‘ธรรมประเพณีที่ดีงาม’ และ ‘ความก้าวหน้าที่ชอบธรรม’
    ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าเราต้องการเข้าใจว่า บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมหมายความว่าอย่างไรเมื่อกล่าวถึง “ธรรมประเพณีที่ถูกต้องและความก้าวหน้าที่ชอบธรรม” เราก็ต้องระลึกถึงบริบทที่เรื่องนี้ได้รับการพิจารณาและรับรอง น่าจะเป็นความผิดอย่างมากที่จะแยกเรื่องนี้จากบริบทนั้น และพิจารณามันเหมือนกับเรื่องเทววิทยาทั่วไป วาติกันที่ 2 ไม่ใช่การประชุมนักเทววิทยาเพื่อพิจารณาปัญหาทางเทววิทยาด้านนามธรรมเท่านั้น วาติกันที่ 2 เป็นการประชุมของบรรดา “ผู้อภิบาล” บรรดาพระสังฆราชที่มาจากพระศาสนจักรท้องถิ่น และจะกลับไปยังพระศาสนจักร (ท้องถิ่น) ของตน จุดหมายของเขาเหล่านี้เป็นจุดหมายด้านอภิบาล คือ เพื่อจะช่วยอย่างดีที่สุดอย่างไรให้ ‘ผู้มีความเชื่อได้รับคำแนะนำให้มีส่วนร่วมประกอบพิธีกรรมอย่างเต็มที่ โดยมีความรู้และอย่างแข็งขัน ธรรมชาติของพิธีกรรมเองก็เรียกร้องให้ทำเช่นนี้และยังมีสิทธิและหน้าที่อาศัยศีลล้างบาปที่จะทำเช่นนี้’ (SC 14)

บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสภาได้ลงความเห็นร่วมกันถึงหลักการพื้นฐานว่าจะปฏิรูปเรื่องใด ทำไมจึงต้องปฏิรูป และจะต้องปฏิรูปอย่างไร “การปรับปรุงแก้ไขและส่งเสริมพิธีกรรมต้องมีจุดประสงค์ก่อนอื่นหมด ที่จะให้ประชากรทั้งหมดร่วมพิธีกรรมอย่างเต็มที่และอย่างแข็งขัน เพราะพิธีกรรมเป็นบ่อเกิดแรกและจำเป็นที่ผู้มีความเชื่อจะตักตวงชีวิตจิตแบบคริสตชนอย่างแท้จริง” (SC 14) เพื่อบรรลุจุดประสงค์นี้ คือ “เพื่อประชากรคริสตชนจะได้รับพระหรรษทานอย่างอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นจากพิธีกรรม พระศาสนจักร มารดาศักดิ์สิทธิ์ มีความประสงค์ที่จะปรับปรุงแก้ไขพิธีกรรมทั่วไปอย่างจริงจัง”... “ในการปรับปรุงแก้ไขนี้ จำเป็นต้องจัดตัวบทและจารีตพิธีใหม่ เพื่อให้แสดงความหมายของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้ปรากฏชัดยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชากรคริสตชนเข้าใจความหมายได้ง่ายและสมบูรณ์เท่าที่จะเป็นได้ เขาจะได้ร่วมพิธีอย่างแข็งขันเต็มเปี่ยมร่วมกันให้สมกับที่เป็นชุมชน” (SC 21)
1. เพื่อรักษาธรรมประเพณีที่ดีงามไว้ และเพื่อเปิดทางสำหรับความก้าวหน้าที่ชอบธรรม... (SC 23)
    ต่อจากนั้น สภาสังคายนาฯ จึงเสนอข้อสังเกตสำคัญบางประการที่เกี่ยวกับเรื่อง “ธรรมประเพณีที่ดีงามและความก้าวหน้าที่ชอบธรรม” ไว้ดังนี้ว่า “พิธีกรรมประกอบด้วยส่วนที่พระเจ้าทรงกำหนด จึงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และประกอบด้วยส่วนที่เปลี่ยนแปลงได้ ส่วนนี้เมื่อเวลาล่วงไปอาจหรือต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าบังเอิญมีองค์ประกอบที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของพิธีกรรมหรือไม่เหมาะสมอีกต่อไปสอดแทรกเข้ามา” (SC 21)
