ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือมัคคาบี


1)    หนังสือมัคคาบีทั้งสองฉบับไม่อยู่ในสารบบพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูของชาวยิว พระศาสนจักรคาทอลิกรับว่าหนังสือนี้ได้รับการดลใจ จึงจัดไว้ใน “สารบบที่สอง” (“Deutero-canonical” books) หนังสือทั้งสองฉบับนี้กล่าวถึงการที่ชาวยิวสู้รบกับกษัตริย์แห่งราชวงศ์เซเลวซิด เพื่อเสรีภาพทางศาสนาและการเมือง ชื่อ “มัคคาบี” ของหนังสือนี้ได้มาจากสมญา “มัคคาเบอุส” (Maccabaeus) ซึ่งยูดาสพระเอกของเรื่องได้รับ (1 มคบ 2:4) และต่อมาก็ใช้กับบรรดาพี่น้องของเขาด้วย

2)    หนังสือมัคคาบีฉบับที่หนึ่งเริ่มเล่าเรื่องราวของคู่อริสองฝ่าย ซึ่งไม่มีวันจะเข้าดีกันได้ (คำนำ บทที่ 1-2) การแผ่อารยธรรมกรีกกำลังประสบชัยชนะ ชาวยิวบางคนนิยมชมชอบและสนับสนุนขบวนการนี้ แต่ชาวยิวส่วนใหญ่ที่ยังรักษาความซื่อสัตย์ต่อธรรมบัญญัติและพระวิหารต่อต้านไม่ยอมรับอารยธรรมนี้ ฝ่ายหนึ่งมีกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส เป็นผู้ลบหลู่พระวิหารและเบียดเบียนชาวยิว อีกฝ่ายหนึ่งมีมัทธาธีอัสเป็นผู้ริเริ่มการต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางศาสนา เรื่องราวในหนังสือแบ่งได้เป็น 3 ภาค แต่ละภาคเป็นเรื่องราวกิจกรรมของบุตร 3 คนของมัทธาธีอัส ซึ่งเป็นผู้นำขบวนการต่อต้านนี้สืบต่อกัน บุตรคนสำคัญ ยูดาส มัคคาบี (166-160 ก.ค.ศ.) ใน 3:1 – 9:22 มีชัยชนะแม่ทัพของกษัตริย์อันทิโอคัสหลายครั้ง ยึดพระวิหารคืนมาได้ ทำพิธีถวายพระวิหารและทำให้ชาวยิวมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ในรัชสมัยของกษัตริย์เดเมตริอัสที่ 1 เขาต้องเผชิญกับอุปสรรคภายในจากกลอุบายของอัลชีมัสมหาสมณะ แต่เขาก็ยังประสบความสำเร็จในสมรภูมิ นิคาโนร์ซึ่งยกทัพมาจะทำลายพระวิหารต้องประสบความพ่ายแพ้และถูกฆ่าตาย ยูดาสยังทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับชาวโรมัน แต่ในที่สุดเขาก็เสียชีวิตในการรบ หลังจากความตายของยูดาส โยนาธาน น้องชายเป็นผู้นำชาวยิวต่อมา (160-134 ก.ค.ศ.) 9:23 – 12:53 โยนาธานใช้การเมืองนำการทหาร โดยช่วยกำจัดคู่แข่งที่พยายามแย่งชิงราชบัลลังก์ของอาณาจักรซีเรีย กษัตริย์อเล็กซานเดอร์บาลัสทรงแต่งตั้งเขาเป็นมหาสมณะ กษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 2 ทรงรับรองการแต่งตั้งนี้ และกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 6 ก็ทรงรับรองอีกครั้งหนึ่งด้วย  เขาทำสนธิสัญญากับชาวโรมันและชาวสปาร์ตา ได้ดินแดนเข้ามาปกครองเพิ่มเติม ชาวยิวรู้สึกว่ามีสันติภาพแน่นอนแล้ว แต่ในที่สุดโยนาธานก็เสียทีตกอยู่ในมือของตรีโฟ ซึ่งประหารชีวิตทั้งโยนาธานและยุวกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 6  หลังจากนั้น ซีโมน พี่ชายของโยนาธาน (142-134 ก.