2. ชาวฟาริสีและคนเก็บภาษี (ลก 18:9-14 เทียบ มธ 6:1; 21:31; 23:28)

คำอธิบาย
พระเยซูเจ้าได้ทรงเล่าอุปมาเรื่องนี้เพื่อจะสอนผู้ที่ฟังพระวาจาของพระองค์ว่า  ฤทธิ์กุศลความสุภาพนั้นเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดในการติดต่อกับพระเป็นเจ้า  พระเป็นเจ้าทรงมีพระทัยอารีอันปราศจากขอบเขต  แต่พระองค์ก็ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมที่สุดด้วย  พระองค์ได้ทรงประทานทั้งวิญญาณและร่างกายให้แก่มนุษย์เป็นของกำนัล  ถ้าหากว่ามนุษย์ลืมความจริงข้อนี้  โดยคิดว่า  อะไรที่มีเกียรติและที่ดีงามทั้งหลายที่เขาทำก็มาจากเขาเองทั้งนั้น  เขาก็เป็นคนที่ไม่ซื่อตรง ความจองหองพองขนของมนุษย์เราก็เป็นความไม่ซื่อตรงนี่เอง
การที่พระเยซูเจ้ายกตัวอย่างโดยพูดถึงฟาริสีและคนเก็บภาษีนับว่าเหมาะอย่างยิ่ง และผู้ฟังพระวาจาทั้งหลายย่อมเข้าใจได้ดี

ชาวฟาริสีเป็นพวกนักบุญในสมัยนั้น  อย่างน้อยตามความนึกคิดของเขา  พวกเขาประมาทคนอื่นๆ ทั้งหลาย  พวกเขาเท่านั้นที่ถือพระบัญญัติของพระเป็นเจ้าอย่างซื่อสัตย์  พวกเขาเชื่อมั่นว่า  พวกเขาจะมีส่วนร่วมในอาณาจักรสวรรค์  คนอื่นๆ เป็นคนบาป  และเป็นผู้ที่พระเป็นเจ้าไม่ทรงโปรดปราน
ตรงกันข้าม  คนเก็บภาษีในสมัยนั้น  ใครๆ ก็ถือว่าเป็นคนบาปโดยเปิดเผย  ทั้งนี้ก็เพราะว่าในการเก็บภาษีตามจังหวัดต่างๆ ในประเทศปาเลสไตน์นั้น  ทางรัฐบาลกรุงโรมเปิดโอกาสให้มีการประมูล  ถ้าหากใครประมูลได้ก็ทำหน้าที่เก็บภาษีในแคว้นนั้นๆ โดยพยายามหากำไรให้มากที่สุดเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง  และในหลายๆ กรณี  เนื่องจากชาวบ้านเป็นคนธรรมดาไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเสียภาษี  พวกคนเก็บภาษีจึงหาทางรีดนาทาเร้น  และเก็บภาษีสูงๆ เป็นการเอาเปรียบและขูดเลือดขูดเนื้อประชาชน  อนึ่ง  ในจำพวกคนเก็บภาษีนี้  มีหลายคนที่เป็นชาวยิว และใครๆ ก็เกลียดเขาทั้งนั้น เพราะสาเหตุดังกล่าว  และในฐานะที่เขาเป็นเครื่องมือของพวกโรมัน  ซึ่งเป็นคนต่างชาติต่างศาสนาด้วย 
ใครๆ ก็ถือว่าคนเก็บภาษีเป็นผู้ที่ทรยศต่อชาติ  ต่อศาสนา  โดยร่วมมือกับชาวโรมันซึ่งปกครองชาวยิวอยู่ในสมัยนั้น
