แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ศีลอภัยบาป

       พระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งศีลอภัยบาปนี้ขึ้น เพื่อทรงช่วยให้มนุษย์จะได้สามารถชำระล้างมลทินบาปและความผิดให้หมดไป    ให้มีชีวิตพระหรรษทานเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง
        ดังนั้น เมื่อพิจารณาดีๆ จะเห็นว่าความรักที่พระเป็นเจ้าทรงมีต่อเรามนุษย์นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด    เราสามารถเข้าใจทันทีว่าความรักที่พระเยซูเจ้าทรงมีต่อมนุษย์นั้นหาที่เปรียบมิได้จริงๆ    ก่อนเสด็จขึ้นสวรรค์ ทรงตั้งศีลมหาสนิท และเมื่อทรงรู้ว่ามนุษย์จะทำบาปทำผิด ก็ทรงตั้งศีลอภัยบาปไว้ด้วยเรียกว่าหาวิธีช่วยมนุษย์ทุกรูปแบบก็ว่าได้
        เมื่อพระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลอภัยบาปแล้ว ทรงมอบอำนาจแห่งการยกบาปนี้ให้กับบรรดาอัครสาวกและบรรดาพระสังฆราช พระสงฆ์ ให้กระทำหน้าที่ยกบาปแทนพระองค์ในโลกนี้ด้วย    โดยตรัสว่า “ท่านจงรับพระจิตเจ้า บาปใดๆ ที่ท่านจะยกบาปนั้นๆ จะเป็นอันยกออก และบาปใดๆ ที่ท่านจะหน่วงไว้ บาปนั้นจะเป็นอันหน่วงไว้ด้วย”
        ดังนั้น ผู้โปรดศีลอภัยบาป คือ บรรดาพระสงฆ์ ซึ่งได้ใช้อำนาจนี้โดยได้รับอำนาจจากพระเยซูเจ้า ด้วยคำกล่าวในเวลามีผู้ไปรับศีลอภัยบาปว่า “... ข้าพเจ้าอภัยบาปทั้งสิ้นของท่าน เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต อาแมน” พร้อมทั้งยกมืออวยพรให้แก่ผู้ไปแก้บาป
        วิธีการรับศีลอภัยบาปอย่างดี    แน่นอนว่าตามเหตุผลที่สำคัญที่จะทำให้ศีลอภัยบาปเกิดผลอย่างเต็มที่แก่ผู้รับศีลนี้ จึงเรียกร้องลักษณะที่สำคัญ ดังนี้
    ก. ความสำนึกผิด    หมายถึง การรับศีลอภัยบาปที่ดีและมีคุณค่านั้น ย่อมต้องการการยอมรับเสียก่อนว่า ตนเองกระทำผิด และปรารถนาจะแก้ไขความผิดนั้นด้วยจริงใจ ลักษณะเช่นนี้เราเรียกว่า “สำนึกผิด” ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุด เพราะมิฉะนั้นแล้ว จะไม่มีผลอะไรเลย เหมือนกับคนไข้จะไปให้หมอรักษา เขาจะต้องยอมรับเสียก่อนว่าตนเองป่วยและต้องการการรักษานั้น จะต้องร่วมมือกับหมออย่างเต็มที่ เพื่อการรักษานั้นจะเกิดผลอย่างดี
    ข. ความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขและไม่ทำผิดทำบาปอีก    คือ การแสดงเจตนา หรือ มีจิตใจที่แน่วแน่ที่จะพยายามเอาชนะความอ่อนแอ หรือการประจญล่อลวงที่ทำให้ตกในบาปนั้นๆ    ทั้งนี้ ด้วยการวอนขอพระเมตตา ความช่วยเหลือจากพระเป็นเจ้า...    แม้จะรู้ว่า อาจจะทำผิดทำบาปอีกก็ตาม เหมือนกับการเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทาง มีบางครั้งอาจอ่อนล้าล้มลงบ้าง จำเป็นที่จะต้อง”ลุกขึ้น” และเดินต่อไปเสมอ
    ค. การสารภาพบาป (บอกบาป)        คือ การเข้าไปยังที่แก้บาปและบอกบาปที่ตนเองได้กระทำไปทั้งหมด ตามที่ได้พิจารณามาแล้วแก่พระสงฆ์ผู้ฟังแก้บาป ข้อปฏิบัติที่ต้องกระทำก็คือ
•    บอกบาปทุกข้อทุกประการที่ได้กระทำ    ด้วยเสียงดังฟังชัดพอสมควร คือ ไม่ดังเกินไป หรือ ค่อยเกินไป จำไว้ว่าถ้าจงใจปกปิดบอกบาปไม่หมด บาปทุกประการที่บอกไหก็จะไม่ได้รับการยกด้วย
•    ไม่ต้องบรรยายความเกินความจำเป็น    หลายคนพยายามอธิบายจนดูเหมือนจะทำให้กลายเป็นข้อแก้ตัวไป... ในเรื่องนี้หากพระสงฆ์สงสัยท่านจะถามเราเอง แต่มิใช่บอกสั้นๆ จนไม่ได้ความหมายอะไร เช่น บอกว่า “ลักขโมย” เฉยๆ ไม่รู้ว่าลักขโมยอะไร มากหรือน้อย เพราะความผิดมันต่างกัน เช่น คนหนึ่งลักขโมยเงินพ่อแม่ 20 บาทกับอีกคนหนึ่งขโมยเงินทานจากตู้ทานในวัด ความผิดมันต่างกันเยอะ
