ความรู้เรื่องหนังสือบารุค


หนังสือบารุคอยู่ในกลุ่มหนังสือ  “สารบบที่สอง”    ไม่พบใน พระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรู พระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกจัดหนังสือฉบับนี้ ไว้ระหว่างหนังสือประกาศกเยเรมีย์ และเพลงคร่ำครวญ ส่วนพระคัมภีร์ภาษาละตินฉบับVulgata จัดหนังสือฉบับนี้ไว้ทันทีหลัง“เพลงคร่ำครวญ” เรารู้จากอารัมภบท (1:1-14) ของหนังสือนี้ว่าบารุค ซึ่งเป็นเลขานุการของประกาศกเยเรมีย์ เขียนหนังสือฉบับนี้ที่กรุงบาบิโลนหลังจากที่ชาวยิวถูกจับเป็นเชลยไปที่นั่น และส่งหนังสือนี้มาถึงชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มสำหรับอ่านในการประชุมประกอบพิธีกรรม หนังสือนี้มีเนื้อหาดังนี้ [1] บทอธิษฐานภาวนาสารภาพความผิดที่ได้ทำ แต่ก็แสดงความหวัง (1:15 – 3:8); [2] บทประพันธ์เกี่ยวกับ “ปรีชาญาณ” (3:9 – 4:4) กล่าวว่า “ธรรมบัญญัติ” (Torah) คือปรีชาญาณ; [3] คำพยากรณ์ (4:5 – 5:9) ซึ่งกรุงเยรูซาเล็มกล่าวกับชาวยิวในถิ่นเนรเทศ และประกาศกปลอบโยนเขาทั้งหลายให้มีความหวังในพระเมสสิยาห์
    อารัมภบทเขียนเป็นภาษากรีก ส่วนบทอธิษฐานภาวนาใน 1:15 – 3;8 นั้นเห็นได้ชัดว่ามีต้นฉบับเป็นภาษาฮีบรูเช่นเดียวกับข้อความในภาคที่ [2] และ [3] ผลงานชิ้นนี้น่าจะเขียนขึ้นราวกลางศตวรรษแรกก่อนคริสตกาลแน่ๆ
    ในพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีก หนังสือเพลงคร่ำครวญแยก “จดหมายของประกาศกเยเรมีย์” ออกจากหนังสือบารุค แต่พระคัมภีร์ภาษาละตินฉบับ Vulgata รวมจดหมายนี้ (โดยมีชื่อต่างหาก) ไว้กับหนังสือบารุค นับเป็นบทที่ 6 -- “จดหมาย” นี้เป็นข้อความต่อต้านการนับถือรูปเคารพ โดยพิสูจน์ให้เห็นว่าการกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องไร้เหตุผล

ลีลาการเขียนไม่มีอะไรเด่นเป็นพิเศษ เป็นการขยายความคิดที่มีอยู่แล้วใน อสย 44:9-20; ยรม 10:1-16 การนับถือรูปเคารพที่ถูกต่อต้านเป็นการปฏิบัติของชาวบาบิโลนในสมัยหลัง จดหมายฉบับนี้น่าจะเขียนเป็นภาษาฮีบรูตั้งแต่แรก แต่ก็เป็นผลงานในสมัยชาวกรีกปกครอง แม้จะเจาะจงให้ชัดลงไปไม่ได้ว่าเขียนขึ้นเมื่อไร  ก็ดูเหมือนว่า 2 มคบ 2:1-3 กล่าวพาดพิงถึง “จดหมาย” ฉบับนี้
    นักวิชาการใช้หลักฐานทางโบราณคดีบอกได้ว่า ชิ้นส่วนเล็กๆชิ้นหนึ่งของตัวบทภาษากรีกซึ่งพบได้ที่ถ้ำกุมรานมีอายุตั้งแต่ราวปี 100 ก.ค.ศ.
    ข้อเขียนทั้งหมดนี้ซึ่งถูกรวบรวมไว้ในชื่อของ “บารุค” ให้ข้อมูลที่มีค่าเกี่ยวกับชุมชนชาวยิวซึ่งอยู่นอกแผ่นดินปาเลสไตน์ (Diaspora) ว่าเขามีวิธีการอย่างไรเพื่อรักษาความเชื่อทางศาสนาของตนไว้ ได้แก่การมีความสัมพันธ์กับกรุงเยรูซาเล็ม การอธิษฐานภาวนา ความเลื่อมใสต่อธรรมบัญญัติ ความกระหายอยากได้รับรางวัลตอบแทนจากพระเจ้า ความหวังในพระเมสสิยาห์  หนังสือบารุค เช่นเดียวกับหนังสือเพลงคร่ำครวญ เป็นพยานแสดงให้เห็นว่าชาวยิวยังมีความเคารพนับถืออย่างมั่นคงต่อประกาศกเยเรมีย์ หนังสือสั้นๆทั้งสองฉบับนี้อ้างว่าเป็นผลงานของท่านประกาศกและของศิษย์ของท่าน ชาวยิวยังให้ความเคารพต่อบารุคยิ่งขึ้นต่อๆมา ตั้งแต่ศตวรรษที่สอง ก.ค.ศ. มีหนังสือประเภท “วิวรณ์” นอกสารบบพระคัมภีร์ 2 ฉบับมีชื่อของเขา ฉบับหนึ่งพบได้ในภาษากรีก อีกฉบับหนึ่งพบได้ในภาษาซีเรียค (เรายังมีชิ้นส่วนคำแปลภาษากรีกของฉบับนี้อยู่บ้างอีกด้วย)