พระอาจารย์เจ้าทรงเล่าว่าทั้งฟาริสีและคนเก็บภาษีต่างก็ขึ้นไปภาวนาในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม  พระองค์บรรยายถึงคำภาวนาของพวกเขา  และพระองค์ได้ตรัสกับเราว่า  พระเป็นเจ้ามีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับพวกเขา
ชาวฟาริสียืนอธิษฐานภาวนา คำภาวนาของฟาริสีเป็นคำภาวนาของคนสู่รู้  จองหอง คิดว่าตัวเองได้ประกอบคุณงามความดีต่างๆ ตามภายนอกแล้ว  และประมาทคนอื่นๆ ซึ่งเขาคิดว่าคงไม่มีคุณงามความดีอะไร  และไม่เหมือนกับเขา
ข้าแต่พระเจ้า  ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ที่ข้าพเจ้าไม่เป็นเหมือนมนุษย์คนอื่น การขอบพระคุณพระเป็นเจ้าเพราะได้ประพฤติตนเป็นคนดี  เป็นการภาวนาที่คู่ควรแก่คำสรรเสริญ  ถ้าหากว่าผู้ภาวนานั้นเป็นคนจริงใจ  แต่เราทราบว่าคำภาวนาของฟาริสีผู้นี้ไม่มีความจริงใจเลย  เพราะเหตุว่าเขาคิดว่าเขาเป็นคนดี  และเขาได้ประมาทผู้อื่น  เพราะฉะนั้น  ความหมายที่แท้จริงของคำภาวนาของเขาก็คือ ข้าแต่พระเป็นเจ้า พระองค์ควรจะขอบคุณที่มีนักบุญองค์หนึ่งเหมือนกับลูก  ส่วนคนอื่นๆ นั้นเป็นแต่เพียงคนบาปทั้งหลาย  ทำไมพระองค์ยังคงทนอยู่ได้  โดยไม่ลงโทษเขา
ที่เป็นคนขโมย อยุติธรรม ล่วงประเวณี  ความอยุติธรรมและความผิดต่อความบริสุทธิ์เป็นบาปที่ผิดต่อพระบัญญัติของพระเป็นเจ้า  และในสมัยนั้นก็เหมือนในสมัยนี้  ที่มีผู้ทำบาปชนิดนี้มากมาย  แต่ว่าบาปที่น่ากลัวมากกว่าบาปทั้งสองประการก็คือ  บาปจองหอง  ซึ่งเป็นบาปที่ปีศาจและอาดัมได้ทำ  คนที่ฉ้อโกงและคนที่คบชู้อาจจะยอมรับผิดและอาจจะขอสมาโทษจากพระเป็นเจ้าและพระองค์จะทรงเมตตา  มหาโจรที่ถูกตรึงกางเขนพร้อมกับพระองค์และมารีย์ ชาวมักดาเลนา  ต่างก็ได้รับอภัยโทษจากพระเป็นเจ้า  แต่ว่าคนที่จองหองไม่สามารถที่จะถ่อมตนขออภัยโทษจากพระได้ง่ายๆ  พระเป็นเจ้าทรงพร้อมที่จะอภัยบาปทุกชนิด  แต่ว่าไม่ใช่ว่าคนบาปทุกคนจะขออภัยบาปจากพระองค์
เหมือนคนเก็บภาษีคนนี้  ตามความนึกคิดของฟาริสี  คนเก็บภาษีเป็นผู้ฉ้อโกง  เป็นคนคบชู้  เลวกว่าเสียอีก  เป็นคนถือนอกลู่นอกทาง  เพราะว่าเขาได้ช่วยทำงานเพื่อชาวโรมันที่เป็นคนต่างศาสนา  คำตัดสินของเขาออกจะรุนแรงมากทีเดียว
