Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
8 กุมภาพันธ์
“เราคือพระยาห์เวห์ พระเจ้าของท่าน... ท่านอย่ามีพระเจ้าอื่นใดนอกจากเรา” (ฉธบ 5:6)
จงสรรเสริญพระเจ้า
บทไตร่ตรอง
หากสังเกตจะพบว่า พระบัญญัติข้างต้นนี้อ้างอิงพระคัมภีร์ด้วยประโยคเดียวกันกับของเมื่อวันวาน แต่มาจากหนังสือเล่มต่างกัน คือเป็นหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ แทนที่จะเป็นหนังสืออพยพ
แม้ว่าพระบัญญัติสิบประการระบุชัดเจนในรูปแบบข้อห้าม แต่ก็ เป็นคำสั่งในเชิงบวก เช่น พระบัญญัติที่ห้ามนมัสการพระเท็จเทียม ก็เท่ากับเป็นการเน้นให้สรรเสริญองค์พระเจ้าเที่ยงแท้ เป็นต้น
วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 5
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 1:29-39)
ทันทีที่ออกจากศาลาธรรม พระเยซูเจ้าเสด็จเข้าไปในบ้านของซีโมนและอันดรูว์พร้อมกับยากอบและยอห์น มารดาของภรรยาซีโมนกำลังนอนป่วยเป็นไข้อยู่ เขาจึงทูลพระองค์ให้ทรงทราบทันที พระองค์เสด็จเข้าไปจับมือนาง พยุงให้ลุกขึ้น นางก็หายไข้ และรับใช้ทุกคน
เย็นวันนั้น เมื่อดวงอาทิตย์ตกแล้ว มีคนนำผู้ป่วยและผู้ถูกปีศาจสิงมาเฝ้าพระองค์ คนทั้งเมืองมารวมกันที่ประตู พระองค์ทรงรักษาหลายคนที่เป็นโรคต่างๆ ให้หาย ทรงขับไล่ปีศาจออกไป แต่ไม่ทรงอนุญาตให้มันพูด เพราะมันรู้จักพระองค์
วันต่อมา พระองค์ทรงลุกขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ เสด็จออกจากบ้านไปยังที่สงัดและทรงอธิษฐานภาวนาที่นั่น ซีโมนและผู้ที่อยู่กับเขาตามหาพระองค์ เมื่อพบแล้ว จึงทูลพระองค์ว่า “ทุกคนกำลังแสวงหาพระองค์” พระองค์ตรัสตอบว่า “เราไปที่อื่นกันเถิด ไปตามตำบลใกล้เคียง เพื่อจะได้เทศน์สอนที่นั่นด้วย เพราะเรามาด้วยจุดประสงค์นี้” พระองค์จึงเสด็จไปเทศน์สอนตามศาลาธรรมทั่วแคว้นกาลิลี ทรงขับไล่ปีศาจด้วย
มก 1:29-39 พระคริสตเจ้าทรงร่วมเอกลักษณ์ของพระองค์เองกับบรรดาผู้ที่ทนทุกข์ทรมาน และงานรักษาของพระองค์นั้นเป็นการแผ่ขยายความรักและพระเมตตาของพระองค์ ที่สงัด: พระคริสตเจ้ามักทรงหาสถานที่ส่วนพระองค์สำหรับอยู่ลำพังเพื่อการสวดภาวนา พระศาสนจักรเชื้อเชิญให้เราทำเช่นเดียวกันเมื่อต้องเผชิญกับความจำเจของชีวิตในแต่ละวัน เพื่อการสวดภาวนาส่วนตัว การรำพึงภาวนา และทำกิจศรัทธาส่วนรวม
Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
7 กุมภาพันธ์
“เราคือพระยาห์เวห์ พระเจ้าของท่าน... ท่านต้องไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากเรา” (อพย 20:2-3)
นมัสการพระเจ้าแต่องค์เดียว
บทไตร่ตรอง
