แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

1. ประเพณีการทำกิจใช้โทษบาป
เทศกาลเตรียมฉลองปัสกาได้แก่ 40 วัน นับจากวันพุธรับเถ้าจนถึงวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ ระลึกถึงการกลับมีชีวิตใหม่ขององค์พระเยซูคริสตเจ้า ในวันเหล่านี้ บรรดาคริสตชนจะใช้เวลาเพื่อไตร่ตรองพระธรรมคำสอน ที่มุ่งตักเตือนให้ลด ละ เลิก ความอธรรมทุกชนิด ที่ทำให้เสื่อมเสียศักดิ์ศรีการเป็นบุตรพระเจ้าและหันกลับมาดำเนินชีวิตตามคุณค่าพระวรสาร ซึ่งให้ความสำคัญต่อการภาวนา พลีกรรม  และให้ทานที่เป็นกิจกรรมภายนอกของการกลับใจ
วันศุกร์ตลอดปีก็เป็นอีกวันหนึ่งที่เป็นประเพณีปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยคริสตชนกลุ่มแรก เพราะเป็นวันที่พระเยซูสิ้นพระชนม์เพื่อสอนเราให้เข้าใจความจริงของการเป็นพระเจ้า ก็คือการเสียสละชีวิตเพื่อรักและรับใช้คนจำนวนมาก  ทุกวันศุกร์บรรดาคริสตชนจะจดจำเหตุการณ์ที่พระคริสต์ ได้ถวายพระองค์จนสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน เพื่อเราเองแต่ละคนก็ต้องมีส่วนร่วมในเส้นทางสายเดียวกัน

2. รูปแบบต่างๆของการใช้โทษบาปในชีวิตคริสตชน
ความสำนึกผิดภายในของคริสตชน สามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ พระคัมภีร์และปิตาจารย์ได้ให้ความสำคัญเฉพาะ 3 รูปแบบ คือ การถือศีลอดอาหาร การภาวนา และการทำบุญให้ทาน (ทบต 12:8 ;มธ 6:1-18)
เพื่อแสดงว่าการกลับใจมีส่วนสัมพันธ์ต่อตนเอง ความสัมพันธ์กับพระเจ้าและความสัมพันธ์กับผู้อื่น  ดังนั้น ผู้กลับใจควรต้อง 1. คืนดีกับเพื่อนพี่น้อง 2. มีความเป็นทุกข์เสียใจ 3. มีความห่วงกังวลถึงความรอดของเพื่อนพี่น้อง  4. วอนขอความช่วยเหลือจากบรรดานักบุญ 5. ปฏิบัติกิจเมตตาซึ่งสามารถลบล้างบาปได้ (1ปต 4:8) สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องหมายของการสำนึกผิดภายใน  การกลับใจในมิติของการคืนดีกับพี่น้องสามารถทำให้เป็นจริงได้ในชีวิตประจำวันโดยให้ความช่วยเหลือคนยากจน  ป้องกันและปฏิบัติความยุติธรรม ยอมรับข้อบกพร่องของพี่น้อง  ตักเตือนพี่น้องให้ดำเนินชีวิตถูกต้อง  ให้คำแนะนำทางจิตใจ  การยอมรับความทุกข์และการเบียดเบียนอันเนื่องจากได้กระทำสิ่งที่ถูกต้องโดยถือว่าเป็นการแบกไม้กางเขนของตนทุกวัน เพื่อติดตามพระเยซูคริสตเจ้า

3. วิธีการช่วยให้ซื่อสัตย์ต่อการทำกิจใช้โทษบาป
ศาสนาคริสต์ใช้ศีลอภัยบาป เพื่อกระตุ้นเตือนคริสตชนให้หมั่นพิจารณามโนธรรมของตนเองถึงวิถีชีวิตที่มีผิดบกพร่องและให้สำนึกผิดกลับใจใหม่เสมอๆ เพื่อทำให้ความสัมพันธ์กับพระเจ้าและกับเพื่อนมนุษย์ได้รับการฟื้นฟูอยู่ตลอดเวลา นอกนั้นยังมีศีลมหาสนิทที่เชื่อมเราเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าโดยอาศัยศีลนี้ เราก็ประกาศการเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า คือการยอมเสียสละเลือดเนื้อ ของตนเองเพื่อผู้อื่น “กายของเรามอบแด่ท่าน, โลหิตของเราหลั่งเพื่อท่าน” ฉะนั้นผู้ออกไปรับศีลนี้ก็เท่ากับประกาศว่า เราเองจะเดินในวิถีทางของพระเจ้า  ด้วยการเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่นจะได้รอดปลอดภัย
วิธีการอื่นๆก็ช่วยได้มาก เช่นการอ่านพระคัมภีร์ หนังสือศรัทธา การสวดทำวัตร บทข้าแต่พระบิดาและกิจศรัทธาอื่นๆ สิ่งเหล่านี้เป็นอุปกรณ์ช่วยย้ำเตือนให้เราสวมใส่ชีวิตที่หมั่นเพียรในธรรม เดินในที่สว่างจะได้รอดพ้น จากบ่วงมารที่เป็นทั้งพยศชั่วที่อยู่ภายในตัวตนเอง หรือค่านิยมผิดๆที่สังคมมอบให้  เพราะอวิชชาที่ครอบงำจิตใจคน ความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งยากแท้จะแก้ไข

สรุปจากหนังสือ “จิตตารมณ์ การถือศีลอดอาหาร”