ข้าพเจ้าจำศีลอดอาหารสัปดาห์และสองวัน  หลังจากที่เขาคิดว่า  เขาไม่มีบาป  ไม่มีข้อบกพร่องที่เพื่อนมนุษย์ร่วมโลกแทบทุกคนมี  เขาก็เริ่มบรรยายถึงคุณธรรมที่ดีๆ ของเขาซึ่งพระเป็นเจ้าควรจะรู้คุณ  โมเสสได้เคยบัญญัติไว้ให้จำศีลเพียงปีละครั้งเท่านั้น  คือวันขอสมาโทษพร้อมๆ กัน  แต่ชาวฟาริสีได้กำหนดกันเองให้จำศีลหลายครั้งต่อปี  อย่างไรก็ตาม  การถือศีลอดอาหารก็หาได้เป็นคุณธรรมหรือสมจะถือว่าเป็นบุญกุศลก็หาไม่  ถ้าหากผู้จำศีลโอ้อวดเพราะว่าได้จำศีล  พระเยซูเจ้าเองได้ทรงประนามด้วยถ้อยคำที่รุนแรงมากในพระวรสาร  บันทึกโดยนักบุญมัทธิว บทที่ 23 และในบทที่ 6 พระองค์ได้ตรัสกับสานุศิษย์ของพระองค์ว่า “เมื่อท่านทั้งหลายจำศีลอดอาหาร จงอย่าทำหน้าเศร้าหมองเหมือนบรรดาคนหน้าซื่อใจคด เขาทำหน้าหมองคล้ำ เพื่อแสดงให้ผู้คนรู้ว่าเขากำลังจำศีลอดอาหาร เราบอกความจริงแก่ท่านว่า เขาได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว ส่วนท่าน เมื่อจำศีลอดอาหาร จงล้างหน้า ใช้น้ำมันหอมใส่ศีรษะ เพื่อไม่แสดงให้ผู้คนรู้ว่าท่านกำลังจำศีลอดอาหาร แต่ให้พระบิดาของท่าน ผู้สถิตอยู่ทั่วทุกแห่งทรงทราบ และพระบิดาของท่านผู้ทรงหยั่งรู้ทุกสิ่ง ก็จะประทานบำเหน็จให้ท่าน”
และถวายหนึ่งในสิบ  ตามกฎหมาย ชาวยิวทุกคนจะต้องถวายหนึ่งส่วนสิบของผลิตผลของตนที่ได้รับจากที่ดินและฝูงสัตว์  เพื่อทำนุบำรุงพระวิหารและเพื่อศาสนกิจ  แต่ชาวฟาริสีก็ได้ขยายความรวมเป็นว่า  จะต้องถวายหนึ่งในสิบของทรัพย์สมบัติทั้งหมด  แล้วก็ภาคภูมิใจและโอ้อวดที่ได้ทำดังนั้น
ส่วนคนเก็บภาษี  ตรงกันข้ามเขายอมรับว่าเขาได้ทำผิด  เขารู้ว่าเขาไม่มีอะไรที่จะต้องโอ้อวด  แต่ว่าเขาควรจะต้องอับอาย  และเขารู้สึกเช่นนั้นจริงๆ เขาไม่กล้าแม้แต่จะเงยหน้าขึ้นเวลาภาวนา
ได้แต่ข้อนอก การทุบอกเป็นเครื่องหมายภายนอกแสดงถึงการเป็นทุกข์เสียใจเพราะบาปที่ได้กระทำ  ชาวยิวในสมัยนั้นมักจะแสดงเช่นนี้เสมอ  นักบุญลูกา  เล่าว่า  ฝูงชนที่ได้เห็นพระเยซูเจ้าถูกตรึงกางเขนพร้อมกับเหตุการณ์มหัศจรรย์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น  ได้กลับเข้าไปในนครเยรูซาเล็ม ต่างก็ทุบอกตัวเอง  ทั้งนี้เพราะพวกเขามีความรู้สึกว่า  บรรดาหัวหน้าและพวกเขาเองได้กระทำผิดอย่างมหันต์
ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด  เป็นคำภาวนาที่แท้จริงและที่ออกมาจากจิตใจจริงๆ  เขายอมสารภาพว่าเขาได้ทำบาป เขาได้รับอภัยโทษจากพระเป็นเจ้า เพราะพระองค์เป็นผู้เมตตาอันปราศจากขอบเขต  เพราะฉะนั้น  เขาจึงภาวนาวิงวอนขอพระเมตตาด้วยความสุภาพและจากใจจริง
เราบอกท่านทั้งหลายว่า พระอาจารย์เจ้าได้ตรัสถึงผลแห่งคำภาวนาของทั้งสองคน  คนเก็บภาษีได้รับพระเมตตาจากพระเป็นเจ้า  ทั้งนี้  เพราะเขาเสียใจในความผิดของเขาอย่างแท้จริง
ส่วนอีกคนหนึ่ง ตรงข้าม ฟาริสีกลับบ้านพร้อมกับบาปของตนตามเดิม  เพราะความจองหองและเขาไม่ได้รับพระเมตตาจากพระเป็นเจ้า เพราะเขาไม่ต้องการ  ยิ่งกว่านั้น  เขาได้ทำบาปเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่งด้วย  คือ  การตัดสินเพื่อนบ้านโดยเบาความและโดยปราศจากความรัก
ผู้ใดที่ยกตนขึ้น พระเยซูเจ้าได้ทรงให้เหตุผลว่า ทำไมคำภาวนาของฟาริสีจึงไม่ได้รับการสนองตอบอะไรเลย  และคำภาวนาใดๆ ก็ตามที่มีลักษณะดังกล่าวก็จะไม่เกิดผลอันใดเลย  เหตุผลนั้นก็คือ  ความจองหอง  ฟาริสียกตัวเองราวกับว่าเขาเป็นคนที่พระเป็นเจ้าควรจะรู้จักคุณค่าของเขา แทนที่เขาจะคิดว่าการที่เขาสามารถทำอะไรดีนั้นก็เพราะพระเป็นเจ้าได้ทรงโปรดประทานพละกำลังและน้ำใจแก่เขา เพราะเหตุนี้แหละเขาจึงต้องตกต่ำ และคลุกคลีกับบาปของเขา ถ้าหากเขาจะได้ประกอบกรรมต่างๆ ด้วยความสุภาพ  แน่นอนเขาก็จะได้เป็นผู้ที่พระเป็นเจ้าทรงโปรดปราน  ตรงกันข้าม  ถ้าหากเราหันมาดูคนเก็บภาษีเราจะเห็นว่าเขาเป็นผู้ที่มีใจสุภาพอย่างแท้จริง  เขายอมรับว่าเขาเป็นคนบาป  และได้ขอสมาโทษจากพระองค์ด้วยความสุภาพ  เขามีกำลังใจที่จะเข้าไปพึ่งพระเมตตาของพระเป็นเจ้า  พระบิดาผู้ทรงพระทัยเมตตาอารี  และเขาก็ได้รับอภัยโทษ ชายคนนี้กลับไปบ้านกลายเป็นคนชอบธรรม

คำสอน
เมื่อเราเห็นใครที่จองหอง  ชอบปกปิดความผิดของตัวเอง ชอบประมาทผู้อื่น  หน้าไหว้หลังหลอก  เรามักจะเรียกเขาว่าเป็นฟาริสี  แม้ในภาษาที่เราใช้กันในขณะนี้  อุปมาเรื่องนี้พระเยซูเจ้าเองได้ทรงเล่า  และพระองค์ก็ได้ทรงเล่าเปรียบเทียบอย่างน่าฟังที่สุด
