แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

สื่อมวลชน
48. ในยุคโลกาภิวัฒน์ “สื่อสารมวลชนมีความสลักสำคัญมาก จนกลายเป็นหนทางสำคัญของการรับรู้และการศึกษา ของการแนะนำและการจูงใจในความประพฤติในฐานะที่เป็นบุคคลคนหนึ่งในครอบครัว และในสังคมโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาเยาวชนที่กำลังเติบโตขึ้นในโลก ที่สื่อมวลชนตีกรอบให้ โลกกำลังเห็นวัฒนธรรมใหม่เกิดขึ้น  ซึ่ง “เกิดขึ้นมิใช่จากสิ่งที่แสดงออกมาเท่านั้น แต่จากความจริงที่ว่า ในปัจจุบัน มีวิธีใหม่ๆ ในการสื่อสาร โดยการใช้ภาษาใหม่ เทคนิคใหม่และจิตวิทยาใหม่” บทบาทอันโดดเด่นของสื่อมวลชนในการกำหนดรูปแบบของโลก ทั้งวัฒนธรรมและแนวความคิด ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และมีผลกว้างไกลในสังคมต่างๆ ของเอเซีย
    พันธกิจการแพร่ธรรมของพระศาสนจักร  ก็ได้รบผลกระทบอยากลึกซึ้งจากสื่อมวลชน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อสื่อมวลชนมีอิทธิพลมากขึ้น แม้ในพื้นที่ที่ห่างไกลในเอเซีย สื่อมวลชนจึงสามารถช่วยในการประกาศ พระวรสารทั่วทุกมุมในทวีปได้   แต่ “การใช้สื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่คำสอนคริสตศาสนา และคำสอนอันถูกต้องของพระศาสนจักรเท่านั้นยังไม่เพียงพอ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้คำสอนนี้ แทรกซึมเข้าไปใน “วัฒนธรรมใหม่” ซึ่งสื่อมวลชนในปัจจุบันได้สร้างขึ้น” ดังนั้น พระศาสนจักรจำต้องเสาะแสวงหาหนทางที่จะทำให้สื่อมวลชน เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนและกิจกรรมด้านงานอภิบาล เพื่อว่าการใช้สื่อมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพนี้ พลังแห่งพระวรสารจะได้แผ่ขยายออกไปกว้างไกลขึ้น ไปสู่บุคคลและชนชาติต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้วัฒนธรรมเอเซีย เปี่ยมไปด้วยคุณค่าแห่งพระอาณาจักร
    ข้าพเจ้าสะท้อนการชมเชยของพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสมัชชาเกี่ยวกับสถานีวิทยุ เวรีตัส เอเซีย ซึ่งเป็นสถานีวิทยุ ที่ครอบคลุมไปทั้งทวีปแห่งเดียวของพระศาสนจักรในเอเซีย ซึ่งได้ใช้เวลาเกือบสามสิบปีในการประกาศพระวรสารโดยการออกอากาศ ควรจะต้องมีความพยายามในอันที่ช่วยให้เครื่องมือแห่งพันธกิจอันดีเลิศนี้ เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ด้วยการจัดรายการภาษาต่างๆ ที่เหมาะสม จัดบุคลากรและความช่วยเหลือในด้านทุนทรัพย์ จากสภาพระสังฆราชและสังฆมณฑลต่างๆ ในเอเซีย นอกจากนั้นวิทยุ การพิมพ์คาทอลิก และแหล่งข่าวต่างๆ ยังสามารถช่วยในการกระจายข่าว และให้ด้านการศึกษาเกี่ยวกับศาสนา และการอบรมไปทั่วทวีป ในที่ที่คริสตชนเป็นชนกลุ่มน้อย สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาและหล่อเลี้ยงความรู้สึก และความเป็นตัวของตัวเอง และเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหลักธรรมของคาทอลิก
    ข้าพเจ้าขอนำเอาข้อเสนอแนะของพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสมัชชา เกี่ยวกับการแพร่ธรรมอาศัยสื่อมวลชนซึ่งนับเป็น “เนินเขาสูงสมัยใหม่” มาพิจารณา โดยหวังว่าสื่อมวลชนจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาบุคคล และเผยแพร่ความจริงของพระคริสตเจ้า และคำสอนของพระศาสนจักร หากเป็นไปได้ แต่ละสังฆมณฑลควรจัดให้มีสำนักงานสื่อมวลชน ควรให้การศึกษาเกี่ยวกับสื่อมวลชน  ซึ่งรวมไปถึงการพิจารณาถึงคุณค่าของสิ่งที่สื่อมวลชนป้อนเข้าไปยังสื่อต่างๆ นั้น ควรมีบทบาทมากขึ้นในการอบรมพระสงฆ์ สามเณร นักบวช ครูคำสอน ฆราวาสผู้มีความชำนาญพิเศษ นักเรียนในโรงเรียนคาทอลิก และกลุ่มคริสตชนตามวัดต่างๆ ในเมื่อสื่อมวลชนมีอิทธิพลกว้างไกลและมากมาย  คาทอลิกควรร่วมมือกับคริสตจักรนิกายอื่น และกลุ่มคริสตชนอื่น ตลอดจนผู้นับถือศาสนาอื่น เพื่อให้แน่ใจ  คุณค่าทางฝ่ายจิตใจและศีลธรรม มีบทบาทในสื่อต่างๆ ข้าพเจ้าขอส่งเสริมและเห็นด้วยกับพระสังฆราชผู้เข้าร่วมประชุมสมัชชา ให้มีการจัดแผนอภิบาลเกี่ยวกับสื่อมวลชนในระดับชาติ และในระดับสังฆมณฑล ตามแนวทางที่ให้ไว้ สาสน์อภิบาล “ยุคใหม่” (Aetatis Novae) โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อสถานภาพต่างๆ ในเอเซีย