แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

‘การปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด (Rigid Uniformity)’ และ ‘ความแตกต่างที่อนุญาตให้มีได้ (Legitimate Variations)’
    เรื่องนี้จำเป็นต้องถูกยกขึ้นมาพิจารณาในการประชุมสภาฯที่ผู้ร่วมประชุมมาจากดินแดนทุกส่วนของโลกพร้อมกับปัญหาและข้อเรียกร้องของตน ถึงกระนั้น เพราะพระสังฆราชผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ในจำนวนผู้เข้าร่วมจำนวน 2,500 ท่านล้วนเป็นจารีตโรมัน ซึ่งเป็นจารีตที่มีจำนวนคริสตชนและเนื้อที่กว้างที่สุดในพระศาสนจักรละติน จึงเกิดปรากฎการณ์ที่ไม่ธรรมดาอย่างมาก  คือ สภาสังคายนาสากล(ครั้งนี้)ในความเป็นจริงได้พิจารณาแต่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับจารีตเดียวเท่านั้น เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร พระสังฆราชจารีตตะวันออกหลายองค์ยกเรื่องนี้ขึ้นในการประชุมสภาฯ โดยถามว่า

สภาสังคายนาสากลจะจำกัดความเอาใจใส่มาพิจารณาปัญหาของจารีตหนึ่งเท่านั้นได้หรือ ท่านเหล่านี้เสนอแนะว่าเรื่องเช่นนี้ควรทำกันในสมัชชาพระสังฆราช (Synod) มากกว่าในสภาสังคายนาสากล แต่ในที่สุด ก็ได้ตัดสินว่าไม่ควรจะมองข้ามความคาดหวังของบรรดาพระสังฆราชจำนวนมากของจารีตโรมัน ถึงกระนั้น ธรรมนูญ SC ก็กล่าวอย่างอาจหาญไว้ตั้งแต่ต้นว่า “สุดท้ายนี้ สภาสังคายนาศักดิ์สิทธิ์นอบน้อมเชื่อฟังธรรมประเพณีอย่างซื่อสัตย์ ประกาศว่า พระศาสนจักรมารดาศักดิ์สิทธิ์ถือว่าจารีตต่างๆที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องแล้ว มีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันหมด” (SC 4)   ข้อความนี้หมายความว่า แม้ว่าจารีตโรมันซึ่งโดยธรรมประเพณีเป็นจารีตที่มีอภิสิทธิ์ก็เป็นจารีตและมีศักดิ์ศรีเท่ากับจารีตเล็กๆ และปฏิบัติอยู่ในบางท้องที่เท่านั้น เช่น จารีตอัมโบรเซียน ยิ่งกว่านั้น ข้อความที่สภาฯให้การรับรองยังกล่าวถึง “ทุกจารีตซึ่งเป็นที่ยอมรับตามกฎหมาย” (‘all lawfully acknowledged rites’) ขณะที่ฉบับร่างครั้งแรกที่คณะกรรมาธิการเสนอเพื่อการพิจารณามีข้อความว่า “ทุกจารีตที่มีอยู่ตามกฎหมาย” (‘all lawfully existing rites’)    เห็นได้ชัดว่า การที่บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมไม่ยอมรับข้อความว่า  “ทุกจารีตที่มีอยู่ตามกฎหมาย” (‘all lawfully existing rites’) นั้นได้เปิดประตูให้มีโอกาสรับเอาจารีตใหม่ๆ ในจารีตโรมันที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ยอมรับตามกฎหมายให้กลับเป็นจารีตพิธีที่มีสิทธิ์และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันได้
    บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมรู้ตัวดีว่าตนเป็นสภาสังคายนาสากลที่จะต้องจัดการเกี่ยวกับจารีตคาทอลิกทุกจารีต แต่ก็ทราบดีว่าตามจริงแล้วท่านกำลังพิจารณาจารีตโรมันเป็นส่วนใหญ่ ท่านจึงกล่าวว่า “ในบรรดาหลักการและกฎปฏิบัติเหล่านี้ บางข้อบังคับใช้ทั้งในจารีตโรมันและจารีตอื่นๆอย่างไรก็ตาม กฎปฏิบัติต่อไปนี้ต้องเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับจารีตโรมันเท่านั้น เว้นแต่ในกรณีที่ปรากฏชัดจากบริบทว่าเกี่ยวข้องกับจารีตอื่นๆด้วย” (SC 3)
    สภาพความเป็นสภาสังคายนาสากล แต่กลับมีพระสังฆราชผู้เข้าร่วมประชุมเกือบทั้งหมดมาจากจารีตเดียว คือจารีตโรมัน ผลักดันบรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมให้มีมิสซาตอนเช้าในการประชุมสภาถวายในจารีตต่างๆ ทั้งจารีตตะวันออกและจารีตตะวันตก เพื่อบรรดาพระสังฆราชจะได้มีประสบการณ์กว้างขวางขึ้นเกี่ยวกับจารีตต่างๆของพระศาสนจักรคาทอลิก ถึงกระนั้น สิ่งที่ทำให้วาติกันที่ 2 เป็นสากลจริงๆ ก็คือ ความจริงที่ว่าบรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมมาจากทุกส่วนในโลก จากวัฒนธรรม เชื้อชาติ และประเทศชาติต่างๆ เมื่อเทียบกับสภาสังคายนาสากลครั้งแรกที่เมืองนีเชอา ที่มีพระสังฆราชเข้าร่วมประชุม 220 องค์ (ซึ่งส่วนใหญ่มาจากทางตะวันออก) เช่นเดียวกับมีพระสังฆฆราชจำนวนน้อยมากเข้าร่วมประชุมที่เมืองเตร็นท์ (ส่วนใหญ่เป็นชาวอิตาเลียน) ซึ่งในสมัยเปิดการประชุมมีพระสังฆราชเข้าประชุมน้อยกว่า 40 องค์ (บางครั้งมีจำนวนเพิ่มถึง 200 องค์) หรือมีพระสังฆราช 642 องค์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปในการประชุมสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 1 ส่วนวาติกันที่ 2 ซึ่งมีพระสังฆราชเข้าร่วมประชุมถึง 2,500 องค์ จึงเป็นตัวอย่างเด่นชัดของสภาสังคายนาทั่วโลก สภาสังคายนาฯครั้งนี้จึงเป็นสัญลักษณ์อย่างเป็นรูปธรรมของคำสอนเรื่องเอกภาพในความแตกต่างที่วาติกันที่ 2 กำลังประกาศอย่างกึกก้อง ถ้อยคำในข้อ 37 ของสังฆธรรมนูญ จึงเป็นเสมือนเสียงประกาศเรื่องเอกกภาพในความแตกต่างของบรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุม
    ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับความเชื่อหรือคุณประโยชน์ส่วนรวมของทั้งชุมชน พระศาสนจักรไม่ปรารถนาที่จะวางข้อบังคับให้ปฏิบัติแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด แม้ในเรื่องพิธีกรรม ยิ่งกว่านั้น พระศาสนจักรยังเคารพและส่งเสริมคุณลักษณะและพรสวรรค์เฉพาะของเชื้อชาติและประชากรต่างๆ สิ่งใดในขนบธรรมเนียมของชนชาติเหล่านี้ที่ไม่ยึดติดกับการถือนอกรีตหรือความหลงผิดอย่างแยกไม่ออก พระศาสนจักรก็ยินดีให้คุณค่า และถ้าทำได้ ยังช่วยบำรุงรักษาไว้เป็นอย่างดีด้วย ยิ่งกว่านั้น บางครั้งพระศาสนจักรยังรับเข้ามาใช้ในพิธีกรรมถ้าขนบธรรมเนียมนั้นประสานกลมกลืนกับจิตตารมณ์แท้จริงของพิธีกรรม”  (SC 37)
