แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako
คู่มือแนวทางการปฏิบัติของคาทอลิกในการร่วมพิธีของศาสนาอื่น

img027ความเป็นมา
  • "กงเต๊ก" เป็นคำสองคำประกอบกันที่ให้ความหมายครบถ้วนว่า กง แปลว่า ทำแทน เต๊ก แปลว่า ทำให้ส่วน ตามความหมายของพจนานุกรม ฉบับปี 2493 ให้ความหมายว่า การทำบุญให้แก่ผู้ตายตามพิธีของนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนและญวน พิธีกงเต๊กกล่าวกันว่าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยวงศ์จิ้น แห่งประเทศจีน "คำว่ากงเต๊ก" เป็นคำแปลจาก "บุญ" ในพุทธศาสนาคือ ทำบุญ และอุทิศให้แก่ผู้ตาย ต่อมาได้ใช้เป็นศัพท์เฉพาะในพิธีศพเพราะชาวจีนนิยมประกอบพิธีทางศาสนาเฉพาะงานศพเท่านั้น

รูปแบบพิธีกงเต๊ก เป็นการสวด "สงเก็ง" คือสวดมนต์ภาวนาเพื่อเปิดทางสวรรค์ให้แก่ผู้ตาย แต่เนื่องจากพระพุทธศาสนามหายานมีหลายนิกายและคนจีนที่มาจากพื้นที่ต่างอำเภอ ก็มีธรรมเนียมในรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน แต่พอจับใจความได้ว่ามี 3 แบบ
1. แบบพระจีน ผู้ประกอบพิธีเป็นพระจีน รายละเอียดก็จะแตกต่างกันไปตามพิธีกรรมของนิกายนั้นๆ
2. แบบคนธรรมดา ผู้ประกอบพิธีเป็นผู้ชายสวมชุดพระจีนสีขาว
3. แบบกงเต๊กจีนแคะ ผู้ประกอบพิธีเป็นนาง หรือ "ชี" ทำพิธี แต่ไม่ใช่นางชีโกนหัว แต่เป็นนางชีซึ่งเป็นสาวสวยแต่งหน้าทำผมสวยงามซึ่งบางท่านเรียกนางชีพวกนี้ว่า เจอี๊ อย่างไรก็ตาม พิธีกงเต๊ก เป็นการสวดมนต์เชิญวิญญาณให้มาเข้าพิธีซึ่งในความเชื่อของคนจีนนั้น จะเชื่อว่าในคนหนึ่งคนจะมี 3 ดวงวิญญาณ เรียกว่า ซาอุ้งซิกเพก ดังนั้นเมื่อตายไปแล้ววิญญาณจะล่องลอยออกจากร่างจะเรียกให้กลับมาอยู่กับตัว โดยมีพระของจีนจะเป็นผู้เชิญดวงวิญญาณทั้ง 3 ให้มาสถิตไว้ที่โคมวิญญาณ ดังนั้นในพิธีกงเต๊กพระจะสวดมนต์ตามวิญญาณมาเข้าพิธีให้ได้ล่วงหน้า อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วมาฟังพระเทศน์

ธรรมเนียมปฏิบัติตามลำดับพิธีการ

แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา คือ เช้า-บ่าย-ค่ำ

พิธีในตอนเช้า
  • พิธีเริ่มตอนเช้าด้วยการตีกลอง 3 ตูมดังๆปี่พาทย์มโหรีบรรเลงรับพระสงฆ์สวดมนต์ที่หน้าพระพุทธและพระโพธิสัตว์  พิธีกรรมช่วงนี้เรียกว่า สวดเชิญพระพุทธเจ้าลงมา คือนิมนต์ท่านเป็นประธานพิธีให้บังเกิดความศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิริมงคล ในช่วงนี้จะมีการส่งม้าและนกกงเต๊กเพื่อเป็นการนำสารที่เป็นประวัติผู้ตายขึ้นไปรายงานต่อเง็กเซียนฮ่องเต้เจ้าแห่งสวรรค์บ่ายต้นๆพิธีกรรมในช่วงนี้ก็คือ การสวดเชิญวิญญาณดวงหนึ่งสถิตที่โคม วิญญาณดวงหนึ่งสถิตที่รูป และอีกดวงหนึ่งจะสถิตที่โลงศพเพราะคนจีนเชื่อว่าคนเราเมื่อตายแล้ววิญญาณจะสลายแยกเป็น 3 ส่วน

พิธีในช่วงบ่าย
  • พิธีเริ่มในช่วงบ่ายแก่ๆ ประมาณ 15.30 น. ซึ่งเป็นกำหนดการไหว้ใหญ่แก่บรรพบุรุษ เป็นการจัดงานเลี้ยงฉลองในปรโลก เหมือนที่เวลาเราย้ายบ้านแล้วมีการทำบุญเลี้ยงพระและญาติมิตร ดังนั้นการไหว้บรรพบุรุษจึงเป็นการไหว้ให้บรรพบุรุษทั้งหลายได้เลี้ยงต้อนรับผู้ตายที่ได้ย้ายภพภูมิไปไหว้พระพุทธและจะได้อยู่ร่วมโลกกันในโลกใหม่นั้น หลังจากนั้นก็เป็นพิธีซิโกว ซึ่งเป็นการเชิญดวงวิญญาณหมดทุกดวง ทั่วทุกสารทิศและทุกประเภทให้มารับของเซ่นไหว้และรับส่วนบุญ

พิธีในตอนค่ำ
  • พิธีกงเต๊กตอนค่ำนี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุด โดยจะมีญาติมิตรคนจีนของผู้ตายมาดูและมาร่วมงานเพื่อเป็นเกียรติ และชมบุญของผู้ตายว่าลูกหลานได้จัดพิธีกงเต๊กให้ใหญ่เล็กแค่ไหน พิธีจะเริ่มด้วยการสวดของพระจีนและบางครั้งอาจจะมีการแสดงชุดชึงกิมซัวด้วย เป็นการจัดมาให้ผู้ตายได้ดู หลังจากนั้นก็จะเป็นการเดินข้ามสะพานซึ่งถูกอุปโลกน์ให้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างเอี๊ยงกังกับอิมกังซึ่งก้อคือ โลกมนุษย์กับโลกของคนตาย พิธีนี้เป็นการที่พระและลูกหลานพาวิญญาณเดินข้ามสะพานต้องโยนเงินเหรียญให้ลงอ่างน้ำที่อยู่ด้านล่าง พิธีจะเริ่มจากปะรำหน้าศพเมื่อสวดจนได้เวลาขบวนพระก็จะเดินนำหน้าพระรูปที่ 2 เป็นผู้ถือโคมวิญญาณของผู้ตาย และลูกชายคนโตจะเป็นผู้ถือกระถางธูปเดินนำหน้าขบวนลูกหลานโดยไล่เรียงลำดับความสำคัญและวัย งานข้ามสะพานนี้ห้ามผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาข้าม จะต้องเดินย้อนอยุ่ข้างล่าง การเดินข้ามสะพานมี 2 ช่วง คือ ช่วงแรกเป็นการที่พระและลูกหลานเดินกลับมายังโลกมนุษย์ซึ่งจะไม่ถือโคมดวงวิญญาณกลับมา และในการเดินข้ามในแต่ละครั้งจะต้องโยนสตางค์ลงในอ่างน้ำข้างล่างด้วยเพื่อให้ผู้ตายมีเงินจับจ่ายใช้สอย หลังจากนั้นลูกหลานก็จะมานั่งฟังพระสวดต่อที่หน้าประรำพระพุทธ หลังจากที่พระสวดจบก็จะก้มกราบหน้าศพ 4 ครั้งแล้วก็ต้องช่วยกันเอาของกงเต๊กไปเผา ซึ่งเรียกว่า การ "เหี่ยม" โดยมีหลักว่าคนอื่นอาจช่วยยกของได้ แต่ว่าลูกหลานเท่านั้นที่ต้องเป็นผู้เหี่ยมของกงเต๊กทั้งหลายและจะต้องเหี่ยมทุกชิ้นไม่ให้ขาดตกสิ่งใดเลยก็จะเป็นการจบการทำกงเต็ก ส่วนในวันรุ่งขึ้นก็จะเป็นการบรรจุศพของผู้ตายที่สุสานต่อไป

แนวทางปฏิบัติของคริสตชนคาทอลิก
พิธีกงเต๊กเป็นพิธีกรรมตามหลักและธรรมเนียมของชาวจีน ที่มีความเชื่อของศาสนาพุทธมหายาน โดยพระจีนเป็นผู้กระทำพิธี
1. คริสตชนคาทอลิกทั่วไป สามารถที่จะร่วมในพิธีกงเต๊กได้ แบบไม่มีส่วนร่วม
2. คริสตชนคาทอลิกที่ต้องเข้าไปในส่วนเกี่ยวข้อง เพราะตำแหน่งหน้าที่สามารถไปร่วมพิธีกงเต๊กควรเลือกปฏิบัติในส่วนที่เห็นว่าไม่เป็นที่สะดุด เช่นการไหว้หรือเคารพศพ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ล่วงลับและครอบครัวของผู้ล่วงลับ แต่ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นพิธีกรรมทางศาสนา
3. กรณีที่ลูกหลานที่เกิดจากคู่สมรสแบบต่างฝ่ายต่างถือ สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในพิธีกับสมาชิกในครอบครัวได้