างไร? (CCC 2443-2449)
    คณะพระสังฆราชชาวอเมริกันได้ให้คำจำกัดความ “ความยากจน” ว่าเป็น “การไม่ได้รับปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม” ( Economic Justice for ALL, ข้อ 173)  เอกสารด้านงานอภิบาลของพระสังฆราชอเมริกันเกี่ยวกับเศรษฐกิจให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีที่จะแก้ไขสถานการณ์เลวร้ายของคนยากจนไว้อย่างเป็นรูปธรรมมากมาย  ซึ่งรวมถึงการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ, การปรับอัตราภาษีให้เหมาะสมกับข้อจำกัดของคนยากจน, การทุ่มเทให้กับการให้การศึกษาและการกำจัดการไม่รู้หนังสือให้หมดไป, ให้การช่วยเหลือครอบครัวทั้งหลายอย่างดียิ่งขึ้น เพื่อผู้ที่เป็นบิดามารดาของลูกที่ยังเล็ก จะได้ไม่ต้องพยายามออกไปหางานทำนอกบ้าน และการปรับปรุงระบบสวัสดิการอย่างรอบคอบ
    ลัทธิบริโภคนิยมนำไปสู่ลัทธิวัตถุนิยมและทำให้ประชาชนไร้ความสุข  สื่อมวลชนเป็นต้นเหตุการกระจายความคิดว่า ใครมีมากกว่าก็จะประสบความสำเร็จได้มากกว่า  ลัทธิบริโภคนิยมซึ่งทำร้ายคนยากจน ทำให้ประชาชนคิดถึงแต่ตนเองและไม่สามารถทำให้ชีวิตได้รับความสมบูรณ์ตามชะตากรรมแท้จริงของมนุษย์
ความต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด  ที่ผิดก็คือรูปแบบของการดำเนินชีวิตที่เชื่อว่าดีขึ้น  ซึ่งมุ่งไปที่ “การมี” มากกว่า “การเป็น” และต้องการมีมากขึ้นไม่ใช่เพื่อเป็นอยู่ดีขึ้น  แต่เพื่อให้บั้นปลายชีวิตเต็มไปด้วยความเพลิดเพลิน
                                 -นักบุญพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2, The One Hundredth Year, ข้อ 36
พระศาสนจักรได้กล่าวถึงปัญหาทางสังคมเรื่องใดอีก?
•    ปัญหาอาชญากรรมและอาชญากร
ประชาชนมีสิทธิที่จะอาศัยอยู่อย่างสงบสุข และได้รับการปกป้องจากโจรผู้ร้าย  สังคมไม่ควรพอใจเพียงแค่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดขึ้น  แต่ควรพยายามบากบั่นในการกำจัดต้นเหตุของอาชญากรรมมากมาย ได้แก่ ความยากจน, ความอยุติธรรม และ ลัทธิวัตถุนิยม
    นักโทษในเรือนจำก็มีสิทธิต่างๆด้วย อาทิ สิทธิในการป้องกันตนเองจากการทำร้ายร่างกาย; สิทธิที่จะได้รับอาหารอย่างเหมาะสม, การดูแลด้านสุขภาพและการพักผ่อนหย่อนใจ; รวมทั้งสิทธิในการทำตามความมุ่งหมายอื่นๆ ของมนุษย์ เช่น การศึกษา
•    ปัญหาแรงงานต่างด้าว
สถานภาพของแรงงานต่างด้าว ได้รับการกล่าวถึงในเอกสารชื่อ ความยุติธรรมในโลก (Justice in the World โดย World Synod of Catholic Bishop, 1971) คนงานเหล่านี้มักจะโดนทำร้ายได้ง่ายเป็นพิเศษ และบ่อยครั้งก็ตกเป็นเหยื่อของทัศนคติต่างๆที่เกี่ยวกับการแบ่งแยกเชื้อชาติ และมีชีวิตอยู่ในสภาพถูกกดขี่  การอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อหางานบางครั้งก็เป็นการทำผิดแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่การย้ายถิ่นฐานเพื่อหางานทำจะต้องไม่กลายเป็นโอกาสสำหรับการแสวงหาผลประโยชน์ทางด้านการค้าและสังคมอย่างเด็ดขาด  (จาก On Human Work, ข้อ 23)
•    ปัญหาการสื่อสาร
ผู้ทำหน้าที่ควบคุมสื่อ จะต้องมี “ความรับผิดชอบอย่างสูง ในการให้ความเคารพต่อความถูกต้องของข้อมูลที่พวกเขาแพร่กระจายออกไป, ความต้องการและปฏิกิริยาตอบสนองที่พวกเขาสร้างขึ้น และคุณค่าต่างๆ ที่พวกเขาได้นำเสนอ”(จากA Call to Action, ข้อ 20) ด้วยเหตุนี้ พระสังฆราชชาวอเมริกันจึงเสนอแนะว่า รัฐบาลสามารถช่วยสร้างสังคมที่มีคุณภาพด้านศีลธรรมมากขึ้นได้ด้วยมาตรการควบคุมการหลั่งไหลของภาพและศิลปะที่ลามก, ความรุนแรงและความผิดศีลธรรมในสื่อบันเทิงทั้งหลาย (จาก To Live in Christ Jesus, ข้อ 30)
•    ปัญหาสิ่งแวดล้อม
เมื่อพระเป็นเจ้าทรงมอบความรับผิดชอบให้มนุษยชาติดูแลพัฒนาโลกที่ได้ทรงสร้างไว้  พระองค์ทรงทำให้เราเป็นเหมือนผู้จัดการการสร้างสรรค์ที่ดีเลิศของพระองค์  (อ้างอิง ปฐก1:28-30)นี่คือความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตามในทุกวันนี้ เราเริ่มตระหนักมากขึ้นว่าเราได้ใช้ธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ และขณะนี้เราเสี่ยงกับการทำลายมัน  สภาวะมลพิษ, ขยะ, ความขาดแคลนแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นสำหรับชีวิต และโรคภัยใหม่ที่เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมการผลิตที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ และงานค้าขายต่างๆที่ถูกกระตุ้นโดยความเห็นแก่ตัวและความโลภของมนุษย์มากกว่าการคำนึงถึงความจำเป็นที่แท้จริงของเรา  ความรับผิดชอบต้องการการวางแผนที่รัดกุม, การอนุรักษ์ทรัพยากร และการให้ความเคารพด้วยความมีเมตตาต่อสิ่งของต่างๆ บนโลกนี้

พระศาสนจักรสอนเกี่ยวกับปัญหาของโลกอย่างไร? (CCC 2437-2442)
    ความเอาใจใส่ของเราในเรื่องสิทธิของผู้อื่น ไม่ได้หยุดอยู่แค่คนในครอบครัวหรือในประเทศของเรา การติดตามพระเยซูเจ้าหมายถึงการรักมนุษย์ทุกคน คริสตชนในโลกปัจจุบันต้องแสดงความเอาใจใส่สังคมระหว่างประเทศด้วย ความรักและความยุติธรรมของคริสตชนกระตุ้นให้เราขยายการดูแลเอาใจใส่ออกไปนอกเขตประเทศของเรา
    สังคมโลกมีความต้องการอย่างรุนแรงที่จะทำให้เกิดความพยายามร่วมมือและสร้างสรรค์ เพื่อจัดการกับปัญหาคนหิวโหย, สภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ, การเพิ่มขึ้นของประชากร, ความไม่สอดคล้องกันของความร่ำรวยกับทรัพยากรของประเทศ และความรุนแรงที่คุกคามอย่างไม่ลดละ

พระศาสนจักรตอบสนองเรื่องราวเหล่านี้ของโลกอย่างไร? (CCC 2304-2305)
    นักบุญสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงเรียกร้องให้แต่ละบุคคล, ผู้นำชุมชนทั้งหลาย, สังคมทั้งหลายและทุกประเทศ เปลี่ยนความคิดและผละจากความโลภและลัทธิบริโภคนิยม พร้อมกับหันมาทุ่มเททำงานด้วยความเต็มใจเพื่อการพัฒนามนุษย์ทุกคนอย่างครบถ้วน  การพัฒนาที่แท้จริงเริ่มต้นด้วยความรักพระเจ้าและความรักเพื่อนมนุษย์  จากนั้นความรักทำให้ตัวเองปรากฎชัดด้วยการให้ความเคารพสิ่งสร้างทั้งมวลของพระเป็นเจ้า  ส่วนสำคัญที่พระศาสนจักรสมัยปัจจุบันเป็นห่วงก็คือ สิทธิของทุกประเทศที่จะพัฒนา และได้รับการปลดปล่อยให้พ้นจากการกดขี่รวมถึงสถานการณ์ทั้งหลายที่ทำให้คนยากจนต้องอยู่ในสภาพไม่คู่ควรกับศักดิ์ศรีของมนุษย์
    สาระสำคัญหนึ่งที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องในคำสอนของพระสันตะปาปาเกี่ยวกับประเทศที่กำลังพัฒนาคือ สิทธิของประเทศเหล่านั้นและประชาชนภายในประเทศที่จะควบคุมและกำหนดทิศทางกระบวนการพัฒนาตนเอง สิทธิที่จะพัฒนานี้รวมถึงความเติบโตทางเศรษฐกิจและการมีส่วนร่วมของการเมือง, สังคม และเศรษฐกิจในกระบวนการพัฒนา
    ยิ่งกว่านั้น พระศาสนจักรสอนว่า การเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าหมายถึงการอุทิศตัวเพื่อสันติภาพด้วยความรักอย่างยิ่ง  สันติภาพไม่ได้เป็นเพียงการปราศจากสงคราม แต่มันเป็นโครงการใหญ่ที่ประกอบด้วยความยุติธรรมและต้องถูกสร้างขึ้นอย่างไม่มีวันสิ้นสุด