หนี้ต่างประเทศ
40. ในการเสาะแสวงหาความยุติธรรมท่ามกลางโลกซึ่งมัวหมองไปด้วยความไม่เท่าเทียมกันในด้านสังคมและเศรษฐกิจ พระศาสนจักรไม่สามารถมองผ่านภาระอันหนักหน่วงเรื่องหนี้สินของประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศในเอเซีย พร้อมกับผลกระทบต่อสถานภาพปัจจุบันและอนาคตของประเทศเหล่านั้น   หลายครั้งประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องตัดรายจ่ายในสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิต เช่นอาหาร เรื่องสุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัยและการศึกษา เพื่อนำเงินไปใช้หนี้องค์กรการเงินนานาชาติหรือธนาคารต่างๆ ซึ่งหมายความว่าคนเป็นจำนวนมากต้องอยู่ในสภาพความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ ที่ประชุมสมัชชาตระหนักดีถึงปัญหามากมายทางด้านเทคนิคในเรื่องนี้ แต่ก็ถือว่าเป็นการทดสอบความสามารถของประชาชน สังคม และรัฐบาลให้เห็นคุณค่าของมนุษย์และชีวิตของมนุษย์จำนวนล้านๆ คน และตีราคาค่างวดของมนุษย์ให้สูงกว่าผลกำไรทางด้านการเงินและด้านวัตถุ
ปีปีติมหาการุญ ค.ศ. 2000 ที่กำลังจะมาถึงนี้นับเป็นโอกาสดีที่สภาพระสังฆราชทั่วโลก โดยเฉพาะของประเทศที่ร่ำรวยกว่า ที่จะสนับ-สนุนให้องค์กรการเงินนานาชาติ  และธนาคารต่างๆ ให้แสวงหาหนทางที่จะผ่อนปรนหนี้สินของประเทศต่างๆ ในบรรดาสิ่งที่พอจะเห็นได้ก็คือ การปรับหนี้สินด้วยการลดหนี้ซึ่งมีจำนวนที่ค่อนข้างสูงหรือไม่ก็ยกหนี้โดยสิ้นเชิง และให้ธุรกิจต่างๆ ตลอดจนการลงทุนให้ร่วมมือกันช่วยเหลือประเทศที่ยากจนกว่า ในขณะเดียวกันพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสมัชชาก็กล่าวกับประเทศลูกหนี้ทั้งหลายด้วย ท่านเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีความรับผิดชอบในแต่ละประเทศ โดยเตือนประเทศเหล่านี้ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนเศรษฐกิจที่ถูกต้อง โปร่งใสและการดำเนินงานที่ดี และเชิญชวนให้ต่อสู่กับการฉ้อราษฎรบังหลวงอย่างจริงจัง พวกท่านขอร้องให้คริสตชนในเอเซียประณามการคดโกงในรูปแบบต่างๆ ทุกชนิด ตลอดจนการที่ผู้มีอิทธิพลทางด้านการเมือง ที่นำเอากองทุนสาธารณะไปใช้ในทางที่ผิด หลายครั้งพลเมืองของประเทศลูกหนี้ มักจะตกเป็นเหยื่อของการใช้ทรัพยากรอย่างไร้ประโยชน์และไร้ความรอบคอบ ก่อนที่จะตกเป็นเหยื่อของการเป็นหนี้นานาชาติ