•    ต้องบอกจำนวนครั้งเท่าที่จำได้    หรือใช้ประมาณเอาก็ได้ เพื่อพระสงฆ์ผู้ฟังแก้บาปจะได้ให้คำแนะนำตักเตือนได้ถูกต้องและเหมาะสม
•    ภาษาที่ใช้แก้บาปก็เหมือนกัน    ต้องใช้ภาษาที่คุณพ่อเข้าใจได้ ยกเว้นในกรณีพูดไม่ได้จริงๆ เป็นต้น ตอนบอกบาปต่างๆ ส่วนบทสดนั้นจะใช้ภาษาเฉพาะของตนก็ได้ ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะพูดภาษาไทยได้ทุกคนอยู่แล้ว ทำไมบอกบาปจึงบอกเป็นภาษาไทยไม่ได้
•    พึงระลึกว่าการสารภาพบาปอย่างชัดเจน และตรงไปตรงมาจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง    เพราะพระสงฆ์จะสนทนาอบรมหรือให้คำแนะนำได้ถูกต้องตรงประเด็นในการแก้ไขความผิดต่างๆ
ง. การใช้โทษบาป    ตามปกติเมื่อพระสงฆ์แนะนำตักเตือนเสร็จแล้วก็จะกำหนดกิจการใช้โทษบาปให้กระทำ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เราต้องปฏิบัติให้ครบถ้วน และพึงระลึกเสมอว่า กิจการใช้โทษบาปที่พระสงฆ์กำหนดเป็นการกำหนดตามกฎระเบียบเท่านั้น    สิ่งที่เราต้องกระทำในชีวิตประจำวันต้องมากกว่า กล่าวคือ ต้องตั้งใจจริงที่จะแก้ไข ไม่ทำผิดทำบาปอีกและต้องพยายามจริงๆ ตามข้อตั้งใจนั้น กระทำให้เป็นกิจวัตร คือ กระทำบ่อยๆ ทุกๆ วัน
มีความผิดหรือบาปประเภทที่ต้องชดเชยด้วยนั่น คือ บาปที่ผิดยุติธรรม ถ้าต่อชื่อเสียงก็ได้แก่การใส่ความนินทา ถ้าต่อทรัพย์สินก็คือการลักขโมย ฉ้อโกงซึ่งทั้ง 2 ประการต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เขาด้วย ลำพังเพียงไปสารภาพบาปอย่างเดียวไม่เพียงพอ
ศีลอภัยบาป    เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ทีมิใช่มีพระพรในการยกบาปเหมือนยารักษาโรคเท่านั้น    หากแต่ยังเป็นเหมือนยาบำรุงที่สร้างชีวิตฝ่ายวิญญาณ ฝ่ายจิตของเราให้เข้มแข็งต่อสู้กับการประจญล่อลวง ได้อีกด้วย
ดังนั้น เราจึงควรรับศีลอภัยบาปบ่อยๆ สม่ำเสมอ โดยปกติก็ประมาณ 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนต่อครั้ง    แต่ถ้าหากมีความจำเป็นก็สามารถรับได้เลย เช่น ในกรณีมีบาปหนัก เป็นต้น
ความลับของศีลอภัยบาป
    พระสงฆ์ต้องถือเรื่องการมาสารภาพบาปของคริสตชนเป็นความลับสูงสุด พระสงฆ์องค์ใดก็ตามที่นำความลับในที่แก้บาปไปเปิดเผย จะถูกโทษจากพระศาสนจักรโดยอัตโนมัติให้ยุติหน้าที่ของการเป็นพระสงฆ์ทันที
    อนึ่งเวลาไปสารภาพบาป ผู้สารภาพบาปจะรู้สึก “อาย” พระสงฆ์ บางครั้งเป็นเหตุให้ไม่กล้าสารภาพบาปบางประการ        เลยกลายเป็นสาเหตุให้ไม่ได้รับการอภัยบาป    ความอายนี้ถือเป็นโทษอย่างหนึ่งเหมือนกันดังนั้น เมื่อจะแก้บาปต้องตั้งใจจริงและถ้ารู้สึกอายก็ต้องยอมรับ เพราะมันคือโทษอย่างหนึ่งที่เราต้องชดเชยความผิด
    นอกจากศีลอภัยบาปแล้ว มีสิ่งหนึ่งที่สามารถยกบาปได้ชั่วคราว นั่นคือ “พระคุณการุญ” ซึ่งหมายถึง พระคุณหรือพระพรที่พระศาสนจักรอาศัยอำนาจที่ได้รับจากพระเยซูคริสตเจ้าทรงพระกรุณายกโทษได้ชั่วคราว    ซึ่งบางครั้งก็สามารถยกโทษชั่วคราวได้ทั้งหมด เราเรียกว่า “พระคุณการุญบริบูรณ์” และบางครั้งยกโทษชั่วคราวนั้นได้เป็นบางส่วนเราเรียกว่า “พระการุญไม่บริบูรณ์”
    ตัวอย่างการรับพระคุณการุญนี้ เข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ เวลาที่เราไปแสวงบุญยังสถานที่ หรือ วัดที่กำหนดให้ได้รับพระคุณ เช่น “แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์”    ถ้าเราตั้งใจจริงที่จะรับพระคุณ สวดภาวนาตามกฎระเบียบของพระศาสนจักรที่กำหนดไว้ เราก็จะได้รับการยกโทษชั่วคราว    แม้ขณะนั้นยังไม่สามารถรับศีลอภัยบาปได้ เราก็สามารถไปรับศีลมหาสนิทได้ และต้องรีบไปแก้บาปทันทีเมื่อมีโอกาสภายหลัง

ที่มา : หนังสือ หลักธรรมคำสอนคาทอลิก (คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม)