สภาพแวดล้อม
41. เมื่อใดที่ความก้าวหน้าในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ไม่ควบคู่ไปกับความห่วงใยเรื่องความสมดุลย์ของระบบเศรษฐกิจ โลกของเราก็เสี่ยงต่อความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ การทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไร้ความอายจะยังคงมีอยู่ต่อไป ตราบใดที่เรายังคิดว่าผืนแผ่นดินเป็นเพียงสิ่งที่อำนวยประโยชน์เฉพาะหน้า และนำเอามาใช้เพื่อปรนเปรอความปรารถนาหากำไรซึ่งไม่มีวันสิ้นสุดเท่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของคริสตชนและบรรดาผู้มองพระเป็นเจ้า ว่าทรงเป็นพระผู้สร้าง ที่จะช่วยกันจะปกป้องสิ่งแวดล้อมโดยนำเอาความเคารพต่อบรรดาสิ่งสร้างทั้งหลายซึ่งพระเป็นเจ้าทรงสร้างมานั้น กลับคืนมาใหม่ เป็นพระประสงค์ขององค์พระผู้สร้างที่จะไม่ให้มนุษย์กระทำกับธรรมชาติคล้ายกับผู้ที่แสวง-หาเพียงผลประโยชน์ แต่ในฐานะผู้จัดการและดูแลที่ชาญฉลาดและรับผิดชอบ บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสมัชชาวอนขอบรรดาผู้นำชาติต่างๆ บรรดาผู้ออกกฎหมาย นักธุรกิจ และทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการควบคุมดูแลผืนแผ่นดินโลก ท่านเน้นว่าจะต้องมีการให้ความรู้กับประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนในเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ฝึกฝนอบรมเขาให้มีความรับผิดชอบในบรรดาสิ่งสร้าง ซึ่งพระเป็นเจ้าทรงมอบให้แก่มนุษยชาติ การปกป้องสิ่งแวดล้อมมิใช่ปัญหาด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม ทุกคนมีหน้าที่ทางด้านศีลธรรมที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมมิใช่เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่เพื่อชนรุ่นหลัง
    ขอสรุปว่า   การที่พระสังฆราชที่ร่วมประชุมสมัชชาเรียกร้องให้คริสตชนทำงานและอุทิศตนในการพัฒนามนุษยชาตินั้น ท่านกำลังสรุปจากแก่นสำคัญของความเข้าใจเกี่ยวกับพระคัมภีร์และสิ่งที่ปฏิบัติต่อเนื่องของการนมัสการพระเป็นเจ้าและการดูแลผู้ที่อ่อนแอซึ่งบรรดา “แม่หม้าย คนแปลกหน้าและเด็กกำพร้า” (ดู อพย.22:21-22, ฉธบ.10:18,27:19) คือผู้ที่นำมากล่าวถึงในพระคัมภีร์ ในสมัยโน้นบุคคลเหล่านี้คือผู้ที่มักจะตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรม ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เราได้ยินบรรดาประกาศกเรียกร้องขอความยุติธรรม ขอสิทธิในการจัดระเบียบสังคมมนุษย์ ซึ่งถ้าปราศจากสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่สามารถจะมีการนมัสการพระเป็นเจ้าอย่างแท้จริงได้ (ดู อสย.1:10-17, อมส.5:21-24) ดังนั้น การเรียกร้องของพระสังฆราชผู้เข้าร่วมประชุม จึงเป็นเสียงสะท้อนของบรรดาประกาศกผู้เปี่ยมด้วยพระจิตเจ้า ผู้ปรารถนา “ความเมตตากรุณา มิใช่เครื่องบูชา” (ดู อสย.6:6) พระเยซูเจ้าทรงนำเอาคำเหล่านี้มาเป็นของพระองค์เอง (ดู มธ.9:13) บรรดานักบุญในทุกกาลเวลาและสถานที่ต่างก็กระทำเช่นเดียวกัน  ลองพิจารณาคำของนักบุญยอห์น คริสซอสโตม ที่ว่า “ท่านปรารถนาจะให้เกียรติแก่พระกายของพระคริสตเจ้าหรือ?  ถ้าเช่นนั้น ท่านก็อย่ามองข้ามพระองค์ไป เมื่อท่านเห็นว่าพระองค์ทรงไร้เครื่องนุ่งห่ม   อย่าถวายเกียรติพระองค์ด้วยผ้าไหมในพระวิหารเท่านั้น แต่แล้วกลับไม่สนใจพระองค์ เมื่อพระองค์ต้องเผชิญกับความหนาวและไร้เครื่องนุ่งห่มอยู่ข้างนอก พระองค์ผู้ตรัสว่า “นี่คือกายของเรา” คือพระองค์เดียวกับผู้ที่ตรัสไว้ว่า “ท่านเห็นเราหิว แต่ท่านมิได้ให้อาหารแก่เรา” ...จะมีประโยชน์อะไร ถ้าพระแท่นบูชาหนักหน่วงไปด้วยกาลิกส์ทอง ในเมื่อพระคริสตเจ้ากำลังสิ้นพระชนม์ด้วยความหิว? จงเริ่มต้นด้วยการกำจัดความหิวของพระองค์ และแล้วสิ่งที่เหลืออยู่ ท่านอาจนำเอาไปประดับประดาพระแท่นได้” ในการขอร้องของที่ประชุมสมัชชาให้มีการพัฒนามนุษย์ และความยุติธรรมในกิจกรรมของมนุษย์นั้น เราได้ยินเสียงที่เก่าและใหม่ เก่าเพราะมาจากห้วงลึกของสิ่งที่คริสตชน กระทำสืบต่อกันมา ซึ่งพยายามก่อให้เกิดความสมดุลย์ ซึ่งองค์พระผู้สร้างทรงปรารถนา ที่ใหม่ก็เพราะเป็นกล่าวถึงสภาพของคนเป็นจำนวนมากของเอเซียในปัจจุบัน