ทำไมชาวคาทอลิกจึงเชื่อเรื่องไฟชำระ (Purgatory)

AllSoulssmall


    เราทราบว่าเมื่อคนหนึ่งขโมยทรัพย์สินของอีกคนหนึ่งไปนั้น ไม่พอที่จะได้รับการอภัยโทษสำหรับความเสียใจที่ได้กระทำผิดและสารภาพบาป แต่ยังต้องชดใช้ทรัพย์สินที่ได้ขโมยมาด้วย ดังนั้นจึงต้องกอบกู้ชื่อเสียงของผู้เสียหายกลับคืนมาให้ได้ ในทำนองเดียวกัน ถึงแม้ว่าพระเจ้าทรงอภัยความผิดบาปต่างๆ ของเราแล้วเมื่อเราเป็นทุกข์ถึงบาปด้วยความจริงใจ เรายังติดหนี้พระองค์ ต้อง “ชดใช้” สิ่งที่เราไม่ซื่อสัตย์ที่ได้ละเมิดพระบัญญัติของพระองค์ นี่เรียกว่าโทษชั่วคราวซึ่งตรงข้ามกับโทษตลอดนิรันดร ซึ่งเราสามารถเป็นอิสระได้ด้วยการเป็นทุกข์ถึงบาปด้วยความจริงใจและการไปรับศีลอภัยบาป

    โทษชั่วคราวจะได้รับการอภัยด้วยการสวดภาวนา การทนทุกข์ และการกระทำกิจการดีในโลกนี้ หรือจะต้องชำระให้บริสุทธิ์ในโลกหน้า ดังนั้น ไฟชำระจึงหมายถึงการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์หลังจากตายไปแล้ว ข้อความเชื่อเรื่องสหพันธ์นักบุญนั้นเป็นความเชื่อที่ว่าวิญญาณทั้งหลายในไฟชำระ จะได้รับการช่วยเหลือโดยทางคำภาวนา พระคุณการุณย์ (indulgences) และกิจการดีๆ ของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่
    เป็นแนวปฏิบัติในหมู่ชาวยิว ที่จะสวดภาวนาอุทิศให้กับผู้ล่วงลับ การปฏิบัติเช่นนี้ก็กระทำกันในสมัยขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเราและยังรักษาไว้อยู่จนถึงปัจจุบันในหมู่ชาวยิวออร์โธด๊อก ชาวยิวทั้งหลายยังทำการไว้ทุกข์ให้กับผู้ตายอันเป็นที่รักเป็นเวลาถึงสิบเอ็ดเดือน ชาวยิวถือว่าเป็นธรรมเนียมที่กำหนดให้เป็นช่วงเวลาแห่งการชำระให้บริสุทธิ์หลังจากสิ้นใจตายไปแล้ว
    แม้ในพระคัมภีร์จะไม่มีการกล่าวถึงไฟชำระ บรรดานักปราชญ์ของพระศาสนจักรได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้บ้างซึ่งถือเป็นหลักฐานแสดงข้อความเชื่อในเรื่องนี้ หนังสือมัคคาบีฉบับที่สองบทที่ 12 ข้อ 38-46 กล่าวถึงการสวดภาวนาให้กับผู้ตายในสนามรบ และในพันธสัญญาใหม่ มัทธิว 5:26, 12:32 และ 1 โครินธ์ 3:11-15 ก็กล่าวสนับสนุนข้อความเชื่อในเรื่องนี้
    อย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมการถือปฏิบัติของคริสตชนตั้งแต่ศตวรรษแรกๆ นั้น มีการสวดภาวนาอุทิศให้กับผู้ล่วงลับ ซึ่งหมายถึง ความเชื่อที่ว่าจำต้องชำระวิญญาณให้บริสุทธิ์หลังจากความตาย หนังสือพิธีกรรมยุคแรกๆ มีบทภาวนาอุทิศให้กับผู้ล่วงลับ ท่านแตร์ตู-เลียน (ค.ศ. 160-230) กล่าวถึง “การถวายเครื่องบูชาอุทิศให้กับผู้ล่วงลับ นักบุญซีริลแห่งเยรูซาเล็ม (ค.ศ. 315-386) ได้กล่าวถึงการเสนอวิงวอนให้กับบรรดาผู้หลับพักผ่อนไปแล้ว” นักบุญออกัสติน บอกเราไว้ในหนังสือ “คำสารภาพ” เกี่ยวกับคำขอร้องของมารดาที่กำลังสิ้นใจ คือ นักบุญมอนิกา ว่า “สิ่งที่แม่ขอลูกคือ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม ขอให้ลูกระลึกถึงแม่ที่พระแท่นบูชาพระเจ้า” คำขอนี้มีขึ้นในปี ค.ศ. 387
    ช่วงเวลาการชำระวิญญาณให้บริสุทธิ์หลังจากความตายนั้น มิอาจนับเวลาแบบโลกนี้ หลังความตายเราเข้าสู่ความเป็นจริงแห่งนิรันดรกาล ระบบและแนวคิดปัจจุบันของเรายุติลง หลังจากความตาย
    ข้อความเชื่อเรื่องไฟชำระนั้นเป็นประเด็นถกเถียงกันระหว่างพระศาสนจักรคาทอลิก กับบรรดาคริสตจักรออร์โธดอกซ์รวมทั้งบรรดาโปรเตสแตนท์ คริสตจักรออร์โธดอกซ์เห็นว่าการชำระวิญญาณให้บริสุทธิ์นั้นเป็นข้อดีที่ช่วยให้บรรลุถึงสวรรค์ ส่วนคาทอลิกเน้นเรื่องการชำระวิญญาณให้บริสุทธิ์ บรรดานักปฏิรูปโปรเตสแตนท์ในศตวรรษที่ 16  ปฏิเสธถึงความจำเป็นที่จะสวดภาวนาอุทิศให้กับผู้ล่วงลับ จึงปฏิเสธสิ่งที่คริสตจักรตะวันออกและตะวันตก ยึดถือกันมาตามประเพณี
    สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ยืนยันถึงธรรมเนียมความเชื่อคาทอลิกว่า “สภาสังคายนานี้ขอน้อมรับด้วยศรัทธาภักดีต่อความเชื่ออันน่าเคารพของบรรดาบรรพบุรุษในเรื่องสายสัมพันธ์ชีวิตกับบรรดาพี่น้องผู้บรรลุถึงเกียรติมงคลในสวรรค์แล้วก็ดี หรือพี่น้องที่ล่วงลับซึ่งยังคงรับการชำระให้บริสุทธิ์อยู่หลังความตาย” (พระศาสนจักร 51)