พระวรสารของวันอาทิตย์เทศกาลมหาพรต


    ในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 1 และสัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต พระวรสารจะเป็นเรื่องเดียวกันทุกปี คือ วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลมหาพรตจะอ่านพระวรสารเรื่องพระเยซูเจ้าทรงถูกประจญ    และวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรตจะอ่านพระวรสารเรื่องการสำแดงพระวรกายอย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้า (ซึ่งเรื่องราวทั้งสองนี้ ในปี A จะอ่านจากพระวรสารนักบุญมัทธิว    ในปี B จะอ่านจากพระวรสารนักบุญมาระโก    และปี C จะอ่านจากพระวรสารนักบุญลูกา)
    พระวรสารที่พระศาสนจักรนำมาให้คริสตชนรำพึงในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 1 และ 2 เทศกาลมหาพรต     และธรรมล้ำลึกปัสกาซึ่งหมายถึงการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า    พระวรสารเรื่องพระเยซูเจ้าทรงถูกประจญ ทำให้เราเห็นถึงการต่อสู้กับพลังของบาปและความชั่วร้าย ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงใช้พระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระองค์กอบกู้เราให้พ้นบาป    แสดงถึงชัยชนะเหนือบาปของพระองค์ ซึ่งชัยชนะเหนือบาปนี้ เราได้เห็นภาพล่วงหน้าแล้วจากชัยชนะที่พระองค์ทรงมีต่อการประจญของปีศาจ    พระวรสารเรื่องการสำแดงพระวรกายอย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้า    ซึ่งแน่นอนว่าการบรรลุถึงสิริรุ่งโรจน์แห่งการกลับคืนชีพต้องผ่านหนทางแห่งพระทรมานและไม้กางเขนก่อน
    ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า พระวรสารในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต ช่วยให้คริสตชนได้รำพึงพึงภาพของการต่อสู้กับอำนาจของบาป โดยมีชีวิตของพระเยซูเจ้าเป็นแบบฉบับ และมีพระทรมานและกางเขนของพระคริสตเจ้าเป็นแนวทาง        ส่วนพระวรสารในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรตชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์รุ่งเรืองที่เกิดขึ้นจากการยึดถือพระฉบับแบบของพระเยซูเจ้า และแนวทางแห่งไม้กางเขนของพระองค์
    นอกจากนี้ สำหรับคริสตังสำรองที่เตรียมตัวจะรับศีลล้างบาปในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ในเทศกาลปัสกาที่จะมาถึง    พระศาสนจักรยังกำหนดให้มี “พิธีเลือกสรร” สำหรับพวกเขาในมิสซาวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลมหาพรตโดยให้ทำพิธีนี้หลังจากบทเทศน์
    ในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3-5 เทศกาลมหาพรต พระวรสารจะนำเสนอเส้นทางสู่การสมโภชปัสกา ดังนี้
    วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3-5 เทศกาลมหาพรต ปี A เน้นเรื่องศีลล้างบาป    ในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต ปี A อ่านพระวรสารของนักบุญยอห์นเรื่อง “พระเยซูเจ้าทรงสนทนากับหญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำของยาโคบ” (ยน 4 : 5-42)    ในพระวรสาร ชาวเมืองและหญิงคนนั้นประกาศว่า “พระองค์ทรงเป็นพระผู้กอบกู้โลก “พระองค์ประทานน้ำทรงชีวิต” ซึ่งนำชีวิตนิรันดรให้แก่มนุษย์
    วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต ปี A อ่านพระวรสารของนักบุญยอห์นเรื่อง พระเยซูเจ้าทรงรักษาคนตาบอดแต่กำเนิด (ยน 9 : 1-41) จากพระวรสารเราพบว่าคนตาบอดค่อยๆ เปิดตารับความเชื่อในพระเยซูเจ้า (องค์ความสว่าง)        ตอนแรกเขาพูดกับพระองค์ในฐานะบุคคลคนหนึ่ง ต่อมาในฐานะประกาศก และต่อมาในฐานะ “บุตรแห่งมนุษย์”    เราพบความต่อเนื่องของเรื่องราวในพระวรสารกับศีลล้างบาป คือ พระศาสนจักรในยุคแรกเรียกศีลล้างบาปว่า “การส่องสว่าง” และ เรียกผู้เตรียมรับศีลล้างบาปว่า “ผู้ได้รับการส่องสว่าง”
    วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 5 เทศกาลมหาพรต ปี A อ่านพระวรสารของนักบุญยอห์นเรื่อง “พระเยซูเจ้าทรงปลาลาซารัสให้กลับคืนชีพ” (ยน 11 : 1-45) ในพระวรสารตอนนี้ พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นการกลับคืนชีพ และเป็นชีวิต ใครเชื่อในเรา แม้ตายไปแล้วก็จะมีชีวิต และทุกคนที่มีชีวิตและเชื่อในเราจะไม่มีวันตายเลย”
    จะเห็นได้ว่า พระวรสารที่กล่าวถึงนี้สะท้อนให้คริสตชน โดยเฉพาะคริสตังสำรองที่เตรียมตัวจะรับศีลล้างบาปเห็นว่า การกลับใจเป็นการออกจากบาป (ความกระหาย) ไปสู่พระหรรษทาน (น้ำทรงชีวิต) การกลับใจเป็นการออกความมืด (ตาบอด) ไปสู่ความสว่าง (การมองเห็น) และการกลับใจเป็นการออกจากความตาย ไปสู่การกลับคืนชีพมีชีวิตใหม่ในองค์พระเยซูเจ้า
    เนื่องจากพระวรสารในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3-5 เทศกาลมหาพรต ปี A มีความหมายพิเศษเกี่ยวข้องกับพิธีรับเป็นคริสตชนใหม่ จึงอาจใช้พระวรสารเหล่านี้อ่านในพิธีมิสซาในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3-5 เทศกาลมหาพรต ปี B หรือปี C ได้ด้วย    โดยเฉพาะในวัดทีมีคริสตังสำรองที่เตรียมตัวจะรับศีลล้างบาปในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ในเทศกาลปัสกาที่จะมาถึง
    นอกจากนั้น พระศาสนจักรยังกำหนดให้ “พิธีสอบถาม” สำหรับคริสตังสำรองที่เตรียมตัวจะรับศีลล้างบาปในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ในเทศกาลปัสกาที่จะมาถึง    ในมิสซาวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3-5 เทศกาลมหาพรตด้วย โดยให้ทำพิธีนี้หลังจากบทเทศน์
    วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3-5 เทศกาลมหาพรต ปี B เน้นเรื่องการเดินทางพร้อมกับพระเยซูเจ้าผ่านทางกางเขน เราจะพบพระสิริรุ่งโรจน์    ในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต ปี B อ่านพระวรสารของนักบุญยอห์นเรื่องพระเยซูเจ้าเสด็จไปยังพระวิหารและทรงคว่ำโต๊ะของพวกพ่อค้าที่พระวิหาร (ยน 2 : 13-25)     พวกยิวถามพระองค์ว่า “ท่านจะแสดงอะไรเป็นเครื่องหมายว่าท่านมีอำนาจกระทำเช่นนี้ได้” พระองค์ทรงตอบว่า “จงทำลายพระวิหารนี้ แล้วภายในสามวันเราจะตั้งขึ้นใหม่”    นั่นคือ พระเยซูเจ้าทรงทำนายล่วงหน้าถึงการกลับคืนชีพและชัยชนะของพระองค์เหนือบาปและความตาย
    วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต ปี B อ่านพระวรสารของนักบุญยอห์น เรื่อง การสนทนาระหว่างพระเยซูเจ้ากับนิโคเดมัส (ยน 3 : 14-21) ซึ่งในการสนทนานั้นพระองค์ตรัสว่า “โมเสสได้ยกรูปงูขึ้นในถิ่นทุรกันดารฉันใด บุตรแห่งมนุษย์ก็จะต้องถูกยกขึ้นฉันนั้น เพื่อให้ทุกคนที่เชื่อในพระองค์จะได้มีชีวิตนิรันดร” พระวาจาตอนนี้เป็นการทำนายล่วงหน้าว่าพระองค์จะถูกตรึงกางเขขน    แต่กางเขนของพระคริสตเจ้าไม่ใช่เครื่องหมายแห่งความอับอาย