แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

“การปรับปรุงแก้ไขและส่งเสริมพิธีกรรมต้องมีจุดประสงค์ก่อนอื่นหมด ที่จะให้ประชากรทั้งหมดร่วมพิธีกรรมอย่างเต็มที่และอย่างแข็งขัน” (SC14)
    สภาสังคายนาฯ ใช้มาตรการนี้อย่างกว้างขวาง เพื่อตัดสินว่าจารีตพิธีหรือบทภาวนาใดต้องรับการปฏิรูป และต้องปฏิรูปอย่างไร ให้เราพิจารณาบางตัวอย่างจากพิธีกรรมของมิสซา
    “ให้ตรวจชำระบทประจำมิสซา เพื่อให้เห็นชัดยิ่งขึ้นว่าแต่ละภาคในมิสซามีลักษณะเฉพาะและเกี่ยวข้องกันอย่างไรเพื่อให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมอย่างเลื่อมใสศรัทธาและแข็งขันได้ง่ายขึ้น โดยเหตุนี้จารีตพิธีต่างๆจะต้องเรียบง่ายขึ้น แต่ยังรักษาสาระสำคัญไว้อย่างเคร่งครัด จารีตพิธีใดที่ซ้ำซ้อนหรือเพิ่มเติมโดยไม่สู้จะมีประโยชน์นักในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็ให้ตัดทิ้งเสีย ส่วนจารีตพิธีใดที่สูญหายไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็ให้รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ตามธรรมประเพณีของบรรดาปิตาจารย์เท่าที่เห็นว่าสมควรและจำเป็น” (SC 50)

    บทประจำมิสซาแบบใหม่ (Novus Ordo Missae) ที่ได้รับการรับรองและประกาศใช้โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 เมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ.1969 ได้เรียบเรียงขึ้นตามข้อกำหนดจากธรรมนูญเรื่องพิธีกรรมอย่างซื่อสัตย์ พวกเราจงอ่านบทประจำมิสซานี้อย่างผ่านๆไป และสังเกตว่ามิสซาของสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ได้รับการปฏิรูปอย่างไร
    - ภาคเริ่มพิธี (เพลงเริ่มพิธีและพิธีสารภาพผิด) ได้เปลี่ยนให้ซับซ้อนน้อยลงและทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนชัดเจนขึ้น เมื่อประชาชนทุกคนขับร้องเพลงเริ่มพิธีเสร็จ พระสงฆ์ก็เดินมาถึงพระแท่นแล้ว พระสงฆ์ไม่จำเป็นต้องสวดบทลำนำที่เชิงพระแท่น “ข้าพเจ้าจะขึ้นไปยังพระแท่นของพระเจ้า...”(เหมือนกับในมิสซาของสภาสังคายนาเมืองเตร็นท์) ตามด้วยเพลงสดุดีบทที่ 2 แล้วจึงขึ้นบันไดของพระแท่น แล้วอ่านบทเพลงเริ่มพิธีบนพระแท่นอีกครั้งหนึ่ง
    - มีพิธีสารภาพผิดซ้ำกันสองครั้งในมิสซาของเตร็นท์ พระสงฆ์สวด “ข้าพเจ้าขอสารภาพ...” ก่อน แล้วศาสนบริกร (หรือผู้ช่วยมิสซาสวดซ้ำอีก ในมิสซาใหม่ทั้งบทเพลงเริ่มพิธีและพิธีสารภาพผิดเป็นกิจการร่วมกันที่สัตบุรุษทำพร้อมกับพระสงฆ์
    - ในมิสซาของเตร็นท์อาจมีบทภาวนาของประธาน 2 หรือ 3 บท ในมิสซาใหม่มีบทภาวนาของประธานเพียงบทเดียวซึ่งทำหน้าที่สรุปภาคเริ่มพิธี และเตรียมจิตใจของทุกคนให้พร้อมจะฟังพระวาจาของพระเจ้า นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการทำให้จารีตพิธีเรียบง่ายขึ้น
    ดังที่เห็นแล้ว ช่วงเริ่มพิธีได้ถูกทำให้เรียบง่ายขึ้น ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่และรู้สำนึก และยังรักษาสาระสำคัญของพิธีไว้
    - ในมิสซาของเตร็นท์ มิสซาแบ่งเป็นสองภาค คือภาคมิสซาของคริสตังสำรอง และมิสซาของผู้มีความเชื่อ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่สัตบุรุษจะเข้าใจความหมายของส่วนสำคัญของมิสซาทั้งสองส่วน ผลตามมาก็คือ การมีส่วนร่วมพิธีกรรมของสัตบุรุษจึงเป็นเพียงผู้รับเท่านั้น ในสมัยนั้นในยุโรปไม่มีคริสตังสำรองที่เป็นผู้ใหญ่อีกแล้ว ทุกคนได้รับศีลล้างบาปตั้งแต่เป็นทารก สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ได้นำพิธีรับผู้ใหญ่มาเป็นคริสตังสำรองเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง
    บรรดาพระสังฆราชผู้เข้าร่วมประชุมสภาสังคายนาฯ แสดงให้เห็นจิตใจของผู้อภิบาลเมื่อเขียนว่า
    “สองภาคที่ประกอบเป็นมิสซา คือ ภาควจนพิธีกรรมและภาคพิธีขอบพระคุณ มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นจนทำให้ทั้งสองภาครวมเป็นการถวายคารวกิจเดียวกัน ดังนั้น สภาสังคายนาศักดิ์สิทธิ์จึงเตือนผู้อภิบาลสัตบุรุษอย่างแข็งขันให้เอาใจใส่สอนสัตบุรุษว่า ต้องร่วมพิธีมิสซาแต่ต้นจนจบ เฉพาะอย่างยิ่งในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับ” (SC 56)
    ขณะนี้เป็นการง่ายกว่าที่จะสอนบรรดาผู้มีความเชื่อเกี่ยวกับสองภาคของมิสซา “ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดจนรวมกันเป็นคารวกิจหนึ่งเดียวเท่านั้น” บรรดาผู้มีความเชื่อได้รับการเลี้ยงดูทั้ง “ที่โต๊ะพระวาจาของพระเจ้า” และที่ “โต๊ะศีลมหาสนิท”
    บทอ่านจากพระคัมภีร์ในหนังสือบทอ่านของเตร็นท์มีปริมาณน้อยมาก ตามสถิติแล้ว มีการอ่านเพียง 1%  ของพันธสัญญาเดิม และ 16.5% ของพันธสัญญาใหม่ในมิสซา และเนื่องจากบทอ่านถูกจัดเป็นชุดประจำเพียงหนึ่งปี จึงอ่านบทอ่านชุดเดียวกันทุกปี ชาวคาทอลิกไม่คุ้นเคยกับพระคัมภีร์ สภาสังคายนาฯจึงเน้นว่าดังนี้
    “เพื่อให้สัตบุรุษได้รับการหล่อเลี้ยงจากพระวาจาของพระเจ้ามากยิ่งขึ้น จำเป็นต้องเปิดขุมทรัพย์ของพระคัมภีร์ให้กว้างยิ่งขึ้น เพื่อประชากรจะได้รับฟังเนื้อหาส่วนใหญ่ของพระคัมภีร์ภายในจำนวนที่กำหนด “ (SC 51)
    มื้ออาหารที่อัตคัดและจืดชืดได้ถูกทดแทนด้วยการเลี้ยงอย่างฟุ่มเฟือย บทอ่านจากพระคัมภีร์ถึงสี่บท (บทอ่านแรกที่มักจะคัดมาจากพันธสัญญาเดิม เพลงสดุดีบทหนึ่ง บทอ่านที่สองจากพันธสัญญาใหม่ และพระวรสาร) ถูกจัดไว้อย่างดีเป็นชุดสำหรับช่วงเวลาสามปีสำหรับวันอาทิตย์ และช่วงเวลาสองปีสำหรับวันธรรมดาอย่างที่ว่าการจัดเช่นนี้ช่วยบรรดาผู้มีความเชื่อให้เข้าใจและมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้นที่พระเจ้าประทานให้ ประวัติศาสตร์นี้มาถึงจุดยอดในพระธรรมล้ำลึกปัสกาพระทรมาน การสิ้นพระชนม์ การกลับคืนพระชนมชีพ และเสด็จสู่สวรรค์ของพระเยซูเจ้า หนังสือบทอ่านคาทอลิกของจารีตโรมันที่สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ทรงประกาศรับรองในปี ค.ศ.1969 นี้อาจเรียกได้ว่าเป็นเพชรของการปฏิรูปพิธีกรรมของพิธีมิสซา นักวิชาการพระคัมภีร์บางท่านได้ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องเล็กน้อยบางประการ แต่บรรดาผู้มีความเชื่อส่วนใหญ่พอใจกับหนังสือบทอ่านฉบับนี้ หนังสือฉบับนี้ยังเป็นรากฐานที่คริสตจักรอื่นๆหลายแห่งใช้รองรับหนังสือบทอ่านของตนด้วย
    - การปฏิรูปที่กล้าหาญอีกประการหนึ่งสำหรับภาคนี้ของมิสซาก็คือ การยอมให้ผู้อ่านที่เป็นฆราวาสอ่านพระคัมภีร์เป็นภาษาของประชาชนจากบรรณฐานซึ่งอยู่ในบริเวณเนื้อที่ประกอบพิธีกรรม (the sanctuary) ในเอกสารทุกฉบับของวาติกันที่ 2 คำว่า “ฆราวาส” หมายรวมทั้งหญิงและชายทุกครั้ง ผู้อ่าน (ทั้งหญิงและชาย) จึงปฏิบัติหน้าที่ในพิธีกรรมโดยแท้จริง (SC 29) น่าจะกล่าวที่นี่ด้วยว่า แม้กระทั่งสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 เมื่อปี ค.ศ.1903 ในพระสมณสาสน์ ‘Tra le sollecitudini’ ที่ทรงสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมพิธีกรรมอย่างเข้มแข็ง  (actuosa partecipatio) ก็ยังทรงห้ามสตรี รวมทั้งนักบวชหญิงและนวกชนไม่ให้อ่านพระคัมภีร์จากบรรณฐานหรือเข้าร่วมคณะนักขับร้อง เพราะกิจเหล่านี้เป็นศาสนบริการที่สงวนไว้สำหรับผู้ชายเท่านั้น
    - การให้การอบรมสัตบุรุษอย่างต่อเนื่อง จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้เขาได้มีส่วนร่วมพิธีกรรมอย่างแข็งขันและได้รับประโยชน์ บทเทศน์อธิบายพระคัมภีร์ (Homily) และบทภาวนาของมวลชน (prayer of the faithful) เป็นสองตัวอย่างของ ‘ส่วนจารีตพิธีใดที่สูญหายไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็ให้รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ตามธรรมประเพณีของบรรดาปิตาจารย์ เท่าที่เห็นว่าสมควรหรือจำเป็น’ (SC 50)