พระองค์ก็เคยประณามชาวฟาริสีโดยใช้คำขึ้นต้นว่า “วิบากกรรม” หรือ “หายนะ” และการเล่าอุปมาเรื่องนี้ก็เพื่อจะได้เตือนเรามิให้พลาดตกในบาปอันร้ายกาจนี้ คือ บาปจองหอง  บาปจองหองเป็นบาปแรกที่เข้ามาในโลก  เป็นบาปที่ปีศาจใช้เป็นอาวุธเพื่อต่อสู้กับอาณาจักรสวรรค์ของพระเป็นเจ้า  และหลายๆ ครั้งรู้สึกว่าปีศาจทำงานได้ผลดีด้วย  เพราะว่าความจองหองนี้มาในรูปแบบของความศรัทธาเลื่อมใสต่อพระเป็นเจ้า ฟาริสีได้ประกอบกรรมดีมากมายในตัวของมันเอง และได้หลีกเลี่ยงบาปต่างๆ แต่ว่าเหตุจูงใจที่ประกอบกรรมดีนั้นผิด กล่าวคือ  เพื่อเกียรติยศและชื่อเสียงของตนเอง  เพราะฉะนั้น  กิจกรรมดีของพวกเขาก็ไม่ได้ให้เกียรติแด่พระเป็นเจ้า แต่กลับกลายเป็นการทำขัดเคืองพระทัยของพระเป็นเจ้าด้วยซ้ำไป
เราจะต้องระมัดระวังภัยแห่งความจองหองนี้เพื่อมิให้มันเข้ามาในดวงใจของเรา  มิฉะนั้น  มันจะทำลายความก้าวหน้าทางด้านวิญญาณของเราทั้งหมด  เราควรจะพิจารณามโนธรรมและกิจการต่างๆ ของเราเสมอ  เรามีนิสัยชอบทำงานใหญ่โตออกหน้าออกตาเพื่อให้คนอื่นชม  หรือว่าเราชอบทำงานดีๆ ของเราอย่างเงียบๆ โดยที่ไม่ต้องให้คนอื่นเขารู้เห็น  ถ้าหากเราจะทำการใช้โทษบาปเป็นพิเศษ  หรือทำบุญทำทาน  เราคิดที่จะให้คนอื่นๆ รู้หรือเปล่า “เราชอบสบประมาทคนอื่นๆ ที่ในสายตาของเรา เขาไม่ได้ทำอะไรดีเลยหรือเปล่า” ในการทำงานร่วมกัน  เราเคยยอมที่จะเป็นลูกน้องหรือผู้ร่วมงานหรือเปล่า หรือว่าเราจะต้องเป็นหัวหน้าเสมอ  และถ้าหากว่าเราไม่ได้เป็นหัวหน้า เราก็ไม่อยากร่วมมือในการทำงานหรือเปล่า เมื่อเราได้ยินมาว่าเพื่อนๆ ของเราพลาดพลั้ง  เราได้ซ้ำเติมหรือเปล่า  หรือว่าเราได้ภาวนาอุทิศแก่เขาเพื่อให้เขาได้กลับใจ  เราได้เคยขอบพระคุณพระเป็นเจ้าหรือเปล่าที่พระองค์ได้ทรงรักษาเราไว้ให้อยู่ในศีลในพรของพระองค์อยู่เสมอ  และให้เราชนะต่อการผจญล่อลวง  เราเคยคิดที่จะหาเหตุแก้ตัวหรือทำความเข้าใจกับคนผิดหรือเปล่า หรือว่าเมื่อเราทำผิดเราก็หาข้อแก้ตัวสำหรับเราคนเดียว  เรารู้สึกน้อยใจหรือเปล่า  เมื่อเราประกอบกรรมดีในสังคมและไม่มีใครสรรเสริญเยินยอเรา  เรารู้สึกอิจฉาริษยาหรือเปล่าเมื่อเห็นคนอื่นชมเชยสรรเสริญผู้อื่น  ถ้าหากเราตอบอย่างตรงไปตรงมาด้วยความสุจริตใจ  เราก็สามารถที่จะรู้จักตนเองบ้างว่า เราได้ทำการงานต่างๆ เพื่อพระเป็นเจ้าหรือเพื่อตัวเราเอง
ในอนาคต  เราจะพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อพระสิริมงคลของพระเป็นเจ้า และเราจะพยายามลืมตัวเอง  เพราะพระองค์ตรัสไว้ว่า “ผู้ใดถ่อมตนลง จะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น”