อย่าพูดเท็จใส่ร้ายผู้อื่น

    พระบัญญัติทังประการที่ 7 และ 10 เป็นเรื่องการผิดยุติธรรมหรือ การละเมิดต่อทรัพย์สินของผู้อื่น    ในพระบัญญัติประการที่ 8 เป็นเรื่องการผิดยุติธรรมหรือ การละเมินสิทธิต่อชื่อเสียงของผู้อื่น    ต่างกันตรงที่สิ่งที่ถูกละเมิด กล่าวคือ เป็นความผิดต่อวัตถุในประการที่ 7 และ 10 ส่วนประการที่ 8 เป็นเรื่องของชื่อเสียงนั่นเอง
    พระบัญญัติประการที่ 8 นี้ เราต้องแยกประเด็นเป็น 2 ประเด็น คือ “นินทา” และ “ใส่ความ”
    นินทา    หมายถึง การเอาเรื่องของผู้อื่นไปพูด และเรื่องที่พูดนั้นทำให้ผู้ที่ถูกพูดถึงเสียหาย    ถึงแม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม สาเหตุเพราะเราไม่มีสิทธิ์ที่จะนำเรื่องของผู้อื่นไปพูดโดยที่เจ้าตัวเขาไม่อนุญาต ถือเป็นเรื่องสิทธิส่วนตัวของเขา
    อย่างไรก็ตาม ในกรณีของผู้ที่มีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงก็สามารถนำเรื่องของผู้ที่ตนรับผิดชอบแจ้งกับผู้เกี่ยวข้องได้ เพราะเป็นหน้าที่ เช่น เราเห็นใครทำผิด ซึ่งความผิดนั้นจะนำมาซึ่งความเสียหายต่อส่วนรวม เราต้องแจ้งให้ผู้มีหน้าที่ทราบอย่างนี้ก็ไม่ถือว่านินทา
    ส่วนการนำเรื่องที่ดีของผู้อื่นไปพูด และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ ไม่ถือว่าเป็นการนินทา แต่ก็ควรระวังว่าเจ้าตัวเขาจะยินดีหรือไม่ด้วยเหมือนกัน
    ใส่ความ    หมายถึง    การนำเอาเรื่องของผู้อื่นไปพูด เช่นเดียวกับการนินทา แต่ทว่าเรื่องที่นำไปพูดนั้นเป็นเรื่องไม่จริง    ดังนั้น ความผิดเรื่องการใส่ความนี้จึงหนักกว่านินทามาก
    โดยภาพรวมพระบัญญัติประการที่ 8 ห้ามการกระทำในประเด็นต่อไปนี้
    1. มุสา    คือ ห้ามการพูดเท็จ หรือ ห้ามโกหา โดยต้องการจะหลอกลวงผู้อื่น    อย่างไรก็ตามในบางกรณีเราสามารถปฏิเสธที่จะพูดความจริงได้เหมือนกัน เช่น การรักษาความลับของบางอาชีพ ตัวอย่างเช่น แพทย์ เลขานุการ การป้องกันประเทศชาติและส่วนรวม หรือ ป้องกันตัวเองหรือผู้อื่นจากคนร้าย เพื่อช่วยรักษาชีวิตและทรัพย์สิน เช่น เรารู้ว่าเขาต้องการจะทำร้ายคนคนหนึ่งและเขามาถามเราถึงที่อยู่ของคนนั้น เราสามารถปฏิเสธได้อย่างนี้ไม่ผิด
    2. การเป็นพยานเท็จ    ถือเป็นความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหมาต่อผู้อื่น ทำให้ความจริงถูกบิดเบือน เกิดการผิดต่อความยุติธรรม ผู้ที่ให้การเท็จต่อหน้าศาล ต้องรับผิดชอบต่อคำให้การของตนด้วย
    3. การผิดต่อชื่อเสียงของผู้อื่น    มีการใส่ร้ายป้ายสีทำให้ผู้อื่นเสียหาย ซึ่งหมายถึงการใส่ความนั่นเอง นอกจากนั้นยังหมายถึงการพิพากษาตัดสินผู้อื่นด้วยเบาความ คือ การไม่มีเหตุผลหรือข้อเท็จจริงในการตัดสินผู้อื่น
    4. การผิดต่อความลับ    หมายถึง การไม่รักษาความลับของผู้อื่น เช่น นำข้อบกพร่องของผู้อื่นไปพูด ส่วนในกรณีของความลับในการแก้บาป พระสงฆ์จะเปิดเผยไม่ได้เด็ดขาดไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น แม้ต้องตายก็ตาม
    ข้อควรระวังเกี่ยวกับการกระทำผิดในพระบัญญัติข้อนี้ คือ ต้องระวังว่าเป็นความผิดที่เกิดขึ้นง่ายจริงๆ คล้ายๆ กับการผิดความยุติธรรมในทรัพย์สินเหมือนกัน แต่ดูเหมือนประการที่ 8 ผิดต่อชื่อเสียงนี้จะกระทำง่ายกว่าอีก...
