แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ความรู้เกี่ยวกับหนังสือ โทบิต ยูดิธ และเอสเธอร์

1)     ในพระคัมภีร์ฉบับแปลภาษาละติน (Vulgata) หนังสือ 3 ฉบับ คือ โทบิต ยูดิธ และเอสเธอร์ จัดไว้หลังหนังสือชุด “ประวัติศาสตร์” แต่สำเนาคัดลอกโบราณภาษากรีกที่สำคัญบางฉบับจัดไว้หลังจากหนังสือชุด “ปรีชาญาณ” หนังสือทั้งสามฉบับนี้มีลักษณะเฉพาะของตน แตกต่างจากหนังสือชุดอื่นๆ
1.1    ตัวบทของหนังสือเหล่านี้คัดลอกตกทอดมาถึงเราเป็นหลายสำนวนแตกต่างกัน จนเป็นการยากที่จะกำหนดตัวบทต้นฉบับดั้งเดิมได้ ต้นฉบับดั้งเดิมของหนังสือโทบิตคงจะเป็นภาษาอาราเมอิก แต่ต้นฉบับดั้งเดิมนี้สูญหายไปแล้ว ไม่ตกทอดมาถึงเรา เรามีเพียงเศษของต้นฉบับภาษาฮีบรู และเศษของสำเนาสำนวนแปลภาษาอาราเมอิก 4 ฉบับในถ้ำที่กุมราน (Qumran)

ต้นฉบับคัดลอกโบราณภาษากรีก ซีเรียค และละตินที่ตกทอดมาถึงเรา เมื่อนำมาเทียบกันก็เห็นว่าถ่ายทอดต่อกันมาเป็น 4 แบบ (Recensions) สองแบบที่สำคัญที่สุดคือแบบที่หนึ่งซึ่งพบได้ในต้นฉบับคัดลอกของหอสมุดวาติกัน (ซึ่งเราจะเรียกว่า “ฉบับวาติกัน” หรือ “B”) และต้นฉบับคัดลอกจากเมืองอเล็กซานเดรีย (ซึ่งเราจะเรียกว่า “ฉบับอเล็กซานเดรีย” หรือ “A”) ส่วนแบบที่สองพบได้ในสำเนาคัดลอกโบราณที่เรียกว่า Codex Sinaiticus ซึ่งพบในอารามที่เชิงภูเขาซีนาย (ซึ่งเราจะเรียกว่า “ฉบับซีนาย” หรือ “S”) และในฉบับแปลโบราณภาษาละติน (Vetus Latina) ตัวบทแบบที่สองนี้คงจะเป็นแบบที่เก่าแก่ที่สุด เพราะสอดคล้องกับเศษของสำเนาโบราณภาษาอาราเมอิกที่พบที่กุมราน จึงเป็นตัวบทที่ใช้ในการแปลของเรา แต่ในเวลาเดียวกันก็มีการเปรียบเทียบกับตัวบทแบบอื่นๆ ด้วย
    ต้นฉบับภาษาฮีบรูของหนังสือยูดิธก็สูญหายไปแล้วเช่นเดียวกัน ในสมัยกลางมีตัวบทภาษาฮีบรูของหนังสือนี้หลายสำนวนที่ใช้กัน แต่คงจะไม่ใช่ต้นฉบับดั้งเดิม ตัวบทสำนวนแปลภาษากรีกพบได้เป็น 3 แบบที่แตกต่างกันอย่างมาก ตัวบทภาษาละตินฉบับ Vulgata เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างจากต้นฉบับภาษากรีก และดูเหมือนว่านักบุญเยโรมเขียนตัวบทฉบับนี้โดยเพียงแต่ขัดเกลาสำนวนแปลภาษาละตินที่มีอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น โดยเทียบกับสำนวนแปลภาษาอาราเมอิก
