แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ทำไมจึงเรียกพระสงฆ์คาทอลิกว่า “คุณพ่อ” (Father)


selection49

พระเจ้าทรงเป็นจิต ไม่มีเพศ ดังนั้น ตามความเป็นจริง พระเจ้ามิได้เป็นพ่อ มิได้เป็นแม่ แต่โดยการเปรียบเทียบ เราเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา” เหมือนกรณีเรื่องการเป็นมนุษย์ของเรา เราเรียกบุคคลผู้ให้กำเนิดว่า พ่อ ส่วนทางด้านจิตนั้น เราเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา” เนื่องจากว่าพระองค์ทรงประทานชีวิตเหนือธรรมชาติให้แก่เรามนุษย์
พระเจ้ามิเพียงแต่สร้างมนุษย์ขึ้นมาเท่านั้น พระองค์ทรงกระทำมากกว่านั้น เหมือนอย่างพ่อทางฝ่ายโลกมนุษย์เรา พระองค์ทรงทุ่มเท ให้ความรัก ความห่วงใย ความเอาใจใส่ดูแลและชี้นำทางชีวิตให้เรา ดังนั้น พระองค์จึงทรงเป็นมากกว่าพระผู้สร้างเรามา นั่นคือ พระองค์ทรงเป็นพระบิดา

พระเยซูเจ้าเองทรงบอกเราให้เรียกพระเจ้าว่า พระบิดา “เมื่อท่านทั้งหลายอธิษฐานภาวนา จงพูดว่า ข้าแต่พระบิดา พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ” (ลก 11:2) “ท่านจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่านทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด” (มธ 5:48)

พระเยซูเจ้าก็มีพ่อของพระองค์เช่นกัน เหมือนอย่างเราเรียกผู้ให้กำเนิดว่า “พ่อ” และเรียกผู้ที่เกิดมาว่า “บุตร” ดังนั้น พระเยซูเจ้าทรงเรียก “พระบิดา” พระบุคคลแรกในพระตรีเอกภาพ ซึ่งกำเนิดตั้งแต่นิรันดรกาล ส่วนพระองค์นั้นเป็นพระบุคคลที่สอง คือ “พระบุตร” “ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดประทานพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระนามของพระองค์เถิด” (ยน 12:28) “ข้าแต่พระบิดา ถึงเวลาแล้ว โปรดประทานพระสิริรุ่งโรจน์กับพระบุตรของพระองค์เถิด” (ยน 17:1) “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้ามอบจิตของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” (ลก 23:46)
ยังเป็นหน้าที่ของพ่อในการสอนและชี้นำบุตรของตน ตามความหมายเดียวกันนี้ที่นักบุญเปาโลเรียกตัวเองว่า “พ่อ” กับคนที่กลับใจเป็นคริสตชน “แม้ว่าท่านจะมีครูพี่เลี้ยงนับหมื่นคนในพระคริสตเจ้า แต่ก็มีบิดาเพียงคนเดียว เพราะข้าพเจ้าให้กำเนิดท่านในพระคริสตเยซู โดยการประกาศข่าวดี”  (1คร  4:15)

คำว่า “ปิตาจารย์ของพระศาสนจักร” (Fathers of the Church) นั้น ตามธรรมเนียมโบราณ หมายถึง นักเทศน์ นักประพันธ์ และนักเทววิทยา ของสมัยหลังพันธสัญญาใหม่ คำสั่งสอนของพวกท่านที่ใกล้เคียงกับยุคสมัยอัครสาวกนั้นทรงคุณค่ายิ่งในพระศาสน-จักร พวกท่านได้ชื่อว่า “ปิตาจารย์” ก็เพราะความอาวุโส ดังนั้น ความอาวุโสจึงให้พวกท่านมีหน้าที่เป็นดังอาจารย์ผู้มีส่วนในสมัยหลังอัครสาวก

จากพื้นฐานดังกล่าวนี้ เราจึงเข้าใจเหตุผลที่เรียกพระสงฆ์คาทอลิกว่า “คุณพ่อ” เหมือนอย่างนักบุญเปาโลและบรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักร ท่านทำการประกาศและเทศน์สอนพระวาจาของพระเจ้าเหมือนอย่างนักบุญเปาโล ท่านสามารถพูดกับสัตบุรุษที่ให้บริการว่า “เป็นข้าพเจ้าเองผู้ให้กำเนิดท่านในพระคริสตเยซูโดยการประกาศข่าวดี”

เมื่อนักบุญเปาโลพูดถึงการให้กำเนิดนั้น มีความหมายลึกซึ้งกว่าการนำความรู้เรื่องข่าวดีไปให้กับประชาชน การที่ประชาชนยอมรับข่าวดีนั้นนำพาพวกเขาไปสู่การรับศีลล้างบาป และการเป็นบุตรแบบเหนือธรรมชาติอย่างที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ในบทจดหมายต่างๆ ว่า “ท่านทั้งหลายได้รับจิตการเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งทำให้ท่านร้องออกมาว่า อับบา พ่อจ๋า” (รม 8:14; กท 4:6)

ดังนั้น พระสงฆ์จึงเป็นผู้แทนหรือศาสนบริกรของพระเจ้าที่ให้กำเนิดชีวิตเหนือธรรมชาติแก่สัตบุรุษ โดยการเทศน์สอนพระวาจาของพระเจ้าและโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ดังนั้น พระสงฆ์จึงเป็น “คุณพ่อ” ทางฝ่ายจิตของสัตบุรุษ เนื่องจากท่านมีส่วนร่วมในความเป็นบิดาของพระเจ้า ด้วยการให้กำเนิดชีวิตพระลงในหัวใจของสัตบุรุษ


แต่พระเยซูเจ้าตรัสไว้มิใช่หรือว่า จำต้องวิงวอนขอและไม่มีใครนอกจากพระเจ้าที่สมควรได้ชื่อว่า “พระบิดา” อย่าเรียกผู้ใดว่า “บิดา” เพราะว่าพระบิดาของท่านมีเพียงพระองค์เดียวคือพระบิดาในสวรรค์” (มธ 23:9) ณ ที่นี้ พระเยซูเจ้าตรัสถึงเกียรติ ตำแหน่งและการคารวะที่ให้แก่ฟาริสีและคัมภีราจารย์ โดยเรียกว่าอาจารย์ (รับบี) คุณพ่อ (อับบา) และครู ดังนั้น บรรดาผู้ติดตามพระองค์จึงต้องปฏิเสธยศศักดิ์ต่างๆ เหล่านี้ และดำเนินชีวิตแบบเป็นพี่น้องกัน

อย่างไรก็ตาม มีธรรมเนียมที่จะเรียกพระสงฆ์ว่า “คุณพ่อ” แต่ก็มิใช่ตำแหน่งอันทรงเกียรติเหมือนอย่าง “มองสิญอร์” คำที่เรียกนั้นมีความหมายลึกซึ้งทางด้านจิตใจอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น กระนั้นก็ดี ธรรมเนียมนั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้