แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

สมัชชาพระสังฆราชเรื่องพระวาจาของพระเจ้า


4.    ในสมัชชาครั้งที่ 12 นี้ บรรดาผู้อภิบาลจากทั่วโลกมาชุมนุมกันเพราะพระวาจาของพระเจ้า และจัดวางหนังสือพระคัมภีร์ไว้กลางที่ประชุมเพื่อเป็นสัญลักษณ์ จะได้ค้นพบอีกครั้งหนึ่งถึงอันตรายในชีวิตประจำวันหากลืมระลึกว่า “พระเจ้าตรัสกับเราและตอบคำถามของเรา”  พวกเราได้ร่วมกันฟังและเฉลิมฉลองพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้า แต่ละคนได้เล่าให้เพื่อนๆรู้ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงทำอะไรบ้างในประชากรของพระเจ้า และได้แบ่งปันความหวังและความสาละวนแก่กัน ทุกสิ่งเหล่านี้ทำให้เราตระหนักว่าเราจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระวาจาของพระเจ้าได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นก็ต่อเมื่อ “พวกเราทุกคน” ในพระศาสนจักรจะพิจารณาตนเองได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเมื่อเรารับฟังและยอมรับกันและกัน ข้าพเจ้าจึงรู้สึกขอบคุณในการเป็นพยานถึงชีวิตของพระศาสนจักรในที่ต่างๆทั่วโลกเป็นภาษาหลากหลายในห้องประชุมนี้ ข้าพเจ้ายังรู้สึกประทับใจที่ได้ฟังบรรดาพี่น้องผู้แทนที่ยินดีรับเชิญมาร่วมประชุมสมัชชาครั้งนี้ ข้าพเจ้าคิดเป็นพิเศษถึงข้อคิดเสนอแนะของพระอัยกาสากลแห่งกรุงคอนสแตนติโนเปิล บาร์โธโลมิวที่ 1 และบรรดาพระสังฆราชแห่งสมัชชานี้ก็รู้สึกเป็นพระคุณอย่างยิ่ง  นอกจากนั้นสมัชชาพระสังฆราชยังได้เชิญรับบีชาวยิวมาร่วมประชุม เพื่อจะได้เป็นพยานยืนยันถึงพระคัมภีร์ของชาวฮีบรูซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ของเราด้วย
    ดังนี้เราจึงรู้สึกยินดีและขอบคุณได้ “ที่ในพระศาสนจักรปัจจุบันนี้ยังมีวันเปนเตก๊อสเต – คือวันที่พระศาสนจักรพูดภาษาต่างๆ ไม่เพียงแต่ภายนอก เพราะมีภาษาสำคัญทุกภาษาอยู่ในพระศาสนจักร แต่ในความหมายลึกซึ้งกว่านั้น คือภาพลักษณ์และประสบการณ์ต่างๆเกี่ยวกับโลกและพระเจ้ายังเป็นความร่ำรวยของวัฒนธรรมต่างๆที่มีอยู่ในพระศาสนจักรอีกด้วย โดยวิธีนี้ ประสบการณ์ของมนุษย์เปิดกว้างขึ้น และพระวาจาของพระเจ้าก็เปิดกว้างขึ้นด้วย”  เรายังมีประสบการณ์วันเปนเตก๊อสเตที่กำลังดำเนินต่อไปได้อีก คือประชากรหลายชาติยังรอคอยให้พระวาจาของพระเจ้าได้รับการประกาศเป็นภาษาและวัฒนธรรมของตน
    ข้าพเจ้าไม่อาจละเว้นได้ที่จะกล่าวตลอดช่วงเวลาของสมัชชานี้ ถึงคำยืนยันของนักบุญเปาโลอัครสาวก พระเจ้าทรงจัดให้สมัชชาพระสังฆราชครั้งที่ 12 นี้มีขึ้นในปีที่ถวายเป็นเกียรติแด่ท่านอัครสาวกของนานาชาติ ปีที่สองพันแห่งการฉลองวันเกิดของท่าน ท่านได้มอบตนทั้งชีวิตเพื่อเผยแผ่พระวาจาของพระเจ้า แล้วเราจะไม่รู้สึกกระตือรือร้นในใจละหรือ เมื่อได้ยินถ้อยคำที่ท่านกล่าวถึงการประกาศพระวาจาของพระเจ้าว่า   “ข้าพเจ้าทำทุกอย่างเพราะเห็นแก่ข่าวดี” (1 คร 9:23) ท่านยังเขียนไว้ในจดหมายถึงชาวโรมอีกว่า “ข้าพเจ้าไม่ละอายต่อข่าวดี เพราะนี่คืออานุภาพของพระเจ้าซึ่งนำความรอดพ้นให้แก่ทุกคนที่มีความเชื่อ” (1:16) เมื่อเราคิดถึงพระวาจาของพระเจ้าในชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักร เราก็จำเป็นต้องคิดถึงท่านนักบุญเปาโลและชีวิตที่ท่านได้อุทิศ เพื่อประกาศให้ประชากรทุกชาติรับรู้ว่าพระคริสตเจ้าทรงนำความรอดพ้นมาให้มวลมนุษย์