แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

คริสตชนกับการฉลองปัสกา
ศาสนพิธีในการฉลองปัสกา


    เทศกาลมหาพรต เป็นช่วงเวลาของการเตรียมตัวของคริสตชน 40 วันก่อนการฉลองปัสกา    วันเริ่มต้นของเทศกาลนี้จะเป็นวันพุธเสมอ เรียกวันนี้ว่า พุธรับเถ้า    คริสตชนจะมารับขี้เถ้าที่ได้จากการเผาใบตาลและผ่านพิธีเสกจากพระสงฆ์แล้ว    ในวันนี้คริสตฃนจะรับประทานอาหารอิ่มได้เพียง 1 มื้อและงดเนื้อด้วย เรียกว่าถือศีลอดอาหาร
    ตลอด 40 วันนี้ คริสตชนจะใช้ชีวิตภาวนาสำรวจตัวเอง งดความฟุ่มเฟือยต่างๆ สำนึกถึงความผิดที่ตนได้กระทำและชดเชยด้วยการใช้โทษบาป    ในขณะเดียวกันก็จะมีการเสียสละทรัพย์สินและสิ่งของให้แก่พี่น้องที่ขาดแคลน และเมื่อสิ้นสุดเทศกาลนี้ คริสตชนก็จะพร้อมที่จะเข้าสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์
    สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ เริ่มต้นที่วันอาทิตย์ใบลาน ซึ่งเป็นการระลึกถึงวันที่พระเยซูคริสต์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างกษัตริย์    และในวันนี้ชาวเยรูซาเล็มได้นำใบลานมาปูตามทางที่พระองค์เสด็จผ่านไป    พระองค์ประทับอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มจนถึงวันพฤหัสบดี    ซึ่งตลอดเวลาทรงทราบดีในมรณกรรมที่กำลังจะมาถึง
    พระองค์ต้องการสอนให้สาวกทราบถึงความหมายของการเป็น “ผู้นำ” ว่าเป็นการรับใช้คนอื่นๆ ด้วยการล้างเท้าให้แก่สาวก        ดังนั้นใน วันพฤหัสฯ ศักดิ์สิทธิ์ จึงมีพิธีล้างเท้าขึ้นตามวัดต่างๆ นอกจากพระเยซูคริสต์ทรงล้างเท้าให้แก่สาวกแล้ว ยังได้เสวยอาหารค่ำ (มื้อสุดท้าย) ร่วมกับสาวกด้วย ซึ่งมีจิตรกรวาดภาพนี้ไว้ชื่อ The Last Supper
    พระเยซูคริสต์ทรงถูกจับในคืนวันพฤหัสบดี และถูกตัดสินให้ประหารชีวิตโดยการตรึงกางเขนและสิ้นพระชนม์ในตอนบ่าย 3 โมงของวันศุกร์    คริสตชนจึงถือศีลอดอาหารอีก 1 วันในวันนี้และเรียกวันนี้ว่า วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (ชาวบ้านมักเรียกว่า วันพระ (เยซู) ตาย)    วัดต่างๆ จะจัดพิธีเดินรูป (14 ภาค) เพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับพระเยซูคริสต์และวัดบางแห่ง เช่น วัดคอนเซ็ปชัญ สามเสน กรุงเทพฯ จัดพิธีเดินรูปโดยใช้คนแสดงจริงๆ และมักจะมีคนมาร่วมและชมพิธีเป็นจำนวนมากทุกปี
    พิธีฉลองปัสกา (หรือ อีสเตอร์) วัดต่างๆ จะร่วมพิธีในวันเสาร์เวลาค่ำ (แต่ปัจจุบันวัดบางแห่งได้เลื่อนเวลาเพื่อความสะดวกแก่คริสตชนที่มาร่วมในพิธี)    ศาสนพิธีจะประกอบ ด้วยการเสกน้ำ เสกไฟ การโปรดศีลล้างบาปแก่ผู้เตรียมเป็นคริสตชนและพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ
    การเสกน้ำ เพื่อให้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์และนำมาใช้ในพิธีโปรดศีลล้างลาป ส่วนไฟที่เสกนั้นใช้จุดเทียนปัสกาและเทียนที่ผู้เตรียมเป็นคริสตชน คือ ไฟปัสกานี้จะหมายถึงพระเยซูคริสต์ผู้ทรงชนะความตายแล้วและจะเป็นแสงสว่างแห่งชีวิตของเขาตลอดไป บางคนอาจนำตะเกียงมาต่อปัสกากลับบ้านด้วยก็มี
    พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณในวันนี้ จะมีภาครื้อฟื้นความเชื่อของคริสตชนด้วย เพื่อให้เขาระลึกคำปฏิญาณของเขาในวันรับศีลล้างบาป และเพิ่มความเชื่อความศรัทธาในคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งจะเสริมสร้างชีวิตภายในของคริสตชนในให้เติบโตควบคู่ไปกับความเจริญของโลกทางวัตถุ    เพื่อให้มีชีวิตที่สมดุลพร้อมๆ กับการพยายามสร้างสรรค์โลกให้สมบูรณ์และมีสันติภาพมากขึ้น
    สาเหตุที่มีการโปรดศีลล้างบาปให้แก่ผู้เตรียมเป็นคริสตชนและการรื้อฟื้นความเชื่อของคริสตชนในวันนี้ ก็เพราะต้องการให้การกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์ในวันนี้ได้จารึกไว้ในจิตใจของคริสตชนทุกคน    อันจะเป็นความหวังและกำลังใจในการดำเนินชีวิตตามความเชื่อของคริสตชนนั่นเอง
    ความเชื่อในเรื่องการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายและการกลับคืนพระชนม์ชีพนี้ มีความสำคัญต่อชีวิตคริสตชนมาก และพระศาสนจักรได้รักษาสองสิ่งนี้ไว้ในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ ซึ่งคริสตชนทุกคนต้องมาร่วมที่วัดทุกวันอาทิตย์

 

หนังสือ ปัสกากับคริสตชน
บาทหลวง มิเกล กาไรซาบาล, SJ.