แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

2. ลูกหนี้ไร้เมตตา
(มธ 18:23-35)
  คำอธิบาย
    ในอุปมาบทนี้ พระอาจารย์เจ้าทรงสอนเราว่า เราจำเป็นจะต้องแสดงเมตตาจิตต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ถ้าหากเราหวังจะได้รับพระเมตตาจากพระเป็นเจ้า พระเยซูเจ้าเองเคยตรัสกับนักบุญ เปโตร ให้พร้อมเสมอที่จะอภัยแก่ผู้อื่น ไม่ใช่เพียงเจ็ดครั้งตามที่ท่านนักบุญคิด แต่ว่าเจ็ดคูณเจ็ดสิบ หมายความว่าจะต้องอภัยโทษเสมอไป อุปมาเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ทำไมนักบุญเปโตรจึงต้องทำเช่นนี้
    อาณาจักรสวรรค์ หมายถึง อาณาจักรของพระเป็นเจ้าบนแผ่นดินนี้ กล่าวคือพระศาสนจักร

    คนใช้คนหนึ่งเป็นหนี้พันล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาล แน่นอน คงไม่มีคนใช้คนใดที่ทำหนี้สินต่อกษัตริย์ถึงเพียงนั้น แต่การตกแต่งเรื่องเกินความจริงนั้นก็เพื่อจะให้เรื่องเล่ามีชีวิตชีวาขึ้น เพื่อจะให้ความจริงที่ผู้เล่าต้องการสอนนั้นเห็นแจ้งยิ่งขึ้น บทเรียนบทนี้ต้องการสอนเราว่าเราเป็นหนี้พระเป็นเจ้าอย่างมากมาย เมื่อเราทำบาปหนักแต่เพียงประการเดียว
    กษัตริย์จึงตรัสสั่งให้ขายทั้งตัวเขา ในสมัยพระเยซูเจ้ามีธรรมเนียมขายลูกหนี้และครอบครัวของเขาให้ตกเป็นทาส ถ้าหากว่าเขาไม่สามารถหาเงินมาชำระเจ้าหนี้ ผู้เป็นนายที่ซื้อทาสก็จะจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้โดยผ่อนส่งเป็นปีๆ ไป ลูกหนี้และครอบครัวก็ต้องตกเป็นทาสของผู้ซื้อจนกว่าผู้ซื้อจะจ่ายเงินหมด
    ผู้รับใช้ผู้นั้นกราบลงแทบพระบาท ทูลอ้อนวอน คนใช้ทราบดีว่าสิ่งที่เขาควรจะต้องทำเพื่อช่วยตัวเองและครอบครัวก็คือ กราบขอความกรุณาจากกษัตริย์ เขาสัญญาที่จะจ่ายคืนให้ทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบไม่น่าเชื่อ เนื่องจากเขาติดหนี้มากมายเหลือเกิน อย่างไรก็ตาม เขาก็คิดจะหาหนทางใช้ให้
    กษัตริย์ทรงสงสาร จึงทรงปล่อยเขาไปและทรงยกหนี้ให้ พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ที่มีความเมตตากรุณา พระองค์ตระหนักดีว่า ชีวิตการเป็นทาสนั้นน่าสังเวชมาก และครอบครัวของเขาคงจะประสบความยากลำบากนานัปการ พระองค์จึงได้ทรงยกโทษให้ และปล่อยเขาไป พระองค์ทรงแสดงน้ำพระทัยดีต่อเขามากกว่าที่เขาขอเสียอีก
