แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ทำไมพระสังฆราชจึงมีอาสนวิหาร
     คำ Cathedra ในภาษากรีก หมายถึงเก้าอี้ ที่นั่ง ในสมัยโบราณ เก้าอี้คือสัญลักษณ์ของอำนาจที่บุคคลผู้หนึ่งนั่งเพื่อสอน ปกครอง หรือตัดสิน
    ความหมายดังกล่าวนี้ที่บอกว่า เมื่อพระสันตะปาปาตรัส  “ex cathedra” จากเก้าอี้ในฐานะนายชุมพาบาล และครูของพระศาสนจักรสากล พระองค์ใช้อำนาจสูงสุดของการเป็นพระสันตะปาปา และตรัสสอนในหน้าที่ที่มีอยู่โดยทั่วไป สรุปสั้นๆ ก็คือ  “ex cathedra” หมายถึงอำนาจในการสอน

    อำนาจการสอนของพระสันตะปาปานั้นมาจากอำนาจพิเศษและอภิสิทธิ์ที่พระคริสตเจ้าเองทรงมอบให้นักบุญเปโตร (เทียบ มธ 16:13-20) สัญลักษณ์ของอำนาจดังกล่าวนี้ คือ พระธาตุซึ่งเป็นเก้าอี้ของนักบุญเปโตร (Peter’s chair) ที่ถูกเก็บรักษาไว้ในมหาวิหารนักบุญเปโตร ณ กรุงโรม
    พระธาตุซึ่งเป็นธรรมมาสน์ที่นักบุญเปโตรใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 3  และปัจจุบันนี้หุ้มด้วยทองสัมฤทธิ์ ตั้งไว้เหนือพระแท่นที่มุขของมหาวิหารนักบุญเปโตร ตั้งอยู่บนรูปปั้นทองสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ของนักปราชญ์ 4 ท่านของพระศาสนจักร คือ นักบุญอัมโบรส นักบุญออกัสตินแห่งพระศาสนจักรลาติน นักบุญอาธานาซิโอ และนักบุญยอห์น คริสโซสโตม แห่งพระศาสนจักรกรีก รูปทองสัมฤทธิ์เหล่านี้ได้รับการหล่อโดยนายช่างวิศวกรผู้โด่งดัง ชื่อ จีโอวันนี  ลอเรนโซ แบร์นีนี (ค.ศ. 1598-1680) และหล่อสำเร็จในปี ค.ศ. 1666
    นอกจากเป็นพระธาตุแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์อำนาจของนักบุญเปโตรที่ให้ความสำคัญกับ “Cathedra” ในมหาวิหารนักบุญเปโตร และยังมีวันฉลองธรรมมาสน์นักบุญเปโตร ซึ่งฉลองในวันที่ 22 กุมภาพันธ์
    พระสังฆราชท้องถิ่นก็เป็นครูและผู้ดูแลความเชื่อ เรื่องดังกล่าวนี้มีบอกไว้ในประมวลกฎหมายพระศาสนจักรดังนี้ “พระสังฆราชสังฆมณฑลต้องเสนอและอธิบายให้สัตบุรุษรู้ข้อความเชื่อที่ต้องเชื่อและต้องนำไปปฏิบัติ ท่านต้องป้องกันบูรณภาพและเอกภาพของข้อความเชื่อที่ต้องเชื่ออย่างแข็งขัน ด้วยวิธีการที่ท่านเห็นว่าเหมาะสมกว่าหมด” (ม.386)
    พร้อมกับอำนาจหน้าที่ในการสอนนั้น พระสังฆราชยังมีหน้าที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์และปกครองดูแลสัตบุรุษของตน “บรรดาพระสังฆราชโดยการอภิเษกเป็นพระสังฆราชเองได้รับหน้าที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกับรับหน้าที่สอนและหน้าที่ปกครอง” (ม.376 วรรค 2)
    อำนาจหน้าที่ 3 ประการที่พระสังฆราชได้รับมอบหมายให้ใช้ในสังฆมณฑลของท่านนั้นมีธรรมมาสน์ ซึ่งอยู่ในวัดหลักของท่านเป็นสัญลักษณ์ ในช่วงต่อมาธรรมมาสน์ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นบัลลังก์ บัลลังก์ของพระสังฆราชในอาสนวิหารของท่าน
    “โดยปกติพระสังฆราชต้องถวายมิสซาบูชาขอบพระคุณในอาสนวิหารของท่านในวันฉลองบังคับและในโอกาสสำคัญอื่นๆ”  (ม.389)
    มิใช่ว่าพระสังฆราชทุกท่านจะมีอาสนวิหาร มีแต่พระสังฆราชที่รับผิดชอบดูแลสังฆมณฑลเท่านั้นที่มีอาสนวิหาร ดังนั้นผู้มีตำแหน่งพระสังฆราชซึ่งทำงานเกี่ยวกับการจัดการหรือบริหารสมณกระทรวงต่างๆ ในฐานะผู้แทนองค์พระสันตะปาปานั้นไม่มีอาสนวิหาร
    ถึงแม้พระธาตุธรรมมาสน์นักบุญเปโตรจะถูกเก็บรักษาไว้ในมหาวิหารนักบุญเปโตร อันเป็นอาสนวิหารของพระสังฆราชแห่งกรุงโรม คือพระสันตะปาปา แต่มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิหารแม่ของวัดทั้งมวล มีพระราชวังใกล้ๆ กับมหาวิหารนั้น เป็นที่พำนักของพระสันตะปาปามาจนถึงสมัยพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 5   ได้ย้ายไปพำนักอยู่เมืองอาวิญอง ประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1309 หลังจากสิ้นสุดสมัยของพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 11 ในปี ค.ศ.1378 ซึ่งได้เป็นเชลยบาบิโลนอยู่ที่เมืองอาวีญอง พระราชวังลาเตรันชำรุดทรุดโทรม ดังนั้น พระสันตะปาปาองค์ต่อมาจึงได้ไปพำนักอยู่ที่พระราชวังวาติกัน ใกล้ๆ มหาวิหารนักบุญเปโตร
    ดังนั้น อาสนวิหารของพระสังฆราช นอกเหนือจากเป็นสถานที่ให้พระสังฆราชประกอบพิธีสมโภชต่างๆ แล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่พระสังฆราชได้รับเพื่อปกครองดูแลสังฆมณฑลของท่าน