แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระวาจาของพระเจ้าละม้ายคล้ายกับคำพูดของมนุษย์


7.    บัดนี้ เราจำเป็นจะต้องพิจารณาวิธีการต่างๆที่บรรดาพระสังฆราชแห่งสมัชชาใช้กล่าวถึง “พระวาจาของพระเจ้า” จากการคิดคำนึงที่เกิดจากการรำพึงไตร่ตรองธรรมล้ำลึกของคริสตศาสนาตามที่ปรากฏอยู่ในอารัมภบทของพระวรสารนักบุญยอห์น ถูกต้องแล้วที่ท่านเหล่านั้นกล่าวว่าพระวาจาของพระเจ้าเป็นเหมือน “การบรรเลงดนตรีวงใหญ่” หรือ “symphony” พระวาจาเพียงคำเดียวแสดงความหมายได้หลากหลาย เป็นเหมือน “บทเพลงประสานเสียง”  บรรดาพระสังฆราชแห่งสมัชชากล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เราใช้ภาษามนุษย์กล่าวถึงพระวาจาของพระเจ้าในแบบอุปมาน ข้อความนี้เมื่อใช้หมายถึงการที่พระเจ้าทรงสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์เองแก่มนุษย์ จึงมีความหมายหลากหลายที่เราจะต้องพิจารณาให้เห็นชัดเจน ไม่ว่าในมุมมองการค้นคว้าทางเทววิทยา หรือในความหมายเกี่ยวกับงานอภิบาล อารัมภบทของพระวรสารนักบุญยอห์นเองก็แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า พระวจนาตถ์ ก่อนอื่นหมดหมายถึงพระวาจานิรันดร นั่นคือพระบุตรพระองค์เดียวที่ทรงบังเกิดจากพระบิดาตั้งแต่นิรันดร และทรงพระธรรมชาติเดียวกันกับพระบิดา พระวจนาตถ์ประทับอยู่กับพระเจ้าและพระวจนาตถ์ทรงเป็นพระเจ้า ยอห์นยังกล่าวอีกว่าพระวจนาตถ์องค์นี้ “ทรงรับธรรมชาติมนุษย์” (ยน 1:14) เพราะฉะนั้นพระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงบังเกิดจากพระนางมารีย์พรหมจารี จึงทรงเป็นพระวาจาของพระเจ้าโดยแท้จริงที่ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ร่วมกับพวกเรา ดังนั้น วลี “พระวาจาของพระเจ้า” ที่ตรงนี้จึงหมายถึงพระบุคคลของพระคริสตเจ้าที่ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ พระองค์คือพระบุตรแต่นิรันดรของพระบิดา
    นอกจากนั้น ถ้าเหตุการณ์ของพระคริสตเจ้าเป็นหัวใจของการที่พระเจ้าทรงเปิดเผยความจริง เราก็จำเป็นต้องยอมรับด้วยว่าการเนรมิตสร้างซึ่งเป็นเสมือน หนังสือของธรรมชาติ (naturae librum) ก็เป็นส่วนสำคัญในการสื่อเสียงประสานมากมาย ที่ร่วมแสดงพระวาจาหนึ่งเดียวนี้ออกมาด้วย พวกเรายังประกาศด้วยว่าพระเจ้าทรงสื่อพระวาจาในประวัติศาสตร์ความรอดพ้น ทรงทำให้มนุษย์ได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ ซึ่งทรงใช้พระอานุภาพของพระจิตเจ้า “ตรัสทางบรรดาประกาศก”  ดังนั้นพระวาจาของพระเจ้าจึงแสดงออกตลอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ความรอดพ้น และแสดงออกอย่างสมบูรณ์ในพระธรรมล้ำลึกที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรับธรรมชาติมนุษย์ สิ้นพระชนม์ และทรงกลับคืนพระชนมชีพ นอกจากนั้น พระวาจาของพระเจ้าก็คือพระวาจาที่บรรดาอัครสาวกประกาศสอน ตามพระบัญชาของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ: “ท่านทั้งหลายจงออกไปทั่วโลกประกาศข่าวดีแก่มนุษย์ทั้งปวง” (มก 16:15) ดังนี้พระวาจาของพระเจ้าจึงถ่ายทอดสืบต่อมาในธรรมประเพณีของพระศาสนจักรจนถึงปัจจุบัน ในที่สุด พระวาจาของพระเจ้าที่มีพยานยืนยันและได้รับการดลใจจากพระเจ้าก็คือพระคัมภีร์ ทั้งพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่     ทุกสิ่งเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจว่าทำไมในพระศาสนจักรพระคัมภีร์จึงได้รับความเคารพอย่างมาก กระนั้นก็ดี ความเชื่อในพระคริสตเจ้าก็ไม่เป็นเพียง “ศาสนาตามหนังสือ” แต่คริสตศาสนาคือ “ศาสนาตามพระวาจาของพระเจ้า” ไม่ใช่ศาสนาตามถ้อยคำที่เขียนไว้และพูดไม่ได้ แต่เป็นศาสนาของ “พระวจนาตถ์” (พระวาจา) ที่ทรงรับธรรมชาติมนุษย์และทรงชีวิต  เพราะฉะนั้น เราจึงต้องประกาศ ฟัง อ่าน และรับพระคัมภีร์ประหนึ่งว่าเป็นพระวาจาของพระเจ้า ตามธรรมประเพณีที่สืบต่อมาจากบรรดาอัครสาวก และพระคัมภีร์จะแยกจากธรรมประเพณีนี้ไม่ได้
    ดังที่บรรดาพระสังฆราชแห่งสมัชชากล่าวไว้ วลี “พระวาจาของพระเจ้า” มีความหมายเข้าใจได้หลายแบบ เราจึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ บรรดาผู้มีความเชื่อจึงต้องได้รับความช่วยเหลือให้เข้าใจว่าวลีนี้มีความหมายหลายแบบ และเข้าใจเอกภาพของความหมายเหล่านี้ด้วย ในมุมมองด้านเทววิทยายังจำเป็นต้องค้นคว้าให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงเหตุผลของความหมายต่างๆเหล่านี้ ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นว่าแผนการของพระเจ้ามีเอกภาพ และพระบุคคลของพระคริสตเจ้ามีความสำคัญเป็นพิเศษ