บาป
ที่มาของบาป
    คำสอนในภาคที่ 2 เรื่องธรรมปฏิบัติยังได้กล่าวถึง “บาป” ไว้ในบทสุดท้ายด้วย ซึ่งได้พูดไว้ว่า “บาป คือ การทำผิดต่อพระบัญญัติ โดยรู้ตัวและเต็มใจ”    ดังนั้น การกระทำใดๆ ที่กระทำผิดลงไปโดยไม่รู้ตัวหรือไม่เต็มใจหรือไม่ยินยอมก็ถือว่าไม่บาป    ซึ่งในเรื่องนี้ เราอาจถูกประจญ ล่อลวงให้ทำผิดอยู่เสมอ ตราบใดที่เราไม่ยินยอม กระทำตามการประจญล่อลวงนั้น เราก็ยังคงมิได้กระทำบาป
    ถ้าจะพูดถึงความหมายของบาป อีกแง่มุมหนึ่ง ก็คือเราอาจกล่าวได้ว่า บาป คือ การกระทำใดๆ ก็ตามที่ทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้ามีปัญหา เปรียบเสมือนแก้วที่มีรอยร้าว แก้วนั้นก็ยังคงใช้การได้อยู่ แต่ไม่สมบูรณ์ อย่างนี้อาจจะเรียกว่า “บาปเบา” ก็น่าจะได้    แต่ถ้าเราปล่อยให้การกระทำนั้นยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ เปรียบเสมือนปล่อยให้รอยร้าวนั้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งแก้วนั้นก็แตกจากกัน    เสียหมาใช้การไม่ได้อย่างนี้อาจจะเรียกว่า “บาปหนัก” เพราะความสัมพันธ์ของเรากับพระเป็นเจ้า (ชีวิตพระหรรษทาน) ขาดจากกันโดยเด็ดขาด
    เรากระทำบาปได้หลายวิธี คือ ด้วยความคิด ด้วยความปรารถนา ด้วยวาจาหรือคำพูด ด้วยกิจการหรือการกระทำ ด้วยการละเลยหรือการละเว้นไม่กระทำ เช่น การไม่ปฏิบัติศาสนกิจของคริสตชนอย่างดี    ดังนั้น เมื่อเรารู้ตัวว่า เรากำลังทำผิด เราต้องรีบ ลด ละ เลิก โดยเร็ว เพื่อมิให้มันพัฒนาไปสู่ “บาปหนัก” นั่นเอง    เช่นเดียวกับการไม่ปล่อยให้แก้วนั้นมันร้าวต่อไป ต้องรีบหาทางประสานและหยุดรอยร้าวนั้นให้ได้
    เราต้องพยายามหลีกหนีโอกาสบาปต่างๆ ในชีวิต ซึ่งแน่นอนในปัจจุบันมีการประจญล่อลวงให้เราทำบาปอยู่มากมาย เช่น บรรดาสื่อต่างๆ หรือ สถานเริงรมย์ ฯลฯ เป็นต้น
    พระศาสนจักรเตือนเราว่า ให้เราระมัดระวังใน พยศชั่ว อันหมายถึงที่มาของบาปต่างๆ ซึ่งแยกออกเป็น 7 ประการ ดังนี้
    1. จองหอง    ถือเป็นบาปแรกที่มนุษย์ทำคือ อวดอ้างว่าตัวเองดีกว่าผู้อื่น ซึ่งจะมีความผิดอื่นๆ ตามมรอีกมากมาย เช่น ดูถูกผู้อื่นไม่เคารพต่อผู้อื่น ฯลฯ
    2. ตระหนี่    คือ มีความผูกพันยึดติดกับทรัพย์สินเงินทอง นับถือเงินทองเป็นพระเจ้า ลักษณะที่เด่นชัด คือ “งก” นั่นเอง
    3. ลามก    คือ การปล่อยเนื้อปล่อยตัว ปล่อยใจให้หมกมุ่นอยู่กับความสนุกสนานฝ่ายเนื้อหนัง ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น
    4. อิจฉา    คือ ลักษณะของคนที่เสียใจเมื่อเห็นคนอื่นได้ดี และยินดีเมื่อเห็นคนอื่นได้ร้าย
    5. โลภอาหาร    คือคนที่ชอบกินดื่มเกินขนาด ปล่อยตัวเองในเรื่องการบริโภค
    6. โมโห    คือ ลักษณะของคนที่หงุดหงิดง่าย อะไรไม่ถูกใจก็จะเอะอะโวยวาย บันดาลโทสะ และขาดสติ ทำความผิดอื่นๆ ตามมาอีก
    7. เกียจคร้าน    คือ ลักษณะของการปล่อยตัวตามสบาย ไม่สนใจกระทำประโยชน์ คือ ทำการงานที่ต้องทำ หรือ ทำแบบขอไปที
    คริสตชนที่ดี จึงควรระวังอย่าให้ชีวิตต้องถูกครอบงำ หรือ ตกเป็นทาสของความอ่อนแอต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมานี้ ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมที่จะภาวนาวอนขอพระพรความช่วยเหลือจากพระเป็นเจ้าเสมอ