วันอาทิตย์ (ใบลาน) พระทรมานของพระคริสตเจ้า

palm sunday1    วันอาทิตย์ (ใบลาน) พระทรมานของพระเยซูเจ้า (สัปดาห์ที่ 6 ของเทศกาลมหาพรต) เป็นวันแรกของสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ที่เริ่มต้นด้วยความชื่นชมยินดี ฉลองการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่าของพระเยซูเจ้า (เป็นการทำนายล่วงหน้าถึงการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระองค์ ซึ่งพิธีกรรมระลึกถึงโดยการแห่ใบลาน)     การเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม ยังเป็นการทำนายล่วงหน้าถึงการเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็มแห่งสวรรค์ของคริสตชน    เราจะเห็นว่าสิ่งที่พระศาสนจักรเน้นในการแลองพิธีกรรมในวันนี้ คือ การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่า (บทนำของพระทรมาน และภาพต่อเนื่องของการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้า) และพระทรมานของพระคริสตเจ้า

    การแห่ใบลาน เป็นการแสดงว่าเรารับพระเยซูเจ้าเป็นกษัตริย์ของเรา และเราพร้อมที่จะร่วมการถวายบูชาของพระองค์บนไม้กางเขนในพิธีมิสซา
    ใบลาน เป็นสิ่งคล้ายศีล ไม่ใช่เครื่องรางที่มีอำนาจในตัวเอง แต่การที่คริสตชนเก็บใบลานไว้ที่บ้านเพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่อในพระเยซูเจ้ากษัตริย์และพระเมสสิยาห์ และในชัยชนะปัสกาของพระองค์
    พระเยซูเจ้าทรงเป็นสันติราชา    และไม้กางเขนเป็นพระบัลลังก์ที่พระองค์ทรงใช้ในการปกครองโลก    ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าการอ่านพระทรมานเป็นส่วนที่สำคัญของพิธีกรรมในวันนี้ และเป็นที่มาของชื่อของวันอาทิตย์นี้ คือ วันอาทิตย์พระทรมานของพระคริสตเจ้า
    ขณะอ่านพระทรมาน เราคุกเข่าเมื่ออ่านถึงตอนที่พระเยซูเจ้าทรงสิ้นพระชนม์    การคุกเข่าในพิธีกรรมเป็นอากัปกิริยาที่แสดงถึงการนมัสการแสดงความเคารพอย่างสูงสุด หรือ การเป็นทุกข์ถึงบาป    อาจกล่าวได้ว่า โดยการคุกเข้า เราคริสตชนนมัสการพระคริสตเจ้ากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้ทรงยอมสละชีวิตเพื่อเรา    ในขณะเดียวกันเราก็เป็นทุกข์ถึงบาปของเรา เพราะสำนึกดีว่าเพราะบาปของเรา พระเยซูเจ้าจึงทรงยอมสิ้นพระชนม์เพื่อกอบกู้เราให้พ้นจากบาป
    บทนำขอบพระคุณในวันนี้กล่าวถึง “การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ท่าน ได้ชำระล้างข้าพเจ้าทั้งหลายให้พ้นบาป การกลับคืนพระชนม์ชีพของพระองค์ท่านทำให้ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ชอบธรรม”    ดังนั้น ภาพของการฉลองในพิธีกรรมวันนี้แม้จะเน้นที่พระทรมาน แต่ก็เป็นพระทรมานที่นำไปสู่การกลับคืนพระชนม์ชีพ คือ ชัยชนะของพระเยซูเจ้าในฐานะกษัตริย์ ผู้ปกครองในดวงใจของเราคริสตชนทุกคน
    พิธีกรรมของวันจันทร์ อังคาร พุธ ในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ มีความหมายอย่างมากเพราะทำให้เราเห็นภาพของพระเยซูเจ้าผู้ทรงเชื่อฟังพระบิดาเจ้า ทรงยอมรับความทุกข์ทรมาน สิ้นพระชนม์ และจะทรงได้รับชัยชนะในที่สุด    ดังนั้น ธรรมล้ำลึกแห่งพระทรมานและการยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนโดยเฉพาะเหตุการณ์ก่อนพระทรมาน จึงเป็นศูนย์กลางของการรำพึงของคริสตชนตลอด 3 วันนี้
    เราปิดเทศกาลมหาพรตในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ก่อนพิธีมิสซาตอนเย็นระลึกถึงการเลี้ยงของพระเยซูเจ้า    ในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ตอนเช้ามีมิสซาและพิธีเสกน้ำมันศักดิ์สิทธิ์    การเสกน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างศีลมหาสนิทกับศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ (มีศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องใช้น้ำมันศักดิ์สิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธี ได้แก่ ศีลล้างบาป ศีลกำลัง ศีลบวช และศีลเจิมคนไข้) และพิธีกรรมยังเน้นที่การเป็นสงฆ์สูงสุดของพระเยซูเจ้า    และให้ความหมายของศีลบวชว่าเป็นของประทานจากความรักของพระเยซูเจ้า และเพื่อรับใช้พระศาสนจักรด้วยการอุทิศตนตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า    ในพิธีกรรมจึงมีการรื้อฟื้นคำสัญญาของพระสงฆ์ นอกจากนั้นยังกล่าวถึงความเป็นสงฆ์แห่งศีลล้างบาปของประชากรพระเจ้าด้วย