ค.ศ.) 13:1 – 16:24 ให้การสนับสนุนกษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 2 ซึ่งทรงชิงราชบัลลังก์คืนมาได้ และทรงรับรองซีโมนเป็นมหาสมณะ แม่ทัพและผู้ปกครอง (Ethnarch) ของชาวยิว กษัตริย์อันทิโอคัสที่ 7 ที่ทรงครองราชย์สืบต่อมาก็ทรงทำเช่นเดียวกัน ชาวยิวจึงได้รับอิสรภาพทางการเมืองและประกาศรับรองตำแหน่งต่างๆดังกล่าวของซีโมน เขาได้รื้อฟื้นสนธิสัญญากับชาวโรมันอีก ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพ  แต่กษัตริย์อันทิโอคัสที่ 7 กลับทรงเป็นอริกับชาวยิว และบุตรเขยของซีโมนได้ลอบฆ่าซีโมนพร้อมกับบุตรชายสองคน โดยหวังจะได้ความดีความชอบจากกษัตริย์
    เรื่องราวที่เล่าในหนังสือ 1 มคบ ครอบคลุมช่วงเวลาราว 40 ปี นับตั้งแต่กษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสทรงครองราชย์ย์ในปี 175 ก.ค.ศ. จนถึงความตายของซีโมนในปี 134 ก.ค.ศ. เมื่อยอห์นฮีร์กัน บุตรของเขาขึ้นสืบตำแหน่งต่อมา หนังสือฉบับนี้เขียนเป็นภาษาฮีบรูแต่ตกทอดมาถึงเราในฉบับแปลภาษากรีกเท่านั้น ผู้เขียนเป็นชาวยิวในปาเลสไตน์ คงได้เขียนหนังสือนี้หลังปี 134 ก.ค.ศ. แต่คงก่อนที่ปอมเปย์ จอมทัพชาวโรมันจะเข้ายึดกรุงเยรูซาเล็มได้ในปี 63 ก.ค.ศ. บรรทัดสุดท้ายของหนังสือ (16:23-23) แสดงว่าหนังสือนี้เขียนขึ้นอย่างเร็วที่สุดราวปลายรัชกาลของยอห์นฮีร์กัน หรือน่าจะไม่นานหลังจากความตายของเขา คือราวปี 100 ก.ค.ศ. หนังสือฉบับนี้จึงมีคุณค่ามากที่ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับระยะเวลาช่วงนั้น แต่เราก็ต้องไม่เคร่งครัดกับข้อมูลมากนัก เมื่อคำนึงถึงลักษณะวรรณกรรมของงานเขียนที่ได้รับอิทธิพลจากการเขียนจดหมายเหตุของชาวอิสราเอลในสมัยโบราณที่หนังสือ 1 มคบ นี้ใช้เป็นแบบอย่าง และยังต้องคำนึงถึงเจตนาของผู้เขียนด้วย
    แม้ผู้เขียนจะบรรยายอย่างยืดยาวถึงการสู้รบและการแข่งขันชิงดีกันทางการเมือง แต่เขาก็ยังมีเจตนาเขียน “ประวัติศาสตร์ทางศาสนา” ด้วย เขาคิดว่าความทุกข์ยากของชาติเป็นการที่พระเจ้าทรงลงโทษบาปของประชากร และความสำเร็จของบุคคลสำคัญในเรื่องเป็นผลจากความช่วยเหลือของพระเจ้า ผู้เขียนเป็นชาวยิว มีความห่วงใยต่อความเชื่อที่เขารู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม เมื่อขนบประเพณีของชนต่างชาติพยายามแทรกซึมเข้ามาทำลายขนบประเพณีดั้งเดิมของบรรพบุรุษ เขาจึงเป็นอริอย่างที่สุดไม่ยอมรับอารยธรรมกรีก และมีความนิยมชมชอบอย่างยิ่งต่อบรรดาวีรบุรุษที่ต่อสู้เพื่อป้องกันธรรมบัญญัติและพระวิหาร จนได้รับอิสรภาพในการปฏิบัติศาสนกิจมาก่อน แล้วยังได้รับอิสรภาพทางการเมืองตามมาด้วย เรื่องเล่าของเขาเล่าว่าลัทธิยิวซึ่งเป็นผู้รักษาความจริงที่พระเจ้าทรงเปิดเผย ได้ทำหน้าที่อย่างไรเพื่อรักษาการเปิดเผยความจริงนี้ไว้ให้แก่ชาวโลก

3)    หนังสือมัคคาบีฉบับที่สองไม่ใช่เรื่องราวต่อจากฉบับที่หนึ่ง เรื่องราวใน 2 มคบ ส่วนหนึ่งซ้ำกับเรื่องราวใน 1 มคบ       หนังสือ 2 มคบ เริ่มเล่าถึงเหตุการณ์ก่อนเหตุการณ์ใน 1 มคบ เล็กน้อย คือเริ่มตั้งแต่ปลายรัชกาลของกษัตริย์เซเลวคัสที่ 4 พระราชบิดาของกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส แต่จบลงที่เรื่องยูดาส มัคคาบีรบชนะนิคาโนร์ เพราะฉะนั้นเรื่องราวใน 2 มคบ จึง ครอบคลุมช่วงเวลาราว 15 ปี ตรงกับ 7 บทแรกในหนังสือ 1 มคบ
    ลักษณะวรรณกรรมของ 2 มคบ ยังต่างกับ 1 มคบ อีกด้วย  หนังสือนี้เขียนขึ้นเป็นภาษากรีกตั้งแต่แรก และอ้างว่าเป็นการย่องานเขียนของนักเขียนชื่อยาโสนแห่งไซรีน (2:19-32) นำด้วยจดหมาย 2 ฉบับซึ่งชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มส่งไปถึงชาวยิวในอียิปต์ (1:1 – 2:18) ลีลาการเขียนเป็นลีลาของนักเขียนชาวกรีก แต่ก็ไม่ใช่ลีลาแบบดีที่สุด บางครั้งมีลีลาโอ่อ่า ยืดยาด มีลักษณะเป็นบทเทศน์มากกว่าประวัติศาสตร์ แต่ผู้เขียนก็แสดงว่าตนรู้จักสถาบันและบุคคลสำคัญร่วมสมัยดีกว่าผู้เขียน 1 มคบ
    ผู้เขียน 2 มคบ มีเจตนาให้ผู้อ่านได้รับความสนุกและเห็นแบบอย่างน่าประพฤติตาม (2:25; 15:39) ได้แก่เรื่องการสู้รบของยูดาส มัคคาบีเพื่ออิสรภาพ มีเรื่องอภินิหารการประจักษ์จากสวรรค์มาเสริมและจบลงด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า (2:19-22) เขาเล่าว่าการที่ชาวยิวถูกเบียดเบียนเป็นการที่พระเจ้าทรงสำแดงความรักมั่นคงของพระองค์ เพื่อเตือนให้ประชากรสำนึกถึงความผิดก่อนที่จะทำผิดมากจนถูกพระองค์ลงโทษ (6:12-17)    ผู้เขียน 2 มคบ เขียนถึงชาวยิวที่เมืองอเล็กซานเดรีย เพื่อปลุกความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับพี่น้องชาวยิวในแผ่นดินปาเลสไตน์ โดยเฉพาะเขาต้องการปลุกใจชาวยิวที่เมืองอเล็กซานเดรียให้สนใจต่อสถานภาพของพระวิหาร ซึ่งเป็นศูนย์กลางชีวิตของชาวยิวซึ่งปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ และเป็นเป้าโจมตีจากชนต่างชาติ ความห่วงใยเช่นนี้ปรากฏชัดในการเรียบเรียงเรื่องราวในหนังสือ
    หลังจากเล่าเรื่องเฮลีโอโดรัสล้มเหลวในการปล้นพระวิหาร (3:1-40) เขาแสดงให้เห็นว่าพระวิหารเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีใครล่วงละเมิดได้ เรื่องราวในภาคแรก (4:1 – 10:8) จบลงด้วยเรื่องการสวรรคตของกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส ผู้เบียดเบียนชาวยิวและทำให้พระวิหารมีมลทิน ตามด้วยเรื่องการตั้งวันฉลองถวายพระวิหาร ภาคสอง (10:9 – 15:36) ก็จบด้วยเรื่องความตายของนิคาโนร์ ผู้เบียดเบียนชาวยิวอีกคนหนึ่ง ซึ่งคุกคามจะทำลายพระวิหาร และการตั้งวันฉลองระลึกถึงเหตุการณ์นี้ จดหมายนำทั้งสองฉบับก็สืบเนื่องมาจากความคิดหลักเดียวกัน (1:1 – 2:18) คือเป็นการเชิญที่ชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็มส่งไปถึงเพื่อนร่วมชาติร่วมศาสนาในอียิปต์ ให้ฉลองการชำระพระวิหารและฉลองการถวายพระวิหาร