    ตัวบทของหนังสือเอสเธอร์มีสองแบบ คือแบบสั้นภาษาฮีบรู และแบบยาวภาษากรีก  ต้นฉบับภาษากรีกก็ยังพบได้เป็น 2 สำนวน คือสำนวนภาษากรีกที่นิยมใช้กันทั่วไป กับสำนวนแก้ไขของลูเชียนชาวอันทิโอก (Lucian of Antioch) ตัวบทภาษากรีกมีข้อความเพิ่มเติมที่ไม่พบในสำนวนภาษาฮีบรูดังต่อไปนี้ (ก) ความฝันของโมรเดคัย 1:1a-r (ข) คำอธิบายความฝันนี้ 10:3a-k (ค) พระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับของกษัตริย์อาหสุเอรัส 3:13a-g และ 8:12a-v (ง) คำอธิฐานของโมรเดคัย 4:17a-I (จ) คำอธิษฐานภาวนาของพระนางเอสเธอร์ 4:17k-z (ฉ) เล่าอีกครั้งหนึ่งเรื่องพระนางเอสเธอร์เข้าเฝ้ากษัตริย์อาหสุเอรัส 5:1a-f และ 5:2a-b (ช) ภาคผนวกอธิบายที่มาของสำนวนแปลภาษากรีก 10:3l นักบุญเยโรมจัดข้อความเพิ่มเติมเหล่านี้ไว้หลังตัวบทภาษาฮีบรู คือ 10:4 – 16:24 ตามต้นฉบับ Vulgata แต่ในการแปลฉบับนี้เราจัดข้อความที่เพิ่มเติมเหล่านี้ไว้ตรงตามที่ของมันในต้นฉบับภาษากรีก โดยใช้ตัวอักษรเอียง
1.2    พระศาสนจักรรับหนังสือ 3 ฉบับนี้เข้าในสารบบพระคัมภีร์ในระยะหลัง พระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรูไม่ยอมรับหนังสือโทบิตและยูดิธ ต่อมาชาวโปรแตสตันท์จึงจัดหนังสือเหล่านี้ไว้ในหมวด Apocrypha แต่พระศาสนจักรคาทอลิกจัดหนังสือทั้งสองนี้ไว้ในหมวด “สารบบที่สอง” (Deutero-canonical) ซึ่งหมายความว่า “ปิตาจารย์บางท่านมีความสงสัยอยู่บ้าง” แต่หนังสือเหล่านี้เป็นที่รู้จักและถูกอ้างถึงมาตั้งแต่สมัยแรกๆ ของพระศาสนจักร และอยู่ในสารบบพระคัมภีร์ของพระศาสนจักรตะวันตกมาตั้งแต่สมัยสมัชชาพระสังฆราชที่กรุงโรมในปี ค.ศ. 382 และในสารบบพระคัมภีร์ของพระศาสนจักรตะวันออกตั้งแต่ปี ค.ศ. 692 (สภาสังคายนา “in Trullo” ที่กรุงคอนสตันติโนเปิ้ล) ข้อความภาษากรีกของ อสธ นับอยู่ในสารบบที่สองด้วย และมีประวัติการเข้าในสารบบพระคัมภีร์เช่นเดียวกับ ทบต และ ยดธ ธรรมาจารย์ชาวยิวในคริสตศตวรรษที่หนึ่งยังถกเถียงกันว่า อสธ อยู่ในสารบบพระคัมภีร์หรือไม่ แต่ชาวยิวในภายหลังยอมรับหนังสือ อสธ ซึ่งกลายเป็นหนังสือที่นิยมอ่านกันมาก
1.3    หนังสือทั้งสามฉบับนี้มีแบบวรรณกรรมเหมือนๆ กัน คือเล่าเรื่องโดยใช้ข้อมูลทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์อย่างอิสระ ซึ่งมักจะไม่ตรงกับความเป็นจริงนัก เช่น ใน ทบต เล่าว่าโทบิตเป็นหนุ่มเมื่อกษัตริย์ซาโลมอนสิ้นพระชนม์และอาณาจักรแบ่งเป็นสองส่วนในปี 931 ก.ค.ศ. (ทบต 1:4) เขาถูกจับเป็นเชลยไปสู่ถิ่นเนรเทศพร้อมกับชนเผ่านัฟทาลีในปี 734 ก.ค.ศ. (ทบต 1:5,10) โทบียาห์บุตรของเขาจะตายหลังจากกรุงนินะเวห์ถูกทำลายในปี 612 ก.ค.ศ. (ทบต 14:5) หนังสือโทบิตยังเล่าว่ากษัตริย์เซนนาเคริบสืบราชสมบัติสืบต่อจากกษัตริย์ซัลมาเนเสอร์ (ทบต 1:15) แต่โดยแท้จริงแล้วกษัตริย์ซาร์กอนสืบราชสมบัติต่อจากกษัตริย์ซัลมาเนเสอร์ ในทำนองเดียวกัน หนังสือนี้กล่าวว่าเมืองราเกสตั้งอยู่ในแถบภูเขาห่างจากเมืองเอกบาทานาซึ่งตั้งอยู่ในที่ราบเป็นระยะทางเดินเพียงสองวัน (ทบต 5:6) แต่โดยแท้จริงแล้ว เมืองเอกบาทานาตั้งอยู่ในแถบภูเขาสูงประมาณ 2000 เมตรจากระดับน้ำทะเล และอยู่ห่างจากเมืองราเกสราว 320 กม. หนังสือเอสเธอร์เล่าเรื่องใกล้เคียงกับประวัติศาสตร์มากกว่า เช่นรายละเอียดเกี่ยวกับเมืองสุสาและขนบธรรมเนียมของชาวเปอร์เซีย กษัตริย์อาหสุเอรัส (เป็นการเขียนพระนามของกษัตริย์เซอร์ซิสในภาษาฮีบรู) ก็เป็นที่รู้จักดีในประวัติศาสตร์และมีพระอุปนิสัยตรงกับที่เฮโรโดตัสนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกบันทึกไว้ แต่นับเป็นเรื่องแปลกที่กษัตริย์ในราชวงศ์ Achmenid ซึ่งรู้กันว่ายอมให้ชนชาติต่างๆ ในราชอาณาจักรปฏิบัติศาสนาและธรรมเนียมของตนได้อย่างอิสระ จะทรงยอมให้ออกคำสั่งทำลายล้างชนชาติยิว และที่แปลกกว่านั้น ทรงอนุญาตให้ชาวยิวฆ่าชาวเปอร์เซียถึง 75,000 คน โดยไม่ได้รับการต่อต้านเลย นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่ อสธ กล่าวถึง พระราชินีแห่งเปอร์เซียและพระมเหสีของกษัตริย์เซอร์ซิสคือพระนางอาเมสตริส ไม่มีการกล่าวถึงพระราชินีที่ทรงพระนามว่าวัชทีหรือเอสเธอร์เลย และถ้าโมรเดคัยถูกจับเป็นเชลยในสมัยกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ (อสธ 2:6) เขาจะต้องมีอายุ 150 ปีเมื่อกษัตริย์เซอร์ซิสทรงเริ่มครองราชย์

2)    หนังสือยูดิธใช้รายละเอียดทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์อย่างอิสระมากกว่าอีก โดยเล่าว่าเหตุการณ์ที่กล่าวถึงเกิดขึ้นในสมัยที่  “กษัตริย์เนบูคัสเนสซาร์ทรงครองราชย์ปกครองชาวอัสซีเรียในนครนินะเวห์ที่ยิ่งใหญ่” (ยดธ 1:1) แต่อันที่จริงกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ทรงเป็นกษัตริย์แห่งบาบิโลน   และนครนินะเวห์ถูกกษัตริย์เนโบโปลัสซาร์พระราชบิดาทำลายแล้วในปี 612 ก.ค.