    จิตตารมณ์การเปิดตัวต่อผู้อื่นเช่นนี้ และการยอมรับความหลากหลายในพระศาสนจักรไม่เพียงแต่ในเรื่องพิธีกรรมเท่านั้น (บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมกล่าวว่า “แม้ในเรื่องพิธีกรรม พระศาสนจักรก็มิได้ปรารถนาบังคับให้มีความเป็นแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด...”) ยังจะส่งสะท้อนอีกในเอกสารสำคัญอื่นๆของวาติกันที่ 2 “อาศัยงานของพระศาสนจักร ความดีใดๆไม่ว่าที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์ ความดีใดๆไม่ว่าที่ซ่อนอยู่ในการปฏิบัติศาสนกิจและวัฒนธรรมของประชาชนต่างๆ ไม่เพียงแต่ได้รับความช่วยเหลือไม่ให้ถูกทำลายเท่านั้น แต่ยังได้รับการชำระ ยกย่อง และทำให้สมบูรณ์ขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า ทำให้ปีศาจต้องอับอาย และเพื่อความสุขของมนุษย์”   (LG 17)     
    “พระศาสนจักรคาทอลิกไม่ปฏิเสธสิ่งใดที่จริงและศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาเหล่านี้ พระศาสนจักรให้ความนับถืออย่างจริงใจต่อแนวทางปฏิบัติและดำเนินชีวิต กฎบัญญัติและคำสอนเหล่านั้น ที่แม้จะแตกต่างในหลายด้านจากความจริงและแนวปฏิบัติต่างๆเหล่านี้ที่พระศาสนจักรยึดถือและสั่งสอน ถึงกระนั้นบ่อยๆก็ยังสะท้อนแสงสว่างของ ‘องค์ความจริง’ นั้นที่ส่องสว่างแก่มวลมนุษย์” (NA 2) 
    “แต่ในเวลาเดียวกัน พระศาสนจักรที่พระเจ้าทรงส่งมาหาประชากรทุกชาติในทุกสมัยและสถานที่ ก็ไม่ถูกผูกมัดโดยเฉพาะอย่างแยกไม่ได้กับเชื้อชาติหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง กับวิธีดำเนินชีวิตแบบใดโดยเฉพาะ หรือกับขนบประเพณีวิถีชีวิตแบใดๆ ไม่ว่าจะในสมัยโบราณหรือที่เพิ่งจะเกิดขึ้น พระศาสนจักรซื่อสัตย์ต่อธรรมประเพณีของตน และในขณะเดียวกันก็ยังมีสำนึกถึงพันธกิจสากลของตน พระศาสนจักรจึงอาจมีความสัมพันธ์ได้กับอารยธรรมต่างๆ เพื่อช่วยให้วัฒนธรรมเหล่านั้นมีความบริบูรณ์ยิ่งขึ้น และเพื่อช่วยตนเองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกด้วย” (GS 58)
    เรื่องเกี่ยวกับ “การปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด” และ “ความแตกต่างที่อนุญาตให้มีได้” นี่ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในการพิจารณาธรรมนูญ SC นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพิธีกรรม แต่ก็เป็นที่น่าประหลาดใจที่เอกสารฉบับอื่นๆ ก็พร้อมที่จะรับเรื่องนี้มาพิจารณาด้วยทันที ความคิดเรื่องนี้จึงกลายเป็นความคิดพื้นฐานของวาติกันที่ 2 ที่แผ่ขยายเข้าไปในเอกสารทุกฉบับของสภาสังคายนา นี่ก็เป็นตัวอย่างน่าสนใจอีกตัวอย่างหนึ่งว่าพระศาสนจักรปฏิรูปพิธีกรรมอย่างไร แต่พิธีกรรมก็ปฏิรูปพระศาสนจักรไปด้วย 
    บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสภาฯวางหลักการไว้อย่างกว้างๆในการรับเอาหรือไม่ยอมรับการปรับปรุงว่า “โดยมีเงื่อนไขว่าเอกภาพสาระสำคัญของจารีตโรมันยังต้องได้รับการเก็บรักษาไว้”
    “เมื่อมีการตรวจชำระหนังสือพิธีกรรม อนุญาตให้มีความหลากหลายอันชอบธรรมในการปรับปรุงให้เหมาะกับชุมชน ท้องถิ่นและประชากรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนมิสซัง โดยยังรักษาเอกภาพแท้จริงของจารีตโรมันไว้ ควรคำนึงถึงหลักการนี้ในการจดวางโครงสร้างของจารีตพิธีและในการกำหนดคำแนะนำการประกอบพิธีด้วย”  (SC 38)
    สภาสังคายนาฯยังเปิดกว้างสำหรับการปรับปรุงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นอีก แต่ก็จำเป็นต้องใช้ความรอบคอบยิ่งขึ้นในกรณีเช่นนี้
    “เนื่องจากในบางสถานที่และบางสถานการณ์ มีความจำเป็นเร่งด่วนกว่าปกติที่จะต้องปรับปรุงพิธีกรรมอย่างกว้างขวาง ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้น” (SC 40)
    นับว่าแปลกมากในบริบทเช่นนี้ที่ยังมีเสียงเรียกร้องอย่างต่อเนื่องจากผู้ที่ต้องการเก็บรักษาภาษาละตินไว้อย่างเหนียวแน่น (ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็นเหมือนกับ “Latin crusadcrs” ) คนพวกนี้ยังคงกล่าวย้ำอยู่ตลอดว่าภาษาละตินเป็นภาษาของพระศาสนจักร และภาษาละตินเป็นสัญลักษณ์แข็งแรงแห่งเอกภาพของพระศาสนจักร แต่ความคิดเช่นนี้ต้องได้รับคำอธิบาย ภาษาละตินเป็นภาษาที่ใช้เพียงแต่ในจารีตละตินของพระศาสนจักรคาทอลิกเท่านั้น และก็ใช้อยู่เพียงไม่กี่ศตวรรษ ส่วนคาทอลิกอื่นทุกจารีตใช้ภาษาอื่นๆ หลังวาติกันที่ 2 ได้มีการนำภาษาอื่นๆ เข้ามาใช้แม้ในจารีตโรมันด้วย ดังนั้น การกล่าวว่าภาษาละตินเป็นสัญลักษณ์แห่งเอกภาพของพระศาสนจักรจึงไม่ถูกต้อง และเป็นการไม่ให้เกียรติแก่จารีตอื่นๆซึ่งมีสิทธิและศักดิ์ศรีเหมือนกันในพระศาสนจักร เกี่ยวกับการคิดว่าภาษาละตินเป็นสัญลักษณ์แห่งเอกภาพของพระศาสนจักรนี้   เป็นการเหมาะสมทีเดียวที่จะอ้างถึงข้อความของเอกสารโบราณมากของคริสต์ศาสนา ซึ่งกฤษฎีกาเรื่องงานแพร่ธรรมของพระศาสนจักร (AG) ยกมาเขียนไว้ด้วยว่า
    “บรรดาคริสตชนผู้มีความเชื่อซึ่งถูกรวบรวมจากชนทุกชาติเข้ามาอยู่ในพระศาสนจักรนั้น ‘ไม่ได้มีเครื่องหมายแตกต่างจากมนุษย์คนอื่น ทั้งโดยการปกครอง หรือโดยภาษา หรือโดยระบอบการเมืองเลย’ ดังนั้น เขาจึงต้องดำเนินชีวิตเพื่อพระเจ้าและพระคริสตเจ้าตามแบบอย่างชีวิตน่านับถือประจำชาติของตน ในฐานะที่เป็นพลเมืองดี เขาต้องมีความรักชาติอย่างจริงใจและจริงจัง พยายามหลีกเลี่ยงอคติด้านเชื้อชาติและความคลั่งชาติ แต่ควรหล่อเลี้ยงความรักสากลต่อมวลมนุษย์” (AG 15)
    พระศาสนจักรไม่ใช่รัฐพิเศษเหนือรัฐอื่นๆ (super – state) ที่แผ่ไปทั่วโลก มีภาษา ขนบธรรมเนียม และผู้ปกครองเฉพาะของตน ธรรมนูญ SC ยังกล่าวด้วยว่าพระศาสนจักรไม่มีรูปแบบใดๆที่เป็นของตนโดยเฉพาะ
    “พระศาสนจักรไม่เคยมีรูปแบบศิลปะใดเป็นของตนโดยเฉพาะ แต่ยอมรับรูปแบบศิลปะของแต่ละยุคสมัยมาใช้ตามลักษณะเฉพาะ และสภาพแวดล้อมของชนชาติต่างๆ และตามความต้องการของจารีตพิธี” (SC 123)
    พระศาสนจักรมีความเป็นอยู่ใพระศาสนจักรเฉพาะแต่ละท้องถิ่นที่ประชาชนพูดภาษาของตนและปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีของตน
    “พระศาสนจักรเฉพาะแต่ละท้องถิ่นมีสิทธิที่จะอยู่ภายในพระศาสนจักร(สากล) พระศาสนจักร (ท้องถิ่น) เหล่านี้ยังคงรักษาขนบประเพณีของตนโดยไม่ขัดแย้งแต่ประการใดต่อความเป็นประมุขสูงสุดของอำนาจปกครองของนักบุญเปโตร (the primacy of the chair of Peter)  ซึ่งเป็นประมุขปกครองดูแล “ชุมชนแห่งความรัก” และคอยดูแลความแตกต่างที่ชอบธรรม และในขณะเดียวกันก็ให้ความมั่นใจว่าว่าความแตกต่างเช่นนั้นไม่ได้ขัดขวางเอกภาพ  แต่กลับช่วยเสริมสร้างเอกภาพนี้เสียด้วย ยังคงมีพันธะความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดนี้ระหว่างส่วนต่างๆของพระศาสนจักร ช่วยให้เขาเหล่านี้ได้แบ่งปันความร่ำรวยด้านจิตใจ งานแพร่ธรรม รวมทั้งทรัพยากรด้านวัตถุด้วย” (LG 13)
