พระคัมภีร์คือพลังบันดาลใจของงานอภิบาล


73.    สมัชชาได้พิจารณาเรื่องนี้และเตือนให้ปฏิงานอภิบาลเป็นพิเศษโดยเน้นว่าพระวาจาของพระเจ้าเป็นศูนย์กลางชีวิตของพระศาสนจักร และสนับสนุนให้ปฏิบัติงานแพร่ธรรม “ด้านพระคัมภีร์” เพิ่มขึ้น ไม่ใช่โดยเพิ่มงานอภิบาลรูปแบบอื่นเข้ามาอีก แต่ให้พระคัมภีร์เป็นพลังบันดาลใจงานอภิบาลทุกชนิด  เรื่องนี้จึงไม่หมายถึงการเพิ่มการประชุมเข้ามาอีกในเขตวัดหรือในสังฆมณฑล แต่หมายถึงการตระหนักว่าในกิจกรรมที่ปฏิบัติกันอยู่แล้วของชุมชนคริสตชนในเขตวัด ในคณะและขบวนการต่างๆ ต้องมีการพบปะเป็นการส่วนตัวกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงสื่อสารกับเราในพระวาจา ในเมื่อ “การไม่รู้จักพระคัมภีร์คือการไม่รู้จักพระคริสตเจ้า”  การให้พระคัมภีร์เป็นแรงบันดาลใจของงานอภิบาลตามปรกติและในโอกาสพิเศษ ย่อมจะนำเราให้มารู้จักองค์พระคริสตเจ้ามากยิ่งขึ้น ในฐานะที่ทรงเป็นผู้เปิดเผยพระบิดาและทรงเป็นการที่พระเจ้าทรงเปิดเผยความจริงให้เรารู้อย่างสมบูรณ์
    ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงขอเตือนบรรดาผู้อภิบาลและผู้มีความเชื่อทั้งหลายให้คำนึงถึงความสำคัญของการย้ำถึงพระคัมภีร์เช่นนี้ เพราะจะเป็นวิธีเหมาะที่สุดเพื่อแก้ปัญหาทางการอภิบาลบางประการที่ถูกยกขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุมสมัชชา เช่น ปัญหาเรื่องนิกายต่างๆมากมายที่บิดเบือนความหมายและพยายามเผยแพร่การอ่านพระคัมภีร์แบบผิดๆเช่นนี้ ถ้าที่ใดสัตบุรุษไม่ได้รับความรู้พระคัมภีร์ตามความเชื่อของพระศาสนจักรในกระแสของธรรมประเพณีที่สืบทอดต่อมาถึงปัจจุบัน ที่นั่นก็จะเกิดมีช่องว่างในงานอภิบาลซึ่งจะกลายเป็นพื้นดินดี ที่นิกายต่างๆจะใช้เป็นที่ฝังรากของตนลงไป เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องจัดให้พระสงฆ์และฆราวาสได้รับการเตรียมตัวอย่างเหมาะสม เพื่อจะสั่งสอนประชากรของพระเจ้าให้เข้าถึงพระคัมภีร์ได้อย่างถูกต้องแท้จริง
    นอกจากนั้น ที่ประชุมสมัชชายังเสนอแนะว่า ในงานอภิบาลน่าจะส่งเสริมให้มีการขยายตัวของคริสตชนกลุ่มย่อยมากขึ้น กลุ่มคริสตชนเหล่านี้มีครอบครัวต่างๆเป็นองค์ประกอบ ตั้งอยู่ในเขตวัด หรือผูกพันอยู่กับขบวนการต่างๆของพระศาสนจักรหรือกลุ่มคริสตชนใหม่ๆ”  ที่อาจช่วยส่งเสริมให้การอบรม การสวดภาวนา และความรู้พระคัมภีร์ตามความเชื่อของพระศาสนจักรเกิดขึ้นได้