ศ. ยิ่งกว่านั้น ยดธ 4:3 และ 5:19 ยังกล่าวว่าชาวยิวกลับมาจากถิ่นเนรเทศในรัชสมัยของกษัตริย์ไซรัสแล้ว    ชื่อ  “โฮโลเฟอร์เนส”  และ   “บาโกอัส” เป็นชื่อเปอร์เซีย แต่เรื่องเล่าบรรยายถึงกิจกรรมที่สะท้อนขนบประเพณีของชาวกรีก (ยดธ 3:7-8; 15:13) นอกจากนั้น การเดินทัพของโฮโลเฟอร์เนสตามสถานที่ที่กล่าวถึงใน ยดธ 2:21-28 นั้นไม่มีทางเป็นไปได้ เมื่อโฮโลเฟอร์เนส มาถึงแคว้นสะมาเรียที่เรารู้จักดี ชื่อสถานที่ต่างๆ ในเรื่องล้วนแต่ไม่เป็นที่รู้จักเลย รวมทั้งเมืองเบธูเลียซึ่งเป็นฉากของเรื่องที่เล่าด้วย คำอธิบายดีที่สุดที่ว่าทำไมผู้เขียนไม่สนใจความถูกต้องทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ก็คือ เขาไม่มีเจตนาที่จะเขียนประวัติศาสตร์ ต้องการเพียงให้เป็นเรื่องสอนใจเท่านั้น เหตุการณ์ที่เล่าอาจมีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์อยู่บ้าง แต่ผู้เขียนได้เสริมรายละเอียดตามใจจนไม่มีทางจะรู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรแน่

3)    หนังสือโทบิตเล่าเรื่องของครอบครัวชาวบ้าน ชายคนหนึ่งจากเผ่านัฟทาลีชี่อโทบิต ถูกจับเป็นเชลยมาอาศัยอยู่ในนครนินะเวห์ เป็นคนเลื่อมใสศรัทธาต่อพระเจ้า ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างเคร่งครัด เป็นคนใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อทุกคน แต่บัดนี้ตาบอดไป ญาติคนหนึ่งของเขาชื่อรากูเอล อาศัยอยู่ที่เมืองเอกบาทานา มีบุตรสาวชื่อซาราห์ที่สูญเสียสามี 7 คนติดๆ กัน เพราะถูกปีศาจอัสโมเดอัสฆ่าในคืนแต่งงาน ทั้งโทบิตและนางซาราห์วอนขอพระเจ้าให้ทรงอนุญาตให้ตนตาย แต่พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานภาวนาของทั้งสองคนตามวิธีการของพระองค์ ทรงส่งทูตสวรรค์ราฟาเอลมาเป็นผู้นำทางโทบียาห์ บุตรของโทบิตไปพบรากูเอล จัดการให้เขาแต่งงานกับนางซาราห์ และช่วยรักษาตาบอดของโทบิต เป็นเรื่องสอนใจที่เน้นความสำคัญของการให้ทาน การช่วยฝังศพผู้ตาย รวมทั้งตัวอย่างและอุดมการณ์ของชีวิตครอบครัว ซึ่งเป็นการนำหน้าคำสอนเรื่องการแต่งงานแบบคริสตชน ทูตสวรรค์ราฟาเอลเป็นผู้แทนพระเจ้า ทั้งแสดงและซ่อนความมีพระทัยดีของพระเจ้า หนังสือนี้จึงสอนว่าพระเจ้าทรงเอื้ออาทรต่อเราเช่นนี้ทุกๆ วัน
    ผู้เขียนเล่าเรื่องของโทบียาห์ตามแบบเรื่องเล่าในพระคัมภีร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของบรรดาบรรพบุรุษในหนังสือปฐมกาล ในฐานะที่เป็นวรรณกรรมชิ้นหนึ่ง หนังสือนี้น่าจะเขียนขึ้นระหว่างช่วงเวลาของ โยบ และ อสธ หรือช่วงเวลาระหว่าง ศคย และ ดนล หนังสือนี้เล่าถึงบุคคลที่มีกล่าวถึงในหนังสือ “ปรีชาญาณของอหิการ์” (ดู ทบต 1:22; 2:10; 11:18; 14:10) ซึ่งเป็นหนังสือนอกสารบบพระคัมภีร์ที่เขียนขึ้นราวศตวรรษที่ 5 ก.ค.ศ. หนังสือโทบิตมีข้อความหลายตอนคล้ายกับใน บสร จึงน่าจะเขียนราวปี 200 ก.ค.ศ. ในแผ่นดินปาเลสไตน์ และอาจเขียนขึ้นในภาษาอาราเมอิก

4)    หนังสือยูดิธเป็นเรื่องเล่าถึงหญิงชาวยิวคนหนึ่งช่วยให้ชาวอิสราเอล ประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร มีชัยชนะต่อศัตรู ชาวยิวซึ่งเป็นชนชาติเล็กๆ ต้องเผชิญกับกองทัพใหญ่โตของโฮโลเฟอร์เนส ที่ต้องการให้ชนชาติต่างๆ ทั่วโลกยอมสยบต่อกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ และต้องการทำลายศาสนาอื่นๆ ทั้งหมด นอกจากศาสนาที่ยอมนมัสการกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์เป็นพระเจ้า ชาวยิวในเมืองเบธูเลียถูกข้าศึกล้อม ต้องอดน้ำ คิดจะยอมจำนนอยู่แล้ว ในช่วงเวลานี้เองนางยูดิธก็เข้ามามีบทบาท นางเป็นม่าย ยังสาว หน้าตาสวยงาม เฉลียวฉลาด ยำเกรงพระเจ้า มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะช่วยบ้านเมือง ก่อนอื่นนางต้องขจัดความขลาดกลัวของเพื่อนร่วมชาติ และในที่สุดนางก็ชนะกองทัพอัสซีเรียได้ด้วย นางตำหนิผู้ปกครองเมืองที่ขาดความเชื่อต่อพระเจ้า  แล้วนางก็อธิษฐานภาวนาและแต่งกายสวยงามออกไปจากเมืองเบธูเลีย เข้าไปในค่ายศัตรู มีทหารนำไปอยู่ต่อหน้าโฮโลเฟอร์เนสแม่ทัพ ซึ่งหลงใหลในความงามและปฏิภาณของนาง ในที่สุดเมื่อโฮโลเฟอร์เนสนอนเมามายอยู่ตามลำพังกับนาง นางก็ตัดศีรษะเขา เมื่อชาวอัสซีเรียรู้ว่าแม่ทัพของตนถูกฆ่า ก็ตกใจกลัวหนีเอาตัวรอด ชาวยิวเข้าจู่โจมค่ายศัตรู ชาวเมืองเบธูเลียสรรเสริญนางยูดิธและไปทำพิธีขอบพระคุณพระเจ้าอย่างสง่าที่กรุงเยรูซาเล็ม
    ดูเหมือนว่าผู้แต่งเรื่องมีเจตนาจะให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ผิดๆ ไม่ตรงความเป็นจริง เพื่อชวนให้ผู้อ่านไม่สนใจเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ แต่ให้สนใจเรื่องความขัดแย้งและชัยชนะทางศาสนา เรื่องเล่าดำเนินไปอย่างน่าติดตามและมีลักษณะคล้ายวรรณกรรมประเภท “วิวรณ์” (Apocalyptic)  โฮโลเฟอร์เนส สมุนมือขวาของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ นับได้ว่าเป็นตัวแทนของอำนาจความชั่วร้าย นางยูดิธ – ชื่อ “ยูดิธ” แปลว่า “หญิงชาวยิว” – เป็นผู้แทนชะตากรรมของชาวยิว ตามพระประสงค์ของพระเจ้า ประชากรนี้กำลังอยู่ในอันตราย   แต่พระเจ้าก็ทรงใช้มือที่อ่อนแอของหญิงคนหนึ่งนำชัยชนะมาให้   ประชากรของพระเจ้าจึงไปฉลองชัยที่กรุงเยรูซาเล็ม     เห็นได้ชัดว่าหนังสือฉบับนี้ให้ข้อคิดคล้ายกับหนังสือดาเนียล   เอเสเคียล และโยเอล เหตุการณ์ที่เล่าในหนังสือนี้เกิดขึ้นในที่ราบเอสเดรโลน ใกล้กับที่ราบ “อาร์มาเกดโดน” ซึ่งเป็นสมรภูมิของสงครามยุคสุดท้ายของโลกตามที่มีเล่าในหนังสือวิวรณ์ (วว 16:16) ชัยชนะของนางยูดิธเป็นผลของคำอธิษฐานภาวนา และการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับเรื่องการละเว้นมลทินทางพิธีกรรมอีกด้วย ถึงกระนั้นหนังสือนี้มิได้มีวิสัยทัศน์จำกัดอยู่ในเรื่องชาตินิยมแคบๆ เท่านั้น เมืองเบธูเลียในแคว้นสะมาเรีย ที่อยู่ของประชาชนซึ่งชาวยิวรังเกียจอย่างยิ่งเพราะถือศาสนายิวอย่างไม่ถูกต้อง กลับเป็นเมืองที่ประกันความปลอดภัยให้แก่กรุงเยรูซาเล็ม ยิ่งกว่านั้น อาคิออร์ชาวอัมโมน (ยดธ 5:5-12) ยังกล่าวถึงความหมายทางศาสนาของการต่อสู้ครั้งนี้ด้วย ต่อมาอาคิออร์นี้ก็ได้กลับใจเปลี่ยนมานับถือพระเจ้าเที่ยงแท้ (ยดธ 14:5-10) หนังสือยูดิธนี้เขียนขึ้นในปาเลสไตน์ราวกลางศตวรรษที่สองก่อนคริสตกาล ในบรรยากาศที่ชาวยิวมีความรู้สึกรักชาติและศาสนาอย่างแรงกล้าจากการก่อกบฏของพวกมัคคาบี

5)    หนังสือเอสเธอร์ก็เล่าถึงการที่หญิงคนหนึ่งช่วยชนชาติยิว ให้รอดพ้นจากอันตรายของชาติเช่นเดียวกับหนังสือยูดิธ ชาวยิวในแคว้นเปอร์เซียถูกคุกคามจะทำลายล้างให้สิ้นชาติโดยฮามัน ซึ่งเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ที่ทรงอำนาจและเป็นศัตรูของชนชาติยิว แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากพระนางเอสเธอร์ หญิงสาวชาวยิวที่ได้ขึ้นเป็นพระราชินี  และปฏิบัติตามคำแนะนำของโมรเดคัยผู้เป็นลุง   เหตุการณ์กลับตาละปัดหน้ามือเป็นหลังมือ ฮามันถูกโทษแขวนคอ และโมรเดคัยได้รับตำแหน่งคืน ชาวยิวกลับทำลายล้างศัตรูของตน วันฉลอง “ปูริม” ถูกตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงชัยชนะครั้งนี้ สั่งให้ชาวยิวทำการฉลองเป็นประจำทุกปี
    เรื่องนี้แสดงให้เห็นความเกลียดชังที่ชาวยิวได้รับจากชนต่างชาติในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นผลมาจากวิถีชีวิตของเขาที่แตกต่างจากชนชาติอื่นๆ ทำให้เขามีความขัดแย้งกับผู้ปกครองที่ต้องการรวบอำนาจไว้ทั้งหมด เช่นเดียวกับที่กษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส เบียดเบียนชาวยิว ความรู้สึกชาตินิยมแบบสุดโต่งนี้เป็นแต่เพียงปฏิกิริยาเพื่อป้องกันตนเองเท่านั้น การเข่นฆ่าอย่างทารุณเพื่อล้างแค้นที่เล่าในหนังสือทำให้เราผู้อ่านรู้สึกว่าโหดเหี้ยมมาก แต่เราอย่าลืมว่าหนังสือนี้เขียนขึ้นก่อนคำสอนของพระคริสตเจ้า เรายังต้องระลึกถึงวิธีเขียนเล่าเรื่องด้วย