    ข้าพเจ้าเชื่อว่าช่วงเวลาหลายศตวรรษที่ชาวยุโรปมีอำนาจปกครองโลก เมื่อความภูมิใจในเชื้อชาติของตนเดินควบคู่ไปกับลัทธิล่าอาณานิคมนั้น ได้สร้างมโนภาพของคริสต์ศาสนาขึ้นในใจของผู้คนทั้งสองฝ่าย เป็นมโนภาพที่ไม่สอดคล้องเท่าใดนักกับธรรมชาติแท้จริงของความเชื่อของเราอย่างที่แสดงให้เห็นในพระคัมภีร์และในธรรมประเพณี ข้าพเคยได้ยินมัคคุเทศก์บางคนที่กรุงโรมอธิบายให้ผู้แสวงบุญทราบความหมายของเสาระเบียงของแบร์นีนีที่ล้อมรอบจัตุรัสใหญ่หน้าพระมหาวิหารนักบุญเปโตรว่า แบร์นีนีได้ออกแบบเสาระเบียงนี้ให้เป็นเหมือนแขนสองข้างของพระศาสนจักรสากลที่กำลังโอบอุ้มมวลมนุษย์ ไม่ว่าแบร์นีนีต้องการจะแสดงความหมายอย่างไร จริงๆ เมื่อจัตุรัสเต็มไปด้วยผู้มีความเชื่อที่มาจากทั่วโลกเพื่อจะภาวนาที่หลุมศพของนักบุญเปโตร เสาระเบียงนี้ก็เป็นสัญลักษณ์ได้อย่างดีเลิศที่แสดงความร่ำรวยของพระศาสนจักรสากลซึ่งปรากฏตัวอยู่ในพระศาสนจักรท้องถิ่นแต่ละแห่ง และเสาเหลี่ยมโอเบลิสก์ที่ได้จงใจตั้งไว้ที่กลางจัตุรัสนั้นยังเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงสถานที่ที่นักบุญเปโตรถูกประหารชีวิตเพราะความซื่อสัตย์ต่อพระเยซูเจ้า เสาระเบียงทั้งสองด้านที่รวมมวลมนุษย์ไว้นั้นเป็นเสมือนพระพาหาทั้งสองของพระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน
    วาติกันที่ 2 เป็นเสมือนเสียงประกาศกในสมัยของเราที่เรียกเราให้ตื่นขึ้น มองไปรอบๆ สังเกตดูเครื่องหมายแห่งกาลเวลาและสร้างภาพใหม่ของพระศาสนจักร เป็นภาพที่ทั้งใหม่และเก่าเช่นเดียวกับพระเยซูเจ้าเอง คือเป็นภาพของพระศาสนจักรที่มีโฉมหน้าใหม่และเสียงใหม่ที่ทำให้ประชาชนรู้จักได้ง่ายว่าเป็นพระสุรเสียงของพระเยซูเจ้า ผู้กำลังทรงประกาศข่าวดีของพระองค์แก่ชนทุกชาติ
    ข้าพเจ้าขอย้ำที่นี่อีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อพระศาสนจักรปฏิรูปพิธีกรรม พิธีกรรมก็ปฏิรูปพระศาสนจักรด้วย
    ข้าพเจ้าอยากจะสรุปข้อสังเกตเกี่ยวกับ “การปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด” และ “ความแตกต่างที่อนุญาตให้มีได้” โดยให้ข้อสังเกตว่าธรรมประเพณีที่มีความหลากหลายของพิธีกรรมคาทอลิกได้ปกป้อง “ความแตกต่างที่อนุญาตให้มีได้” ตลอดมา นับตั้งแต่ยุคเริ่มแรก เมื่อพระเยซูเจ้าทรงส่งบรรดาอัครสาวกไปประกาศข่าวดีแก่ชนทุกชาติ พระองค์มิได้ทรงมอบจารีตพิธีให้ปฏิบัติตามเป็นแบบเดียวกัน พระองค์ทรงมอบเพียงสาระสำคัญของพิธี เช่น “จงล้าง” “จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเรา” “จงรับปังนี้ไปกิน” “จงรับถ้วยนี้ไปดื่ม” จารีตต่างๆจึงเกิดและพัฒนาขึ้นตามธรรมชาติในสถานที่ต่างๆ ที่บรรดาอัครสาวกเดินทางไปถึง มีภาษา จารีตพิธี ดนตรี ศิลปะ และการจัดการที่แตกต่างกัน เห็นได้ชัดว่าทุกจารีตเหล่านี้ต่างเก็บรักษาองค์ประกอบสำคัญเหมือนกันที่พระเยซูเจ้าทรงมอบไว้แก่บรรดาอัครสาวก “ความแตกต่างที่อนุญาตให้มีได้” (หรือที่ทุกวันนี้เราเรียกว่า “ความแตกต่าง” หรือ “การเข้าสู่วัฒนธรรม” หรือ ‘inculturation’) จึงไม่ถูกมองว่าเป็นการคุกคามต่อเอกภาพ แต่ความแตกต่างเช่นนี้เป็นแนวปฏิบัติตามปกติ ส่วน “การปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด” นั้นได้เข้ามาภายหลัง และบ่อยๆได้มีการ”บังคับให้ปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด” สภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์เป็นตัวอย่างที่ดีของ “การปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด” เหตุผลทางประวัติศาสตร์มีบทบาทสำคัญเพื่อเร่งรัดสภาสังคายนา (ที่เมืองเตร็นท์) ให้บังคับให้มีการปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันอย่างเคร่งครัด เพื่อปกป้องเอกภาพของพระศาสนจักร แต่วาติกันที่ 2 เกิดขึ้นในสภาพทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องกลับไปหาธรรมประเพณีคาทอลิกแท้จริงที่ “ยอมให้มีความแตกต่างที่ชอบธรรม” คนเหล่านั้นที่ยังต้องการ “ปฏิบัติตามสภาสังคายนาเมืองเตร็นท์” อยู่อีกในโลกปัจจุบัน จึงควรเลิกแสวงหาข้อแก้ตัวเพื่อจะแสดงความผิดปกติลึกๆ เช่นนี้ที่เขามี แต่ให้พูดออกมาอย่างเปิดเผย เหมือนกับที่ผู้มีความคิดสุดโต่งในพวกเขาพูดจากใจจริง ว่าวาติกันที่ 2 และบรรดาพระสันตะปาปาผู้ทรงสนับสนุนข้อกำหนดของสภาสังคายนาได้หลงผิดไปจริงๆ และการปฏิรูปจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูป
VI.ศิลปะด้านพิธีกรรม
    สถาปัตยกรรมและศิลปะมีความสัมพันธ์กับพิธีกรรมตลอดมาในฐานะเป็นเครื่องมือเพื่อนำคำแนะนำสั่งสอนของพระศาสนจักรในด้านพิธีกรรมมาปฏิบัติตามในแต่ละช่วงของประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและศิลปะร่วมสมัยมีพันธกิจเช่นเดียวกันในการนำข้อแนะนำด้านพิธีกรรมของวาติกันที่ 2 มาปฏิบัติ สถาปัตยกรรมและศิลปะเป็น “ครูสอนความเชื่อ” ผู้ทรงพลัง และทำให้พระศาสนจักรมีลักษณะหน้าตาร่วมสมัย เป็นลักษณะหน้าตาที่ผู้คนร่วมสมัยอาจมองเห็นและเข้าใจได้โดยง่าย
    บทที่ 7 ของธรรมนูญ SC เป็นบทสรุป และกล่าวถึง “ศิลปะศักดิ์สิทธิ์และอุปกรณ์ตกแต่งรวมทั้งเครื่องใช้ในโบสถ์” เราต้องยอมรับว่า บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมไม่ได้ให้ความสำคัญและเวลามากเพียงพอเพื่อพิจารณาถึงเรื่องนี้ อันที่จริงบทนี้เป็นการรวมบทที่ 6 (เรื่องอุปกรณ์ตกแต่งรวมทั้งเครื่องใช้ในโบสถ์) และบทที่ 7 (เรื่องศิลปะศักดิ์สิทธิ์) เข้าด้วยกัน เนื่องจากว่า บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมไม่ได้มีความเห็นแตกต่างกันที่สำคัญนัก เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ.1963 ผู้ดำเนินประชุมทั่วไปจึงถามบรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมว่า ท่านเห็นด้วยกับการลงคะแนนรวมสำหรับบทที่ 7 โดยไม่แยกลงคะแนนทีละข้อเหมือนกับที่เคยทำสำหรับบทที่สำคัญอื่นๆ หรือไม่ บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมทุกองค์ยืนขึ้นปรบมือเห็นด้วย ผลของการลงคะแนนเป็นดังนี้ จากพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมจำนวน 1,941 องค์ 1,838 ลงคะแนนเห็นด้วย 9 คะแนน ไม่เห็นด้วย อีก 94 คะแนน เห็นด้วยโดยมีข้อแม้ บทที่ 7 จึงได้รับการรับรอง
    ข้าพเจ้าเห็นว่า  ในบทนี้มีเรื่องน่าสนใจบางเรื่องที่ตรงกันอย่างยิ่งกับเจตนารมณ์ของวาติกันที่ 2 จากเรื่องศิลปะทางศาสนาทั่วไป ซึ่งครอบคลุมขอบเขตกว้างมาก บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมจึงเลือกพิจารณาเป็นพิเศษเกี่ยวกับ “ศิลปะด้านศาสนา” (‘religious art’) และโดยเฉพาะ “ศิลปะศักดิ์สิทธิ์” (‘sacred art’) ซึ่งเป็น “ผลงานสูงสุด” ของศิลปะด้านศาสนาโดยทั่วไป บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมกล่าวว่า “ศิลปะเหล่านี้ โดยธรรมชาติแล้ว มุ่งหาความงดงามไร้ขอบเขตของพระเจ้า ที่เขาพยายามที่จะถ่ายทอดโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง อาศัยผลงานจากฝีมือมนุษย์” ศิลปินผู้สร้างผลงานศิลปะศักดิ์สิทธิ์นับได้ว่าเป็น “ผู้ทำงานอย่างศักดิ์สิทธิ์ตามแบบของพระเจ้าพระผู้เนรมิตสร้าง” และพันธกิจของเขาก็คือ “เพื่อรับใช้ประชาชน”
    “ศิลปินทุกคน ที่อยากใช้ความสามารถของตนในการเทิดพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าในพระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ ต้องตระหนักเสมอว่า กิจการของตนเปรียบเสมือนการเอาอย่างผลงานของพระผู้สร้าง และ ผลงานของตนมีจุดหมายสำหรับใช้ในคารวกิจคาทอลิก เพื่อสั่งสอนส่งเสริมความเลื่อมใสศรัทธา และให้การอบรมทางศาสนา ของผู้มีความเชื่อ” (SC 127)
    ผลงานของศิลปะศักดิ์สิทธิ์ “ถูกกำหนดไว้สำหรับใช้ในคารวกิจคาทอลิกและเป็นเครื่องหมายช่วยให้ประชาชนหันจิตใจไปหาพระเจ้าได้ ในความหมายนี้”ศิลปะศักดิ์สิทธิ์” จึงมีความหมายเท่ากับ “ศิลปะด้านพิธีกรรม”ในฐานะที่เป็นเครื่งหมายด้านพิธีกรรม ในความหมายหนึ่ง ศิลปะด้านพิธีกรรมจึงเป็นเหมือนศีลศักดิ์สิทธิ์ (a sacrament) หรือ สิ่งคล้ายศีล (a sacramental)  จุดประสงค์ของศิลปะศักดิ์สิทธิ์จึงไม่ใช่เพื่อดึงดูดความสนใจของประชาชนมาหาตน แต่นำเขาไปหาพระเจ้า ศิลปะศักดิ์สิทธิ์สะท้อนภาพของพระเจ้าเหมือนกับกระจกเงา สิ่งที่มีความสำคัญจึงไม่ใช่ความงดงามหรือความประเสริฐของกระจกเงาเอง แต่ในฐานะที่สะท้อนภาพชัดเจนของความงดงามและความรักของพระเจ้า และพลังการกอบกู้ของพระเยซูเจ้า บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสภาฯจึงใช้ถ้อยคำต่อไปนี้กล่าวข้อความสำคัญว่า
    “ศิลปะเหล่านี้ (ศิลปะด้านศาสนาและศิลปะศักดิ์สิทธิ์) โดยธรรมชาติแล้ว มุ่งจะแสดงความงดงามไร้ขอบเขตของพระเจ้าออกมา โดยผลงานของมนุษย์ ศิลปะเหล่านี้จะมุ่งไปหาพระเจ้าเพื่อสรรเสริญและถวายพระเกียรติแด่พระองค์ได้มากที่สุด ถ้าไม่มีจุดประสงค์อื่น นอกจากส่งเสริมให้โน้มน้าวจิตใจของมนุษย์ไปหาพระเจ้าอย่างศรัทธาด้วยผลงานของตน” (SC 122)
    ถ้าเรานำผลงานศิลปะศักดิ์สิทธิ์ที่ยอดเยี่ยมไปเก็บไว้ในห้องเก็บของ การทำเช่นนี้คงไม่อาจถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าได้ เพราะ คงไม่มี “ผู้คารวะ” คนใด ทำให้งานศิลปะชิ้นนี้มีความหมายได้เต็มที่ ถ้าอาคารโบสถ์หลังหนึ่งเต็มไปด้วยผลงานศิลปะศักดิ์สิทธิ์ชั้นยอด การนี้ก็คงไม่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยเช่นเดียวกัน ศิลปะศักดิ์สิทธิ์ไม่อาจเป็นเพียงศิลปะเพื่อศิลปะเท่านั้นได้ แต่ต้องเป็นศิลปะสำหรับพิธีกรรม เช่นเดียวกับเครื่องหมายอื่นๆด้านพิธีกรรม ศิลปะศักดิ์สิทธิ์ต้องนำประชาชนให้มีส่วนร่วมเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้าอย่างแข็งขัน พระเยซูคริสตเจ้าทรงปฏิบัติงานอาศัยเครื่องหมายด้านพิธีกรรม ทรงบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ให้เราและทรงนำเราให้ถวายพระเกียรติแด่พระบิดาของพระองค์และของเรา การปฏิรูปพิธีกรรมของวาติกันที่ 2 มีเจตนาทำให้พิธีกรรมเป็นพิธีกรรมแบบคริสตชนจริงๆ ที่มีพระธรรมล้ำลึกปัสกาทั้งหมดของพระเยซูเจ้า คือ พระทรมาน การสิ้นพระชนม์ การเสด็จสู่สวรรค์ การประทานพระจิตเจ้า และการเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ เป็นจุดศูนย์กลางของการเฉลิมฉลองแต่ละครั้ง ธรรมนูญ SC ประกาศยืนยันว่า
    “พระศาสนจักรยังนำพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้ามาตีแผ่ตลอดเวลาทั้งปี ตั้งแต่การทรงรับธรรมชาติมนุษย์และการประสูติ จนถึงการเสด็จสู่สวรรค์ วันเปนเตกอสเต และการที่เรารอคอยด้วยความหวังให้องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จกลับมา
    พระศาสนจักรระลึกถึงพระธรรมล้ำลึกการไถ่กู้เช่นนี้ เพื่อเปิดให้ผู้มีความเชื่อได้รับผลกิจการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นและพระบารมีขององค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นเสมือนขุมทรัพย์ล้ำค่า และทำให้ขุมทรัพย์เหล่านี้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ เขาจะได้รับสัมผัสและรับพระหรรษทานที่ช่วยให้รอดพ้นอย่างเต็มเปี่ยม” (SC 102)
    ฌ)ฯฌณ๋ฮ.สำคัญอย่างยิ่งที่ศิลปะเกี่ยวกับพิธีกรรม (ภาพวาดศักดิ์สิทธิ์ รูปปั้น การตกแต่งภายในโบสถ์ ฯลฯ ) จะต้องกลมกลืนเข้ากับ “การเปิดตัวพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าตามขั้นตอนประจำปี” และบรรลุถึงเจตนาของตน “ที่จะต้องช่วยนำจิตใจของประชาชนเข้าหาพระเจ้าอย่างเลื่อมใสศรัทธา” ผลงานศิลปะด้านพิธีกรรมในโบสถ์คาทอลิกต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุด (นอกจากผลงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระบุคคลของพระเยซูคริสตเจ้า) มักจะเป็นภาพของพระนางพรหมจารมารีย์และบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเข้าใจคำอธิบายทางเทววิทยาที่สภาสังคายนาฯให้ไว้ก่อน ที่จะพิจารณาถึงคุณค่าของงานศิลปะเหล่านี้
    “ในการเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกต่างๆของพระคริสตเจ้าตามลำดับประจำปีเช่นนี้ พระศาสนจักรยังแสดงความเคารพนับถือด้วยความรักเป็นพิเศษต่อพระนางมารีย์ผู้ได้รับพระพร พระมารดาของพระเจ้า พระนางทรงร่วมงานไถ่กู้ด้วยความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับพระบุตร พระศาสนจักรชื่นชมและเทิดทูนพระนางมารีย์ เป็นผลงานประเสริฐสุดของการไถ่กู้ เพ่งมองพระนางด้วยความยินดี ในฐานะที่ทรงเป็นรูปแบบบริสุทธิ์ยิ่งของสภาพที่พระศาสนจักรปรารถนา และหวังจะเป็นอย่างสมบูรณ์ด้วยเช่นเดียวกัน” (SC 103)
    สภาสังคายนาเสนอความเห็นทางเทววิทยาเกี่ยวกับพระนางมารีย์ในประวัติศาสตร์ความรอดพ้นไว้โดยย่อสั้นๆว่า พระนางมารีย์  “มีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับงานไถ่กู้โดยพระบุตรของพระนาง” พระนางมารีย์เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ได้รับการไถ่กู้ พระนางทรงเป็นแบบอย่างดีที่สุดของผู้ได้รับการไถ่กู้ ซึ่งยินดีรับโดยอิสรเสรีที่จะมีส่วนร่วมสนิทกับพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระนาง ด้วยความสัมพันธ์ที่แยกจากกันไม่ได้  พระนางทรงเป็นเหมือนกระจกเงาที่สะท้อนให้เราเห็นว่าเราจะเป็นอย่างไรในสวรรค์เมื่องานไถ่กู้ของพระเยซูเจ้าสำเร็จลงอย่างสมบูรณ์แล้ว สภาสังคายนาฯกล่าวถึงพระนางโดยใช้ตำแหน่งที่สภาสังคายนาครั้งหนึ่ง (สภาสังคายนาที่เมืองเอเฟซัส เมื่อปี ค.ศ.431) ได้ถวายแด่พระนาง คือ ตำแหน่ง “พระมารดาพระเจ้า” (Theotokos) เอกสารฉบับอื่นๆ ของสภาสังคายนาฯจะขยายความเกี่ยวกับบทบาทของพระนางในประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น สภาสังคายนาฯยังกล่าวยืนยันเกี่ยวกับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ (หรือ “นักบุญ”) อีกว่า
    “นอกจากนั้น ตลอดปี พระศาสนจักรยังกำหนดวันระลึกถึงบรรดามรณสักขีและผู้ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ซึ่งได้บรรลุถึงความดีพร้อมอาศัยพระหรรษทานหลากหลายของพระเจ้า และบัดนี้ได้รับความรอดพ้นนิรันดร อยู่ในสวรรค์ขับร้องสรรเสริญพระองค์ และอธิษฐานภาวนาแทนเรา ในวันฉลองบรรดานักบุญ พระศาสนจักรประกาศพระธรรมล้ำลึกปัสกาในผู้ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ซึ่งได้ร่วมรับทรมานและร่วมพระสิริรุ่งโรจน์กับพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรเสนอแบบฉบับของท่านเหล่านี้แก่บรรดาผู้มีความเชื่อ เพื่อดึงดูดทุกคนไปพบพระบิดาเจ้าโดยทางพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรยังวอนขอพระพรจากพระเจ้าอาศัยบุญกุศลของท่านเหล่านี้ด้วย” (SC 104)
    ในการอบรมประชาชนเกี่ยวกับพิธีกรรม เราต้องเน้นว่า “รูปวาดและรูปปั้นของพระนางมารีย์หรือบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆนั้น ไม่ใช่ภาพถ่ายของบุคคลที่เราให้เกียรติหรือถวายคารวะ แต่เป็นเครื่องหมายทางพิธีกรรมที่นำประชาชนเข้าหาพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระเยซูคริสตเจ้า และเป็นแบบอย่างที่อาจช่วยเราให้ก้าวหน้าไปหาความศักดิ์สิทธิ์ในพระเยซูเจ้า ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ การอบรมบรรดาศิลปินผู้สร้างผลงานที่กำหนดไว้สำหรับใช้ในคารวกิจคาทอลิก เพื่อเสริมสร้างบรรดาผู้มีความเชื่อและหล่อเลี้ยงความศรัทธา และเพื่ออบรมเขาเหล่านี้ด้านศาสนา” (RM 127) สภาสังคายนาฯ มีข้อแนะนำนี้สำหรับบรรดาพระสังฆราชว่า “บรรดาพระสังฆราช ไม่ว่าด้วยตนเอง หรืออาศัยพระสงฆ์เหมาะสม ผู้เชี่ยวชาญและรักศิลปะ ควรเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อศิลปิน เพื่ออบรมเขาให้มีจิตตารมณ์ศิลปะศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรม ยิ่งกว่านั้น ยังควรเสนอแนะให้ตั้งโรงเรียนหรือวิทยาลัยสอนศิลปะศักดิ์สิทธิ์เพื่ออบรมศิลปินในท้องถิ่นตามที่เห็นควรด้วย” (SC 127)
    บ่อยครั้งทีเดียวที่ผลงานศิลปะเหล่านี้มีค่ามาก แม้อาจไม่เหมาะในด้านพิธีกรรมก็ตาม ถึงกระนั้น “ประมุขท้องถิ่นต้องเฝ้าระวังอย่างกวดขันมิให้ใช้เครื่องศักดิ์สิทธิ์และวัตถุมีค่าอื่นๆ ซึ่งเป็นเครื่องประดับบ้านของพระเจ้า ถูกเปลี่ยนเจ้าของหรือสูญหายไป” (SC 126) สภาสังคายนาฯ ยังให้กำลังใจแก่ “คณะพระสังฆราชตามท้องถิ่นต่างๆซึ่งมีอำนาจปรับสิ่งต่างๆเหล่านี้ให้เข้ากับความต้องการและขนบประเพณีของท้องถิ่น หลักการนี้ใช้ได้โดยเฉพาะกับวัสดุและรูปแบบของอุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องประดับและอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์” (SC 127)
    ในที่สุด สภาสังคายนาฯคิดถึงบรรดาพระสงฆ์ในอนาคตว่าดังนี้ “ขณะที่ผู้เตรียมตนเป็นพระสงฆ์กำลังศึกษาปรัชญาและเทววิทยา เขาควรได้รับการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของศิลปะศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนหลักการที่ถูกต้องในการผลิตผลงานศิลปะศักดิ์สิทธิ์ เพื่อจะได้รู้จักคุณค่าและรักษาปูชนียวัตถุที่น่าเคารพของพระศาสนจักรไว้  และรู้จักให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่ศิลปินในการผลิตงานศิลปะของตน” (SC 129)
    คำแนะนำทั่วไปของหนังสือมิสซาจารีตโรมันยังเน้นด้วยว่าในพิธีกรรมบนแผ่นดิน พระศาสนจักรมีความสัมพันธ์ตลอดเวลากับพระศาสนจักรในสวรรค์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย และเราต้องเห็นความหมายของรูปภาพศักดิ์สิทธิ์ในโบสถ์ต่างๆในบริบทนี้
    “เพราะฉะนั้น ตามธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณของพระศาสนจักร จึงตั้งรูปของพระคริสตเจ้า ของพระมารดาพรหมจารีมารีย์ และของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์(นักบุญ) ในโบสถ์ให้สัตบุรุษแสดงความเคารพได้ และภายในโบสถ์รูปเหล่านี้ควรจัดไว้เพื่อช่วยนำสัตบุรุษให้เข้าถึงธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อที่เฉลิมฉลองที่นั่น ดังนั้น จึงต้องระวังอย่าให้มีรูปจำนวนมากเกินไป ควรจัดให้รูปเหล่านี้ไว้ตามระเบียบที่ควรจะมี เพื่อมิให้ดึงความสนใจของสัตบุรุษออกไปจากพิธีกรรมที่กำลังประกอบอยู่ตามธรรมเนียมแล้ว ผู้ศักดิ์สิทธิ์ท่านหนึ่งไม่ควรมีรูปมากกว่าหนึ่งรูป โดยปกติเมื่อตกแต่งโบสถ์และจัดสิ่งต่างๆภายใน ถ้าเกี่ยวกับรูปก็ต้องคำนึงถึงความศรัทธาของสัตบุรุษทุกคนในชุมชนและคำนึงถึงความงามและศักดิ์ศรีของรูปด้วย” (RM 318)
    เกี่ยวกับกิจศรัทธาแบบชาวบ้านของบรรดาคริสตชน สภาสังคายนาฯกล่าวไว้ดังนี้ 
    “ถึงกระนั้น ควรจัดกิจศรัทธาเหล่านี้โดยคำนึงถึงเทศกาลทางพิธีกรรม ให้สอดคล้องกับพิธีกรรม ได้รับอิทธิพลจากพิธีกรรม และนำประชากรเข้าหาพิธีกรรม เพราะพิธีกรรมในตัวเองก็มีความสำคัญเหนือกิจศรัทธาใดๆอยู่แล้ว” (SC 13)
    เกี่ยวกับหลักปฏิบัติในเรื่องรูปภาพภายในโบสถ์ สภาสังคายนาฯมีข้อเสนอแนะสองข้อต่อไปนี้ “ธรรมเนียมการนำรูปศักดิ์สิทธิ์มาประดิษฐานให้สัตบุรุษเคารพในวัดควรรักษาไว้ต่อไป แต่ต้องมีจำนวนพอสมควรและตั้งตามตำแหน่งให้ถูกต้อง เพื่อจะไม่ดึงความสนใจของประชากรคริสตชนมากเกินไป และหลีกเลี่ยงที่จะส่งเสริมความศรัทธาไม่ถูกต้อง” (SC 125)
    จำเป็นต้องให้คำสั่งสอนอย่างมากแก่ชาวคาทอลิกของเราเพื่อจะได้เข้าใจและเสริมสร้างชีวิตจิตของเขาบนพิธีกรรม สภาสังคายนากล่าวไว้เช่นนี้ “ก่อนอื่นหมด ควรแนะนำจิตใจของผู้มีความเชื่อให้คิดถึงวันฉลองขององค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นวันที่เฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกแห่งความรอดพ้นในช่วงเวลาแต่ละปี ดังนั้น วันฉลองตามเทศกาล (proper of the time) จึงต้องนับว่าสำคัญกว่าวันฉลองของบรรดานักบุญเพื่อเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกแห่งความรอดพ้นได้ครบถ้วนอย่างเหมาะสม” (SC 108)
    ชีวิตจิตของเราต้องสร้างขึ้นและมีศูนย์กลางอยู่บนพระเยซูคริสตเจ้า เราต้องให้คำสั่งสอนเช่นเดียวกันแก่ผู้เรียนคำสอนเตรียมตนเป็นคริสตชน ซึ่งเป็นชาวคาทอลิกรุ่นใหม่ต่อไป ที่จะต้องดำเนินชีวิตตามเจตนารมณ์ของวาติกันที่ 2 ดังที่เราเห็นได้ บทที่ 7 ของธรรมนูญ SC เรื่องศิลปะศักดิ์สิทธิ์และอุปกรณ์เครื่องใช้ศักดิ์สิทธิ์ในโบสถ์ มีเนื้อหาเต็มไปด้วยจิตตารมณ์การเปิดกว้างและความสนใจด้านพิธีกรรมเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมพิธีกรรมอย่างแข็งขัน และจิตตารมณ์นี้พบได้ในทุกส่วนของธรรมนูญ SC ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ข้อ 123 เป็นตัวอย่างดีที่สุดที่แสดงออกถึงจิตตารมณ์นี้ของสภาสังคายนาฯ  
    “พระศาสนจักรไม่เคยมีรูปแบบศิลปะใดเป็นของตนโดยเฉพาะ แต่ยอมรับรูปแบบศิลปะของแต่ละยุคสมัยมาใช้ตามลักษณะเฉพาะและสภาพแวดล้อมของชนชาติต่างๆ และตามความต้องการของจารีตพิธี ดังนี้ จึงได้สร้างขุมทรัพย์ด้านศิลปะขึ้นมากมายในระยะเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องเอาใจใส่รักษาไว้อย่างดีที่สุด แม้ศิลปะในยุคสมัยของเราและชนทุกชาติทุกถิ่น ควรมีอิสระที่จะแสดงผลงานในพระศาสนจักรได้เช่นเดียวกัน ขอแต่ให้ศิลปะนั้นช่วยส่งเสริมทั้งความน่าเคารพและศักดิ์ศรีที่สอดคล้องกับอาคารสถานที่และจารีตพิธีศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ดังนี้ ศิลปะร่วมสมัยก็จะร่วมเสียงกับศิลปินยิ่งใหญ่ในอดีต ที่ได้เปล่งเสียงเป็นเกียรติแก่ความเชื่อคาทอลิกในหลายศตวรรษที่ผ่านมา” (SC 123)
    ศิลปะมีบทบาทสำคัญมากในการนำศาสนาหนึ่งเข้าสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง ตัวอย่างของคริสตชนในยุโรปเป็นตันตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ศิลปะศักดิ์สิทธิ์ของยุโรปได้พัฒนาขึ้นอย่างเข้มแข็งจนกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของประวัติศาสตร์ศิลปะแบบยุโรป บรรดามิชชันนารี โดยเฉพาะในยุคแสวงหาอาณานิคม ได้เผยแผ่คริสต์ศาสนาเข้าไปในทวีปแอฟริกา เอเชีย และส่วนอื่นๆของโลก และในเวลาเดียวกันก็นำศิลปะศักดิ์สิทธิ์แบบยุโรปไปด้วย  ลองขอให้เด็กชาวจีนสักคนหนึ่งในชั้นประถม (แม้เด็กที่ไม่เป็นคริสตชน) วาดภาพของพระนางมารีย์พรหมจารีย์ คุณจะต้องเห็นรูปของหญิงชาวยุโรปที่สวยงามอย่างแน่นอน ลองสำรวจดูเหรียญรูปพระ รูปปั้น และภาพศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนซื้อหากันในร้านค้าคาทอลิก และคุณก็จะสังเกตเห็นปรากฏการณ์เช่นเดียวกัน ในช่วงเวลาไม่นานก่อนหรือหลังการประชุมสภาสังคายนาฯ ได้มีความกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้นเพื่อนำความเชื่อเข้าสู่วัฒนะธรรม แต่ในปีหลังๆนี้มีการพูดถึงเรื่องนี้น้อยมาก ในความคิดของบางคนได้เกิดมีความรู้สึกระแวงว่าสิ่งที่จำเพาะเจาะจงและจำกัดเฉพาะถิ่นเป็นอะไรที่เป็นอันตรายต่อความเป็นสากล ข้าพเจ้าคิดว่าเรื่อองนี้ส่วนหนึ่งมาจากปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ที่ลดคุณค่าของวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นต่างๆ และอุดหนุนส่งเสริมความฝันถึงภาษาที่ใช้ได้ทั่วโลกฯลฯ แต่เหตุผลสำคัญก็คือ การขาดการสนับสนุนจากพระศาสนจักรโดยทั่วไป และจากผู้มีอำนาจปกครองพระศาสนจักรโดยเฉพาะ ต่อศิลปินท้องถิ่น การกล่าวย้ำถึงการนำเข้าสู่วัฒนธรรมยังเห็นได้อยู่ในเอกสารหลายฉบับของพระศาสนจักรและถูกกล่าวถึงก็จริง แต่การนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังยังมีไม่พอ ในที่สุด มาตรการสุดท้ายของการนำเข้าสู่วัฒนธรรมใดๆนั้น จะต้องเป็นการที่ชุมชนคาทอลิกท้องถิ่นยอมรับงานนี้เป็นของตน  พวกเราโชคดีมากที่นี่ในฮ่องกงหรือในประเทศจีนโดยทั่วไป ที่เรามีอิสระมากที่จะใช้ศิลปะแบบจีนเพื่อแสดงความเชื่อของเราคริสตชน แต่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย สถานการณ์มิได้เป็นเช่นนี้ ในบางประเทศ บรรดามิชชันนารีได้ห้ามเป็นทางการมิให้ทำรูปวาดหรือรูปปั้นที่มีลักษณะเหมือนกับเทพเจ้าของศาสนาในท้องถิ่นนั้น ในบางกรณี ศาลได้ตัดสินให้นำรูปปั้นหรือรูปวาดออกจากโบสถ์คาทอลิก เพราะเป็นการไม่เคารพต่อศาสนาประจำท้องถิ่นนั้น

รำพึงพระวาจาประจำวัน

วันเสาร์ สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลปัสกา พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 6:60-69) เวลานั้น เมื่อศิษย์หลายคนได้ยินพระองค์ตรัสดังนี้ก็กล่าวว่า “ถ้อยคำนี้ขัดหูจริง ใครจะฟังได้” พระเยซูเจ้าทรงทราบด้วยพระองค์ว่าบรรดาศิษย์กำลังบ่นกันเรื่องนี้ จึงตรัสแก่เขาว่า “เรื่องนี้ทำให้ท่านเคลือบแคลงใจหรือ แล้วถ้าท่านจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์กลับขึ้นสู่สถานที่ที่เคยอยู่แต่ก่อนเล่า...
วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลปัสกา พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 6:52-59) เวลานั้น ชาวยิวจึงเถียงกันว่า “คนนี้เอาเนื้อของตนให้เรากินได้อย่างไร” พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านไม่กินเนื้อของบุตรแห่งมนุษย์ และไม่ดื่มโลหิตของเขา ท่านจะไม่มีชีวิตในตนเอง...
วันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลปัสกา พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 6:44-51) เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ไม่มีใครมาหาเราได้ นอกจากพระบิดาผู้ทรงส่งเรามาจะทรงชักนำเขา และเราจะทำให้เขากลับคืนชีพในวันสุดท้าย มีเขียนไว้ในหนังสือของบรรดาประกาศกว่า ทุกคนจะได้รับคำสอนจากพระเจ้า ทุกคนที่ได้ฟังพระบิดา...

Don't be afraid

E-Book แผนกคริสตศาสนธรรม อัคสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

สื่อการสอน เกมคำสอน เกมพระคัมภีร์ ออนไลน์

สื่อการสอน คุณค่าพระวรสาร 21 ประการ
สื่อการสอน คุณค่าพระวรสาร 21 ประการ
คุณค่าพระวรสาร 21 ประการ สำหรับอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิก คุณค่าพระวรสาร คือ คุณค่าที่พระเยซูเจ้าสั่งสอน และเจริญชีวิตเป็นแบบอย่างแก่บรรดาสานุศิษย์และประชาชน...
สื่อการเรียนการสอน เรื่อง อุปมาของพระเยซูเจ้า
สื่อการเรียนการสอน เรื่อง อุปมาของพระเยซูเจ้า
อุปมาเป็นเรื่องราวสั้นๆ ชวนคิด ที่พระเยซูเจ้าทรงเล่าให้ประชาชนฟัง เพื่อสอนพวกเขาเกี่ยวกับพระเจ้าและหนทางไปสวรรค์
สื่อการเรียนการสอน เรื่อง "คำสอนของพระเยซูเจ้า"
สื่อการเรียนการสอน เรื่อง
แผนภูมิความรู้ ความสอนของพระเยซูเจ้า ความเชื่อและการรับศีลล้างบาป ความสุขแท้จริง การเป็นแบบอย่างที่ดี การรักศัตรู การภาวนา ความไว้วางใจในพระเจ้า...
5 ขั้นตอนของการรับศีลอภัยบาป V. 2023
5 ขั้นตอนของการรับศีลอภัยบาป V. 2023
ดาวน์โหลดแผ่นพับ 5 ขั้นตอนของการรับศีลอภัยบาป .pdf

คำสอนสำหรับเยาวชน YOUCAT

219. คริสตชนคาทอลิกต้องไปร่วมพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณบ่อยครั้งเพียงใด คริสตชนคาทอลิกมีพันธะผูกพันให้เข้าร่วมพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณทุกวันอาทิตย์ และวันฉลองบังคับ ผู้ใดที่แสวงหามิตรภาพกับพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริง จะตอบรับการเชิญมาสู่งานเลี้ยงของพระเยซูเจ้าบ่อยที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ (1389, 1417) ความจริงแล้วสำหรับคริสตชนแท้ “หน้าที่ในวันอาทิตย์” ไม่สมควรเป็นแค่การแสดงออกถึงภาระผูกพันเป็นดัง “การจุมพิตหน้าที่”...
218. วิธีที่ถูกต้องในการถวายเกียรติแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าที่ทรงประทับอยู่ในแผ่นปังและเหล้าองุ่นคืออะไร เพราะพระเจ้าทรงประทับอยู่อย่างแท้จริงในรูปของปังและเหล้าองุ่นที่ได้การเสก เราต้องเก็บของถวายศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วยความเคารพบูชาอย่างสูงสุด และกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ไถ่กู้ของเราในศีลมหาสนิท (1378 -1381 ,1418) ถ้ามีแผ่นปังที่ได้รับการเสกเหลืออยู่จากพิธีมิสซาขอบพระคุณ ต้องเก็บรักษาไว้ในภาชนะศักดิ์สิทธิ์ในตู้ศีล เมื่อศีลมหาสนิทประทับอยู่ในตู้ศีล ตู้ศีลจึงเป็นสถานที่ที่เคารพที่สุดของวัด...
216. พระคริสตเจ้าทรงประทับอยู่ในพิธีมิสซาขอบพระคุณในวิธีใด พระคริสตเจ้าทรงเป็นพรธรรมล้ำลึกอย่างยิ่ง แต่ทรงประทับอยู่อย่างแท้จริงในศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งศีลมหาสนิท เนื่องจากพระศาสนจักรปฏิบัติตามคำสั่งของพระเยซูเจ้าที่ว่า “จงทำการนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด” (1 คร 11:24) การบิปังและการหยิบยื่นถ้วยกาลิกษ์ที่กระทำในทุกวันนี้ เป็นสิ่งเดียวที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น เป็นพระคริสตเจ้าอย่างแท้จริงที่ทรงมอบพระองค์เองแก่เรา...

กิจกรรมพระคัมภีร์

เดินตามกฎ
เดินตามกฎ
เดินตามกฎ เรื่อง กฎต่างๆ พระคัมภีร์ โยชูวา 1:7-8 ภาพรวม เด็กๆ ปฏิบัติตามกฎต่างๆ ในเกม และเรียนรู้ถึงคุณค่าของการปฏิบัติตามกฎต่างๆ ในชีวิต อุปกรณ์ ปากกาเส้นใหญ่สีดำ เทปแถบกาว และกระดาษสีแดง 5 แผ่น สีเขียว 10 แผ่น วาดเครื่องหมายหยุดไว้บนกระดาษสีแดงแต่ละแผ่น และวาดลูกศรลงบนกระดาษสีเขียวแต่ละแผ่น ประสบการณ์ ให้เด็กๆ...
ดูซิ เห็นไหม
ดูซิ เห็นไหม
ดูซิ เห็นไหม เรื่อง ยืนยันต่อผู้อื่น พระคัมภีร์ สุภาษิต 16:24 ภาพรวม เด็กๆ พบสิ่งดีในผู้อื่นจากการเรียนรู้จักสิ่งดีในตนเอง อุปกรณ์ ทอฟฟี่ ดินสอ การ์ด 3 x 5 นิ้ว (2 เท่าของจำนวนเด็ก) ประสบการณ์ บอกเด็กๆ ว่าเรากำลังมองหาความดีในผู้อื่น ครูแจกดินสอและกระดาษการ์ด 3...

ประมวลภาพกิจกรรม

พิธีเอฟฟาธา ฟื้นผู้จิตใจผู้เตรียมเป็นคริสตชน ปี 2024
พิธีเอฟฟาธา ฟื้นผู้จิตใจผู้เตรียมเป็นคริสตชน ปี 2024
🙏 "เอฟฟาธา แปลว่า จงเปิดเถิด" 🙏 วันเสาร์ที่ 8 เมษายน ค.ศ. 2023 แผนกคริสตศาสนธรรมอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้จัด "พิธีเอฟฟาธา" และฟื้นฟูจิตใจผู้เตรียมเป็นคริสตชน ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก และห้องประชุมชั้นใต้ดิน (สำนักมิสซัง) ในกฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย...
ค่ายคำสอนลูกแม่พระ ปี 2024
ค่ายคำสอนลูกแม่พระ ปี 2024
🎊 “ท่องโลกพระคัมภีร์”🎊 วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2024 ทีมคำสอนสัญจรได้ไปกิจกรรมพิเศษของค่ายคำสอนลูกแม่พระ ให้กับเด็กนักเรียนคำสอน วัดแม่พระฟาติมาดินแดง กว่า 50 คน ในหัวข้อ “ท่องโลกพระคัมภีร์” วันนี้ เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของพระคัมภีร์ตั้งแต่พันธสัญญาเดิมเรื่อยมาจนถึงพันธสัญญาใหม่ ผ่านทางวีดีโอ ควบคู่ไปกับการเติมคำในช่องว่าง และยังได้ทำกิจกรรมเพื่อช่วยให้จดจำชื่อหนังสือพระคัมภีร์ได้มากขึ้น...

สวดสายประคำ

สายประคำทำให้ความเชื่อเข้มแข็งขึ้น
สายประคำทำให้ความเชื่อเข้มแข็งขึ้น ตลอดประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรคาทอลิก พระสันตะปาปาและนักบุญจํานวนมากสนับสนุนให้สวดสายประคํา เมื่อเราเริ่มเข้าใจและซาบซึ้งในสายประคําและสวดบ่อยขึ้น เราจะเห็นความหมายที่แท้จริงของการรําพึงภาวนา เราเริ่มเห็นคุณค่าว่าคําภาวนานั้นไม่เพียงแต่ถึงพระนางมารีย์...
ทำไมชาวคาทอลิกจึงสวดสายประคำ
ทำไมชาวคาทอลิกจึงสวดสายประคำ (The Rosary)การสวดบทภาวนาเดียวกันซ้ำหลายๆ ครั้ง เป็นวิธีปฏิบัติในบางศาสนา เพราะคิดว่าการสวดภาวนาซ้ำไปซ้ำมาจะได้ผลดีกว่า...

ช่วงเวลาสั้นๆ กับพระเจ้า

วงล้อ
พระเจ้าตรัสอะไรกับท่านในวันนี้ พระ​วาจา​ของ​พระองค์​เป็น​โคม​ส่อง​ทาง​ของ​ข้าพ​เจ้า เป็น​แสง​สว่าง​ส่อง​ทางเดิน​ให้​ข้าพ​เจ้า (สดด 119:105) ภาวนาวอนขอความสว่างจากพระองค์ แล้วหมุนวงล้อ...
วงล้อ พระวาจาหนุนใจในเหตุการณ์ต่างๆ ของชีวิต
ในชีวิตประจำวัน เราจะพบความเศร้า ความกลัว ปัญหา ความทุกข์ยาก ความไม่สบายใจ ความรู้สึกผิด ความหดหู่ ถูกทดลอง เจ็บป่วย...

คำถามที่เด็กๆ อยากรู้เกี่ยวกับพระเจ้า

Messiah
พระเมสสิยาห์ คำว่า พระเมสสิยาห์ เป็นภาษาฮีบรูที่ใช้เรียกพระคริสต์ ซึ่งเปลว่า...
Redeemer
พระผู้ไถ่ เป็นพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า ที่หมายถึงว่า พระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อไถ่เราให้รอดพ้นจากบาป
tomb
อุโมงค์ฝังศพ คือสถานที่ใช้ฝังศพผู้ตาย อุโมงค์ฝังพระศพของพระเยซูเจ้านั้นมีลักษณะเป็นโพรงหิน

ประวัตินักบุญ

25 เมษายน ฉลองนักบุญมาระโก ผู้นิพนธ์พระวรสาร
25 เมษายน ฉลองนักบุญมาระโก ผู้นิพนธ์พระวรสาร (St. Mark, Evangelist, feast) มีความเห็นพ้องต้องกันโดยทั่วไปว่า ชื่อของ มาระโก ที่มีกล่าวไว้ในหนังสือกิจการอัครสาวก...
25 มีนาคม สมโภชการแจ้งสารเรื่องพระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์
วันที่ 25 มีนาคม สมโภชการแจ้งสารเรื่องพระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์ ( The Annunciation of the Lord, solemnity )...
19 มีนาคม  สมโภชนักบุญโยเซฟ ภัสดาของพระนางมารีย์พรหมจารี
วันที่ 19 มีนาคม สมโภชนักบุญโยเซฟ ภัสดาของพระนางมารีย์พรหมจารี (St. Joseph, Spouse of the Blessed Virgin...
17 มีนาคม  ระลึกถึงนักบุญปาตริก พระสังฆราช  (St. Patrick, Bishop, memorial)
วันที่ 17 มีนาคม ระลึกถึงนักบุญปาตริก พระสังฆราช (St. Patrick, Bishop, memorial) นักบุญปาตริกเป็นนักบุญยิ่งใหญ่และเป็นองค์อุปถัมภ์ของประเทศไอร์แลนด์ ท่านเป็นบุตรชายของ Calpurnius...

CCBKK Channel

youtube1

Kamson TikTok

tiktok

Facebook CCBKK

วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ

St.Joseph 2021

คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก

ccc thai web

บทอ่านและบทมิสซา

ordomissae

พระคัมภีร์คาทอลิก

WOPTMR80W7YC0H90QTK7LZC1E1L2WM

บทเพลงศักดิ์สิทธิ์

angels-5b

วิชาคริสต์ศาสนา + จริยศึกษา

poster 2023 moral re

------------------------------------------

poster 2023 christianity re

สถิติเยี่ยมชม (22-2-2012)

วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
ทั้งหมด
10082
13335
53725
166243
306218
35909965
Your IP: 18.226.187.24
2024-04-19 11:53

สถานะการเยี่ยมชม

มี 589 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์