    เช่นเดียวกัน เมื่อเกิดความผิดในข้อนี้ การแก้ไขจะลำบากมาก เพราะต้องมีการชดใช้หรือ ชดเชยความผิดให้ครบสมบูรณ์ บาปจึงจะได้รับการยก เช่น มีการใส่ความหรือนินทากันเกิดขึ้น ผู้ที่กระทำผิดต้องแก้ข้าว คืนชื่อเสียงให้แก่ผู้ถูกละเมิดจนครบถ้วน... คล้ายๆ กับการแก้ข่าวเรื่องการหมิ่นประมาท ตามหน้าหนังสือพิมพ์นั่นเอง ที่บอกว่าแก้ไขลำบากเพราะมีการขยายความข้อผิดพลาดนี้ไปแบบปากต่อปาก    ดังนั้น เมื่อจะแก้ไขจึงต้องตามแก้ให้หมดด้วย
    การป้องกันการนินทาหรือใส่ความ จึงต้องพยายามระมัดระวัง ปาก ของตัวเอง ควรพูดในสิ่งที่ควรพูด มิใช่พูดพล่อยๆ ก่อนจะพูดอะไร ต้องรู้แจ้งเห็นจริงเสียก่อน หรือ บางครั้งแม้รู้แจ้งเห็นจริงแล้ว แต่ถ้าพูดไปแล้วมันจะเกิดความเสียหายต่อส่วนรวมมากกว่า หรือ มันมิใช่ธุระของตัวเองก็ไม่ควรพูดเหมือนกัน
    การนินทาใส่ความมักจะเกิดจากการสนทนาในกลุ่มของคนรู้จักมักคุ้น ที่ชอบนำเรื่องไม่ดีของคนโน้นคนนี้มาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีการขยายความ แต่งเติมเสริมกันจนเกินจริง เรียกว่าจากมดจนกลายเป็นช้างไปในที่สุด
    ดังนั้น การคิดก่อนพูด จึงเป็นวิธีการที่จะทำให้เกิดการนินทาใส่ความกันน้อยลง...หลายคนมาเสียใจเอาภายหลังเมื่อพูดไปโดยมิได้คิด และต้องจดจำไว้ว่า เราไม่มีสิทธิ์ไปละเมิดชื่อเสียงของผู้อื่น...
    พระคัมภีร์ยังบอกว่า “อย่าไปตัดสินผู้อื่นแล้วท่านจะไม่ถูกตัดสิน”...แต่อย่างไรก็ตามเราต้องมีหน้าที่จะรักษาความดีของส่วนรวมด้วย ดังนั้น เราจึงต้องพิจารณาให้ดีว่า “อะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด”

ที่มา : หนังสือ หลักธรรมคำสอนคาทอลิก (คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม)