ศีลแต่งงาน

ในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก เราถือว่าการแต่งงานมีความสำคัญอย่างยิ่ง ถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีพระประสงค์และทรงเป็นพยานพร้อมทั้งประทานพระพรพิเศษให้ผู้ที่แต่งงานมีชีวิตร่วมกันเป็นสามีภรรยา มิใช่เป็นเรื่องของมนุษย์เท่านั้น

ศีลนี้ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ อีก คือ บางครั้งเรียกว่า “ศีลกล่าว” เพราะในพิธีแต่งงานตามประเพณีของคริสตชน จะมีการกล่าวคำสาบานต่อกันและกันของเจ้าบ่าวเจ้าสาว หรือ บางครั้งเรียกว่า “ศีลสมรส” ซึ่งเรียกชื่อตามสากลหมายถึงการแต่งงานนั่นเอง
สาระสำคัญของศีลแต่งงานมีดังต่อไปนี้
    1. เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ในเจ็ดศีลที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งขึ้นเพื่อประทานพระพรแห่งชีวิตครอบครัว    อันได้แก่การเป็นสามี ภรรยา เป็นบิดา มารดา ถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตในการมีส่วนร่วมกับการสร้างมนุษย์ของพระผู้เป็นเจ้า
    2. ดังที่ได้ทราบแล้วว่า ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ นั้น จะมีผู้ประกอบพิธี สำหรับศีลแต่งงานนี้ พิเศษตรงที่ว่า ผู้ประกอบพิธี คือ เจ้าบ่าว เจ้าสาว ส่วนพระสงฆ์และคนอื่นๆ ถือเป็นพยานในพิธีเท่านั้น และคำกล่าวที่สำคัญที่สุด คือ การให้พันธสัญญาต่อกันและกันด้วยคำสัญญาว่า “...ขอรับคุณ...เป็นสามี (ภรรยา) และขอสัญญาว่าจะถือซื่อสัตย์ต่อคุณทั้งในยามสุขและยามทุกข์ ทั้งในเวลาป่วยและในเวลาสบาย เพื่อรักและยกย่องให้เกียรติคุณจนกว่าชีวิตจะหาไม่” คำสัญญานี้ถือเป็นพันธสัญญาเพราะมีข้อผูกมัดที่จะต้องถือปฏิบัติ จะละเลยมิได้ ส่วนการที่จะถือว่าเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่สมบูรณ์    ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะต้องเป็นคาทอลิก    ถ้าหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมิใช่คาทอลิก พระศาสนจักรถือว่าเป็นเพียง “พิธีแต่งงานแบบคาทอลิก” เท่านั้น หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า พิธีแต่งงานแบบต่างคนต่างถือ    แน่นอนว่าพระเป็นเจ้าทรงประทานพระพรให้ด้วยเช่นกัน แต่มิใช่พิธีที่สมบูรณ์แบบศีลศักดิ์สิทธิ์
3. การแต่งงานแบบคาทอลิกมีระเบียบปฏิบัติหลายประการ เช่น
ก. ต้องมีพื้นฐานที่สำคัญคือ “ความรัก” ที่ทั้ง 2 คนจะต้องมีต่อกันอย่างแท้จริง จึงต้องมีการศึกษาดูใจกันพอสมควร
ข. ต้องมีเจตนาจะมีบุตร    ดังนั้น หากคู่แต่งงานใดจะแต่งงานโดยไม่ต้องการมีบุตร  ย่อมจะกระทำพิธีมิได้
ค. ต้องมีอิสระ หรือ เสรีภาพในการตัดสินใจ    เลือกคู่แต่งงานด้วยตัวเอง มิได้ถูกบังคับหรือที่เราเรียกว่า “คลุมถุงชน”.
ง. ต้องมีการเตรียมตัวเข้าสู่การแต่งงานอย่างดี    ด้วยการเรียนรู้ถึงการดำรงชีวิตครอบครัวตามหลักปฏิบัติของคาทอลิก    ดังนั้น จึงต้องติดต่อกับทางวัด (พระสงฆ์) ก่อนจะมีพิธีนานพอสมควร เพื่อพระสงฆ์จะได้จัดให้ได้รับการอบรมพอสมควร ปกติควรติดต่อกับทางวัดอย่างน้อย 3 เดือน    ทั้งนี้ เพราะบางกรณีอาจมีข้อขัดขวางที่ไม่สามารถจะประกอบพิธีได้เหมือนกัน
จ. การแต่งงานแบบคาทอลิก จะต้องถือเป็นการมีสามีเดียว ภรรยาเดียว (ผัวเดียว-เมียเดียว) พร้อมทั้งจะเลิกรากันหรือหย่ากันไม่ได้ ต้อง “ร่วมทุกข์ ร่วมสุข” กันไปจนตลอดชีวิต จะแต่งงานใหม่ได้ก็ต่อเมื่อ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายตายไปแล้ว    เพราะพันธสัญญาที่ให้กันในวันแต่งงานก็เป็นอันสิ้นสุดลงด้วยอย่างไรก็ดี มีสามีภรรยาหลายคู่ที่เลิกรากันไปเฉยๆ อย่างนี้พันธสัญญานั้นไม่ถือว่าสิ้นสุด จะแต่งงานใหม่ไม่ได้    ยกเว้นแต่จะได้รับการประกาศจากพระศาสนจักรให้พันธสัญญานั้นเป็นโมฆะเสียก่อน ซึ้งก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์และดำเนินเรื่องผ่านทางศาลของพระศาสนจักรเท่านั้น
4. คาทอลิกที่จะเข้าพิธีแต่งงานนั้นจะต้องเตรียมจิตใจของตนให้สะอาดปราศจากบาปต่างๆ    ดังนั้น จึงต้องแก้บาปอย่างดี พร้อมทั้งภาวนาวอนขอพระพรจากพระผู้เป็นเจ้าเป็นพิเศษด้วย
    พระศาสนจักรมิได้ห้ามการแต่งงานแบบต่างคนต่างถือแต่ก็มิได้ส่งเสริมหรือสนับสนุน    หากแต่ขอให้ฝ่ายคาทอลิกต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นคริสตชนที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดีแก่คู่ชีวิตของตน เพื่อเป็นพยานยืนยันถึงความรักและพระเมตตาของพระเป็นเจ้าที่ตนเคารพรัก เชื่อ และไว้ใจในพระองค์