    ความตายของนิคาโนร์เป็นเหตุการณ์สุดท้ายที่เล่าในหนังสือ จึงชวนให้คิดว่างานเขียนของยาโสนแห่งไซรีนนี้คงเสร็จไม่นานหลังจากปี 160 ก.ค.ศ. ถ้าผู้ที่สรุปย่อผลงานชิ้นนี้เป็นเจ้าของจดหมายนำทั้งสองฉบับในบทที่ 1-2 ด้วย (แต่เรื่องนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงไม่ยุติ) น่าจะสรุปได้จากข้อสังเกตใน 1:9 ว่าหนังสือ 2 มคบ ในรูปแบบย่อฉบับปัจจุบันเขียนเสร็จในปี 124 ก.ค.ศ. หนังสือ 2 มคบ นี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อยด้วย แม้ว่าผู้สรุปงานของยาโสนแห่งไซรีน (หรืออาจเรียกว่า “ผู้เรียบเรียง”) รับเอาเรื่องเล่าลือไม่จริงที่อยู่ในจดหมายฉบับที่สอง (1:10ข – 2:18) เล่าเรื่องน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับเฮลีโอโดรัสในบทที่ 3 เรื่องการยอมตายเป็นมรณสักขีของเอเลอาซาร์ใน 6:18-31 และเรื่องการเป็นมรณสักขีของพี่น้องเจ็ดคนในบทที่ 7 ซึ่งเขาพบในผลงานของยาโสน และใช้เป็นตัวอย่างสนับสนุนความคิดทางศาสนาของเขาได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม เรื่องราวส่วนใหญ่ซึ่งตรงกับที่เล่าใน 1 มคบ เป็นประกันว่าเรื่องราวที่ได้มาจากแหล่งข้อมูล 2 แหล่งที่ไม่เกี่ยวกันนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มีอยู่เรื่องหนึ่งที่แหล่งข้อมูลทั้งสองแหล่งขัดแย้งกัน และ 2 มคบ ดูเหมือนจะถูกต้องกว่า คือ 1 มคบ 6:1-13 เล่าว่าพิธีชำระพระวิหารเกิดขึ้นก่อนที่กษัตริย์ออันทิโอคัส เอปีฟาเนสจะสวรรคต แต่ 2 มคบ 9:1-29 เล่าว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายหลัง จดหมายเหตุลำดับเหตุการณ์แห่งบาบิโลนที่เพิ่งพิมพ์เผยแพร่พิสูจน์ว่าข้อมูลของ 2 มคบ ถูกต้อง กษัตริย์อันทิโอคัสสวรรคตในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ปี 164 ก.ค.ศ. ก่อนพิธีถวายพระวิหารซึ่งมีขึ้นในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เกี่ยวกับข้อความที่พบได้เฉพาะใน 2 มคบ เราไม่มีเหตุผลที่จะสงสัยว่าข้อมูลในบทที่ 4 เกี่ยวกับช่วงเวลาก่อนหน้าที่กษัตริย์อันทิโอคัสจะละเมิดพระวิหารนั้นจะไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม มีข้อผิดพลาดประการหนึ่งซึ่งต้องกล่าวว่ามาจากความผิดของผู้สรุปย่อ ไม่ใช่ความผิดของยาโสน คือเขาได้เพิ่มจดหมายอื่นหลายฉบับและเรื่องราวของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนปลายรัชกาลของกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 4 ซึ่งน่าจะแทรกอยู่ระหว่างบทที่ 8 กับบทที่ 9 มารวมไว้กับพระราชสาสน์ของกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 5 (2 มคบ 11:22-26)