แต่เป็นท่อธารแห่งพระพรและเครื่องหมายแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่ทรงมีต่อเรา        กางเขนของพระคริสตเจ้าจะถูกยกขึ้นและคริสตชนทุกคนจะนมัสการพระคริสตเจ้าบนไม้กางเขนนี้อย่างสิ้นสุดจิตใจ    เราเห็นภาพนี้อย่างชัดเจนในพิธีกรรมของวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ และแน่นอนสำนึกอันนี้จะคงอยู่ในชีวิตของคริสตชน    โดยเฉพาะในเวลาที่เราเริ่มต้นบทภาวนาและกิจกรรมสำคัญๆ ในชีวิตของเราด้วยเครื่องหมายสำคัญมหากางเขน
    วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 5 เทศกาลมหาพรต ปี B อ่านพระวรสารของนักบุญยอห์น (ยน 12 : 20-33) พระเยซูเจ้าตรัสว่า “บัดนี้ เวลาที่บุตรแห่งมนุษย์จะได้รับเกียรตินั้นมาถึงแล้ว เราขอยืนยันความจริงกับท่านอย่างเปิดเผยว่า ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงในดินและเปื่อยเน่าไป ก็คงจะมีอยู่เพียงเมล็ดเดียวเท่านั้น แต่ถ้าเปื่อยเน่าไปแล้ว ก็จะงอกขึ้นเก็บเกี่ยวได้ผลมากมาย” จะเห็นได้ว่าพระคริสตเจ้าทรงได้รับเกียรติจากการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อกอบกู้มนุษย์ให้พ้นบาป    กิจการแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ นำพระหรรษทานนานัปการมาสู่มวลมนุษย์ จึงเป็นแบบอย่างที่ให้ความมั่นใจแก่คริสตชนในการดำเนินชีวิตด้วยความรักและเสียสละเช่นเดียวกับพระเยซูเจ้า
    วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3-5 เทศกาลมหาพรต ปี C เน้นเรื่องการกลับใจใช้โทษบาป    ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่พระเมตตาของพระเจ้า
    ในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต ปี C อ่านพระวรสารของนักบุญลูกา เรื่อง ที่มีผู้มาทูลถามพระเยซูเจ้าเรื่องชาวกาลิลีที่ถูกปิลาตสั่งประหารชีวิต และคนสิบแปดคนที่ตายจากการถูกหอสิโลอัมพังทับ (ลก 13 : 1-9)     คำตอบของพระเยซูเจ้า คือ “ถ้าพวกท่านไม่กลับใจเปลี่ยนทางดำเนินชีวิต หากท่านจะต้องพินาศไปเช่นเดียวกัน” พระองค์ทรงสองเราให้จริงจังกับการกลับใจ ปรับปรุงความบกพร่องจากบาปที่ยังมีอยู่ในชีวิตของเรา มากกว่าจะไปตัดสินคนอื่นว่าเขาเป็นอย่างไร         และเทศกาลมหาพรตก็เป็นโอกาสที่ดีที่คริสตชนจะกลับใจ และพัฒนาจิตใจของตนเองให้งดงามเหมือนกับจิตใจของพระบิดาเจ้าในสวรรค์
    ในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต ปี C อ่านพระวรสารของนักบุญลูกา เรื่อง ลูกล้างผลาญ (ลก 15  1-3, 11-32) การกลับบ้านของลูกคนเล็กจากนิทานเปรียบเทียบของพระเยซูเจ้า ให้ภาพของการกลับใจที่เป็นรูปธรรมและมีชีวิตชีวา การกลับใจของคริสตชนในเทศกาลมหาพรตจึงเป็นการเดินทางสู่บ้านแท้ในเมืองสวรรค์ ที่มีพระเจ้าพระบิดาผู้พระทัยดีทรงรอคอยเรา “เราจะเลี้ยงกันให้ร่าเริงบันเทิงใจ เหตุว่า ลูกของเราซึ่งตายไปแล้ว ได้กลับมามีชีวิตใหม่ หายไปแล้วแต่กลับมาพบกันอีก”
    ในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 5 เทศกาลมหาพรต ปี C อ่านพระวรสารของนักบุญยอห์น ที่กล่าวถึงธรรมาจารย์และฟาริสีได้นำหญิงคนหนึ่งที่ถูกจับขณะล่วงประเวณีมาให้พระเยซูเจ้าทรงตัดสิน (ยน 8 : 1-11)     ซึ่งเราจะเห็นสารแห่งการให้อภัย โดยเรียกร้องการกลับใจและใช้โทษบาปที่ส่งมาถึงเรา ผ่านทางพระวาจาของพระเยซูเจ้า ที่ตรัสกับหญิงคนบาปที่ว่า “กลับไปเถิด และอย่าทำบาปอีกเลย”