    ขณะที่ผู้รับใช้ผู้นี้ออกไป เปลี่ยนฉากใหม่ คนใช้เดินออกไปจากท้องพระโรง เผอิญเขาได้พบเพื่อนคนใช้ด้วยกันที่เป็นหนี้เขาไม่มากเท่าไร เพียงไม่กี่พันบาท
    เขาเข้าไปคว้าคอบีบไว้แน่น ให้เราสังเกตและเปรียบเทียบการกระทำของกษัตริย์ที่มีต่อเขา และการกระทำของเขาต่อลูกหนี้ น้ำใจของเขาต่ำช้ามากๆ และเขาใช้ความรุนแรงต่อลูกหนี้
    “เจ้าเป็นหนี้ข้าอยู่เท่าไร จงจ่ายให้หมด” จำนวนหนี้สินนั้นน้อยเหลือเกิน ถ้าเปรียบเทียบกับหนี้สินที่ก็กษัตริย์ยกให้เขา เขาคงจะรู้สึกอายๆ ด้วยซ้ำไป จึงไม่ได้กล่าวว่ามากเท่าไร เพียงแต่พูดว่าหนี้สินที่ติดข้า
    เพื่อนคนนั้นคุกเข่าลงอ้อนวอน ลูกหนี้ได้ทำเช่นเดียวกันกับที่เขาเพิ่งทำมาเมื่อสักครู่นั่นเอง กล่าวคือ ได้ขอความกรุณาจากเขา และสัญญาว่าจะพยายามชำระหนี้สินให้ครบ คำมั่นสัญญานี้คงจะทำได้ง่าย แต่คำสัญญาที่คนใช้ใจอำมหิตได้สัญญากับกษัตริย์นั้นยากกว่าหลายเท่าตัว แต่เขาก็ไม่ยอมฟัง
    แต่เขาไม่ยอมฟัง นำลูกหนี้ขังไว้จนกว่าจะชำระหนี้ให้หมด เขาพยายามทำตามความยุติธรรม โดยขาดเมตตาจิต ทั้งๆ ที่เขาเองพึ่งได้รับพระเมตตาจากกษัตริย์
    เพื่อนผู้รับใช้อื่นๆ เห็นดังนั้น ฉากที่สาม เมื่อเพื่อนร่วมงานเห็นความสารเลวของคนใช้ดังนั้นก็รู้สึกเศร้าใจ และได้รายงานให้กษัตริย์ทรงทราบ
    เจ้าคนสารเลว ฉากสุดท้าย กษัตริย์รับสั่งให้นำคนใช้มาเฝ้า และบัดนี้เขาก็อยู่ต่อหน้ากษัตริย์ ที่เมื่อก่อนนั้นทรงพระเมตตาต่อเขา แต่เดี๋ยวนี้ทรงพระพิโรธ และพระองค์กำลังจะใช้ความยุติธรรมของพระองค์ต่อคนใช้สารเลว
    ข้ายกหนี้สินของเจ้าทั้งหมดเพราะเจ้าขอร้อง เจ้าต้องเมตตาเพื่อนผู้รับใช้ด้วยกัน เหมือนกับที่ข้าได้เมตตาเจ้ามิใช่หรือ เจ้าก็ควรจะมีเมตตาจิตต่อคนอื่นๆ มิใช่หรือ กษัตริย์ทรงพระพิโรธต่อเขาไม่ใช่เพราะเขาเป็นหนี้มหาศาลต่อกษัตริย์ แต่เพราะว่าเขาได้กระทำต่อเพื่อนคนใช้โดยไร้ความปราณี เขาไม่ได้ทำกับผู้อื่น สิ่งที่เขาต้องการให้ผู้อื่นทำต่อเขา
    ตรัสสั่งให้นำผู้รับใช้นั้นไปทรมานจนกว่าจะชำระหนี้หมดสิ้น กษัตริย์เคร่งครัด พระองค์ทำตามความยุติธรรมและเนื่องจากหนี้สินจำนวนมหาศาล โทษของเขาคงจะอยู่ตลอดชีวิต แต่ที่ร้ายกว่านั้นอีกก็คือ เขาจะต้องถูกทรมาน ถูกลงโทษอย่างสาหัส เพราะว่าเขาขาดความเมตตาต่อเพื่อนคนใช้ด้วยกัน
    พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะทรงกระทำต่อท่านทำนองเดียวกัน พระเยซูเจ้าประยุกต์อุปมาของพระองค์เป็นอุปมาที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ขึ้น เพื่อใช้สอนเราว่า เราจะต้องมีเมตตาจิตต่อเพื่อนมนุษย์ ถ้าหากเราต้องการพระเมตตาจากพระองค์ พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นการประยุกต์คำภาวนาวิงวอนขอ ขอหนึ่งในบทข้าแต่พระบิดา “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น” และพระองค์ได้ตรัสไว้ว่า “แต่ถ้าท่านไม่ให้อภัยผู้ทำความผิด พระบิดาของท่านก็จะไม่ประทานอภัยแก่ท่านเช่นเดียวกัน” (มธ 6:15)
  คำสอน
    เมื่อเราอ่านอุปมาเรื่องลูกหนี้ไร้เมตตา ปฏิกิริยาของเราต่อเขาก็คือว่าเขาเป็นคนต่ำช้าสามานย์ เป็นคนสารเลว เป็นเดนมนุษย์ และเป็นผู้ที่ไม่สมจะได้รับความเมตตาเลย เขาเค้นคอเพื่อนคนใช้ด้วยกัน เพราะคนใช้ผู้นั้นเป็นหนี้เขาเพียงไม่กี่พันบาท และก็ไม่ยอมฟังคำอ้อนวอนของเพื่อนร่วมงาน เมื่อเราได้ฟังสิ่งที่กษัตริย์ได้ทำต่อเขา เราทุกคนต่างก็เห็นว่าเหมาะเหลือเกินและคงจะเติมด้วยว่า “สมน้ำหน้า” เขาควรจะได้รับโทษเช่นนั้น
    แต่ขอให้เราหยุดพิจารณาตัวสักประเดี๋ยว บางทีเราอาจจะเป็นคนใช้สารเลวคนนั้นก็ได้ เพราะทุกครั้งที่เราทำบาปหนักโดยรู้ตัวและเต็มใจ เราก็ทำหนี้ต่อพระเป็นเจ้า เราสมจะได้รับพระอาชญาของพระเป็นเจ้า ทุกๆ ครั้งที่เราได้รับอภัยโทษจากที่แก้บาป โดยอาศัยพระสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้แทนของพระเป็นเจ้า ก็เปรียบเหมือนกับเราเดินออกจากท้องพระโรงในฐานะที่เป็นคนอิสระ เรามีความรู้สึกว่าหนี้สินมหาศาลถูกยกออกจากบ่าของเรา เรารู้สึกเบาๆ เรามีความสุขใจ ทั้งนี้ เพราะพระทัยเมตตาอันปราศจากขอบเขตของพระเจ้าที่มีต่อเรา แต่ทำไมเราจึงต่ำช้าสารเลว อกตัญญู และโง่เขลาเบาปัญญาสุดๆ ในเมื่อเราไม่ยอมอภัยให้แก่เพื่อนมนุษย์ของเรา ซึ่งบางทีเขาทำผิดต่อเราเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำไมเราจึงอยากเอาเยี่ยงอย่างของคนใช้ไร้ความปราณี เราไม่เคยคิดเลยหรือว่า ถ้าหากเราเป็นเหมือนคนใช้ใจอำมหิตผู้นั้น เราก็จะต้องได้รับชะตากรรมเช่นเดียวกัน กล่าวคือ การทรมานตลอดทั้งชั่วนิรันดร
    ขอให้เรามีใจเมตตากรุณา และพร้อมที่จะอภัยความผิดให้แก่เพื่อนมนุษย์เสมอ ไม่ว่าความผิดนั้นจะหนักหรือจงใจทำ หรือบ่อยครั้งสักเพียงไรก็ตาม พระเป็นเจ้าผู้ทรงพระทัยเมตตากรุณาจะเมตตาเราเช่นกัน