ศีลมหาสนิท (COMMUNION)
(มาจากภาษาลาตินว่า communio แปลว่า มิตรภาพ )
โดยศีลมหาสนิท เราหมายถึงการรับพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าในการเปลี่ยน (การเสก) ของถวายที่เป็นปังและเหล้าองุ่น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นดังหลักปฏิบัติระหว่างพิธีมิสซา และนอกพิธีมิสซาในบางโอกาส (ตัวอย่างเช่นการนำศีลมหาสนิทไปให้ผู้ป่วย) ศีลมหาสนิทภายใต้รูปปรากฏของปัง เป็นศีลมหาสนิทที่เป็นพระคริสตเจ้าอย่างสมบูรณ์    

ข้าแต่พระเจ้าทรงพระกรุณาเทอญ (KYRIE ELEISON)
(มาจากภาษากรีก แปลว่า องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงพระกรุณา )  บทข้าแต่พระเจ้า ทรงพระกรุณาเทอญ เป็นการร้องขอแบบเก่าที่แสดงความเคารพต่อบรรดาเทพเจ้า และผู้ปกครอง ถูกนำมาใช้กับพระคริสตเจ้า ในราวปี ค. ศ. 500 ได้รับมาจากพิธีกรรมของกรีก โดยไม่มีการแปลใช้ทั้งในพิธีกรรมโรมันและตะวันออก

พระสิริรุ่งโรจน์ (GLORIA)
(มาจากภาษาลาติน แปลว่า เกียรติ) เป็นเพลงร่าเริงยินดีที่บรรดาคนเลี้ยงแกะได้ยินจากบรรดาทูตสวรรค์ (ลก 2: 14) ในคืนวันคริสตสมภพ ใช้เป็นบทนำของเพลงสวดของคริสตชนสมัยก่อน ซึ่งมีรูปแบบแบบนี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 เป็นการสรรเสริญพระเจ้าด้วยการร้องเพลงอย่างเป็นทางการ

อัลเลลูยา (ALLELUIA)
(“ให้เราสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า” แต่งขึ้นจากภาษา ฮีบรูว่า halal แปลว่า สรรเสริญพระองค์ ถวายพระเกียรติ! และพระนามยาเวห์ของพระเจ้า) การร้องนี้ซึ่งมีอยู่ในเพลงสดุดีถึง 24 ครั้ง ในพิธีมิสซาเป็นดั่งการโห่ร้องต้อนรับพระวาจาของพระเจ้าในพระวรสาร

การเทศน์พระคัมภีร์  (HOMILY)
(มาจากภาษากรีกว่า homilein แปลว่า ตักเตือนบางคน พูดกับเขาในฐานะผู้เท่าเทียมกัน สนทนากับเขา) การเทศน์พระคัมภีร์อยู่ในมิสซา ผู้เทศน์มีหน้าที่ประกาศข่าวดี (ภาษากรีกว่า evangelion) ช่วยสัตบุรุษและส่งเสริมพวกเขาให้รับรู้และยอมรับเพื่อนำพระวาจาของพระเจ้าที่พวกเขาพึ่งจะได้ยินไปปฏิบัติ  ในระหว่างพิธีมิสซาการเทศน์สงวนไว้สำหรับพระสงฆ์หรือสังฆานุกร ในภาวะแวดล้อมอื่นๆอาจให้คริสตชนฆราวาสเทศน์ก็ได้

ศักดิ์สิทธิ์ (SANCTUS)
(มาจากภาษาลาตินแปลว่าศักดิ์สิทธิ์) ศักดิ์สิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งในพิธีมิสซาที่เก่าแก่ที่สุด มีกำเนิดมาในศตวรรษที่ 8 และไม่สามารถละเว้นได้ เป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นจากการร้องของบรรดาทูตสวรรค์ใน หนังสือประกาศกอิสยาห์ 6:3 และคำอวยพรในเพลงสดุดีที่ 118:26 ซึ่งประยุกต์ใช้กับการประทับอยู่ของพระเจ้า

การแปลสาร (TRANSSUBSTANTIATION)
(มาจากภาษาลาตินว่า trans แปลว่าผ่าน และ substantia แปลว่า แก่นแท้ สารัตถะ) เป็นคำที่ใช้ในทางเทวศาสตร์เพื่ออธิบายทางเทววิทยาว่า พระเยซูเจ้าทรงสามารถประทับอยู่ในศีลมหาสนิท ภายใต้รูปปรากฏของปังและเหล้าองุ่นที่เป็นของถวาย ในขณะที่ “สารัตถะ” (หมายถึง “แก่นแท้”) ของปังและเหล้าองุ่นเปลี่ยนไป ด้วยการกระทำของพระจิต ในถ้อยคำของบทขอบพระคุณ ในการเสกให้เป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า ภายนอกของ “รูปแบบ” หรือ รูปโฉมยังคงอยู่เหมือนเดิม เป็นพระเยซูคริสตเจ้าอย่างแท้จริง แต่ทรงปรากฏในแบบที่มองไม่เห็น ในรูปของปังและเหล้าองุ่นตราบเท่าที่ปังและเหล้าองุ่นได้รับการสงวนรักษาไว้

ลูกแกะพระเจ้า (AGNUS DGI)
( มาจากภาษาลาติน แปลว่า ลูกแกะพระเจ้า ) ในหนังสืออพยพ บทที่ 12 ลูกแกะของพระเจ้าซึ่งชาวอิสราเอลนำมาถวายเป็นเครื่องบูชาเมื่อพวกเขาพ้นจากการเป็นทาสในประเทศอียิปต์ ท่านยอห์นผู้ทำพิธีล้าง นำภาพลักษณ์นี้มาใช้กับพระเยซูเจ้า (ยน 1:29 “นี่คือลูกแกะของพระเจ้า...”) โดยทางพระเยซูเจ้าผู้เป็นเสมือนลูกแกะที่ถูกนำไปฆ่า เราจึงได้รับการปลดปล่อยจากบาปของเรา และพบสันติสุขกับพระเจ้า ในพิธีบูชามิสซา การภาวนาถึงพระคริสตเจ้า “ลูกแกะพระเจ้า” เป็นการเริ่มบทเร้าวิงวอน เป็นเหมือนบทภาวนาที่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีมิสซาในจารีตโรมัน ตั้งแต่ในศตวรรษที่ 7