สรุปว่า ในภาคปฏิบัติหากใครต้องการจะแต่งงานแบบคาทอลิก สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ
1. ต้องอย่างน้อยมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคาทอลิก
2. ต้องไปพบกับพระสงฆ์เจ้าอาวาสของวัดของตนเพื่อแจ้งให้ท่านทราบและขอคำแนะนำอย่างน้อยก่อนวันแต่งงานประมาณ 3 เดือน เพราะบางครั้งอาจมีข้อขัดขวางไม่สามารถทำพิธีให้ได้ด้วยเหมือนกัน ระวังอย่าไปกำหนดวันแต่งงานก่อนที่จะปรึกษาพระสงฆ์ เพราะในวันนั้นอาจจะกระทำพิธีไม่ได้ เนื่องจากมีข้อห้ามพระศาสนจักรอยู่    ดังนั้น ก่อนพิมพ์การ์ด ควรปรึกษาพระสงฆ์เสียก่อน
3. ต้องให้เวลาพอเพียงที่จะรับการอบรมจากพระสงฆ์    ในเรื่องการแต่งงานและต้องมีเวลาให้พระสงฆ์เตรียมเอกสารต่างๆ พอสมควร
    เราต้องระลึกเสมอว่า ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ คือ ครอบครัวขององค์พระเยซูเจ้า อันประกอบด้วย พระเยซู แม่พระและนักบุญยอแซฟ เป็นแบบอย่างแห่งครอบครัวที่เราทุกคนจะต้องเลียนแบบให้ได้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าเราจะเป็นบิดา-มารดา หรือ เป็นลูกก็ตาม

ที่มา : หนังสือ หลักธรรมคำสอนคาทอลิก (คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม)