แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

เอกภาพภายในของพระคัมภีร์


39.    ในข้อความตอนที่กล่าวถึงการก้าวข้ามจากตัวอักษรไปหาจิตวิญญาณ เรายังเรียนรู้จากธรรมประเพณีของพระศาสนจักรถึงเอกภาพของพระคัมภีร์ทั้งหมดอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพราะพระวาจาของพระเจ้าที่ท้าทายชีวิต และเรียกเราให้กลับใจอยู่ตลอดเวลานั้นมีเพียงหนึ่งเดียว  ถ้อยคำต่อไปนี้ของฮูโกแห่งนักบุญวิกเตอร์ (Hugo a Sancto Victore) ยังคงเป็นการชี้แนะที่ชัดเจนสำหรับเราอยู่ตลอดเวลา “พระคัมภีร์ทั้งหมดเป็นหนังสือเล่มเดียว และหนังสือเล่มเดียวนี้คือพระคริสตเจ้า.....กล่าวถึงพระคริสตเจ้า.....และบรรลุความสมบูรณ์ในพระคริสตเจ้า”  ถูกแล้ว ถ้าจะมองเพียงแต่ในด้านประวัติศาสตร์หรือวรรณกรรม พระคัมภีร์ไม่ใช้หนังสือเพียงเล่มเดียว แต่เป็นการรวบรวมตัวบทวรรณกรรมที่ใช้เวลายาวนานมากกว่าหนึ่งพันปี และหนังสือแต่ละฉบับก็เข้าใจได้ไม่ง่ายนักว่ามีความเกี่ยวข้องเป็นหนึ่งเดียวกันภายใน  ตรงกันข้ามหนังสือแต่ละเล่มยังมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน เราเห็นเรื่องนี้แล้วในพระคัมภีร์ของชาวอิสราเอลที่เราคริสตชนเรียกว่าพันธสัญญาเดิม และยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อเรานำพันธสัญญาใหม่และข้อเขียนในพันธสัญญาใหม่มาใช้กับพระคัมภีร์ของอิสราเอล ให้เป็นดังกุญแจอธิบายความหมายเป็นหนทางไปพบพระคริสตเจ้า โดยปรกติพันธสัญญาใหม่มักไม่ใช้คำว่า “ข้อเขียน (=พระคัมภีร์)” [‘Scripture’ ในรูปเอกพจน์]  (เทียบ รม 4:3; 1 ปต 2:6) แต่ใช้คำว่า “ข้อเขียน” (‘Scriptures’ ในรูปพหูพจน์ =พระคัมภีร์) (เทียบ มธ 21:43; ยน 5:39; รม 1:2; 2 ปต 3:16) ซึ่งก็มีความหมายโดยรวมถึงพระวาจาหนึ่งเดียวของพระเจ้าผู้ตรัสกับเรา  ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าพระบุคคลของพระคริสตเจ้าทำให้ “พระคัมภีร์” ทั้งหมดมีเอกภาพในฐานะที่เป็น “พระวาจา” เพียงหนึ่งเดียว โดยวีธีนี้เราจึงเข้าใจข้อความที่ปรากฏอยู่ในธรรมนูญ Dei Verbum ข้อ 12 ซึ่งกล่าวถึงเอกภาพภายในของพระคัมภีร์ทั้งหมด เป็นมาตรการสูงสุดเพื่อเข้าถึงการอธิบายความหมายของความเชื่อที่ถูกต้อง