    “สภาสังคายนาส่งเสริมอย่างยิ่งให้เทศน์อธิบายพระคัมภีร์เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม การเทศน์นี้จะต้องใช้ตัวพระคัมภีร์อธิบายธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ และกฎชีวิตคริสตชนตลอดปีพิธีกรรม ดังนั้น อย่าได้ละเว้นการเทศน์อธิบายพระคัมภีร์เช่นนี้ในมิสซาวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับ ที่ถวายร่วมกับสัตบุรุษ นอกจากมีเหตุผลขัดข้องที่สำคัญกว่า” (SC 52)
    “ให้รื้อฟื้น ‘บทภาวนาส่วนรวม’ หรือที่เรียกว่า ‘บทภาวนาของมวลชน’ หลังพระวรสารและการเทศน์ขึ้นมาใหม่ เฉพาะอย่างยิ่งในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับ เพื่อประชาสัตบุรุษจะได้มีส่วนร่วมอธิษฐานภาวนาสำหรับพระศาสนจักร ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง ผู้มีความต้องการต่างๆ ตลอดจนมนุษย์ทุกคนและความรอดพ้นของโลกทั้งโลก” (SC 53)
    - การปฏิรูปพิธีกรรมภาคมิสซาของผู้มีความเชื่อ (พิธีกรรมภาคบูชาขอบพระคุณ) ก่อนอื่นหมดเกี่ยวข้องกับพิธีเตรียมเครื่องบูชา พิธีกรรมส่วนนี้ได้รับการปฏิรูปเพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า พิธีตอนนี้ยังไม่ใช่การถวายพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า แต่เป็นการถวายขนมปังและเหล้าองุ่นที่ประชาชนนำมาที่พระแท่น ในมิสซาของสภาสังคายนาเมืองเตร็นท์ ผู้ช่วยมิสซานำขนมปังและเหล้าองุ่นมาที่พระแท่น และพระสงฆ์ภาวนาว่า “ข้าแต่พระบิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ โปรดทรงรับแผ่นปังไร้ตำหนินี้ ซึ่งข้าพเจ้า ผู้รับใช้ไม่เหมาะสม ขอถวายแด่พระองค์เพื่อชดเชยบาป ความผิดพลาดและความเลินเล่อนับไม่ถ้วนของข้าพเจ้า เพื่อทุกคนซึ่งอยู่ที่นี่ รวมทั้งเพื่อคริสตชนผู้มีความเชื่อทุกคนทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และสิ้นชีพแล้ว ... ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายถ้วยกาลิกส์แห่งความรอดพ้นแด่พระองค์ วอนขอพระกรุณาให้การถวายบูชาของข้าพเจ้าทั้งหลายนี้เป็นดังกลิ่นหอมขึ้นไปยังพระมหิทธานุภาพของพระองค์เพื่อความรอดพ้นของข้าพเจ้าทั้งหลายและของทั่วทั้งโลกด้วย อาแมน”
    - ในมิสซาแบบใหม่ เมื่อพระสงฆ์รับขนมปังและเหล้าองุ่นที่ประชาชนนำมาที่พระแท่นแล้ว ท่านกล่าวในนามของทุกคนว่า “ข้าแต่พระเจ้าแห่งสกลโลก ขอถวายพระพร พระองค์มีพระทัยเมตตาประทานปัง ซึ่งข้าพเจ้ากำลังถวายอยู่นี้ อันเป็นผลมาจากแผ่นดินและน้ำพักน้ำแรงของมนุษย์ และจะเปลี่ยนเป็นอาหารบันดาลให้ข้าพเจ้าทั้งหลายมีชีวิต”
    ประชาชนตอบว่า “ขอถวายพระพรแด่พระเจ้าตลอดนิรันดร”เมื่อถวายเหล้าองุ่น พระสงฆ์กล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้าแห่งสกลโลก ขอถวายพระพร พระองค์มีพระทัยเมตตาประทานเหล้าองุ่นซึ่งข้าพเจ้าทั้งหลายกำลังถวายอยู่นี้ อันเป็นผลมาจากต้นองุ่นและน้ำพักน้ำแรงของมนุษย์ และจะเปลี่ยนเป็นเครื่องดื่มชุบเลี้ยงจิตใจข้าพเจ้าทั้งหลาย”
    บทภาวนาที่ใช้ในพิธีเตรียมเครื่องบูชานี้เป็นบทภาวนาที่โบราณมากด้วย และแสดงให้เห็นสาระสำคัญของ “พิธีเตรียมเครื่องบูชา” (the ‘offertory’) อย่างดีมาก ว่าเป็นการถวายพรแด่พระเจ้าสำหรับสิ่งสร้างน่าพิศวงของพระองค์ และเหมาะสมกว่าเพื่อช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมพิธีกรรม ในเวลาเดียวกัน “การถวายพระพร” ยังคล้ายกันมากกับ “การขอบพระคุณ” ซึ่งเป็นสาระสำคัญของบทภาวนาขอบพระคุณ โดยวิธีนี้ “พิธีเตรียมเครื่องบูชา” (offertory) กำลังนำการประกอบพิธีไปยัง “บทภาวนาขอบพระคุณ” (the Eucharistic Prayer)
    -  ในมิสซาของสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ บทภาวนาขอบพระคุณ (หรือ Canon) เริ่มขึ้นหลังจากที่พระสงฆ์สวดบท “บทนำขอบพระคุณ” (Perface) และบท “ศักดิ์สิทธิ์” (Sanctus) ด้วยเสียงดัง และพระสงฆ์สวดบทภาวนาขอบพระคุณนี้เงียบๆ ไม่ให้ผู้ใดได้ยินเสียงส่วนหนังสือมิสซาใหม่ใช้ถ้อยคำดังนี้ กล่าวถึงบทภาวนาขอบพระคุณ (the Eucharistic Prayer)
    “บทภาวนาขอบพระคุณซึ่งเป็นการขอบพระคุณพระเจ้า และเป็นการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ คือการเริ่มต้นจุดยอดและศูนย์กลางของพิธีถวายบูชามิสซาทั้งหมด พระสงฆ์เชิญประชาชนให้ยกจิตใจขึ้นหาพระเจ้าโดยการภาวนาและการขอบพระคุณ รวมประชาชนเป็นหนึ่งเดียวกับตนในการภาวนา ซึ่งเขาถวายในนามของประชาชนทุกคนแด่พระบิดาเจ้า ผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้าในองค์พระจิตเจ้า บทภาวนาขอบพระคุณนี้มีใจความว่า ผู้มีความเชื่อทุกคนที่มาชุมนุมกันร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า ในการประกาศกิจกรรมยิ่งใหญ่ของพระเจ้า และในการถวายบูชาบทขอบพระคุณจึงเรียกร้องให้ทุกคนฟังเงียบๆ ด้วยความเคารพ (RM 78)
    Roman Canon หรือ   “บทขอบพระคุณ” ของมิสซาแห่งสังคายนาเมืองเตร็นท์ เนื่องจากเป็นตัวบทที่โบราณมาก ถูกปล่อยไว้แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเลย แต่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สุดคือ บทขอบพระคุณ หรือ Canon บทนี้ได้สูญเสียอภิสิทธิ์ที่ได้รับจากสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ให้เป็นบทขอบพระคุณเพียงบทเดียวสำหรับจารีตโรมัน อันที่จริงก่อนสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์นั้นเคยมี “บทขอบพระคุณ” (Canon) หลายแบบในจารีตโรมัน สภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ได้เลือกและบังคับให้ใช้บทนี้เพียงบทเดียว มาตรการนี้จำเป็นในสมัยนั้น ที่มีความสับสนวุ่นวายอย่างมากหลังการปฏิรูปทางศาสนาของชาวโปรเตสแตนท์
    เป็นความจริงว่า the Roman Canon เป็นบทภาวนาขอบพระคุณที่เก่าแก่มาก ดังนั้น ในมิสซาที่สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ทรงรับรองเมื่อปี ค.ศ.1969 จึงยังเก็บรักษาไว้ และจัดให้เป็นบทขอบพระคุณบทที่ 1 ยังได้มีการเพิ่มบทขอบพระคุณอื่นๆเข้ามาอีก (และยังอาจจะมีเพิ่มได้อีก) ซึ่งมีโครงสร้างที่ชัดเจนกว่าและเหมาะสมกว่าสำหรับการเฉลิมฉลองร่วมกัน
    หลังสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ พระสงฆ์สวดบทขอบพระคุณที่ 1 หรือ The Roman Canon เงียบๆ เป็นภาษษละติน สัตบุรุษจึงรู้จักบทภาวนานี้น้อยมาก (นอกจากคนที่มีหนังสือมิสซาส่วนตัวที่มีคำแปลเป็นภาษาท้องถิ่น) แต่เมื่ออนุญาตให้สวดบทขอบพระคุณเสียงดังเป็นภาษาของประชาชนได้ พระสงฆ์หลายองค์จึงเลือกบทขอบพระคุณอื่นๆ ที่เหมาะกว่าสำหรับการประกอบพิธีร่วมกัน แต่การนี้ก็ทำให้พระสงฆ์บางองค์ที่คุ้นเคยกับบทขอบพระคุณที่ 1 รู้สึกไม่สบายใจ
    - ให้เราพิจารณาสั้นๆ ถึงโครงสร้างและลำดับความคิดใน Roman Canon เพื่อจะได้เห็นว่าบทขอบพระคุณบทนี้เข้าใจได้ยาก ถ้ามีการสวดบทนี้เป็นเสียงดังให้ทุกคนได้ยิน
    เรามีความรู้สึกว่า บทขอบพระคุณบทนี้เป็นการนำบทภาวนาหลายๆบทที่เป็นเอกเทศเข้ามารวมกันไว้ด้วยกันโดยไม่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันเลย บทขอบพระคุณ หรือ Canon บทนี้ดูเหมือนจะขาดเอกภาพที่สัตบุรุษจะเข้าใจได้ง่ายๆ ความรู้สึกเช่นนี้เห็นชัดขึ้นจากข้อความสรุปตอนปลายของบทภาวนาเหล่านี้ว่า “ทั้งนี้ ขอพึ่งพระบารมีพระคริสตเจ้า อาแมน” ถึงสี่ครั้ง ลักษณะประการนี้ปรากฏชัดทันทีเมื่อเราเปรียบ Roman Canon กับบทขอบพระคุณโบราณบทอื่น หรือ บทขอบพระคุณต่างๆที่เรามีเดี๋ยวนี้ในหนังสือมิสซาแบบใหม่ ข้อความเริ่มต้น ‘Te igitur rogamus’ (ดังนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงกราบวอนขอพระองค์) ก็ทำให้เรารู้สึกสับสนแล้ว ถึงอย่างไร บทภาวนาของ Canon ก็ไม่ต่อเนื่องกับ “บทนำขอบพระคุณ” (Perface) และบท “ศักดิ์สิทธิ์” (Sanctus) ก่อนหน้านั้น พระสงฆ์กล่าวว่า “(ดังนั้น) ข้าแต่พระบิดาผู้พระทัยดีอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าทั้งหลายกราบวอนขอ ... ได้ทรงรับและบันดาลให้สิ่งของที่ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายนี้ศักดิ์สิทธิ์...  ของถวาย เครื่องบูชาศักดิ์สิทธิ์ไร้ตำหนิเหล่านี้ ที่ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายแด่พระองค์ ก่อนอื่นหมด เพื่อพระศาสนจักรคาทอลิกศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์...” คำว่า “ดังนั้น” ต่อเนื่องกับคำใดก่อนหน้านั้น? บทขอบพระคุณอื่นๆมีความชัดเจนกว่าในการเชื่อมบท “ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์” ก่อนหน้านั้นกับข้อความว่า “ข้าแต่พระบิดาเจ้า พระองค์ทรงเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริง และทรงเป็นบ่อเกิดแห่งความศักดืสิทธิ์ทุกประการ...”
    บทขอบพระคุณที่ 1 หรือ The Roman Canon ดำเนินต่อไปด้วย “บทระลึกถึง” – ข้าแต่พระเจ้า โปรดระลึกถึงข้ารับใช้... “ข้าพเจ้าพร้อมใจกันระลึกถึงพระนางมารีย์ผู้ทรงเป็นพรหมจารีย์เสมอ พระชนนีของพระเจ้า... ทั้งนี้ ขอพึ่งพระบารมีพระคริสตเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย อาแมน” “ข้าแต่พระเจ้า โปรดกรุณารับเครื่องบูชานี้ที่ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายร่วมกับข้ารับใช้ทั้งมวล... ทั้งนี้ ขอพึ่งพระบารมีพระคริสตเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย อาแมน” “โปรดเถิดพระเจ้าข้า โปรดประทานพร เห็นชอบ และรับรองของถวายเหล่านี้ โปรดบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พอพระทัย...”
    ต่อจากนั้นก็มาถึงการเล่าเรื่องการตั้งศีลมหาสนิท และถ้อยคำเสกศีลที่พระเยซูเจ้าตรัสในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย เป็นการแปลกนิดหน่อยที่ใน Roman Canon (แต่ไม่ใช่ในบทขอบพระคุณอื่นๆ) มีถ้อยคำที่ไม่ถูกบันทึกไว้ในพระวรสารฉบับใดเลยทั้งสี่ฉบับ The Roman Canon กล่าวว่า “พระองค์ทรงหยิบปังไว้ในพระหัตถ์ศักดิ์สิทธิ์ เงยพระพักตร์ขึ้นหาพระองค์...” ข้อความนี้ไม่พบในพระวรสารฉบับใดเลย
    แล้วข้อกำหนดจารีตพิธี (the rubric) จึงกำหนดให้พระสงฆ์กล่าวคำเสกศีลว่า “เพราะนี่เป็นกายของเรา” มีแต่คำเหล่านี้เท่านั้น ได้รับการเน้นว่าเป็นสูตรการเสกขนมปัง ธรรมประเพณีพิธีกรรมของทุกจารีตปฏิบัติตามการเล่าในพระวรสารของนักบุญลูกา และนักบุญเปาโลที่เน้นว่าข้อความทั้งหมดต้องกล่าวว่า “นี่เป็นกายของเราที่จะมอบเพื่อท่าน” และนี่เป็นถ้วยโลหิตของเรา... ซึ่งจะหลั่งออกเพื่ออภัยบาปสำหรับท่านและมนุษย์ทั้งหลาย...” บรรดาผู้มีความเชื่อก็จะเข้าใจว่าพระเยซูเจ้าทรงเชิญเราให้กินเนื้อและดื่มโลหิตของพระองค์เพื่อมีส่วนร่วมในการถวายบูชาของพระองค์บนไม้กางเขน
    ที่สำคัญมากกว่านั้นคือการนำข้อความว่า “พระธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ” (The Mystery of Faith) มาแทรกไว้ตรงกลางข้อความที่พระเยซูเจ้าตรัสเหนือถ้วยกาลิกส์ในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายว่า “นี่เป็นถ้วยโลหิตของเรา (โลหิต)แห่งพันธสัญญาใหม่อันยืนยง – พระธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ – (โลหิต)ซึ่งจะหลั่งออกสำหรับท่านและมนุษย์ทั้งหลาย” ไม่มีการกล่าวถึงข้อความนี้เลยทั้งในหนังสือฉบับใดของพันธสัญญาใหม่ หรือในบทขอบพระคุณในสมัยแรกๆ (รวมทั้งบทขอบพระคุณ หรือ Canon อื่นๆของจารีตโรมัน) ในด้านประวัติศาสตร์ จึงไม่แน่ว่าวลี “พระธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ” นี้ถูกนำมาแทรกใน Canon เมื่อใด และยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า ความหมายที่ถูกต้องคืออะไรกันแน่ หนังสือมิสซาฉบับใหม่ยังคงเก็บรักษาวลีนี้ไว้ แต่จัดไว้หลังการเสกศีล เป็นคำเชิญชวนประชาชนให้ประกาศยืนยันพระธรรมล้ำลึกปัสกา การสิ้นพระชนม์ การกลับคืนพระชนมชีพ และการเสด็จกลับมาในยุคสุดท้ายเมื่อสิ้นพิภพว่าเป็นสาระสำคัญของธรรมล้ำลึกในความเชื่อของเรา พระสงฆ์กล่าวเชิญประชาชนว่า “ให้เราประกาศพระธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ” และประชาชนตอบว่า “พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์ พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระคริสตเจ้าจะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง” หรือ “ข้าแต่พระเยซูเจ้า ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าทั้งหลายรับประทานปังและดื่มจากถ้วยนี้ ก็เป็นการประกาศว่าพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ ทั้งนี้ จนกว่าจะเสด็จกลับมาอีก” หรือ คำประกาศยืนยันความเชื่อที่มีข้อความคล้ายๆกัน ข้าพเจ้าเห็นว่า การจัดลำดับใหม่นี้ฉลาดเฉียบแหลมมาก เพราะเป็นการช่วยประชาชนให้เข้าใจและมีส่วนร่วมในพิธีกรรมได้เป็นอย่างดี
    จุดอ่อนอีกข้อหนึ่งใน Roman Canon ก็คือการไม่เน้นชัดเจนถึงบทบาทของพระจิตเจ้าในพิธีกรรมมิสซา บทบาทของ ‘epiclesis’ (บทภาวนาอัญเชิญพระจิตเจ้า) ในบทขอบพระคุณมีประวัติศาสตร์ยาวนานมาก บทขอบพระคุณอื่นในหนังสือมิสซาฉบับใหม่มีบท epiclesis สองบท บทหนึ่งสำหรับการเสกขนมปังและเหล้าองุ่นซึ่งมีความว่า “โปรดทรงพระกรุณาส่งพระจิตเจ้ามาบันดาลให้ปังและเหล้าองุ่นนี้ศักดิ์สิทธิ์ เปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูคริสตเจ้าสำหรับข้าพเจ้าทั้งหลาย” พระสงฆ์สวด epiclesis อีกบทหนึ่งก่อนที่ประชาชนจะรับศีลมหาสนิท ความว่า “โปรดให้พระจิตเจ้าทรงรวบรวมทุกคนที่รับพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าแล้วให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน”
    มีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งยังอาจเป็นที่ถกเถียงกันได้ ในมิสซาเราถวายบูชาไม่ใช่ของเรา แต่ถวายบูชาของพระเยซูเจ้า บูชานี้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้าตลอดเวลา ในบทขอบพระคุณ เราระลึกถึงและขอบพระคุณสำหรับพระราชกิจน่าพิศวงที่พระเจ้าทรงกระทำสำหรับพวกเราในประวัติศาสตร์ความรอดพ้น ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญน้อยกว่า เมื่อข้าพเจ้ายังเป็นเด็กช่วยมิสซาในหมู่บ้านของข้าพเจ้าที่ประเทศอิตาลี ข้าพเจ้าพบว่ามีเครื่องหมายกางเขนที่ (ดูเหมือนจะ) ไม่มีวันจบสิ้น ที่พระสงฆ์ทำเหนือแผ่นปังและถ้วยกาลิกส์อยู่อย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องน่าฉงนและน่าขำในเวลาเดียวกัน เครื่องหมายกางเขน 25 ครั้งที่พระสงฆ์เคยทำเหนือแผ่นปังและถ้วยกาลิกษ์ในช่วงเวลาสวดบท Canon (15 ครั้งหลังจากเสกศีลแล้ว) เวลานี้ถูกลดจำนวนลงเหลือเพียงครั้งเดียวก่อนการเสกศีล
    ข้าพเจ้าต้องการสรุปข้อสังเกตสั้นๆเหล่านี้เกี่ยวกับ The Roman Canon โดยยกข้อความจากหนังสือมิสซาฉบับใหม่ บรรยายถึงองค์ประกอบสำคัญในการเรียบเรียงบทขอบพระคุณดังต่อไปนี้ ซึ่งได้แก่ การขอบพระคุณซึ่งแสดงออกโดยเฉพาะใน “บทนำขอบพระคุณ” , การโห่ร้องถวายพระพร (เมื่อผู้มาชุมนุมทุกคนมาร่วมใจกับบรรดาทูตสวรรค์ขับร้องบท “ศักดิ์สิทธิ์”), บทอัญเชิญพระจิตเจ้า, การเล่าเรื่องการตั้งศีลมหาสนิทและเสกศีล, การระลึกถึง (ในพิธีนี้พระศาสนจักรปฏิบัติตามพระบัญชาที่ได้รับจากพระคริสตเจ้า), การถวาย (เมื่อระลึกถึงเหตุการณ์เหล่านี้ พระศาสนจักร โดยเฉพาะที่มาชุมนุมกันที่นี่และขณะนี้ ถวายเครื่องบูชานิรมลแด่พระบิดาในองค์พระจิตเจ้า พระศาสนจักรต้องการให้สัตบุรุษไม่เพียงแต่ถวายเครื่องบูชาเท่านั้น แต่ให้รู้จักถวายตนเป็นเครื่องบูชายิ่งวันยิ่งสมบูรณ์ขึ้น), บทภาวนาอ้อนวอน (เพื่อตนเองและเพื่อสมาชิกทุกคนทั้งที่ยังมีชีวิตและที่ล่วงลับไปแล้ว) บทยอพระเกียรติตอนปลาย (RM 79)
    พระศาสนจักรปฏิรูปพิธีกรรม แต่พิธีกรรมก็ปฏิรูปพระศาสนจักรด้วย พระสงฆ์ทุกองค์ที่ถวายมิสซาพร้อมกับประชาชนรู้ดีว่า มิสซามีอิทธิพลอย่างมากในการอบรมคริสตชนอย่างต่อเนื่อง ทุกๆสัปดาห์ แบบอย่างคำภาวนาของคริสตชนค่อยๆถูกปลูกฝังไว้ในจิตใจของประชาชนอย่างช้าๆ อยู่ตลอดเวลา ให้อธิษฐานภาวนาพร้อมกับพระเยซูเจ้า ในพระจิตเจ้า ต่อพระบิดาของพระองค์และพระบิดาของเรา
    - ในพิธีภาครับศีลมหาสนิทของ The Roman Canon หลังจากที่พระสงฆ์และประชาชนได้สวดหรือขับร้องบทข้าแต่พระบิดาแล้ว มีการเสริมบทเทิดพระเกียรติว่า “เหตุว่า พระอาณาจักร พระอานุภาพ และพระสิริรุ่งโรจน์เป็นของพระองค์ตลอดนิรันดร” ข้อความนี้ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางพระคัมภีร์จากต้นฉบับคัดลอกโบราณบางฉบับ เห็นได้ชัดว่าถูกเสริมเข้ามาเพราะเหตุผลด้านคริสตศาสนิกสัมพันธ์แสดงให้เห็นการเปิดกว้างของพิธีกรรมคาทอลิกโดยยินดีรับองค์ประกอบจากคริสตจักรอื่นๆด้วย ตราบใดที่องค์ประกอบเหล่านี้ ไม่ขัดกับสาระสำคัญของความเชื่อของเรา
    - องค์ประกอบใหม่อีกประการหนึ่งก็คือพิธีแสดงความเป็นมิตร (sign of peace) ต่อกัน (ซึ่งจะทำหรือไม่ทำก็ได้) พิธีนี้เป็นพิธีคืนดีหรือการจุมพิตแห่งสันติที่โบราณมาก เป็นเครื่องหมายการคืนดีในหมู่ผู้จะรับศีลมหาสนิท นับเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเตรียมตัวรับศีลมหาสนิท พิธีนี้ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่สำหรับผู้มีความเชื่อทุกคน และไม่ถูกจำกัดอยู่สำหรับคณะสงฆ์ในมิสซาใหญ่เท่านั้นอย่างที่เคยปฏิบัติกันในมิสซาของสภาสังคายนาเมืองเตร็นท์ บัดนี้ สัตบุรุษก็อาจรับศีลมหาสนิทภายใต้รูปปรากฏทั้งสองได้ และฆราวาสก็อาจทำหน้าที่เป็นศาสนบริกรแจกศีลมหาสนิทได้ด้วย
    - ในมิสซาของสภาสังคายนาเมืองเตร็นท์ พระสงฆ์แจกศีลมหาสนิทโดยใช้แผ่นศีลทำเครื่องหมายกางเขนเหนือผู้รับศีลแต่ละคน พูดว่า “ขอให้พระกายของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงรักษาวิญญาณของท่านสำหรับชีวิตนิรันดร อาแมน” ในมิสซาใหม่ พระสงฆ์หรือศาสนบริกรศีลมหาสนิท ถือแผ่นศีลหรือถ้วยกาลิกษ์ต่อหน้าผู้รับศีล กล่าวว่า “พระกายพระคริสตเจ้า” “พระโลหิตพระคริสตเจ้า” และผู้รับศีลฯตอบเป็นแสดงความเชื่อว่า “อาแมน”
    - จารีตภาคปิดพิธีก็ถูกทำให้เรียบง่ายขึ้นด้วย ในมิสซาของสภาสังคายนาเมืองเตร็นท์ หลังจากที่พระสงฆ์กล่าวคำอำลาประชาชนแล้ว (ite, Missa est หรือ “มิสซาจบแล้ว จงไปในสันติเถิด”) ท่านยังกล่าวบทภาวนาส่วนตัวเงียบๆ แล้วจึงอวยพรประชาชน ต่อจากนั้น (โดยปกติ) ยังอ่านพระวรสารของยอห์น และสวดบทภาวนาอื่นๆที่เชิงพระแท่นอีกก่อนจะจากไป
    ในมิสซาใหม่ จารีตปิดพิธีถูกทำให้เรียบง่ายขึ้น พระสงฆ์อวยพรประชาชนแล้วจึงส่งเขากลับไปถวายมิสซาของตนต่อไปในชีวิตประจำวัน
    - ข้าพเจ้าได้กล่าวทบทวนอย่างเร็วๆ ถึงการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆที่สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 นำเข้ามาในมิสซาของสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ บัดนี้ให้เราพิจารณาดูการปฏิรูปศีลศักดิ์สิทธิ์และสิ่งคล้ายศีล (Sacramentals) อื่นๆ
    สภาสังคายนาฯย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า มาตรการที่สภาสังคายนาฯใช้เพื่อตรวจตราแก้ไขพิธีกรรมของศีลศักดิ์สิทธิ์และสิ่งคล้ายศีลก็คือ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างแข็งขันเต็มที่
    ก่อนอื่น สภาสังคายนาฯให้คำอธิบายทางเทววิทยาสั้นๆ ถึงจุดประสงค์และธรรมชาติของศีลศักดิ์สิทธิ์ แล้วจึงตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีปฏิรูปศีลศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นเพื่อช่วยให้ประชาชน “เข้าใจเครื่องหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นได้โดยง่าย”
    “ศีลศักดิ์สิทธิ์มีไว้เพื่อบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่มนุษย์ เพื่อเสริมสร้างพระกายของพระคริสตเจ้าและเพื่อถวายคารวกิจแด่พระเจ้า ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายยังมีจุดประสงค์เพื่อให้การสั่งสอนอบรมด้วย ผู้รับศีลต้องมีความเชื่ออยู่ก่อนแล้ว แต่ถ้อยคำและจารีตพิธีของศีลศักดิ์สิทธิ์ก็ยังหล่อเลี้ยง เสริมพลังและแสดงความเชื่อให้ปรากฏด้วย เพราะเหตุนี้ ศีลศักดิ์สิทธิ์จึงได้ชื่อว่า “ศีลแห่งความเชื่อ” ศีลศักดิ์สิทธิ์ประทานพระหรรษทานก็จริง แต่การประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ยังจัดเตรียมสัตบุรุษอย่างดีให้รับพระหรรษทานอย่างมีประสิทธิผล เพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้าอย่างเหมาะสม และปฏิบัติความรัก ดังนั้นจึงสำคัญอย่างยิ่งยวดที่สัตบุรุษจะต้องเข้าใจเครื่องหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์โดยง่าย และเอาใจใส่ไปรับศีลศักดิ์สิทธิ์บ่อยๆ เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์ตั้งขึ้นไว้ก็เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตคริสตชน” (SC 59)
    “ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รายละเอียดบางประการของพิธีได้แทรกเข้าไปในการประกอบศีลศักดิ์สิทธิ์และสิ่งคล้ายศีล ทำให้คนในสมัยนี้เข้าใจลักษณะและจุดหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์และสิ่งคล้ายศีลได้น้อยลง จึงจำเป็นต้องปรับปรุงบางสิ่งบางอย่างให้เหมาะสมกับสภาพในสมัยของเรา สภาสังคายนาจึงกำหนดให้ปรับปรุงแก้ไขพิธีต่างๆดังต่อไปนี้” (SC 62)
    “ให้รื้อฟื้นกระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน ซึ่งแบ่งเป็นหลายขั้นตอน และจะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของสมณะประมุขท้องถิ่น...” (SC 64)
    “ให้ปรับปรุงแก้ไขจารีตพิธีสำหรับศีลล้างบาปเด็กทารก ให้สอดคล้องกับสภาพจริงของเด็กอ่อน นอกจากนั้น บทบาทและหน้าที่ของบิดามารดาและพ่อแม่อุปถัมภ์ จะต้องปรากฏชัดในจารีตพิธีด้วย” (SC 67)
    “ให้ปรับปรุงแก้ไขจารีตพิธีศีลกำลังด้วย เพื่อแสดงให้เห็นขัดยิ่งขึ้นว่า ศีลศักดิ์สิทธิ์นี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน” (SC 71)
    “ให้ปรับปรุงแก้ไขจารีตพิธีและสูตรของศีลอภัยบาป เพื่อแสดงลักษณะและผลของศีลนี้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น” (SC 72)
    “ศีลทาสุดท้าย” หรือที่ถูกกว่านั้น ควรเรียกว่า “ศีลเจิมคนไข้” ไม่เป็นเพียงศีลสำหรับผู้ที่ใกล้จะตายเท่านั้น ดังนั้น เวลาเหมาะที่จะรับศีลนี้จึงเริ่มตั้งแต่สัตบุรุษอยู่ในอันตรายจะตายเพราะความเจ็บป่วยหรือเพราะวัยชรา” (SC 73)
    “ให้ปรับปรุงแก้ไขพิธีศีลบวชขั้นต่างๆ ทั้งจารีตพิธีและตัวบทที่ใช้” (SC 76)
    “ให้ปรับปรุงแก้ไขพิธีศีลสมรสซึ่งมีอยู่ในหนังสือจารีตพิธีโรมัน และทำให้สมบูรณ์ เพื่อแสดงให้เห็นพระหรรษทานของศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเน้นถึงหน้าที่ของคู่บ่าวสาว” (SC 77)
    “ให้ปรับปรุงแก้ไขสิ่งคล้ายศีล โดยคำนึงถึงหลักการพื้นฐานให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมโดยรู้ตัวแข็งขันและเข้าใจง่าย จะเพิ่มสิ่งคล้ายศีลใหม่ขึ้นอีกก็ได้ถ้าจำเป็น” (SC 79)
    “ให้ปรับปรุงแก้ไขจารีตพิธีถวายตนของหญิงพรหมจารีตามที่มีอยู่แล้วในหนังสือจารีตพิธีโรมันของพระสังฆราช...” (SC 80)
    “จารีตพิธีปลงศพ จะต้องแสดงให้เห็นลักษณะธรรมล้ำลึกปัสกาของความตายแบบคริสตชนอย่างเด่นชัดยิ่งขึ้น และจะต้องสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและประเพณีของแต่ละท้องถิ่นยิ่งขึ้น แม้ในการใช้สีของอาภรณ์ในพิธีกรรมด้วย” (SC 81)
    มติของสภาสังคายนาฯถูกนำมาปฏิบัติและหนังสือพิธีกรรมฉบับใหม่ก็ได้รับการรับรองและประกาศใช้โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 เราอาจกล่าวได้อย่างมั่นใจว่าการปฏิรูปที่สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 เกี่ยวกับพิธีกรรมตามแบบสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ทุกๆด้าน คือ มิสซา ศีลศักดิ์สิทธิ์ สิ่งคล้ายศีล (sacramentals) และหนังสือทำวัตร บรรดาผู้มีความเชื่อส่วนใหญ่ยินดีรับการปฏิรูปนี้ และจากมุมมองด้านอภิบาล พิธีกรรมแบบใหม่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมพิธีกรรม ได้รับความศักดิ์สิทธิ์จากพิธีกรรม และใช้พิธีกรรมถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าได้เป็นอย่างดี ทุกคนที่มีบทบาทในงานอบรมประชาชนในด้านพิธีกรรม ซึ่งเป็นงานที่เรียกร้องความรับผิดชอบอย่างมากนี้ทราบดีว่าเราได้รับพระพรอย่างมากมาย เราอาจถามว่า “งานปฏิรูปนี้รุนแรงเกินไปหรือเปล่า?” “นี่ไม่ใช่การแยกตัวจากธรรมประเพณีที่เคยปฏิบัติมาโดยสิ้นเชิงหรือ?” โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้ามิได้เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นเลย ข้าพเจ้ารู้สึกเช่นนั้นทุกครั้งที่กำลังประกอบพิธีพร้อมกับประชาชน ข้าพเจ้ามีความรู้สึกมั่นใจว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่ในหมู่เรา พวกเรามีความสัมพันธ์กับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทุกองค์นับตั้งแต่สมัยของบรรดาอัครสาวกจนถึงสมัยของเราในวันนี้... เราอธิษฐานภาวนาและประกอบกิจการในธรรมประเพณีของพระศาสนจักรหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์ สากล และสืบเนื่องจากอัครสาวก ซึ่งแสดงตนเป็นปัจจุบันในแต่ละชุมชนเล็กๆที่มาชุมนุมกัน ถึงกระนั้น ถ้าบ่างคนย้ำว่า การปฏิรูปพิธีกรรมของวาติกันที่ 2 เป็นการถอนรากถอนโคนเกินไปและแยกตัวออกไปจากธรรมประเพณี ก็ขอให้เขามีความจริงใจอย่าไปซ่อนตัวอยู่หลัง “การทดลองอย่างยุ่งเหยิงที่ถูกทำขึ้นโดยบรรดาพระสงฆ์ที่สับสน” ให้เราเผชิญหน้ากับผู้ผิดจริงๆ... วาติกันที่ 2 และสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ซึ่งทรงเป็นผู้นำการประชุมนี้ ข้าพเจ้าไม่อยากจะกล่าวซ้ำข้อความที่ถูกใช้มามากเกินไปแล้วว่า “วาติกันที่ 2 ก็ดีอยู่หรอก แต่...” ข้าพเจ้าอยากจะเห็นในการปฏิรูปพิธีกรรมโดยวาติกันที่ 2 เหมือนกับที่บรรดาพระสังฆราชที่เข้าประชุมได้เห็น นั่นคือ “เป็นการถูกต้องที่จะถือว่า ความกระตือรือร้นในการส่งเสริมและฟื้นฟูพิธีกรรมเป็นเสมือนเครื่องหมายแสดงว่า พระเจ้าทรงพระทัยเอื้ออาทรต่อสมัยของเรา และเป็นเสมือนว่าพระจิตเจ้าทรงทำงานในพระศาสนจักร ความกระตือรือร้นนี้ประทับตราคุณลักษณะเฉพาะแก่ชีวิตพระศาสนจักร แก่วิธีคิดและปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาในสมัยปัจจุบันด้วย” (SC 43)

รำพึงพระวาจาประจำวัน

วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลปัสกา พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 6:52-59) เวลานั้น ชาวยิวจึงเถียงกันว่า “คนนี้เอาเนื้อของตนให้เรากินได้อย่างไร” พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านไม่กินเนื้อของบุตรแห่งมนุษย์ และไม่ดื่มโลหิตของเขา ท่านจะไม่มีชีวิตในตนเอง...
วันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลปัสกา พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 6:44-51) เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ไม่มีใครมาหาเราได้ นอกจากพระบิดาผู้ทรงส่งเรามาจะทรงชักนำเขา และเราจะทำให้เขากลับคืนชีพในวันสุดท้าย มีเขียนไว้ในหนังสือของบรรดาประกาศกว่า ทุกคนจะได้รับคำสอนจากพระเจ้า ทุกคนที่ได้ฟังพระบิดา...
วันพุธ สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลปัสกา พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 6:35-40) เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “เราเป็นปังแห่งชีวิต ผู้ที่มาหาเราจะไม่หิว และผู้ที่เชื่อในเราจะไม่กระหายอีกเลย เราบอกท่านทั้งหลายแล้วว่า ท่านเห็นเราแล้ว แต่ไม่เชื่อ...

Don't be afraid

E-Book แผนกคริสตศาสนธรรม อัคสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

สื่อการสอน เกมคำสอน เกมพระคัมภีร์ ออนไลน์

สื่อการสอน คุณค่าพระวรสาร 21 ประการ
สื่อการสอน คุณค่าพระวรสาร 21 ประการ
คุณค่าพระวรสาร 21 ประการ สำหรับอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิก คุณค่าพระวรสาร คือ คุณค่าที่พระเยซูเจ้าสั่งสอน และเจริญชีวิตเป็นแบบอย่างแก่บรรดาสานุศิษย์และประชาชน...
สื่อการเรียนการสอน เรื่อง อุปมาของพระเยซูเจ้า
สื่อการเรียนการสอน เรื่อง อุปมาของพระเยซูเจ้า
อุปมาเป็นเรื่องราวสั้นๆ ชวนคิด ที่พระเยซูเจ้าทรงเล่าให้ประชาชนฟัง เพื่อสอนพวกเขาเกี่ยวกับพระเจ้าและหนทางไปสวรรค์
สื่อการเรียนการสอน เรื่อง "คำสอนของพระเยซูเจ้า"
สื่อการเรียนการสอน เรื่อง
แผนภูมิความรู้ ความสอนของพระเยซูเจ้า ความเชื่อและการรับศีลล้างบาป ความสุขแท้จริง การเป็นแบบอย่างที่ดี การรักศัตรู การภาวนา ความไว้วางใจในพระเจ้า...
5 ขั้นตอนของการรับศีลอภัยบาป V. 2023
5 ขั้นตอนของการรับศีลอภัยบาป V. 2023
ดาวน์โหลดแผ่นพับ 5 ขั้นตอนของการรับศีลอภัยบาป .pdf

คำสอนสำหรับเยาวชน YOUCAT

219. คริสตชนคาทอลิกต้องไปร่วมพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณบ่อยครั้งเพียงใด คริสตชนคาทอลิกมีพันธะผูกพันให้เข้าร่วมพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณทุกวันอาทิตย์ และวันฉลองบังคับ ผู้ใดที่แสวงหามิตรภาพกับพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริง จะตอบรับการเชิญมาสู่งานเลี้ยงของพระเยซูเจ้าบ่อยที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ (1389, 1417) ความจริงแล้วสำหรับคริสตชนแท้ “หน้าที่ในวันอาทิตย์” ไม่สมควรเป็นแค่การแสดงออกถึงภาระผูกพันเป็นดัง “การจุมพิตหน้าที่”...
218. วิธีที่ถูกต้องในการถวายเกียรติแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าที่ทรงประทับอยู่ในแผ่นปังและเหล้าองุ่นคืออะไร เพราะพระเจ้าทรงประทับอยู่อย่างแท้จริงในรูปของปังและเหล้าองุ่นที่ได้การเสก เราต้องเก็บของถวายศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วยความเคารพบูชาอย่างสูงสุด และกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ไถ่กู้ของเราในศีลมหาสนิท (1378 -1381 ,1418) ถ้ามีแผ่นปังที่ได้รับการเสกเหลืออยู่จากพิธีมิสซาขอบพระคุณ ต้องเก็บรักษาไว้ในภาชนะศักดิ์สิทธิ์ในตู้ศีล เมื่อศีลมหาสนิทประทับอยู่ในตู้ศีล ตู้ศีลจึงเป็นสถานที่ที่เคารพที่สุดของวัด...
216. พระคริสตเจ้าทรงประทับอยู่ในพิธีมิสซาขอบพระคุณในวิธีใด พระคริสตเจ้าทรงเป็นพรธรรมล้ำลึกอย่างยิ่ง แต่ทรงประทับอยู่อย่างแท้จริงในศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งศีลมหาสนิท เนื่องจากพระศาสนจักรปฏิบัติตามคำสั่งของพระเยซูเจ้าที่ว่า “จงทำการนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด” (1 คร 11:24) การบิปังและการหยิบยื่นถ้วยกาลิกษ์ที่กระทำในทุกวันนี้ เป็นสิ่งเดียวที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น เป็นพระคริสตเจ้าอย่างแท้จริงที่ทรงมอบพระองค์เองแก่เรา...

กิจกรรมพระคัมภีร์

เดินตามกฎ
เดินตามกฎ
เดินตามกฎ เรื่อง กฎต่างๆ พระคัมภีร์ โยชูวา 1:7-8 ภาพรวม เด็กๆ ปฏิบัติตามกฎต่างๆ ในเกม และเรียนรู้ถึงคุณค่าของการปฏิบัติตามกฎต่างๆ ในชีวิต อุปกรณ์ ปากกาเส้นใหญ่สีดำ เทปแถบกาว และกระดาษสีแดง 5 แผ่น สีเขียว 10 แผ่น วาดเครื่องหมายหยุดไว้บนกระดาษสีแดงแต่ละแผ่น และวาดลูกศรลงบนกระดาษสีเขียวแต่ละแผ่น ประสบการณ์ ให้เด็กๆ...
ดูซิ เห็นไหม
ดูซิ เห็นไหม
ดูซิ เห็นไหม เรื่อง ยืนยันต่อผู้อื่น พระคัมภีร์ สุภาษิต 16:24 ภาพรวม เด็กๆ พบสิ่งดีในผู้อื่นจากการเรียนรู้จักสิ่งดีในตนเอง อุปกรณ์ ทอฟฟี่ ดินสอ การ์ด 3 x 5 นิ้ว (2 เท่าของจำนวนเด็ก) ประสบการณ์ บอกเด็กๆ ว่าเรากำลังมองหาความดีในผู้อื่น ครูแจกดินสอและกระดาษการ์ด 3...

ประมวลภาพกิจกรรม

พิธีเอฟฟาธา ฟื้นผู้จิตใจผู้เตรียมเป็นคริสตชน ปี 2024
พิธีเอฟฟาธา ฟื้นผู้จิตใจผู้เตรียมเป็นคริสตชน ปี 2024
🙏 "เอฟฟาธา แปลว่า จงเปิดเถิด" 🙏 วันเสาร์ที่ 8 เมษายน ค.ศ. 2023 แผนกคริสตศาสนธรรมอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้จัด "พิธีเอฟฟาธา" และฟื้นฟูจิตใจผู้เตรียมเป็นคริสตชน ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก และห้องประชุมชั้นใต้ดิน (สำนักมิสซัง) ในกฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย...
ค่ายคำสอนลูกแม่พระ ปี 2024
ค่ายคำสอนลูกแม่พระ ปี 2024
🎊 “ท่องโลกพระคัมภีร์”🎊 วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2024 ทีมคำสอนสัญจรได้ไปกิจกรรมพิเศษของค่ายคำสอนลูกแม่พระ ให้กับเด็กนักเรียนคำสอน วัดแม่พระฟาติมาดินแดง กว่า 50 คน ในหัวข้อ “ท่องโลกพระคัมภีร์” วันนี้ เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของพระคัมภีร์ตั้งแต่พันธสัญญาเดิมเรื่อยมาจนถึงพันธสัญญาใหม่ ผ่านทางวีดีโอ ควบคู่ไปกับการเติมคำในช่องว่าง และยังได้ทำกิจกรรมเพื่อช่วยให้จดจำชื่อหนังสือพระคัมภีร์ได้มากขึ้น...

สวดสายประคำ

สายประคำทำให้ความเชื่อเข้มแข็งขึ้น
สายประคำทำให้ความเชื่อเข้มแข็งขึ้น ตลอดประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรคาทอลิก พระสันตะปาปาและนักบุญจํานวนมากสนับสนุนให้สวดสายประคํา เมื่อเราเริ่มเข้าใจและซาบซึ้งในสายประคําและสวดบ่อยขึ้น เราจะเห็นความหมายที่แท้จริงของการรําพึงภาวนา เราเริ่มเห็นคุณค่าว่าคําภาวนานั้นไม่เพียงแต่ถึงพระนางมารีย์...
ทำไมชาวคาทอลิกจึงสวดสายประคำ
ทำไมชาวคาทอลิกจึงสวดสายประคำ (The Rosary)การสวดบทภาวนาเดียวกันซ้ำหลายๆ ครั้ง เป็นวิธีปฏิบัติในบางศาสนา เพราะคิดว่าการสวดภาวนาซ้ำไปซ้ำมาจะได้ผลดีกว่า...

ช่วงเวลาสั้นๆ กับพระเจ้า

วงล้อ
พระเจ้าตรัสอะไรกับท่านในวันนี้ พระ​วาจา​ของ​พระองค์​เป็น​โคม​ส่อง​ทาง​ของ​ข้าพ​เจ้า เป็น​แสง​สว่าง​ส่อง​ทางเดิน​ให้​ข้าพ​เจ้า (สดด 119:105) ภาวนาวอนขอความสว่างจากพระองค์ แล้วหมุนวงล้อ...
วงล้อ พระวาจาหนุนใจในเหตุการณ์ต่างๆ ของชีวิต
ในชีวิตประจำวัน เราจะพบความเศร้า ความกลัว ปัญหา ความทุกข์ยาก ความไม่สบายใจ ความรู้สึกผิด ความหดหู่ ถูกทดลอง เจ็บป่วย...

คำถามที่เด็กๆ อยากรู้เกี่ยวกับพระเจ้า

Messiah
พระเมสสิยาห์ คำว่า พระเมสสิยาห์ เป็นภาษาฮีบรูที่ใช้เรียกพระคริสต์ ซึ่งเปลว่า...
Redeemer
พระผู้ไถ่ เป็นพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า ที่หมายถึงว่า พระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อไถ่เราให้รอดพ้นจากบาป
tomb
อุโมงค์ฝังศพ คือสถานที่ใช้ฝังศพผู้ตาย อุโมงค์ฝังพระศพของพระเยซูเจ้านั้นมีลักษณะเป็นโพรงหิน

ประวัตินักบุญ

25 เมษายน ฉลองนักบุญมาระโก ผู้นิพนธ์พระวรสาร
25 เมษายน ฉลองนักบุญมาระโก ผู้นิพนธ์พระวรสาร (St. Mark, Evangelist, feast) มีความเห็นพ้องต้องกันโดยทั่วไปว่า ชื่อของ มาระโก ที่มีกล่าวไว้ในหนังสือกิจการอัครสาวก...
25 มีนาคม สมโภชการแจ้งสารเรื่องพระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์
วันที่ 25 มีนาคม สมโภชการแจ้งสารเรื่องพระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์ ( The Annunciation of the Lord, solemnity )...
19 มีนาคม  สมโภชนักบุญโยเซฟ ภัสดาของพระนางมารีย์พรหมจารี
วันที่ 19 มีนาคม สมโภชนักบุญโยเซฟ ภัสดาของพระนางมารีย์พรหมจารี (St. Joseph, Spouse of the Blessed Virgin...
17 มีนาคม  ระลึกถึงนักบุญปาตริก พระสังฆราช  (St. Patrick, Bishop, memorial)
วันที่ 17 มีนาคม ระลึกถึงนักบุญปาตริก พระสังฆราช (St. Patrick, Bishop, memorial) นักบุญปาตริกเป็นนักบุญยิ่งใหญ่และเป็นองค์อุปถัมภ์ของประเทศไอร์แลนด์ ท่านเป็นบุตรชายของ Calpurnius...

CCBKK Channel

youtube1

Kamson TikTok

tiktok

Facebook CCBKK

วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ

St.Joseph 2021

คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก

ccc thai web

บทอ่านและบทมิสซา

ordomissae

พระคัมภีร์คาทอลิก

WOPTMR80W7YC0H90QTK7LZC1E1L2WM

บทเพลงศักดิ์สิทธิ์

angels-5b

วิชาคริสต์ศาสนา + จริยศึกษา

poster 2023 moral re

------------------------------------------

poster 2023 christianity re

สถิติเยี่ยมชม (22-2-2012)

วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
ทั้งหมด
7336
13335
50979
163497
306218
35907219
Your IP: 18.119.126.80
2024-04-19 09:23

สถานะการเยี่ยมชม

มี 586 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์