ความคล้ายคลึงกันฝ่ายจิตที่ชัดเจน ระหว่างคริสตชน ชาวยิว และมุสลิมคือ ความเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว เช่น คาทอลิก สวดบทยืนยันความเชื่อสัปดาห์ละครั้ง โดยภาวนาว่า “ข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว” เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้ง อาจมีอุปสรรคอื่นกีดกันเราจากการถวายดวงใจที่บริสุทธิ์แด่พระเจ้า เช่น ความกังวลเรื่องอำนาจ หรือความสนุกเพลิดเพลิน หรือความหิวที่บางครั้งขาดการควบคุมตน
ข้อคิดข้อรำพึง
พระวาจาพระเจ้า ของอาทิตย์ที่ 5 เทศกาลธรรมดา ปี B
เรื่องของโยบในบทอ่านแรกเป็นเรื่องที่น่ารับไว้พิจารณา
หนังสือโยบ เล่าเรื่องบุรุษผู้หนึ่งซึ่งดูเหมือนว่ามีความเพียบพร้อมเป็นอย่างยิ่งกับชีวิตในตอนต้นๆ เช่นว่า เขามีภรรยาที่น่ารัก มีลูกชาย 7 คน และลูกสาว 3 คน เขามีสมบัติพัสถานมากกว่าใครๆ เขาเป็นคนดี ไม่เคยใช้อำนาจและความร่ำรวยไปในทางที่ผิด มีแต่ใช้ในการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการด้วยใจกรุณาเป็นอย่างยิ่ง
แต่ความศรัทธาในพระและความดีต่อผู้อื่นของโยบถูกทดสอบ
หายนะโถมกระหน่ำเข้ามาเหมือนระลอกคลื่นที่ไม่ยอมหยุด เขาสูญเสียครอบครัว สูญเสียเพื่อนๆ สูญเสียความโชคดี สูญเสียทรัพย์สมบัติ ผู้ส่งข่าวหรือ Messengers ต่างก็เข้ามารายงานให้โยบทราบแต่เรื่องที่น่ากลัว ที่ต้องสูญเสียไป และโศกนาฏกรรม สิ่งที่โยบทำได้ก็คือ ฉีกเสื้อคลุม โกนศีรษะแสดงความทุกข์ กราบลงหน้าจรดพื้น กล่าวว่า “ข้าพเจ้าตัวเปล่าออกมาจากครรภ์มารดา ข้าพเจ้าก็จะตัวเปล่ากลับไป องค์พระเจ้าประทานให้มา องค์พระเจ้าทรงเอาคืน”
6 กุมภาพันธ์
ระลึกถึง นักบุญเปาโล มีกิ พระสงฆ์ และเพื่อนมรณสักขี
(St.Paul Miki and Companions, Martyrs, memorial)
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พระศาสนจักรคาทอลิกเทิดเกียรติมรณสักขีแห่งเมืองนางาซากิจำนวน 26 ท่าน ซึ่งประกอบไปด้วยพวกคาทอลิกที่เป็นคนพื้นเมืองชาวญี่ปุ่น และพวกมิชชันนารีชาวต่างประเทศที่ถูกฆ่าตายเพื่อยืนยันความเชื่อในปี ค.ศ. 1597
ในช่วงศตวรรษที่ 16 ความเชื่อคาทอลิกได้ไปถึงญี่ปุ่นโดยความพยายามของมิชชันนารีคณะเยสุอิต คือนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ (1506-1552) แม้หลังความตายของท่านนักบุญ คณะเยสุอิตก็ยังดำเนินงานแพร่ธรรมต่อไป ประมาณว่ามีชาวญี่ปุ่นเข้ามาอยู่ในพระศาสนจักร 200,000 คน ในปี ค.ศ. 1587
ต่อมาเกิดความตึงเครียดเรื่องศาสนาจนนำไปสู่ช่วงเวลาแห่งการเบียดเบียนในปีนั้นเอง มีวัดมากมายถูกทำลาย และพวกมิชชันนารีต้องแอบแพร่ธรรมอย่างลับๆ มีการยอมตายเป็นมรณสักขีเกิดขึ้นในช่วงเวลาเหล่านี้บ้าง 2-3 ครั้ง แต่ภายในเวลา 10 ปีกลับมีคริสตชนชาวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 100,000 คน แม้ถูกแทรกแซงห้ามปราม
วันเสาร์ สัปดาห์ที่ 4
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 6:30-34)
เวลานั้น บรรดาอัครสาวกกลับมาเฝ้าพระเยซูเจ้าและทูลรายงานให้ทรงทราบถึงทุกสิ่งที่เขาได้ทำและได้สอน พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงมาพักผ่อนกับเราตามลำพังในที่สงัดระยะหนึ่งเถิด” เพราะมีคนไปมาจนเขาไม่มีเวลาแม้กระทั่งจะกินอาหาร พระเยซูเจ้าจึงทรงลงเรือไปยังที่สงัดพร้อมกับบรรดาอัครสาวก ประชาชนหลายคนเห็นพระเยซูเจ้ากับบรรดาอัครสาวกแล่นเรือออกไป ก็คาดคะเนได้ว่า พระองค์จะทรงไปที่ใด จึงรีบเดินเท้าออกจากเมืองต่าง ๆ ไปที่นั่นและไปถึงก่อน เมื่อเสด็จขึ้นจากเรือ ทรงแลเห็นประชาชนมากมายก็ทรงสงสาร เพราะเขาเหล่านั้นเป็นดังฝูงแกะไม่มีคนเลี้ยง พระองค์จึงทรงเริ่มสั่งสอนเขาหลายเรื่อง
มก 6:30-44 เหมือนดังเช่นพระวรสารเล่มอื่น อัศจรรย์การเลี้ยงอาหารประชาชนของพระคริตเจ้า ด้วยการทวีขนมปังและปลาเพียงไม่มาก ทำให้ระลึกถึงอัศจรรย์การเลี้ยงอาหารในพันธสัญญาเดิม (คือ มานนาในทะเลทราย) และเป็นการอ้างอิงล่วงหน้าถึงศีลมหาสนิท ซึ่งจะหล่อเลี้ยงผู้คนได้มากมายมหาศาล การที่พระองค์เทศน์สอนประชาชนตามด้วยอัศจรรย์การทวีขนมปังและปลา เตือนให้ระลึกถึงพิธีกรรมในภาควจนพิธีกรรมและภาคบูชาขอบพระคุณ ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของพิธีบูชาขอบพระคุณ นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการหล่อเลี้ยงฝ่ายจิตด้วยพระวาจา ตามด้วยการบำรุงเลี้ยงด้วยศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งปังทรงชีวิต การรวมตัวกันในที่แห่งหนึ่งเพื่อรับฟังพระวาจาและมีส่วนร่วมในการรับประทานอาหารศักดิ์สิทธิ์คือการเป็นรูปแบบของประชากรใหม่ของพระเจ้า เป็นที่น่าสังเกตว่าพระคริสตเจ้าทรงใช้ภาษาของศีลมหาสนิทในการทวีขนมปัง ดังคำว่า “ทรงเงยพระพักตร์ขึ้น ทรงอวยพรและบิปัง ... แล้วยื่นให้” (ข้อ 41) แล้วนั้น ทรงแจกจ่ายขนมปังผ่านทางบรรดาอัครสาวกของพระองค์
Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
6 กุมภาพันธ์
“พระอาจารย์ ข้าพเจ้าต้องทำความดีอะไรเพื่อจะมีชีวิตนิรันดร… ถ้าท่านอยากเข้าสู่ชีวิตนิรันดร ก็จงปฏิบัติตามบทบัญญัติเถิด” (มธ 19:16-17)
ปฏิบัติตามพระบัญญัติ
บทไตร่ตรอง
ในหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก อันเป็นคำสอนทางการของพระศาสนจักรล่าสุดของเรานี้ ได้แยกพระบัญญัติสิบประการออกเป็นสองตอน
ในตอนแรกกล่าวถึง พระบัญญัติสามข้อแรกซึ่งสอดคล้องกับคำสั่งของพระคริสตเจ้าที่ให้เรารักพระเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญา และร่างกายของเรา ส่วนในตอนที่สองซึ่งประกอบด้วยอีกเจ็ดข้อหลังนั้นสอดคล้องกับคำสั่งของพระเยซูเจ้าที่ให้เรารักเพื่อนมนุษย์ให้เหมือนกับรักตัวเราเอง
คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 689 ผู้ที่พระบิดาทรงส่งมาในใจของเรา คือพระจิตของพระบุตรของพระองค์ ทรงเป็นพระเจ้าโดยแท้จริง พระองค์ทรงร่วมพระธรรมชาติเดียวกันกับพระบิดาและพระบุตร และไม่อาจแยกจากทั้งสองพระองค์ได้ทั้งในชีวิตภายในของพระตรีเอกภาพและในการประทานความรักแก่โลก แต่ความเชื่อของพระศาสนจักรซึ่งนมัสการพระตรีเอกภาพผู้ประทานชีวิต ทรงร่วมพระธรรมชาติเดียวกันและแบ่งแยกไม่ได้ ก็ยังประกาศความแตกต่างกันของพระบุคคลทั้งสามด้วย เมื่อพระบิดาทรงส่งพระวจนาตถ์ของพระองค์ พระองค์ก็ทรงส่งพระจิตเจ้ามาด้วยเสมอ พระบุตรและพระจิตเจ้าทรงกระทำพันธกิจร่วมและแตกต่างกัน แต่ก็ทรงแยกจากกันไม่ได้ ใช่แล้วที่พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ที่ทรงสำแดงพระองค์ พระองค์ทรงเป็นภาพลักษณ์ที่แลเห็นได้ของพระเจ้าที่มนุษย์ไม่อาจแลเห็น แต่พระจิตเจ้าทรงเป็นผู้ที่เปิดเผยพระคริสตเจ้า
วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 4 ระลึกถึง น.อากาทา พรหมจารีและมรณสักขี
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 6:14-29)
เวลานั้น กษัตริย์เฮโรดทรงได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า เพราะพระนามของพระเยซูเจ้าเลื่องลือไป บางคนพูดว่า “ยอห์น ผู้ทำพิธีล้างได้กลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตายแล้ว ดังนั้นเขาจึงมีอำนาจทำอัศจรรย์ได้” บางคนพูดว่า “เขาคือเอลียาห์” บางคนก็พูดว่า “เขาเป็นประกาศกคนหนึ่งเหมือนกับประกาศกคนอื่น” แต่เมื่อกษัตริย์เฮโรดทรงได้ยินเช่นนี้ ก็ตรัสว่า “ยอห์นคนที่เราให้ตัดศีรษะ ได้กลับคืนชีพมาอีก”
กษัตริย์เฮโรดองค์นี้ทรงสั่งให้จับกุมยอห์น และล่ามโซ่ขังคุกไว้ เพราะเรื่องของนางเฮโรเดียส ภรรยาของฟีลิปพระอนุชา ซึ่งกษัตริย์เฮโรดทรงรับมาเป็นมเหสี ยอห์นเคยทูลกษัตริย์เฮโรดว่า “ไม่ถูกต้องที่พระองค์ทรงรับภรรยาของน้องชายมาเป็นมเหสี” นางเฮโรเดียสจึงโกรธแค้นและปรารถนาจะฆ่ายอห์นเสีย แต่ฆ่าไม่ได้ เพราะกษัตริย์เฮโรดยังทรงเกรงยอห์นอยู่ ทรงทราบว่ายอห์นเป็นคนชอบธรรมและศักดิ์สิทธิ์ จึงทรงป้องกันไว้ เมื่อกษัตริย์เฮโรดทรงฟังคำพูดของยอห์น ทรงรู้สึกสับสน แต่ก็ทรงยินดีที่จะฟัง
นางเฮโรเดียสได้โอกาสเมื่อกษัตริย์เฮโรดทรงจัดให้มีงานเลี้ยงขุนนางกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่และคนสำคัญในแคว้นกาลิลีในวันคล้ายวันประสูติของพระองค์ บุตรหญิงของนางเฮโรเดียสออกมาเต้นรำเป็นที่พอพระทัยของกษัตริย์เฮโรด และเป็นที่พอใจของผู้รับเชิญ กษัตริย์จึงตรัสกับหญิงคนนั้นว่า “ท่านอยากได้อะไรก็ขอมาเถิด เราจะให้” และยังทรงสาบานอีกว่า “ท่านขออะไรเราก็จะให้ แม้จะเป็นครึ่งหนึ่งของอาณาจักรของเราก็ตาม” หญิงสาวจึงออกไปถามมารดาว่า “ลูกจะขออะไรดี” มารดาตอบว่า “จงขอศีรษะของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง” หญิงสาวจึงรีบกลับมาทูลกษัตริย์ทันทีว่า “หม่อมฉันขอศีรษะของยอห์นผู้ทำพิธีล้างใส่ถาดมาให้เดี๋ยวนี้” กษัตริย์ทรงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง แต่เพราะได้ทรงสาบานไว้ และเพราะทรงเห็นแก่ผู้รับเชิญ ไม่ทรงปรารถนาจะขัดใจหญิงสาว จึงทรงสั่งเพชฌฆาตไปตัดศีรษะของยอห์นมาทันที เพชฌฆาตไปตัดศีรษะของยอห์นในคุก ใส่ถาดนำมาให้หญิงสาว หญิงสาวจึงนำไปให้มารดา เมื่อบรรดาศิษย์ของยอห์นรู้เรื่อง จึงมารับศพของยอห์น นำไปฝังไว้ในคูหา
มก 6:14-16 พระเยซูคริสตเจ้าคือใคร? นี่คือคำถามสำคัญของคนในทุกยุคทุกสมัย บรรดาคริสตชนเชื่อว่า พระองค์คือพระบุตรพระเจ้า พระบุคคลที่สองในพระตรีเอกภาพ ผู้ทรงรับเอาธรรมชาติมนุษย์ที่มองเห็นได้
Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
5 กุมภาพันธ์
“อย่ากลัวเลย เพราะเรานำข่าวดีมาบอกท่านทั้งหลาย เป็นข่าวดีที่จะทำให้ประชาชนทุกคนยินดีอย่างยิ่ง” (ลก 2:10)
ผู้นำความยินดี
บทไตร่ตรอง
ในค่ำคืนคริสต์มาสแรกนั้น ทูตสวรรค์องค์หนึ่งได้นำข่าวที่น่ายินดีมาแจ้งแก่ผู้เลี้ยงแกะที่หวาดกลัว อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพระเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้เราเป็นดังทูตสวรรค์นำความชื่นชมยินดีแก่ผู้อื่นด้วย
เมื่อนักบุญเทเรซา แห่งกัลกัตตา ยังเป็นภคินีผู้เยาว์ ท่านได้กล่าวถึงบรรดาผู้ที่ท่านได้ไปเยี่ยมเยียนในสลัมว่า “ฉันไม่มีอะไรอื่นเลย แต่ฉันไปมอบความยินดีให้พวกเขา” แม่ที่ยากจนคนหนึ่งได้ร้องตะโกนขึ้นว่า “คุณแม่เทเรซา กลับมาที่นี่อีกนะคะ รอยยิ้มของคุณแม่ นำแสงสว่างเข้ามาในบ้านนี้”
วันที่ 5 กุมภาพันธ์
ระลึกถึงนักบุญอากาทา พรหมจารีและมรณสักขี
(St. Agatha, Virgin & Martyr, memorial)
นักบุญอากาทามาจากครอบครัวที่ร่ำรวยและมีชื่อเสียงของเมืองคาตาเนีย (อิตาลี) เธอได้มอบถวายตนแด่พระเจ้าตั้งแต่ในช่วงวัยต้นของชีวิตเธอ ควินเตน (Quintain)ซึ่งเป็นกงสุล แต่เป็นคนที่มีจุดประสงค์ร้าย ได้หลงรักเธอและปรารถนาจะแต่งงานกับเธอ เมื่อเธอตอบปฏิเสธ ควินเตนได้สั่งให้คนไปพาเธอมาต่อหน้าเขาโดยอ้างคำสั่งของจักรพรรดิที่ต่อต้านผู้ที่เป็นคริสตชน เขาได้สั่งให้นำตัวเธอไปที่ซ่องโสเภณี ซึ่งทำให้เธอต้องทนทุกข์ต่อการถูกว่าร้าย และวางแผนลวงทำให้เสื่อมเสียเกียรติ ซึ่งน่ากลัวกว่าจับเธอทรมานและฆ่าให้ตายเสียอีก
แต่โดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก เธอกล้าหาญที่จะประกาศว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นแสงสว่างและความรอดพ้นของเธอ ผลก็คือ เธอถูกเฆี่ยน เนื้อของเธอเป็นรอยแตกด้วยตะขอเหล็ก ถูกตอกอกด้วยสิ่ว ด้านข้างเธอถูกกรีดและถูกทำให้ไหม้เกรียมด้วยเหล็กร้อนๆ มากกว่านั้น เขานำเธอไปไว้ในคุกใต้ดิน ไม่ให้นำอาหารและยาไปให้เธอ แต่พระเจ้าทรงพระกรุณาต่อเธอ - นักบุญเปโตรปรากฏแก่เธอในภาพนิมิต ท่านปลอบและช่วยเยียวยาเธอ
วันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 4
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 6:7-13)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จไปทรงสั่งสอนตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในบริเวณนั้น ทรงเรียกอัครสาวกสิบสองคนเข้ามาพบ และทรงเริ่มส่งเขาเป็นคู่ ๆ ประทานอำนาจเหนือปีศาจ ทรงกำชับเขามิให้นำสิ่งใดไปด้วย นอกจากไม้เท้าเท่านั้น ไม่ให้มีอาหาร ไม่ให้มีย่าม ไม่ให้มีเศษเงินใส่ไถ้ ให้สวมรองเท้าได้ แต่ไมให้เอาเสื้อสำรองไปด้วย พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ถ้าท่านเข้าไปในบ้านใด จงพักอยู่ที่นั่นจนกว่าจะออกเดินทางต่อไป ถ้าที่ใดไม่ต้อนรับท่าน หรือไม่ฟังท่าน จงออกจากที่นั่น พลางสลัดฝุ่นจากเท้าไว้เป็นพยานปรักปรำเขา” บรรดาอัครสาวกจึงไปเทศน์สอนคนทั้งหลายให้กลับใจ ขับไล่ปีศาจจำนวนมาก เจิมน้ำมันผู้เจ็บป่วยหลายคน และรักษาเขาให้หายจากโรคภัย
มก 6:6-13 บรรดาอัครสาวกสิบสองคนถูกส่งออกไปเทศน์สอนและประกาศข่าวดี รักษาผู้เจ็บป่วยและขับไล่ปีศาจในพระนามของพระคริสตเจ้า โดยการเชื้อเชิญพวกเขาให้มีส่วนร่วมในพันธกิจของพระองค์ พระองค์ทรงจัดเตรียมพวกเขาสำหรับบทบาทหน้าที่ในอนาคตของพวกเขาในพระศาสนจักรและภารกิจที่พระองค์จะมอบให้แก่พวกเขาก่อนที่พระองค์จะเสด็จสู่สวรรค์ เป็นการขยายและการสานต่อภารกิจของพระองค์ที่ชัดเจน เพื่อให้พันธกิจของพวกเขาบรรลุผลสมบูรณ์ บรรดาอัครสาวกจึงได้รับมอบอำนาจของพระคริสตเจ้าและปฏิบัติงานในพระนามของพระองค์
Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
4 กุมภาพันธ์
“บทบัญญัติประการที่สองก็เช่นเดียวกัน คือท่านต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (มธ 22:39)
รักเพื่อนมนุษย์
บทไตร่ตรอง
ในพระบัญญัติประการที่สองนี้ พระเยซูเจ้าทรงอ้างอิงถึงข้อความอีกตอนหนึ่งในพันธสัญญาเดิม จากหนังสือเลวินิติ บทที่ 9 ข้อ18 ที่กล่าวว่า พระเจ้าประทานกฎหรือข้อบังคับต่าง ๆ ให้แก่โมเสสชุดหนึ่ง โดยทรงสรุปทั้งหมดไว้ในคำสั่งที่ว่า “ต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง”
โดยการอ้างอิงพระวาจานี้ พระคริสตเจ้าทรงต้องการสะท้อนให้ผู้ฟังของพระองค์เชื่อมโยงและพัฒนาพระวาจานี้กับพระบัญญัติข้อแรก ซึ่งเป็นการประกาศถึงความเชื่อหลักของชาวยิว
แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
122/8 อาคารแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ซ.นนทรี 14 ถ.นนทรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
โทร. 095-953-3070, 02-681-3850 Email: ccbkk@catholic.or.th Line_ID: kamsonbkk