วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 1:12-15)
ทันใดนั้น พระจิตเจ้าทรงผลักดันพระองค์ให้เสด็จเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ประทับอยู่ที่นั่น สี่สิบวัน ซาตานมาประจญพระองค์ พระองค์ทรงอยู่กับบรรดาสัตว์ป่า บรรดาทูตสวรรค์ปรนนิบัติรับใช้พระองค์
หลังจากที่ยอห์นถูกจองจำ พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังแคว้นกาลิลี ทรงประกาศเทศนาข่าวดีของพระเจ้า ตรัสว่า ‘เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจ และเชื่อข่าวดีเถิด’
มก 1:12-13 เรารู้จักบรรดาทูตสวรรค์ได้โดยผ่านทางหนังสือพันธสัญญาเดิม ที่คอยเตรียมการและช่วยในการทำให้แผนการของพระเจ้าสำเร็จไป ตลอดพันธกิจในโลกนี้ของพระคริสตเจ้า บรรดาทูตสวรรค์ได้อยู่ห้อมล้อมพระคริสตเจ้า ปรนนิบัติรับใช้พระองค์ นมัสการพระองค์ และในวาระสุดท้าย บรรดาทูตสวรรค์จะอยู่กับพระองค์ดังที่ได้ประกาศถึงการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระองค์และในการพิพากษาครั้งสุดท้าย
ข้อคิดข้อรำพึง
พระวาจาพระเจ้า ของอาทิตย์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต ปี B
“เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว”
เราเริ่มเข้าสู่เทศกาลมหาพรต แล้วนะครับ ช่วงนี้เป็นช่วงต้นๆ ของเทศกาล
หลายคนไม่ชอบเทศกาลนี้เอาเสียเลย เพราะมักจะคิดว่ามหาพรตเป็นช่วงเวลาที่เราต้องสละ ลด เลิก ความต้องการและความปรารถนาของเรา ยอมละทิ้งสิ่งต่างๆ เพื่ออุทิศให้แด่พระเจ้า
แต่พระวาจาของพระเจ้าในทุกวันอาทิตย์ตลอดเทศกาลนี้ นำเสนอความจริงที่ตรงกันข้าม โดยชี้แสดงว่า นี่ไม่ใช่เวลาที่เราปฏิเสธตัวเองเพื่อบางสิ่งบางอย่าง แต่เป็นเวลาที่เราจะได้รับ ไม่ใช่เวลาแห่งการขาดทุน (เข้าเนื้อตัวเอง) แต่เป็นเวลาที่เราได้กำไร (ล้นเหลือเลยเชียวแหละ) กล่าวคือ เราไม่ได้เป็นตัวจักรสำคัญที่จะทำการใหญ่ให้พระเจ้าสำเร็จผล แต่เป็นพระเจ้าผู้ทรงกระทำการนี้เอง เป็นพระเจ้าที่ทรงถวายองค์เป็นบูชา เป็นพระเจ้าผู้ทรงทำให้สิ่งใหญ่โตสำหรับเราสำเร็จไป
Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
21 กุมภาพันธ์
“ข้าพเจ้าขอกำชับท่านเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า และเฉพาะพระพักตร์พระคริสตเยซู... จงประกาศพระวาจา” (2ทธ 4:1-2)
พระศาสนจักรคาทอลิก
บทไตร่ตรอง
เราเรียกวัดแม่ของสังฆมณฑลว่า “อาสนวิหาร” ซึ่งมีหมายความถึงธรรมาสน์หรือที่นั่งแห่งปรีชาญาณและการเป็นผู้นำ บิชอปจะทำหน้าที่สั่งสอน เตือนใจ และนำฝูงแกะของท่านจากธรรมาสน์นี้
ในช่วงเวลาที่ยุ่งยากของพระศาสนจักร บิชอปทุกคนต้องการและสามารถคาดหวังความช่วยเหลือของพระจิตเจ้าในการปฏิบัติภารกิจที่ยากนั้น
วันเสาร์หลังวันพุธรับเถ้า
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 5:27-32)
หลังจากนั้น พระองค์เสด็จออกไป ทอดพระเนตรเห็นคนเก็บภาษีคนหนึ่งชื่อเลวีนั่งอยู่ที่ด่านภาษี จึงตรัสสั่งเขาว่า “จงตามเรามาเถิด” เลวีก็ลุกขึ้น ละทิ้งทุกสิ่ง แล้วตามพระองค์ไป
เลวีจัดเลี้ยงใหญ่ในบ้านของตนเป็นเกียรติแด่พระองค์ คนเก็บภาษีและคนอื่น ๆ จำนวนมากมาร่วมโต๊ะด้วย บรรดาชาวฟาริสีและธรรมาจารย์ของเขาเหล่านั้นกล่าวด้วยความไม่พอใจกับบรรดาศิษย์ของพระองค์ว่า “ทำไมท่านทั้งหลายจึงกินอาหารและดื่มกับคนเก็บภาษีและคนบาปเล่า” พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “คนสบายดีย่อมไม่ต้องการหมอ แต่คนป่วยต้องการ เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาปให้กลับใจ”
ลก 5:27-32 การเรียกของเลวี ผู้ซึ่งถูกกล่าวขานว่าเป็นคนบาปหนัก เนื่องจากเขาเป็นคนเก็บภาษี เป็นการเน้นย้ำว่าพระคริสตเจ้าไม่ได้มาเพียงแค่สำหรับผู้ชอบธรรมเท่านั้น แต่มาเพื่อคนบาปด้วย โดยพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวฟาริสีที่รังเกียจคนบาป ความห่วงใยของพระคริสตเจ้าที่มีต่อบรรดาคนบาปทำให้พวกเขาเกิดความงงงันเป็นอย่างมาก
Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
20 กุมภาพันธ์
“จงนับถือบิดามารดา... เพื่อท่านจะได้มีอายุยืน” (ฉธบ 5:16)
การดูแลบิดามารดา
บทไตร่ตรอง
บทอ่านจากหนังสือบุตรสิรากล่าวอย่างหนักแน่นถึงเรื่องของบุตรและบิดามารดาว่า “บุตรที่ให้เกียรติมารดาก็เหมือนกับสะสมทรัพย์สมบัติไว้ ผู้ที่ยำเกรงบิดาก็มีความสุขจากบุตรของตน เมื่อเขาอธิษฐานภาวนา พระเจ้าก็จะทรงฟังเขา”
“ลูกเอ๋ย จงดูแลบิดาของท่านในวัยชรา... แม้สติปัญญาของบิดาจะเสื่อมลง ก็จงสงสารเขา... พระเจ้าจะไม่ทรงลืมความเมตตาของท่านต่อบิดา”
• ให้น้องๆ เลือกภาพ 1 ภาพ จากมรรคาศักดิ์สิทธิ์ 14 สถาน ระบายสีให้สวยงาม และวาดรูปตัวเองเพิ่มเข้าใปในภาพนั้นๆ ว่าน้องจะช่วยพระเยซูเจ้าอย่างไรบ้าง
วันศุกร์หลังวันพุธรับเถ้า
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 9:14-15)
วันหนึ่งบรรดาศิษย์ของยอห์นเข้ามาทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “ทำไมพวกเราและพวกฟาริสีจำศีลอดอาหาร แต่ศิษย์ของท่านไม่จำศีลเลย” พระองค์ทรงตอบว่า “ผู้รับเชิญมาในงานแต่งงานจะโศกเศร้าหรือ ขณะที่เจ้าบ่าวยังอยู่กับเขา แต่จะมีวันหนึ่งที่เจ้าบ่าวจะถูกแยกไป วันนั้นเขาจะจำศีลอดอาหาร
มธ 9:14-17 มธ 9:14-17 บ่อยครั้งการจำศีลอดอาหารมักจะไม่ เป็นไปตามจุดประสงค์ที่แท้จริง (ศิษย์ของยอห์นกับชาวฟาริสี จะจำศีลอดอาหารแม้ในวันที่ธรรมบัญญัติมิได้กำหนดไว้ โดยหวังว่าความศรัทธาเช่นนี้จะทำให้วันขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาถึงเร็วขึ้น) พระคริสตเจ้าได้ทรงแนะนำว่า การจำศีลอดอาหารต้องควบคู่ไปกับสภาพภายในจิตใจ ที่เหมาะสม พระคัมภีร์ได้สอนถึงคุณค่าของการจำศีลอดอาหารว่าเป็นหนทางสู่ความศักดิ์สิทธิ์และการใช้โทษบาป มีทั้งเวลาแห่งการจำศีลอดอาหารและเวลาสำหรับการเฉลิมฉลอง พระศาสนจักรแสดงความตระหนักถึงสิ่งนี้ในกฎของการจำศีลอดอาหาร และการกำหนดให้มีการอดอาหารก่อนที่จะรับศีลมหาสนิท
Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
19 กุมภาพันธ์
“จงนับถือบิดามารดา” (อพย 20:12)
ธรรมล้ำลึกแท้
บทไตร่ตรอง
หลังจากเหตุการณ์ในพระวิหาร เมื่อพระเยซูเจ้าทรงพระชนมายุสิบสองพรรษาแล้ว พระองค์เสด็จกลับไปกับบิดามารดาของพระองค์และเชื่อฟังท่านทั้งสอง” พระเยซูเจ้าทรง “เจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ พระชนมายุ และพระหรรษทาน. . .” น่าแปลกจริง เด็กชายผู้นี้ เป็นมนุษย์แท้และเป็นพระเจ้าด้วย ยังเชื่อฟังโยเซฟและพระนางมารีย์ ตลอดจนเติบโต และเจริญขึ้นในพระปรีชาญาณและพระหรรษทาน
บรรดานักเทววิทยาของพระศาสนจักรได้พิเคราะห์เรื่องนี้ แต่ยังไม่สามารถเข้าใจถึงธรรมล้ำลึกนี้ได้ เราจะเข้าใจได้ ต่อเมื่อได้อยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า ในนิรันดรภาพ
วันพฤหัสบดีหลังวันพุธรับเถ้า
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 9:22-25)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า“บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทรมานเป็นอันมาก จะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะและธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ และจะถูกประหารชีวิต แต่จะกลับคืนชีพในวันที่สาม”
หลังจากนั้น พระองค์ตรัสกับทุกคนว่า “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเราก็จงเลิกนึกถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตนทุกวันและติดตามเรา ผู้ใดใคร่รักษาชีวิต ผู้นั้นจะต้องสูญเสียชีวิต แต่ถ้าผู้ใดเสียชีวิตเพราะเรา ผู้นั้นจะรักษาชีวิตได้ มนุษย์จะได้ประโยชน์ใดในการที่จะได้โลกทั้งโลกเป็นกำไร แต่ต้องเสียชีวิตและพินาศไป”
ลก 9:22 บุตรแห่งมนุษย์ : เป็นนามที่พระคริสตเจ้ามักจะใช้กล่าวถึงพระองค์เอง บางที่เพื่อเน้นถึงความเป็นมนุษย์ของพระองค์ แต่ก็เป็นนามที่ไม่เคยมีผู้ใดใช้เลย พระนามนี้เป็นการรวมของสองคำทำนายในพันธสัญญาเดิม คือ ผู้รับใช้ที่ทนทุกข์ ในหนังสือประกาศกอิสยาห์ และคำทำนายจากหนังสือประกาศกดาเนียล (เทียบ ดนล 7:13)
Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
18 กุมภาพันธ์
“เมื่อเขาจำศีลอดอาหารและอธิษฐานภาวนาแล้ว จึงปกมือเหนือบารนาบัสและเซาโล แล้วส่งเขาทั้งสองคนออกไป” (กจ 13:3)
แนวปฏิบัติสำหรับเทศกาลมหาพรต
บทไตร่ตรอง
บทภาวนาของประธาน ในวันอาทิตย์ที่สามเทศกาลมหาพรต กล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้า ... พระองค์ทรงเปิดเผยให้รู้ว่า การอธิษฐานภาวนา การจำศีลอดอาหารและกิจการแห่งความเมตตา เป็นโอสถรักษาบาป” ความเมตตาหมายความถึงการปฏิบัติกิจการแห่งความรักและการแบ่งปันแก่บรรดาพี่น้องชายหญิงของเรา
กิจการต่าง ๆ ที่เราสามารถกระทำได้ในเทศกาลมหาพรต ได้แก่ การร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณประจำวัน การลด ละ เลิกบางสิ่งที่ทำให้เราสนุกสนานเพลิดเพลิน และการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ขัดสน เป็นต้น
วันพุธรับเถ้า (Ash Wednesday)
วันพุธรับเถ้า วันเริ่มต้นของเทศกาลมหาพรต
วันพุธก่อนวันอาทิตย์แรกของเทศกาลมหาพรต สัตบุรุษจะรับเถ้าเป็นการเริ่มต้นเทศกาลมหาพรต
Lent เป็นศัพท์ภาษาอังกฤษ มาจากภาษาอังกฤษเก่า (แองโกลแซกซอน) Lencten แปลว่า น้ำพุ หมายถึงระยะเวลา 40 วัน ก่อนฉลองปัสกา เป็นเวลาอุดมสมบูรณ์ของฝ่ายจิตใจ ส่วน "มหาพรต" ภาษาไทยแปลว่า การถือพรตครั้งใหญ่
วันพุธรับเถ้า เป็นวันเริ่มเทศกาลมหาพรต คือ ระยะเวลาสี่สิบวันเพื่อเตรียมสมโภชปัสกา ซึ่งเป็นวันฉลองที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญที่สุดในรอบปีของพระศาสนจักร เพราะสมโภชปัสกาเป็นการเฉลิมฉลองการที่พระเยซูเจ้าทรงรับทรมาน สิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนม์ชีพ เพื่อกอบกู้มนุษยชาติให้คืนดีกับพระเจ้า มารับชีวิตร่วมกับพระองค์ เทศกาลนี้มีชื่อเป็นภาษาลาตินว่า “Quadragesima” ซึ่งแปลว่า “ที่สี่สิบ” (ภาษาอังกฤษเรียกเทศกาลนี้ว่า “Lent”) เป็นเทศกาลที่ครอบคลุม 6 สัปดาห์ในพระศาสนจักรตะวันตก (ยุโรป หรือ 7 สัปดาห์ในพระศาสนจักรตะวันออก โดยเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์แรกของเทศกาลมหาพรต
วันพุธรับเถ้า
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 6:1-6,16-18)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “จงระวัง อย่าปฏิบัติศาสนกิจของท่านต่อหน้ามนุษย์เพื่ออวดคนอื่น มิฉะนั้น ท่านจะไม่ได้รับบำเหน็จจากพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ ดังนั้น เมื่อท่านให้ทาน จงอย่าเป่าแตรข้างหน้าท่านเหมือนที่บรรดาคนหน้าซื่อใจคด มักทำในศาลาธรรมและตามถนนเพื่อจะได้รับคำสรรเสริญจากมนุษย์ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า เขาได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว ส่วนท่าน เมื่อให้ทาน อย่าให้มือซ้ายของท่านรู้ว่ามือขวากำลังทำสิ่งใด เพื่อทานของท่านจะได้เป็นทานที่ไม่เปิดเผย แล้วพระบิดาของท่านผู้ทรงหยั่งรู้ทุกสิ่ง จะประทานบำเหน็จให้ท่าน
เมื่อท่านอธิษฐานภาวนา จงอย่าเป็นเหมือนบรรดาคนหน้าซื่อใจคด เขาชอบยืนอธิษฐานภาวนาในศาลาธรรม และตามมุมลานเพื่อให้ใครๆ เห็น เราบอกความจริงแก่ท่านว่า เขาได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว ส่วนท่าน เมื่ออธิษฐานภาวนา จงเข้าไปในห้องส่วนตัว ปิดประตู อธิษฐานต่อพระบิดาของท่านผู้สถิตอยู่ทั่วทุกแห่ง แล้วพระบิดาของท่านผู้ทรงหยั่งรู้ทุกสิ่งจะประทานบำเหน็จให้ท่าน
มธ 6:1-13 พระคริสตเจ้ามักจะพูดถึงการอดอาหาร การสวดภาวนาและการให้ทานว่าเป็นการปฏิบัติศาสนกิจที่น่ายกย่อง อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงสอนว่าการกระทำที่มองเห็นได้แต่ละอย่างเหล่านี้อาจกลายเป็นเรื่องหน้าไหว้หลังหลอกได้ หากไม่ได้ทำด้วยความรักของพระเจ้า ด้วยจิตแห่งการสำนึกผิดจากภายในและการกลับใจ
Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
17 กุมภาพันธ์
“พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจ และเชื่อข่าวดีเถิด” (มก 1:15)
ความหมายของวันพุธรับเถ้า
บทไตร่ตรอง
บรรดาคริสตชนคาทอลิก รวมทั้งคริสตชนในนิกายอื่นด้วย ต่างรับเถ้าด้วยเครื่องหมายกางเขนที่หน้าผากของพวกเขา บอกถึงการเริ่มต้นเทศกาลมหาพรต พวกเขายังได้ฟังพระวาจาที่ว่า “จงระลึกเถิดว่า ท่านเป็นแต่ฝุ่นดิน และจะกลับเป็นฝุ่นดินอีก” หรือ “จงกลับใจและเชื่อพระวรสารเถิด” คำท้าทายเหล่านี้เชิญชวนให้เรากลับใจเสียใหม่
คำว่า “อาแมน” ของเราหลังจากการรับเถ้า คือการ “ตอบรับ” คำท้าทายทั้งสองนั้น
แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
122/8 อาคารแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ซ.นนทรี 14 ถ.นนทรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
โทร. 095-953-3070, 02-681-3850 Email: ccbkk@catholic.or.th Line_ID: kamsonbkk