    หนังสือ 2 มคบ มีความสำคัญเพราะยืนยันชัดเจนถึงความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพของผู้ตาย (ดู 7:9ค; 14:46) เรื่องบำเหน็จรางวัลและการลงโทษในชีวิตหน้า (6:26) เรื่องการภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ (ข้อ 12:38 เชิงอรรถ j; ข้อ 41-46 ฯลฯ) เรื่องผลทางจิตของการเป็นมรณสักขี (6:18 – 7:41) เรื่องที่บรรดานักบุญอาจวอนขอพระเจ้าแทนเราได้ (15:12-16, ข้อ 14 และ 14 เชิงอรรถ e) ข้อเขียนตอนอื่นๆในพันธสัญญาเดิมกล่าวถึงคำสอนต่างๆเหล่านี้อย่างคลุมเครือ การกล่าวยืนยันถึงคำสอนเหล่านี้ทำให้เห็นชัดว่าการที่พระศาสนจักรให้ความสำคัญแก่หนังสือ 2 มคบ นี้เป็นการถูกต้องแล้ว
    ในปัจจุบันเราเข้าใจได้ดีขึ้นถึงระบบนับลำดับเวลาที่หนังสือแต่ละฉบับใช้ จากการค้นพบเอกสารแผ่นดินเผาที่เขียนด้วยอักษรรูปลิ่ม (cuneiform) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลำดับพระนามกษัตริย์ราชวงศ์เซเลวซิด และลำดับพระนามนี้ทำให้เรากำหนดเวลาสวรรคตของกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสได้ถูกต้อง  หนังสือ 1 มคบ นับลำดับเวลาโดยใช้ปฏิทินของชาวมาซิโดเนียที่เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 312 ก.ค.ศ. ขณะที่ 2 มคบ ใช้ปฏิทินของชาวยิวซึ่งนับลำดับเวลาตามอย่างชาวบาบิโลน ที่เริ่มตั้งแต่เดือนนิสาน (3 เมษายน) ปี 311 ก.ค.ศ. แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นอีกสองเรื่อง นั่นคือ หนังสือ  1 มคบ ใช้ปฏิทินของชาวยิว-บาบิโลนกำหนดเวลาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระวิหารและประวัติศาสตร์ของชาวยิว (1:54; 2:70; 4:52; 9:3,54; 10:21; 13:41,51; 14:27; 16:14) แต่จดหมายที่อยู่ใน 2 มคบ 11 ใช้ปฏิทินของชาวมาซิโดเนียเป็นตัวกำหนดเวลาดังที่น่าจะเป็น
    ตัวบทของหนังสือมัคคาบีตกทอดมาถึงเรา ในต้นฉบับอักษรตัวใหญ่ (uncial manuscripts) 3 ฉบับ คือ ฉบับจากภูเขาซีนาย (Codex Sinaiticus)   ฉบับจากเมืองอเล็กซานเดรีย (Codex Alexandrinus) และฉบับจากเมืองเวนิส (Codex Venetus) และในต้นฉบับอักษรตัวเล็ก (minuscules) ราว 30 ฉบับ แต่น่าเสียดายที่ในต้นฉบับจากภูเขาซีนาย (S) ซึ่งเป็นตัวบทที่รักษาไว้ดีที่สุด ขาดข้อความที่ตรงกับ 2 มคบ       ต้นฉบับอักษรตัวเล็กซึ่งมีรูปแบบตามที่พระสงฆ์ที่ชื่อ “ลูเชียน” (Lucian) ปรับปรุงแก้ไขราวปี ค.ศ. 300 บางครั้งรักษาตัวบทที่เก่าแก่กว่าตัวบทในต้นฉบับโบราณภาษากรีกฉบับอื่นหลายฉบับ และเก่าแก่กว่าตัวบทฉบับที่ Flavius Josephus นักประวัติศาสตร์ชาวยิวใช้อ้างถึงในหนังสือ “ประวัติศาสตร์โบราณของชาวยิว” (Antiquities of the Jews) ตามปรกติ Josephus มักเล่าเรื่องตาม 1 มคบ โดยไม่ใช้ 2 มคบ เลย     สำนวนแปลภาษาละตินโบราณ (Vetus Latina) ยังแปลจากตัวบทภาษากรีกซึ่งบ่อยๆดีกว่าตัวบทของต้นฉบับที่เรารู้จักด้วย