การแข่งขันชิงดีกันของพวกนางสนมใน “ฮาเร็ม” และการฆ่าแบบล้างโคตรทำให้เจตนาของผู้เขียนชัดเจนขึ้น   เจตนานี้เป็นเรื่องทางศาสนาโดยตรง   การที่โมรเดคัยและพระนางเอสเธอร์ได้เลื่อนตำแหน่ง การที่ชาวยิวได้รับความช่วยเหลือให้รอดตาย ชวนให้ระลึกถึงเรื่องของดาเนียล และโดยเฉพาะเรื่องโยเซฟ ซึ่งแต่แรกถูกกลั่นแกล้งเบียดเบียน แต่แล้วในภายหลังก็ได้รับตำแหน่งทรงเกียรติเพื่อช่วยประชากรของตนให้รอดพ้น ในเรื่องโยเซฟในหนังสือปฐมกาล พระเจ้ามิได้ทรงสำแดงพระอานุภาพให้ปรากฏภายนอก พระองค์เพียงแต่คอยทรงนำเหตุการณ์อยู่เบื้องหลัง ในหนังสือเอสเธอร์ฉบับภาษาฮีบรูก็เช่นกัน ไม่มีการออกพระนามของพระเจ้าโดยตรง แต่ก็แสดงให้เห็นว่า พระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้าคอยควบคุมองค์ประกอบต่างๆ ของเหตุการณ์ที่เล่า ผู้อยู่ในเหตุการณ์รู้เรื่องพระญาณเอื้ออาทรดี และมีความหวังลึกๆ ในพระเจ้าว่าจะทรงช่วยเหลือตามแผนที่ทรงวางไว้ แม้ว่ามนุษย์ที่ทรงเลือกไว้ให้เป็นเครื่องมืออาจมีความลังเล – ดู อสธ 4:13-17 ซึ่งเป็นกุญแจไขให้รู้เจตนาของหนังสือ ข้อความที่เพิ่มเติมเป็นภาษากรีกมีลักษณะทางศาสนาชัดเจนกว่า แต่ก็บอกตรงๆ ว่าผู้เขียนฉบับภาษาฮีบรูละไว้ให้ผู้อ่านเข้าใจเอง - พระศาสนจักรใช้ข้อความเพิ่มเติมของหนังสือเอสเธอร์นี้หลายตอนในพิธีกรรม
    คำแปลภาษากรีกเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 114 (หรือ 78) ก.ค.ศ. เมื่อหนังสือนี้ถูกส่งไปถึงชาวยิวในอียิปต์เพื่อรับรองงานฉลอง “ปูริม” เป็นทางการ (ดู อสธ 10:3l และเชิงอรรถ) ตัวบทภาษาฮีบรูเขียนขึ้นก่อนหน้านั้น คือราวปี 160 ก.ค.ศ. ตามข้อมูลจาก 2 มคบ 15:36 เมื่อชาวยิวในปาเลสไตน์ฉลอง “วันโมรเดคัย” ซึ่งชวนให้คิดว่าเรื่องพระนางเอสเธอร์หรือหนังสือเอสเธอร์นี้เป็นที่รู้จักดีแล้วด้วย หนังสือนี้อาจเขียนขึ้นราวกลางศตวรรษที่สองก่อนคริสตกาล แต่เป็นที่น่าสงสัยว่าแต่เดิมอาจไม่เกี่ยวข้องกับการฉลอง “ปูริม” เลยก็ได้  อสธ 9:20-32 มีลีลาการเขียนแตกต่างจากตอนอื่นและมีลักษณะคล้ายกับเป็นข้อความที่เพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง ประวัติความเป็นมาของวันฉลอง “ปูริม” นี้ออกจะคลุมเครือ และเป็นไปได้ว่าหนังสือนี้ถูกนำมาเกี่ยวข้องกับวันฉลองนี้ในภายหลัง เพื่อให้ฉลองนี้มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์รองรับ น่าสังเกตว่า มคบ 15:36 ไม่เรียกวันฉลองนี้ว่า “ปูริม” แต่เรียกว่า “วันโมรเดคัย”