    สภาสังคายนาฯย้ำบ่อยๆ ถึงข้อสังเกตนี้เมื่อกล่าวถึงการปฏิรูปศีลศักดิ์สิทธิ์และสิ่งคล้ายศีลต่างๆ “ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รายละเอียดบางประการของพิธีได้แทรกเข้าไปในการประกอบศีลศักดิ์สิทธิ์และสิ่งคล้ายศีล ทำให้คนในสมัยนี้เข้าใจลักษณะและจุดหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์และสิ่งคล้ายศีลได้น้อยลง จึงจำเป็นต้องปรับปรุงบางสิ่งบางอย่างให้เหมาะสมกับสภาพในสมัยของเรา สภาสังคายนาจึงกำหนดให้ปรับปรุงแก้ไขพิธีต่างๆดังต่อไปนี้” (SC 62)
    ธรรมนูญข้อ 23 น่าจะได้รับความเอาใจใส่เป็นพิเศษในการพิจารณาเกี่ยวกับ “ธรรมประเพณี” และ “การเปลี่ยนแปลง” การนี้ฟังแล้วอาจทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเป็นเสียงสั่งของนักวิชาการ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเสียงของผู้อภิบาลที่เชิญชวนให้นักวิชาการใช้ความสามารถเพื่อรับใช้ประชาชน “เพื่อรักษาธรรมประเพณีที่ดีงามไว้ และเพื่อเปิดทางสำหรับความก้าวหน้าอันชอบธรรม จะต้องตรวจสอบแต่ละส่วนของพิธีกรรมที่จะต้องแก้ไขนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนเสมอ ในด้านเทววิทยา ประวัติศาสตร์ และการอภิบาล” (SC 23) แล้วสภาสังคายนาฯ จึงเสริมบางสิ่งที่ทุกวันนี้เกือบถูกลืมไปหมดแล้วว่า “นอกจากนั้นจะต้องคำนึงถึงทั้งกฎทั่วไปเกี่ยวกับโครงสร้างและเจตนารมณ์ของพิธีกรรม รวมทั้งประสบการณ์ที่ได้มาจากการฟื้นฟูพิธีกรรมที่เพิ่งทำไปแล้ว และจากอนุญาตพิเศษที่สันตะสำนักเคยออกให้แก่หลายๆพื้นที่” (SC 23)
    นักวิชาการไม่อาจแยกตัวอยู่แต่ในห้องสมุดของตนเท่านั้น นักวิชาการต้องมีโอกาสเปรียบเทียบกฎทั่วไปด้านพิธีกรรมกับการปฏิรูปพิธีกรรมทางปฏิบัติที่ทำอยู่ในพระศาสนจักรและยังต้องพิจารณาผลลัพธ์ของการทดลองหลายๆอย่างที่ทำอยู่แล้วในชุมชนเล็กๆหรือเขตวัดต่างๆซึ่งได้รับอนุญาตพิเศษจากผู้มีอำนาจปกครองของพระศาสนจักรต้องพร้อมที่จะทดลองข้อเสนอใหม่ๆ โดยมีเจตนาที่จะรับใช้ผู้อื่นอย่างแท้จริง ในสมัยนั้นการทดลองเช่นนี้มีอยู่น้อยมาก แต่ก็มีประโยชน์มากจริงๆ
    “ในที่สุด อย่าให้มีการริเริ่มใดๆ นอกจากว่าการริเริ่มเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์แท้จริงอย่างแน่นอนแก่พระศาสนจักร ในกรณีเช่นนี้ จะต้องเอาใจใส่ให้รูปแบบใหม่ๆนี้ พัฒนาขึ้นมาอย่างกลมกลืนจากรูปแบบที่มีอยู่แล้ว” (SC 23)
    สภาสังคายนาฯ ไม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือเพื่อเจตนาอย่างอื่น การเปลี่ยนแปลงเป็นที่ยอมรับได้ก็ต่อเมื่อการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดิขึ้นเพื่อประโยชน์แท้จริงและชัดเจนสำหรับพระศาสนจักร ผลประโยชน์สำหรับพระศาสนจักรย่อมเป็นผลประโยชน์สำหรับประชาชนด้วย ข้อความว่า “ต้องเอาใจใส่ว่ารูปแบบใหม่ที่ถูกรับมาใช้จะต้องค่อยๆ พัฒนาขึ้นอย่างเป็นระเบียบจากรูปแบบที่มีอยู่แล้ว” มักถูกนำมาใช้บ่อยๆ เพื่อต่อต้านการปฏิรูปพิธีกรรมของวาติกันที่ 2
    ที่ตรงนี้ข้าพเจ้าอยากแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวลึกๆ ที่เคยมี ตลอดเวลาเรามักพบบางคนที่รับการปฏิรูปของวาติกันที่ 2 ไม่ได้ กลุ่มสุดโต่งของพวกนี้กล่าวหา วาติกันที่ 2 และสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ว่าการนำสิ่งใหม่ๆเหล่านี้เข้ามา ขัดกับสภาสังคายนาเมืองเตร็นท์และธรรมประเพณีคาทอลิก คนเหล่านี้แยกตัวออกไปจากพระศาสนจักรและตั้งชุมชน “Tridentine” (สภาสังคายนาเมืองเตร็นท์) ของตน คนอีกกลุ่มหนึ่งไม่กล่าวหา วาติกันที่ 2 หรือสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 โดยตรง เขาโจมตีนักพิธีกรรมเกเร พระสงฆ์แหวกแนวบางคน และพระสังฆราชบางองค์ที่เติมการเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมตามใจชอบ โดยลืมมาตรการซึ่งวาติกันที่ 2 กำหนดไว้ว่า “การออกกฎข้อบังคับเกี่ยวกับพิธีกรรมเป็นอำนาจของพระศาสนจักรเท่านั้น กล่าวคือ เป็นอำนาจของสันตะสำนัก และเป็นอำนาจของพระสังฆราชตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น บุคคลอื่นแม้พระสงฆ์ จะเพิ่ม ตัดออก หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งใดในพิธีกรรมตามอำเภอใจตนเองไม่ได้เลย” (SC 22: 1,3) คนกลุ่มนี้มักยกเพียงข้อกำหนดจาก SC เหล่านี้หรือที่คล้ายๆกัน เท่านั้นมาอ้าง และแพร่ข่าวว่าความสับสนต่างๆ ในพิธีกรรมเกิดขึ้นมาจากการทดลองอย่างไร้ระเบียบของบรรดา “ประกาศกอิสระ” เหล่านี้ที่ก่อให้เกิดความสับสนในหมู่ผู้มีความเชื่อ เราต้องยอมรับว่าในบางแห่งได้มีการทดลองอย่างไร้ระเบียบเช่นนั้นจริงๆ แต่บรรดาผู้มีความเชื่อส่วนใหญ่ไม่รู้สึกเช่นนี้ และนี่ไม่น่าจะเป็นสาเหตุของความเลวร้ายทั้งหมดเหล่านี้ ข้าพเจ้าเคยคิดอยู่เสมอว่าการกล่าวหาเหล่านี้มีอะไรบางอย่างซ่อนเร้นอยู่ภายใน มีอะไรบางอย่างที่เขาไม่กล้าพูดออกมา เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า พวกนี้กำลังออกมาจากหลังฉาก และชี้นิ้วอย่างเปิดเผยไปอย่างเป้าหมายแท้จริง ใช่แล้ว เราต้องปฏิรูปการปฏิรูป การปฏิรูปของวาติกันที่ 2 ที่ถูกนำมาปฏิบัติโดยมีสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ทรงเป็นผู้นำนั้นมีข้อบกพร่องและจำเป็นต้องปฏิรูป ไม่มีการกล่าวถึงนักพิธีกรรมเกเรและการทดลองที่แหวกแนวอีกต่อไป เป็นการปฏิรูปพิธีกรรมเองที่ต้องรับการปฏิรูปเพราะไม่ได้พัฒนาอย่างเป็นระเบียบจากรูปแบบที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นการแยกตัวออกมาจากธรรมประเพณี เป็น “พิธีกรรมที่ทำขึ้นมาใหม่” คนพวกนี้ปรากฏให้เห็นภายนอกเพียงไม่กี่คน แต่เขารู้ดีมากว่าจะใช้สื่อต่างๆเพื่อแพร่ความเห็นของตนได้อย่างไร คุณลองค้นหา “พิธีกรรมที่สร้างขึ้นใหม่” (‘fabricated liturgy’) หรือเรื่องคล้ายๆกันดู แล้วคุณจะประหลาดใจที่เห็นว่ามีเรื่องนี้อยู่ท่วมเน็ตทีเดียว เรื่องที่ข้าพเจ้ากลัวมากที่สุดก็คือผลด้านลบที่เสียงเหล่านี้มีต่อทุกคนที่ได้ทำงานหนักตลอดเวลา 40 ปีที่ผ่านมา  เพื่ออบรมประชาชนในเรื่องพิธีกรรม บรรดาผู้มีความเชื่อยอมรับพิธีกรรมแบบใหม่ซึ่งค่อยๆกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อ ชีวิติจิต และชีวิตประจำวันของเขา เวลา 40 ปี เป็นเวลาสั้นมากสำหรับประชาชนเพื่อจะรับเอาพิธีกรรมมาย่อยและทำให้เป็นชีวิตของตน น่าจะเป็นหายนะในขณะนี้ที่จะมีการปฏิรูป การปฏิรูปที่ถูกกำหนดลงมาจากเบื้องบนแทนที่จะค่อยๆพัฒนาขึ้นอย่างมีระเบียบจากประชาชน ที่มีพิธีกรรมซึ่งเป็นงานของประชาชนอยู่กับตน สำหรับพวกเราที่นี่ในฮ่องกงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องพิจารณาสภาพของพระศาสนจักรบนแผ่นดินใหญ่ ทุกสิ่งที่เราทำที่นี่ในฮ่องกงย่อมมีผลกระทบถึงแผ่นดินใหญ่ด้วย การปฏิรูปพิธีกรรมที่นั่นเพิ่งจะเริ่มขึ้นและโดยทั่วไปแล้วก็กำลังดำเนินไปด้วยดี คงจะเป็นหายนะถ้าจะเริ่มพูดถึงการปฏิรูปการปฏิรูปขึ้นมาอีกบนแผ่นดินใหญ่ในขณะนี้ ต้องมีพระสงฆ์ชราและคาทอลิกจำนวนหนึ่งซึ่งเคยรับการศึกษาอบรมเรื่องพิธีกรรมของสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ ที่อยากกลับไปหาช่วงเวลาดีๆเหล่านั้นหลังจากได้รับทรมานและถูกเบียดเบียนอย่างมาก แต่พิธีกรรมนั้นมองไปข้างหน้า ไม่ใช่มองกลับไปข้างหลัง ในช่วงเวลา 40 ปีที่เพิ่งผ่านมานี้ มีผู้ที่เพิ่งได้รับศีลล้างบาปจำนวนหมื่นมาชุมนุมกันตามโบสถ์ในฮ่องกงและประเทศจีนบนแผ่นดินใหญ่ เขาเหล่านี้ได้พบอาหารฝ่ายจิตที่เขาต้องการทั้งจากโต๊ะพระวาจาและโต๊ะศีลมหาสนิท  เราต้องการการสนับสนุนอย่างเต็มที่และชัดเจนจากผู้ปกครองพระศาสนจักรเพื่อจะสืบต่อพันธกิจสำคัญยิ่งนี้ที่จะให้การการอบรมด้านพิธีกรรมแก่ประชาชน ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าพิธีกรรมที่ได้รับการปฏิรูปของวาติกันที่ 2 ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ทรงนำมาปฏิบัติตามคำแนะนำของบรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมนั้น เป็นความก้าวหน้าที่ถูกต้องและตั้งอยู่บนธรรมประเพณีที่ดีงาม “หนังสือพิธีกรรมจะต้องได้รับการตรวจชำระโดยเร็วที่สุด โดยผู้เชี่ยวชาญ หลังจากปรึกษากับบรรดาพระสังฆราชท้องถิ่นต่างๆทั่วโลกแล้ว”  (SC 25) ถึงกระนั้น เราก็ยังต้องพบจุดอ่อนอยู่อีก เหมือนกับทุกๆจารีตพิธี แต่ธรรมนูญเรื่องพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ก็ยังคงเป็น Magna Charta  (แผนแม่บท) ของการปฏิรูปใดๆด้านพิธีกรรม และการนำแผนนี้มาปฏิบัติก็ยังคงเป็นผลงานชิ้นเอกของการปฏิรูปด้านพิธีกรรมที่พระศาสนจักรคาทอลิก (จารีตโรมัน) ได้ทำจนสำเร็จในประวัติศาสตร์อันยาวนานของตน บทสรุปในข้อ 23 จึงเป็นคำเตือนที่ดีสำหรับเราแม้ในปัจจุบันนี้ด้วย คือคำเตือนที่ว่า “ยังต้องเอาใจใส่หลีกเลี่ยงเท่าที่จะทำได้ มิให้จารีตต่างๆที่ใช้ในเขตใกล้เคียงนั้น แตกต่างกันมากเกินไป” (SC 23)